Jojo Trasher
Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

คุยกับ โจโจ้ ทิชากร ในฐานะผู้กำกับซีรีส์เกย์ที่เรียลที่สุดแห่งยุค Gay OK Bangkok

พบกับอีกด้านของนักจัดปาร์ตี้ชื่อดัง Jojo Trasher ในฐานะผู้กำกับซีรีส์เกย์ที่แรงที่สุด และถูกพูดถึงมากที่สุด ณ เวลานี้

Top Koaysomboon
เขียนโดย
Top Koaysomboon
การโฆษณา

เรารู้จัก โจโจ้ – ทิชากร ภูเขาทอง ในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังงานปาร์ตี้เปรี้ยวภายใต้ชื่อ Trasher Bangkok แต่ในอีกภาคหนึ่ง โจโจ้คือผู้กำกับและเขียนบทซีรีส์ Gay OK Bangkok ที่เผยอีกด้านที่โลกไม่สวยของสังคมเกย์ในกรุงเทพฯ ที่ความเรียล ความแรง ความดราม่า พาเอาซีรีส์เกย์ระดับ talk of the town มาถึงซีซั่นที่สองแล้ว และตอนแรกก็เปิดประเด็นมาซะเผ็ดจนเราต้องถือโอกาสไปเคาะประตูขอคุยกับหนุ่มตัวเล็กมากความสามารถคนนี้ถึงในห้องนอน

ซีรีส์ Gay OK Bangkok เริ่มต้นยังไง?

มันเกิดจากตอนแรกเราดูสื่อในเมืองไทยแล้วรู้สึกว่าทำไมมันไม่มีซีรีส์ที่พูดถึงชีวิตเกย์ทั่วไป มันมีออกมาเยอะมากนะ แต่แค่เราไม่รู้สึก relate อะไรกับมันได้เลย ไม่ว่าจะเป็นคาแรกเตอร์นักเรียนใสๆ หรือคนอกหักรักคุดแบบ Club Friday เราก็เลยเกิดความคิดว่าเราอยากทำซีรีส์อย่างนี้  ลองคิดโครงเรื่องกันขึ้นมาแล้วก็ไปเสนอทาง Test BKK ซึ่งเป็นองค์กรที่เราเคยทำงานให้ก่อนหน้านี้ มันน่าจะมีวิธีการที่จะโปรโมท health issue ในรูปแบบซีรีส์ ซึ่งเขาก็ไม่เคยลองมาก่อน เขาก็ไม่เคยทำมากก่อน แล้วเขาก็ว่า ลองดูกันสักตั้ง ก็เลยเกิดเป็น Gay OK Bangkok ซีซั่นแรก

เป้าหมายของ Test BKK คืออะไร?

เป้าหมายของเขาหลักๆ คือรณรงค์ให้คนไปตรวจเลือด รณรงค์เกี่ยวกับสุขภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มชายรักชาย แล้วก็อยากจะลบ stigma ของคนมีเชื้อ HIV เพราะคนส่วนใหญ่ในสังคมยังมีภาพคนเป็นเอดส์ต้องตาย มีแผลผิวหนังพุพอง ซึ่งจริงๆ แล้วเราสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ปกติ แล้วบางทีก็อาจมีชีวิตยืนยาวกว่าคนที่ไม่เป็นอีกถ้ารักษาตัวดีๆ นี่คือจุดประสงค์หลักของเขา แล้วเราก็เอาจุดตรงนี้มาต่อยอดว่า เอ... เราจะทำยังไงให้ message พวกนี้มันออกไปแล้วมันไม่ดูเป็นรายการแบบ... ฟ้ามีตา นึกออกป่ะ คือนั่นต้องมีแบบ จับมือแล้วพูด (เสียงสูง) ว่า “เธอจะไม่เป็นอะไร!” อะไรแบบนั้น ต้องมี message สุขภาพแต่ต้องมีความบันเทิง และ blend in เข้าไปอย่างเป็นธรรมชาติ เพราะว่าจริงๆแล้วเรื่องแบบนี้มันอยู่ในชีวิตเรา ยิ่งคนเป็นชายรักชาย หลายคนเคยผ่านประสบการณ์ทั้งแบบไปตรวจเลือด วินาที หรือชั่วโมงที่เรามารอลุ้น หรือเสี่ยงอะไรขึ้นมา แล้วมันเอามาเป็นดราม่าสนุกๆได้

The new Woodyhood

ตัวละครมาจากไหน?

