Harper's BAZAAR Asia NewGen Fashion Award 2018
Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

รู้จัก ฟิวส์-พงศกร ศรียะ ตัวแทนประเทศไทยใน Harper's BAZAAR Asia NewGen Fashion Award 2018

ดีไซน์เนอร์เลือดใหม่ที่จะมาส่งต่อพลังบวกในการสร้างสรรค์ผลงานด้านแฟชั่น

เขียนโดย
Time Out Bangkok editors
การโฆษณา

บางคนมีความฝัน แต่ยังกลัวที่จะลงมือทำ และกลัวที่จะพลาด ในขณะที่บางคนคนไม่กลัวที่จะมีแผล แถมยังพร้อมสู้ไม่ถอย...

ฟิวส์-พงศกร ศรียะ คือคนหลัง เขาเคยล้มมาก่อนนับครั้งไม่ถ้วน แต่เขาไม่ยอมแพ้ จนในวันนี้เขากลายเป็นผู้ชนะการประกวด Harper's BAZAAR Asia NewGen Fashion Award 2018 เวทีปั้นฝันดีไซน์เนอร์หน้าใหม่ในรอบประเทศไทย ด้วยคอลเลกชั่น SUITE 98 เสื้อผ้าธีมเตียงนอนที่แปลกแต่เก๋ ผสมผสานทั้งเส้นสายการออกแบบ ความเนี้ยบ และเทคนิคการตัดเย็บ ที่เขาเค้นมันสมองออกแบบสามารถเอาชนะใจกรรมการได้อย่างขาดลอย และได้เป็นตัวแทนไปประกวดรอบสุดท้ายที่ประเทศสิงคโปร์ในเดือนตุลาคมนี้

มาทำความรู้จักเขา ตั้งแต่จุดเริ่มต้นการทำตามความฝันจนถึงมุมมองด้านวงการแฟชั่นกัน

Harper's BAZAAR Asia NewGen Fashion Award 2018

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

เริ่มต้นสนใจแฟชั่นดีไซน์ได้อย่างไร

เริ่มมาตั้งแต่เด็กเลยครับ แต่มันไม่ได้เป็นแฟชั่นโดยตรง เหมือนกับว่าตอนเด็กๆ มันจะเป็นเรื่องของคาแร็กเตอร์ เพราะว่าตอนเด็กๆ ชอบอ่านหนังสือ ชอบดูหนัง ชอบอ่านการ์ตูน อย่างในหนังสือเขาก็จะมีอธิบายว่าคาแร็กเตอร์นี้แต่งตัวแบบนี้นะ ในหนังเราก็จะเห็นคนคาแร็คเตอร์นี้แต่งตัวประมาณนี้ เหมือนเราดูคาแร็คเตอร์การ์ตูนผ่านเสื้อผ้า เลยทำให้เราสนใจด้านนี้ แต่ว่าตอนเด็กๆ ยังไม่รู้จักคำว่าแฟชั่น รู้จักเพียงคำว่าเสื้อผ้า รู้จักแค่เสื้อผ้าแบบนี้เหมาะกับคนแบบนี้ แต่เหมือนมันก็ค่อยๆ ตกตะกอนมาเรื่อยๆ เหมือนเราโตขึ้น โลกก็เปิดกว้าง เราก็เริ่มศึกษาดูนูนดูนี่ มารู้สึกตัวจริงๆ ว่า เออจริงๆ ชอบพวกแฟชั่นก็ประมาณช่วงม.ปลายว่า อ๋อ… นี่คือสิ่งที่น่าจะเหมาะกับเราที่สุดแล้ว

ทำไมจึงตัดสินใจเข้าประกวดในรายการของ Harper's BAZAAR  

เพราะอยากไปข้าวมันไก่ที่สิงคโปร์ครับ (หัวเราะ) ก็เหมือนมันมีแรงผลักดันจากการทำธีสิสแล้วเรายังหลงทางอยู่ พอทำธีสิส ก็รู้สึกว่าแบบ...ไม่ได้ มันไม่ได้ เหมือนพอทำเสร็จ เดินเสร็จ โชว์เสร็จ ก็ยังไม่ถึงที่สุด ก็คุยกับเพื่อนว่าแบบเอาไงดี เรียน 5 ปีดีไหม เพราะรู้สึกว่าไม่อยากเฟลกับธีสิส ไม่อยากเป็นไฟนอลให้ตัวเองขนาดนั้น จนเหมือนมาเจอการประกวด Harper's BAZAAR ก็ลองหน่อย ถ้าอยากแก้มือ ไม่เห็นต้องไปเรียนถึง 5 ปี มาแก้มือกับ Harper's BAZAAR ไม่ดีกว่าเหรอ จะได้รู้ไปเลย เพราะที่นี่ก็มีกรรมการเป็นดีไซน์เนอร์ เป็นคนในวงการที่ให้คำแนะนำเราได้ เราจะได้รู้ไปเลยว่าสุดท้ายแล้วเราได้ ไม่ได้ เรามีอะไรที่ดี มีอะไรที่ไม่ดี หลักๆ คืออยากพิสูจน์ตัวเอง ว่าเราทำได้

