Sayombhu Mukdeeprom
Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

สยมภู มุกดีพร้อม ผู้กำกับภาพชาวไทยหนึ่งเดียวบนเวทีภาพยนตร์ระดับโลก

แรงบันดาลใจ กล้องฟิล์ม และวงการหนังไทยในสายตาของผู้กำกับภาพ Call Me by Your Name

Sopida Rodsom
เขียนโดย
Sopida Rodsom
การโฆษณา

หากให้เลือกหนังเข้าชิงรางวัลออสการ์ในปีนี้ที่หลายๆ คนชอบ ภาพยนตร์แนว coming of age ที่บอกเล่าเรื่องราวของรักแรกอย่าง Call Me by Your Name ของผู้กำกับชาวอิตาเลียน Luca Guadagnino คงเป็นเรื่องหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ นอกเหนือจากการแสดงระดับเทพของ 2 นักแสดงนำ Timothée Chalamet และ Armie Hammer รวมไปถึงเนื้อเรื่องสุดแสนประทับใจที่มีทั้งความรัก ความสุข และความเศร้าที่ทำให้ James Ivory สามารถคว้ารางวัลออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมมาครองได้แล้ว ภาพสีสันสดใสของอิตาลีในหน้าร้อนยังเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาพยนตร์น่าดูยิ่งกว่าเดิม โดยหน้าที่การบันทึกภาพในภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นของผู้กำกับภาพชาวไทย สอง-สยมภู มุกดีพร้อม ผู้เคยฝากผลงานไว้กับภาพยนตร์ ลุงบุญมีระลึกชาติ ของผู้กำกับ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่เคยคว้ารางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์มาแล้ว 

พี่สองเริ่มทำงานด้านภาพยนตร์ได้อย่างไร แล้วทำไมถึงเลือกทำงานด้านกำกับภาพ

พี่เรียนนิเทศ จุฬาฯ ครับ เรียนภาพยนตร์และภาพนิ่ง พอเริ่มงานก็เป็นผู้ช่วยช่างภาพในกองถ่าย [โฆษณา] นี่แหละ แล้วก็ไม่ได้เปลี่ยน อาจจะเปลี่ยนไปตัดต่อบ้าง แต่ก็อยู่ในวงจรของการทำภาพยนตร์

เราหลงใหลกับการทำภาพยนตร์ พี่ก็แน่ใจว่าเกิดขึ้นได้ยังไง แต่คิดว่าว่า [การกำกับภาพ] เริ่มจากเราชอบถ่ายรูป ถึงระหว่างทางมันจะมี...อันนั้นดีไหม อันนี้ดีไหม...แต่สุดท้ายแล้วค้นพบว่าสิ่งนี้เหมาะกับเราที่สุด

มีภาพยนตร์หรืองานของผู้กำกับคนไหนจุดประกายให้เข้ามาทำงานด้านภาพยนตร์บ้างหรือไม่

ถ้าถามพี่ เรื่องเดียวไม่มีหรอก แต่เด็กๆ ชอบดูหนัง สะสมไปเรื่อยๆ จนมันเข้าไปเอง ไม่มีเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ พอโตมาแล้วเราก็พบว่า เอ๊ะ... มันมีวิชา [ภาพนิ่งและภาพยนตร์] สอนด้วยนี่ เพราะฉะนั้นภาพยนตร์เฉพาะเจาะจงไม่มีจริงๆ นะ แต่ดูเสร็จแล้วเราจะเลือกว่าหนังแบบนี้เราไม่ชอบนะ เราชอบหนังแบบนี้

แล้วหนังแบบไหนที่พี่สองชอบ หรือไม่ชอบ

หนังที่พี่ชอบคือหนังที่มีเนื้อหาพูดถึงอะไรบางอย่าง หมายถึงหนังเรื่องนี้จะพูดถึงอะไร จะเล่าอะไรให้ฉันฟัง เด็กผู้ชายคนหนึ่งทำนู่นนี่นั่น แล้วยังไงล่ะ แล้วมันแปลว่าอะไร