มาจากเรา และเพื่อนๆ รอบข้างเราเอง หลักๆ ในซีซั่นแรกเราแทบจะสามารถปูขึ้นหน้าได้เลยว่า based on true story ทั้งหมด มันเกิดจากการที่ ส่วนหนึ่งเราก็อยากปลดปล่อยตัวเอง เรารู้สึกว่าการเขียนคาแรกเตอร์และเรื่องราวของตัวเองมันทำให้เราสามารถไถ่ถอนอดีต อย่างเรามีปัญหากับเพื่อน เราเอาเรื่องนี้มาเขียนใน ซีซั่นแรก จนเหมือนตอนนี้เราได้คุยกับเพื่อนคนนี้ ได้อธิบายว่ามุมมองในด้านเรามุมมองในด้านเขาเป็นอย่างไรบ้าง รวมทั้งคนรอบข้าง เรื่องจริงทั้งหมดที่เราเอามา มันเป็นเรื่องที่หลายๆ คน relate ได้ อาจจะส่วนโน้น ส่วนนี้ อย่างละนิดหน่อย

มีคนเอา Gay OK ไปเปรียบเทียบกับ Looking?

ไม่เครียดเลยนะ เพราะว่าเราพูดจริงๆว่าไอเดียแรกเกิดจากกการที่เราดู Looking แล้วเกิดความคิดว่า เฮ้ย..เราชอบอันนี้จังเลย เราอยากจะมีโชว์ในเมืองไทยที่จะเสนอความธรรมดาของชีวิต Looking ก็เสนอชีวิตเกย์ธรรมดาทั่วไปที่จะมีทั้งเรื่องงาน เรื่องพ่อแม่ เรื่องความรัก แต่สิ่งที่ Looking ขาด คือดราม่า และสิ่งที่คนไทยชอบ คือดราม่า เพราะฉะนั้นเราเลยเอาตรงนี้มาผสมผสานกัน ถามว่าก็อปไหม เราสามารถพูดได้ว่าเราไม่ก็อป เพราะคาแรกเตอร์เกย์แบบนั้นมันก็มีอยู่ทั่วโลก ต่อให้คุณเป็นฝรั่งก็เหอะ เกย์เนิร์ด เกย์เรียบร้อย เกย์ร่าน เกย์แรด เราแตกต่างกันแค่เพียงโลเคชั่น ความเป็นเกย์ความเป็นมนุษย์มันเหมือนกัน

เวลาเราใส่ดราม่าเข้าไป คิดว่ามันจะไปบดบังเป้าหมายที่เราอยากจะสื่อหรือเปล่า?

เราว่าไม่ เพราะส่วนหนึ่งตอนที่เขียนและตอนที่ถ่ายทำเราก็พยายามที่จะไม่โอเวอร์ หลายคนมาบอกเราว่ามันดูเรียลมาก อย่างที่บอกว่าแต่จะครั้งจุดนี้เราต้องใส่ message ของสปอนเซอร์ว่ะ เราต้องหาวิธีที่จะให้มันธรรมชาติที่สุด เช่น อ๋อ ตัวละครนี้ต้องไปตรวจเลือดใม่ใช่เพราะว่ามันต้องไปเพราะสปอนเซอร์ แต่มันเป็นสิ่งที่เขาต้องเผชิญอยู่แล้ว และไม่ทำให้มัน over drama ด้วยการตะโกนใส่หน้ากัน เพราะว่าจริงๆแล้วในชีวิตคนเรามันไม่ได้แบบ – ละครน้ำเน่าขนาดนั้น เราพูดกันด้วยน้ำเสียงธรรมดา

แล้วการเปรียบเทียบกับไดอารี่ตุ๊ดซี่ ล่ะ?