คอลเลกชั่น SUITE 98 มีที่ไปที่มาอย่างไร

มันเริ่มมาจากธีสิสครับ เหมือนมันเป็นช่วงเวลาเราไปส่งงานธีสิส เรื่องหนึ่งแล้วโดนอาจารย์วิจารณ์ว่ามันยากไปไหม ตอนนั้นผมก็เลย blank ก็เลยนอนนิ่งๆ อยู่บนเตียงประมาณวันสองวัน ก็เลยหันไปมองพวกเตียงอะไรอย่างเนี้ยะ ก็เลยรู้สึกว่าเออมันก็ยับๆ ยู่ๆ ดีเนาะ เอ๊ะหรือว่าไม่เห็นต้องทำอะไรเยอะๆ ก็เลยลองรีเสิร์ชเรื่องเตียง บวกกับชอบรีเสิร์ชเรื่องศิลปินอยู่แล้ว ก็นึกขึ้นได้ว่าแบบมันมีศิลปินคนหนึ่ง [Tracey Emin] เคยเอาเตียงของตัวเองยกไปวางไว้ที่พิพิธภัณฑ์แบบโต้งๆ ให้คนไปดูสภาพเป็นอยู่บนเตียงของเขา ว่าเตียงมันยับนะ มีของกิน มีของใช้ส่วนตัวเต็มไปหมดเลย ก็เลยรู้สึกว่าถ้าเราทำเตียง แล้วแปลพวกเครื่องนอนให้มันออกมาเป็นชุดแล้วมันจะออกมาเป็นยังไง บวกกับการเพิ่ม twist เข้าไปให้มันน่าสนใจ เพิ่มเรื่องเตียงนอนของผู้หญิงเข้าไปว่าเตียงนอนผู้หญิงควรมีอะไร

        ในเสื้อก็จะมีรายละเอียดพวกลิ้มลูกไม้ที่เจอได้ตามชุดนอนผู้หญิง พวกไข่มุกที่อาจหลุดอยู่บนเตียงก็แปลออกมาเป็นเครื่องประดับแทน พวก object ต่างๆ ที่เกี่ยวกับเตียงอย่างพวกเสื้อผู้ชาย กางเกงผู้ชาย ก็เป็นกิมมิคเล็กๆ ว่าเตียงนี้อาจจะไม่ใช่เตียงของผู้หญิงคนเดียวละ อาจจะเป็นเตียงของคู่รักรึเปล่า อยากให้ภาพรวมมันทำให้คนดูตั้งคำถามว่าบนเตียงนี้มีอะไรเกิดขึ้นบ้างครับ

Harper's BAZAAR Asia NewGen Fashion Award 2018

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

ได้เรียนรู้อะไรจากการเรียนหรือการฝึกงานมาบ้าง

สิ่งที่ได้จากจุฬาฯ [คณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกแฟชั่นและสิ่งทอ ภาควิชานฤมิตศิลป์] หลักๆ ก็จะเป็นเรื่องของ marketing plan ครับ เพราะตอนปี 3 จะมีช่วงซีเรียสทั้งปีเป็นเรื่องของ marketing คือคุณต้องรู้แล้วว่าคุณจะขายเสื้อให้ใคร จุฬาฯ จะชอบสอนให้ทำทุกอย่างต้องมีเหตุผล เราทำเสื้อผ้าอยู่เนี่ย เราทำให้ใคร มีที่มาจากไหน แล้วเราจะขายใคร มี positioning ของตัวเองยังไง เรามีกลยุทธ์ในการวางขายยังไง มีพวก 7P (ทฤษฎีการตลาด) พวก swatch ที่เราต้องทำต้องรู้ พอผ่านจุดเริ่มต้นของการประกวดไป ก็จะเป็น step ของ พวกmarketing แล้ว เราก็เลยเอาความรู้ที่เรียนมาใช้ในการประกวด Haper’s BAZAAR ครับ