แสดงว่าสำหรับพี่ ภาพและบทสำคัญไม่แพ้กัน

มันแยกกันไม่ได้นะ ความสวยงามบางทีก็ไม่ใช่เรื่องที่เราต้องทำ บางทีเราอาจจะต้องทำให้มันไม่สวยงามก็ได้ ต้องทำให้มันธรรมดาที่สุดก็ได้ มีหนังตั้งหลายเรื่องที่เรารู้สึกว่าถ้านักแสดงสวยกว่านี้หนังจะไม่ได้อารมณ์นี้แน่นอน มันอาจจะ erotic มากจนรู้สึกอย่างอื่น สำหรับพี่แล้ว art [ของการทำภาพยนตร์] ไม่ใช่เรื่องของการทำให้สวย แต่เป็นการสื่อสารความรู้สึกต่างหาก

art ไม่ใช่เรื่องของการทำให้สวย แต่เป็นการสื่อสารความรู้สึกต่างหาก 

 

การที่พี่สองใช้กล้องฟิล์มมาตลอด พี่มองว่าเสน่ห์ และข้อดีหรือข้อเสียของกล้องฟิล์มหากเทียบกับกล้องดิจิตัลแล้วอยู่ที่ตรงไหน

ใช่ครับ [ที่ใช้กลองฟิล์ม] แต่ยุคดิจิตัลแรกๆ พี่ก็เป็นคนแรกๆ ของบ้านเราที่กระโดดเข้าหากล้องดิจิตัลนะ พี่ไม่ได้ปฏิเสธดิจิตัลแบบ 100% เพียงแต่ว่าในการถ่ายภาพยนตร์ มันเป็นเครื่องมือที่พี่ใช้และตอบสนองกับมันได้ดี ในความหมายพี่คือกล้องดิจิตัลมันไม่คุยกับเรา เรามองเห็นสิ่งที่มันถ่ายแล้วไม่รู้สึกอะไรกับมัน

ดังนั้นพี่ไม่เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียนะ พี่บอกง่ายๆ ว่าเทคโนโลยีกล้อง [ดิจิตัล] ไม่พร้อมที่จะถ่ายภาพยนตร์ ใช้คำว่า "ไม่พร้อม" เลยนะ artifact บางอย่างมันชัดเกิน พี่ดูหนังที่ถ่ายด้วยดิจิตัลหลายๆ เรื่อง มันจะถีบเราออกจากความเป็นภาพยนตร์ มันคือความบกพร่องทางเทคนิคที่ทำให้เรารู้สึกถึงความไม่จริง พี่คิดว่า [กล้องวิดีโอดิจิตัล] ยังไม่พร้อม เพราะถ้าพร้อมแล้วมันจะหยุดพัฒนา (หัวเราะ) สุดท้ายมันอาจจะเป็นเรื่องของมาร์เก็ตติ้งหรือเปล่าก็ไม่รู้ ซึ่งเราต้องระวังให้ดีว่าเรากำลังทำอะไรอยู่

พี่สองเคยปฏิเสธงานเพราะกล้องดิจิตัลไหมคะ และมองอย่างไรกับคนที่บอกว่าโลกยุคใหม่แล้ว เราต้องก้าวไปข้างหน้า

มีครับ แต่สำหรับพี่การก้าวไปข้างหน้าไม่ได้แปลว่าต้องก้าวไปกับกล้องดิจิตัล พี่ไม่ได้บอกว่าพี่ก้าวไปข้างหลัง ก็แล้วแต่เขาจะพูด พี่ไม่ได้มีอะไร against เขา กรรมของเขา ไม่ใช้กรรมของพี่ แล้วแต่มุมมองของใคร ก็มา discuss กันได้นะครับ