จริงๆ แล้วไม่ใช่คู่แข่งเลย เรายังคุยกับคุณช่าเลย เพราะคุณช่าก็ยังช่วยโปรโมตทั้งซีซั่นแรกและซีซั่นนี้ เพราะเรารู้ว่าเพศที่สามมันมีกันหลายบุคลิก อย่างผู้ชาย ก็มีผู้ชายตลก ผู้ชายเครียด นั่นคือเหมือนกัน ไดอารี่ตุ๊ดซี่ นั่นคืออีกโลกนึง อีกด้านนึง ในขณะที่ของ Gay OK Bangkok ก็คืออีกด้านนึงที่เราอยากให้เห็น – มัน dark กว่า dark กว่าเยอะเลย เพราะว่าอย่างหนึ่งที่เรานับถือไ ดอารี่ตุ๊ดซี่ คือเขาสามารถเอาเรื่องแรงๆมาย่อยให้มันเข้าถึงคนทั่วไปได้ และก็ต้องยอมรับส่วนนึงว่า เพศที่ 3 ก็ยังไม่ได้รับการยอมรับ 100 เปอร์เซ็นต์ แล้วคาแรกเตอร์สีสันจัดจ้านของไดอารี่ตุ๊ดซี่ก็ช่วยทำให้คนเปิดกว้างมากขึ้น ซึ่งสุดท้ายอาจจะมาตกตรงที่ว่า ยังไงก็ต้องเอาความตลกเข้าว่า แต่สำหรับเรา เรามองว่า ไดอารี่ตุ๊ดซี่ เขาไม่ได้ต้องทำตัวเป็นตัวตลก เขาคือมนุษย์ปกติทั่วไปที่เป็นคนตลก เพราะฉะนั้นเราก็เลยไม่รู้สึกดูแล้วสมเพช เพราะเวลาหลายครั้งที่เราดูคตาแรกเตอร์เกย์หรือกระเทยในละคร เรารู้สึกว่าทำไมต้องโดนขนาดนั้น ส่วนตัวเราเคยเป็นตลกในรายการมาสเตอร์คีย์ แล้วคาแรกเตอร์เราก็เป็นคาแรกเตอร์ที่เป็นกะเทยที่จะต้องโดนทำให้หัวเราะ ไข่ปาหัวบ้างล่ะ เค้กบ้าง ทำให้เจ็บตัวนั่นแหละ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่มัน push ให้เราอยากเปลี่ยนภาพตรงนั้น คือ มันยังตลกได้ แต่มันต้องตลกเพราะความตลก ไม่ใช่เป็นเหยื่อทางการตลาด

The new Woodyhood

คุณโจโจ้พอใจกับภาพของเกย์ที่ถูกสื่อสารออกมาทางสื่อหรือยัง?