        ส่วนการฝึกงานกับแบรนด์ Realistic Situation แบรนด์ของคุณใหม่ (พลัฏฐ์ พลาฎิ) ครับ การไปฝึกงานกับแบรนด์นี้ก็เหมือนได้ความรู้เยอะมาก ทุกอย่าง เพราะก่อนหน้าฟิวส์มีปัญหาเรื่อง design process ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการคิด เพราะก่อนหน้านี้จะคิดเยอะ ทำเสื้อผ้ายาก รู้สึกว่าเสื้อผ้ามันต้องนู้นนี่นั่น ยัดๆ เข้าไปสิ มันถึงดูดี แต่พอไปฝึกงานแล้วเหมือนได้คลี่คลายระบบความคิดตัวเอง ว่าอ๋อ...เสื้อผ้าจริงๆ แล้วไม่จำเป็นต้องคิดเยอะเลย มันแค่ต้อง base on ทำได้จริง สวย ง่าย อย่างนี้ครับ พอหลังจากฝึกงานมันก็ดีขึ้นเรื่อยๆ เหมือนฟิวส์ก็พัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ

เวลาทำงานออกมา รับมือกับคำวิจารณ์อย่างไร

ฟิวส์โตมาจนถึงทุกวันนี้มันก็เป็นเพราะคำวิจารณ์นี่แหละครับ คำวิจารณ์มันก็เป็นเหมือนสิ่งที่ push เรามากกว่า ทำให้เรารู้สึกว่าถ้าเขาพูดอย่างนี้ได้ก็ต้องมีอะไรบางอย่างที่ทำให้เขาพูดออกมา สิ่งที่เราต้องทำก็คือต้องแก้ไขในสิ่งที่เขาพูดออกมา เราก็ต้องพิสูจน์ตัวเอง แก้ไขตัวเองให้เขาไม่มีข้อกังขาได้ เราก็เอาคำพูดของเขามาดู แล้วปรับใช้กับงานต่อไปเรื่อยๆ เพราะว่าก่อนจะมา Haper’s BAZAAR ฟิวส์ก็เคยทำโปรเจ็กต์ก่อนๆ ในสมัยเรียน มันก็จะมีคำวิจารณ์งานจากอาจารย์บ้าง จากกรรมการบ้าง ฟิวส์ก็ไม่ได้เก็บมาคิดว่ามันคือข้อด้อยครับ ฟิวส์ก็เอาคำพวกนั้นมาพัฒนาตัวเอง

มีไอดอลด้านแฟชั่นในดวงใจบ้างไหม

ในมุมมองฟิวส์นะครับ ก็มีอยู่หลายคนนะครับที่ฟิวส์คิดว่าเขาทำเสื้อผ้าสวย ถ้าเป็นเมืองไทยก็จะมี พี่ใหม่ ดีไซเนอร์แบรนด์ Realistic Situation หรือแบรนด์ WWA อาจจะเป็นเพราะว่าฟิวส์ชอบอะไรที่ค่อนข้างแหวกออกไปเลย แต่ถ้าเป็นเมืองนอกก็จะเป็นพวกแบรนด์ของ Christopher Kane, Dion Lee, Simone Rocha ถ้าเป็นเมืองนอกเหมือนฟิวส์จะชอบงานที่ชัด แค่มองชุดเขาเราก็รู้เลยว่าใครทำ ก็จะชอบอะไรที่ชัดๆ ไปเลย ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของฟอร์มก็ได้ อาจจะเป็นเรื่องของ detail character อะไรอย่างนี้ครับ

Harper's BAZAAR Asia NewGen Fashion Award 2018

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

แล้วสำหรับฟิวส์ แฟชั่นคืออะไร

แฟชั่นคือคาแร็กเตอร์ เหมือนเป็นภาษา อย่างที่ฟิวส์บอกไปว่าจุดเริ่มต้นของฟิวส์ที่ฟิวส์ชอบเสื้อผ้าเพราะว่าดูหนัง อ่านหนังสือ เสื้อผ้ามันสื่อสารคาแรคเตอร์ของคนเหล่านั้นได้ ฟิวส์รู้สึกว่าแฟชั่นมันเป็นสิ่งที่เอาไว้เล่าเรื่องเกี่ยวกับคนที่ใส่เสื้อผ้าอยู่ ว่าทำไมคนนี้ถึงแต่งตัวแบบนี้ อ๋อ เพราะคนนี้มันเป็นอย่างนี้ๆ ทำไมต้องใส่ชุดสีนี้อะไรอย่างนี้ อ๋อ เพราะเค้าเป็นคนคาแร็กเตอร์อย่างนี้ เหมือนเสื้อผ้าบอกตัวตนของคนที่สวมใส่ เป็นป้ายชื่ออะไรอย่างนี้ครับ