แล้วสิ่งที่ยากหรือท้าทายที่สุดของการเป็นผู้กำกับภาพอยู่ที่ตรงไหน

ถ้าถามพี่คือการทำงานเสร็จทัน schedule ง่ายๆ ตรงๆ ไม่ต้องอ้อมค้อมเลย เพราะว่าเรื่องเวลาสำคัญที่สุด ถ้าคนเราทำอะไรได้ตามใจฉัน สบายอยู่แล้วแหละ เวลานี่ยากที่สุดแหละ เรื่องอื่นไม่ยากหรอก จริงๆ (หัวเราะ)

แล้วอย่างขั้นตอนการตัดต่อพี่สองต้องเข้าไปดูแลด้วยไหม

เราไม่ค่อยยุ่งนะ ยกเว้นเขาจะมาขอความเห็น แต่เราก็ให้ความเห็นแบบ general เพราะมันไม่ใช่หน้าที่โดยตรงอยู่แล้ว เราต้องเคารพงานของคนอื่นเหมือนกัน หนังมันก็เป็นอีกชีวิตหนึ่งนะ เคยมีใครสักคนพูดว่า หนังมันเกิดได้ 3 ครั้ง ตอนถ่ายมันก็เป็นเด็กคนหนึ่ง พอถ่ายเสร็จเอามาตัด มันก็กลายเป็นอีกคนหนึ่ง

พี่สองทำงานร่วมกับผู้กำกับคนเดิมๆ บ่อยครั้ง เช่น พี่เจ้ย หรือแม้กระทั่ง Luca เอง จริงๆ แล้วพี่สองมีเกณฑ์เลือกการทำงานอย่างไรคะ

อันดับแรกคือบทเลยนะครับ พี่ต้องอ่านบทก่อน จะได้เข้าใจว่าเขาคิดอะไรอยู่ เขาอยากทำอะไร แล้วเราเก็ตมันไหม เราอินกับมันไหม เราทำได้ไหม แค่นั้นเองครับ หลังจากนั้นมันก็เป็นเรื่องของผู้กำกับแล้วแหละว่าเรารู้สึกถึงเคมี มันเข้ากันได้ไหม เขาจะนำเราได้ไหม ต้องยอมรับว่าผู้กำกับเขาเป็นผู้นำเรา เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่เชื่อเขา มันก็ยากนิดนึง

แล้วพี่สองไปเจอ Luca ได้อย่างไร และทำไมถึงตัดสินใจทำ Call My by Your Name

เจอกันที่อิตาลีครับ เขาเป็นโปรดิวเซอร์ของหนังเรื่อง [Antonia] ที่พี่ถ่าย เขาก็โทรมาเฉยๆ ว่า "มีหนังเรื่องหนึ่งอยากให้คุณถ่ายนะ สนใจไหม" เราก็โอเค เรื่องอะไรล่ะ เขาก็เล่ามางี้ๆๆ งั้นพี่ไปหาหนังสืออ่านก่อนนะ พออ่านเสร็จ... เออ ดีๆๆ คือทำไมจะไม่เลือกล่ะ... ข้อที่หนึ่งมันเป็นงานอาชีพ อันที่สองเขาถ่ายฟิล์มตั้งแต่ต้นเลย ซึ่งยากมากที่จะหาใครถ่ายในโลกปัจจุบัน (หัวเราะ) อันที่สามบทประพันธ์มันก็ดี นักแสดงก็ดี

แรงบันดาลใจในการกำกับภาพของ Call Me by Your Name มาจากไหน

อันดับแรกพี่เป็นคนวาง reference ไว้ข้างๆ เสมอ ยิ่งเป็นช่วงถ่ายหนังส่วนใหญ่ พี่จะไม่ดูหนังเลย เพราะพี่ไม่อยากให้มัยติดในหัว เพราะพี่ต้องการความ original แต่ก็ไม่ได้แปลว่าไม่มีในหัวนะ เพราะมันติดเรามาเสมอ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เห็นในหัวเป็นเรื่องของประสบการณ์โดยรวมที่เราเห็นโลก เราเห็นแสงแดดนะ เราเห็นสี เราเห็นต้นไม้นะ