ยังครับ สุดท้ายเราก็คิดว่ายังมีสื่ออยู่แค่ไม่กี่ตัวหรอกที่พาเพศที่สามไปสู่ระดับใหม่ๆขึ้น อย่างเช่น เราเห็นละคร Y มากขึ้น และเป็นที่ยอมรับมากขึ้น แต่ในเนื้อหาละคร Y พวกนั้นมันก็ถูกทำเพื่อตอบสนองจินตนาการของสาววาย มันไม่ได้มีเนื้อหาอะไรเลย เราเคยหงุดหงิดมาก เพราะเหมือนสุดท้ายคุณก็เอาเกย์มาหากินโดยที่ไม่ได้เพิ่มความเป็นมนุษย์ให้เราเลย แต่ว่าเราพยายามมองโลกในแง่ดีกว่า เราอาจจะช่วยให้เด็กรุ่นใหม่ยอมรับและมองความรักของเพศเดียวกันเป็นเรื่องธรรมดา ส่วนสักวันหนึ่ง ความ Y ก็คงจะถึงจุดตัน และหวังว่าผู้สร้างจะสามารถพาตัวละคร Y แบบนี้ไปสู่เรื่องที่ไกลกว่าเดิม สักวันนึงมันอาจจะเป็นละคร Y ช่วงสองทุ่มช่อง 3 ที่ ณเดช หมาก มาเล่นเป็นคู่ Y ได้ พูดถึงเรื่องที่ใหญ่ขึ้น แต่มันก็ต้องพัฒนากันอีกเยอะ ตอนนี้ก็ยอมรับได้ในระดับนึง แต่ยังไม่ไปถึงตรงที่เราพอใจสักเท่าไหร่

กรุงเทพฯ เป็น gay paradise อย่างที่เขาว่ากันไหม?

สำหรับเรา paradise แต่เปลือก ในแง่ที่เราสามารถที่จะมีชีวิตที่... เดินจับมือได้โดยที่ไม่มีใครมาปาหินใส่เรา นึกออกไหม แต่สุดท้าย เพราะไอ้ความสบายตรงนี้ทำให้เราขาดสิทธิต่างๆ ที่เรายังต้องการ เรายังต้องการการแต่งงาน เรายังต้องการการรับรองบุตร หรือเรายังต้องการสิทธิในการอนุญาตให้คู่รักเราได้รับการผ่าตัดได้ พวกนี้เป็นสิ่งที่เราต้องการ ถ้า paradise ก็อาจเป็นประเด็นที่ว่าเราหลากหลายกว่าประเทศอื่นใน Southeast Asia ซึ่งถ้ามองแค่ตรงนั้น ก็อาจะใช่ที่ว่าเราเป็น paradise

     ซีรีส์เราโดนข้อกล่าวหาอย่างนึงว่าเราพูดถึงแต่ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ พูดถึงแต่ภาพลักษณ์แบบเกย์ออฟฟิศ ทำงานฟิตเนส แต่งตัวดีๆ ไม่สื่อสารกับคนต่างจังหวัด แต่ความคิดเรา เรารู้สึกว่าตัวเราไม่สามารถที่จะ present whole community ทั้งหมดได้ เพราะละครเรื่องนึงมีเวลาจำกัด และเราไม่สามารถรู้เรื่องของทุกคนได้ เราเลยขอพูดถึงกลุ่มคนที่เรารู้จักดีที่สุด นั่นคือประสบการณ์ของตัวเรา เราเพิ่งเริ่มทำเรื่องแรกเอง ซีซั่นหน้าเรื่องหน้าเราอาจจะสามรถไปพูดถึงเกย์ต่างจังหวัด เพราะเราก็เป็นคนต่างจังหวัด เรามาจากตรงนั้น เราก็อยากกลับไปพูดถึงสังคมตรงนั้นบ้างเหมือนกัน ตอนนี่เราอยากให้มองว่า ซีรีส์คือการพูดถึงคนกลุ่มนึง ณ ช่วงเวลาหนึ่ง เกย์กลุ่มหนึ่งในกรุงเทพฯ คุณอาจจะมีบุคลิกที่หลากหลายแตกต่างกันไป เราไม่สามารถที่จะ present ได้ เหมือนเวลาที่เราดูละครแล้วเรารู้สึกว่าเราไม่สามารถที่จะ... เราไม่ใช่ “จี” ในคลื่นชีวิต เข้าไปป่ะ เราก็ไม่อินกับตรงนั้น เราดูเพื่อความบันเทิง แค่นั้น