แฟชั่นของฟิวส์แตกต่างจากของคนอื่นตรงไหน

มันคือเรื่องของจินตนาการล้วนๆ เลย หมายถึงว่ามันคือเรื่องของจินตนาการและการนำมาใช้มากกว่า อย่างเสื้อเชิ้ต 1 ตัว เหมือนทุกคนก็ทำได้ แต่คนหนึ่งอาจจะนำเสนอมันออกมาอีกแบบหนึ่ง ฟิวส์มองว่ามันเป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยนแล้วก็การถ่ายทอดยังไงให้มันแตกต่าง มันคือจินตนาการเลยเรื่องนี้ จินตนาการในการนำมาใช้ เพราะสุดท้ายฟิวส์ว่ามันไม่น่าจะมีอะไรใหม่ไปมากกว่านี้แล้วถ้าไม่ใช่เรื่องพวก innovation ถ้าตามที่ฟิวส์ถนัดก็จะเป็นเรื่องจินตนาการและการนำมาใช้ให้มันใหม่ ทำยังไงก็ได้ให้มันใหม่ ทำสิ่งที่มีอยู่แล้วให้มันใหม่

หลายคนบอกว่าไม่มีอะไรใหม่แล้วในวงการแฟชั่น ฟิวส์คิดว่าไง

ในปี 2018 เนี่ย มันเป็นเรื่องที่ท้าทายแล้วก็ยากมากสำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่จะทำอะไรที่มัน fresh ได้ ด้วยสื่อด้วยอะไรหลายๆ อย่างที่เราได้รับทุกวัน เหมือนทุกวันนี้เราเสพสื่อได้ง่ายขึ้น มันก็ยากที่เราจะมีมุมมองที่ fresh ถ้าเทียบกับคนสมัยก่อน นิตยสารที่จะออกเดือนหนึ่งเล่มหนึ่ง ไม่มีอินเทอร์เน็ต ทุกอย่างมันเริ่มจากการค้นหาและค้นคว้า ฟิวส์ว่าเมื่อก่อนที่เขาทำให้ทุกอย่างมัน fresh ได้ก็เป็นเพราะข้อจำกัดในการหาพวกข้อมูล แรงบันดาลใจมันแคบแล้วจินตนาการมันก็เลยแล่นมากกว่าสมัยนี้ ที่เราเปิดเน็ตขึ้นมาเราก็เจอเลยอะไรอย่างนี้ ฟิวส์ว่าไม่มีอะไรใหม่

Harper's BAZAAR Asia NewGen Fashion Award 2018

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

ในอนาคตคิดว่าอยากจะทำแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเองไหม

มันก็เป็นความฝันของคนที่เรียนแฟชั่นที่อยากมีแบรนด์เป็นของตัวเอง ฟิวส์รู้สึกว่าถ้าหลังจากโครงการนี้ ไม่ว่าผลมันจะเป็นยังไงก็ตามก็คืออยากจะเรียนต่อก่อน เพราะรู้สึกว่าอยากให้ทุกอย่างมันนิ่งก่อน ในเรื่องของความรู้ต่างๆ เพราะฟิวส์รู้สึกว่าถ้าเราทำงาน มันก็จะมีเวลาในการค้นหาความรู้ได้น้อยลง เพราะว่าเรามีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ

        เรื่องเรียนที่คิดไว้จะเป็นพวกทฤษฎีมากกว่า เพราะรู้สึกว่าเรียนแฟชั่น เสื้อผ้า มันทำเรื่อยๆ ครับ ฟิวส์ว่าถ้ามีโอกาสได้เรียนก็คงเป็นพวกทฤษฎีมากกว่า เพราะแพลนที่จะไปเรียนต่อก็น่าจะไปต่อเมืองนอกอยู่แล้วครับ ก็อยากรู้ว่าฝั่งนู้นเขาคิดกันยังไง เพราะเสื้อผ้าสุดท้ายแล้วมันก็ขึ้นอยู่กับเรา มันเป็นเรื่อง personal มากกว่า เพราะถึงไปเรียนต่อ แล้วเราไปทำเสื้อผ้ามันก็เหมือนวนลูปจากที่เราเคยทำมาอยู่แล้ว มันก็ไม่ได้อะไร อาจจะทำเสื้อผ้าเก่งก็จริงแต่สุดท้าย ถ้าเราจะทำงานในวงการนี้มันก็ได้พัฒนาในเรื่องของการทำเสื้อผ้าอยู่แล้ว สู้ให้เราไปเรียนอะไรที่ในไทยยังหาไม่ได้ ไปซึมซับพวกวัฒนธรรม ว่าเขาคิดยังไง เขามีการแพลนธุรกิจ ยังไง วิธีการคิดนู่นคิดนี่ยังไง ในเชิงของแฟชั่นน่าจะดีกว่า