    เราใส่ OK เข้าไปในชื่อเพราะเราอยากบอกว่า ชีวิตมันจะโอเค ส่วนหนึ่งมั้นเกิดจากไอเดียที่ว่า มีคนบอกว่าพอเป็นเกย์แล้วชีวิตเธอจะไม่มีความสุข พ่อเราด้วยความเป็นห่วย เขาเคยบอกว่า เราเป็นเกย์ชีวิตจะเศร้า ต้องโดนหลอก จะต้องอกหักรักคุด ซึ่งเราก็จะต้องเข้าใจเขาเพราะเรามาจากโลกเก่า แต่อย่างเราเราว่าไม่จริงเลย เราอยากจะบอกว่า เฮ้ย ชีวิตมันจะโอเค ชีวิตเราก็เหมือนคนทั่วไปแหละ ไม่ใช่ว่าพอแก่แล้วเราจะโดดเดี่ยวเดียวดายไม่มีผัวหรืออะไรก็แล้วแต่อ่ะนะ เพราะมันไม่ได้เกิดขึ้นแต่กับเราคนเดียว สาวโสดเยอะแยะมากมายในโลกสมัยนี้ ที่เขาก็จะโดดเดี่ยวเดียวดายอยู่คนเดียวอยู่กับเพื่อนเหมือนกัน แล้ววันต่างกันตรงไหนล่ะ

คุณโจโจ้คิดว่าเหตุผลที่ทำให้ Gay OK Bangkok ประสบความสำเร็จคืออะไร?

เพราะคาแรกเตอร์ทุกตัวดูจริง relate กับคนได้ รู้สึกได้ว่าคนนี้คือเรา คนนี้คือเพื่อนเรา คนนี้คือคนที่เรารู้จัก มันเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกคนประสบ เพื่อนที่ต้องแข่งขันกัน คู่รักที่ต้องปรับตัวเข้าหากัน เป็นดราม่าในชีวิตประจำวันที่ใครๆก็เจอได้ ฟีดแบ็กอีกอันนึงที่ดีมากที่เราได้รับก็คือชายจริงหญิงแท้ที่เขาดู เขาไม่เคยเห็นด้านแบบนี้ของเกย์เลย คือบางคนเขาไม่ได้มีเพื่อนเกย์ เขาก็มีภาพแบบที่เขาเห็นในทีวี ต้องตลก ต้องฮา มันทำให้เขาได้เห็นอีกมุมนึงว่าสิ่งที่เราเจอไม่ต่างจากเขาเลย ถ้าเรามีละครแบบ เพื่อนรักเพื่อนร้าย ชีวิตเกย์เราก็มี แต่อาจไม่ดราม่าขนาดนั้น

ภาคที่สองเห็นมีผู้หญิงเยอะขึ้นด้วย

อันนั้นก็เป็นข้อคอมเมนต์จากซีซั่น 1 ที่เราเจอขึ้นมาคือ มันดูไม่ real เพราะไม่มีผู้หญิง เพราะในความจริงแล้วกลุ่มเกย์ส่วนใหญ่ก็จะมีเพื่อนผู้หญิง เพราะอย่างเราก็มีเพื่อนผู้หญิงเยอะกว่าเพื่อนเกย์ซะอีก เรารู้สึกว่าเราอยากใส่คาแรกเตอร์ผู้หญิงตรงนี้เพิ่มเข้ามา หรืออย่างซีซั่นแรก ตัวละครเจนนี่ ที่เป็นกะเทยเยนี่ย ถูกเติมมาเพื่อเรียกเสียงหัวเราะ แต่ในซีซั่นนี้เขามี background story มีเรื่องราวดราม่าที่เข้มข้นมากขึ้น เราอยากให้มันไปได้หลายกลุ่มมากขึ้น ให้ relate กับคนมากขึ้น

The new Woodyhood

อยากให้ Gay OK Bangkok ไปอยู่ตรงจุดไหนของสื่อบันเทิงในบ้านเรา?

เราอยากให้มันอยู่ในประเภทนี้แหละ เราไม่อยากให้ไปถึงละครหลังข่าว เพราะยังไงการเล่าเรื่อง หรือไลฟ์สไตล์ของตัวละครมันก็ยังไม่แมสพอที่จะไปถึงทุกหัวมุมเมือง คนชนบทเขาอาจจะยังไม่เข้าใจว่าชีวิตแบบนี้คืออะไร และมันพูดถึงเรื่องที่พูดไม่ได้ในฟรีทีวี นั่นเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่มันอยู่ออนไลน์ อย่าง ซีซั่นนี้เราเพิ่มจากการพูดถึงปัจเจกบุคคลมาพูดถึงชีวิตคู่ ผลกระสบต่อสังคม พ่อแม่พี่น้อง มันขยายมากขึ้น โดยเฉพาะ 4 ตอนแรกคนต้องออกมาด่าแน่เลยว่าทำไมมีเซ็กส์กันเยอะจัง แต่เรารู้สึกว่า เซ็กส์ของเรามันมีที่มาที่ไป ทำไมมันถึงต้องพูด มันไม่ใช่การ service แฟน มันไม่ใช่การทำขึ้นเพราะว่า..มันต้องแรง เรื่องพวกนี้ lead ไปสู่ message ที่เราต้องการจะพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านสุขภาพ การป้องกันทางเพศ การใช้ชีวิตคู่ หรือความสัมพันธ์พี่น้อง หรือแม้เต่เรื่อง threesome ที่ไม่เคยถูกพูดถึงในสื่อไทย

จากตัวอย่าง trailer จะเห็นว่าเปิดเผยเนื้อหนังพอสมควร คิดว่าเปิดเผยมากไปหรือเปล่า?

ต้องยอมรับว่า trailer มันต้องตีหัวเข้าบ้าน แต่พอเข้าไปดูเนื้อหาจริงๆแล้วมันมีหลากรส มันมีความดราม่าในหลายระดับมาก มันไม่ใช่แค่เรื่องชอบผู้ชายคนเดียวกัน หรือคนนั้นนอนกับคนนี้ มันมีหกลายเรื่องมากกว่านั้น

จะดีใจที่สุดเมื่อคนพูดถึง Gay OK Bangkok ในแบบไหน?

เราจะ happy ที่สุดเมื่อ Gay OK Bangkok สามารถที่จะ effect กับชีวิตเขาได้ เหมือนกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราในซีซั่น 1 ที่มีคนที่เขาเป็น HIV โทรมาบอกเราว่า ขอบคุณนะที่เราสื่อตัวละครแบบนี้ออกไปในซีรีส์เพื่อสื่อให้คนเห็นว่าคนแบบเขาสามารถมีชีวิตปกติได้ มีคนโทรมาบอกเราว่า เขาอยากไปตรวจเลือดเพราะเขาไปเสี่ยงมา คนที่เขาเป็น HIV แล้วเขาอยากเริ่ม treatment ที่ถูกต้อง หรือในเรื่องมันจะมีประเด็นพูดถึงพวกที่ชอบเปย์ผู้ชาย เขาจะรู้สึกว่าเขามีค่าขึ้น ฉันควรจะแฮปปี้กับสิ่งที่ฉันมี อย่างเช่นฉันประสบความสำเร็จในชีวิตการงาน ฉันไม่ควรเอาผู้ชายหรือเอาความรักมาเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินชีวิตว่าฉันมีความสุขหรือเปล่า ซึ่งเราว่าคนสมัยใหม่หลายคนเรามักติดกับดักนั้น ไม่ใช่แค่ตุ๊ดเกย์หรอก ผู้หญิงก็เหมือนกัน เราประสบความสำเร็จหลายเรื่องมากมายแต่พอแค่เราไม่มีแฟนๆ ทำไมเราต้องรู้สึกว่า..ทำไมชีวิตฉันเป็นอย่างนี้

 

เรื่องเด่น
    เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ
      การโฆษณา