        แบรนด์เสื้อผ้าในฝันคิดว่าน่าจะทำสไตล์เดียวกับงานประกวด ก็น่าจะเป็นเสื้อผ้ายากๆ ฟิวส์รู้สึกว่าชอบพวกเสื้อผ้าเรื่องของฟอร์ม เรื่องอะไรที่มันท้าทาย ไม่ชอบแบบสไตล์ที่คนมันเห็นกันอยู่แล้ว อยากทำอะไรที่ในเมืองไทยมันไม่ค่อยมี อยากท้าทายแบบแหวกไปเลย หลักๆ ก็คืออยากทำเสื้อผ้าผู้หญิงก่อน เพราะเสื้อผ้าผู้ชายฟิวส์ก็ยังไม่ได้ลองทำขนาดนั้น คิดว่าก็อยากลองทำเสื้อผ้าผู้ชายเหมือนกัน เพราะรายละเอียดมันจะเยอะกว่าของผู้หญิง เสื้อผ้ายิ่งเรียบยิ่งรายละเอียดเยอะ

มองว่าวงการแฟชั่นไทยจะเติบโตไปในทางไหน

ฟิวส์ว่าวงการแฟชั่นไทยมันจะเติบโตได้ ไม่ใช่แค่คนในวงการ มันต้องเป็นผู้บริโภคด้วย ถ้าผู้บริโภคเติบโตแบบเปิดใจรับลองใส่เสื้อผ้าอีกแบบหนึ่ง ไม่ใช่แค่สไตล์เดียวไปตลอด เพราะว่าในไทยมันก็จะยังมีแบรนด์อื่นที่ยังมีเสื้อผ้าหลากหลายสไตล์นอกเหนือจากแบรนด์ที่ฟิวส์ยกตัวอย่างมาข้างต้น ซึ่งแบรนด์เค้าก็สร้างอิมเมจมาแล้วแหละว่าทำให้ใครใส่ แล้วมันก็จะมีแบรนด์ที่คนกล้าๆ กลัวๆ ที่จะใส่ อยากให้คนลองเปิดใจรับแล้วก็ลองใส่ดู

        ในขณะเดียวกันฟิวส์ว่าแฟชั่นไทยก็ต้องมาเจอกันคนละครึ่งทาง เพราะว่าบางแบรนด์ก็จะมีเรื่องของราคาที่สูง จนผู้บริโภครู้สึกว่าไม่ค่อยน่าซื้อเท่าไหร่ในเรื่องของราคา ถ้าสมมติทุกแบรนด์ ถ้ามาเจอกันตรงกลาง มันก็จะเติบโตเร็วขึ้น คนก็จะกล้าแต่งตัวมากขึ้น แล้วสื่อต่างๆ ก็ควรจะสนับสนุนด้วยว่าเสื้อผ้ามันมีหลากหลายสไตล์นะ ไม่ใช่ว่ามีแค่สไตล์ที่ดาราใส่ จะเป็นสไตล์ที่คนธรรมดาก็ใส่ได้ ฟิวส์อยากให้แฟชั่นไทยไปในทิศทางที่คนไม่กลัว ไม่รู้สึกเคอะเขินที่จะแต่งตัว เป็นตัวของตัวเอง เยอะหรือน้อยอะไรก็ตามแต่ ฟิวส์รู้สึกว่าอยากให้คนกล้า เหมือนแต่งออกไปข้างนอกเยอะๆ แล้วคนไม่มอง ให้มองว่ามันเป็นรสนิยมของเค้า ไม่อยากให้ตัดสินว่าคนนี้แต่งตัวเยอะจัง แต่สุดท้ายมันก็ขึ้นอยู่กับกาลเทศะด้วยแหละว่าแต่งตัวไปไหน

เขียนโดย กวินนา จันทร์ดิษฐ

Harper's BAZAAR Asia NewGen Fashion Award 2018

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

เรื่องเด่น
    เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ
      การโฆษณา