Call Me By Your Name
Call Me By Your NameCall Me By Your Name

ถ้าอย่างนี้พี่สองมีภาพยนตร์ ผู้กำกับ หรือผู้กำกับภาพคนไหนที่ชอบ หรือให้แรงบันดาลใจเป็นพิเศษไหม

ไม่มีพิเศษเฉพาะคนนะ เพราะพี่ดูหนังไปเรื่อยๆ สะสมมาเรื่อยๆ ก็มีอย่าง [Akira] Kurosawa เราดูหนังเขาทุกอัน ตากล้องของ Satyajit Ray จำชื่อไม่ได้แล้ว เราเป็นคนจำชื่อไม่ค่อยได้ (หัวเราะ) [Andrei] Tarkovsky เราก็อินกับเขา ส่วนใหญ่เป็นหนังที่ไม่ได้อยู่ในกระแสมากนัก William Wyler นี่เราชอบมาก

ในอนาคตอยากลองทำงานแนวไหน หรือทำงานกับผู้กำกับคนไหนบ้างไหม

หนังแนวไหนพี่ก็คิดอยู่เหมือนกันนะ แต่ยังไม่รู้เหมือนกัน (หัวเราะ) ผู้กำกับคนไหนหรอ? พี่เป็นคนรู้เรื่องน้อย อาจจะจำชื่อคนไม่ค่อยได้ เราก็เลยไม่รู้สึกว่าต้องเป็นใครพิเศษ เพราะเป้าหมายของเราอาจจะไมได้มองว่าสิ่งที่ทำอยู่ทั้งหมดคือชีวิตของเราก็ได้ อาจจะเป็นเรื่องฉันจะตายยังไงว่ะ (หัวเราะ)

ถ้าอย่างนั้นมีผู้กำกับคนไหนที่อยากกลับไปทำงานด้วยอีกครั้งไหม

ส่วนใหญ่แทบทุกคนนะ เพราะพี่เลือกตั้งแต่ต้นแล้วว่าอยากทำโปรเจ็กต์นี้ ผู้กำกับก็เป็นส่วนหนึ่งด้วย เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่แล้ว แทบทุกคนแหละที่เราจะกลับไปทำงานด้วยได้ ไม่มีปัญหาอะไรเลย ผู้กำกับแต่ละคนเขาก็มีคาแรกเตอร์ มีสกิลของตัวเอง อยู่ที่ ณ เวลานั้นบทเป็นอย่างไรมากกว่า

แสดงว่าไม่มีหนังแนวไหนป็นพิเศษ ถ้าชอบบทก็จะทำเลย?

ถูกต้องครับ สำหรับพี่ genre ไม่มีจริง ถ้าคุณจะติด genre คิดมาจาก genre ก็เรื่องของคุณ ไม่ได้ว่าอะไร แต่เราดูหนังจากเนื้อหาเป็นหลัก เราไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นกับอารมณ์ดาดๆ พื้นๆ เช่น ความกลัว ความตื่นเต้น เราแก่เกินกว่าจะหาสิ่งเหล่านั้น เราดูหนังเพื่อความตื่นเต้นหรอ เราดูหนังเพื่อความกลัวหรอ ก็ไม่แล้วแหละ เราดูหนังแล้วหาว่าเนื้อหาคืออะไรต่างหาก

สำหรับพี่ genre ไม่มีจริง

ตอนนี้ทำหนังระดับออสการ์แล้ว ทำให้พี่เลือกงานมากขึ้นไหม เราจะมีโอกาสเห็นพี่กลับมาทำหนังไทยหรือเปล่า

พี่ก็เฝ้าดูอยู่ครับ (หัวเราะ) ส่วนหนังไทยถ้าถ่ายฟิล์ม พี่ถ่ายได้เสมอ (หัวเราะ) ไม่ใช่ว่าฟิล์มดีกว่าอย่างอื่นนะ แต่ไม่ใช้ฟิล์มแล้วเราทำให้เขาไม่ได้ดีมั้ง

ถ้าอย่างนี้การทำงานกับ Call Me by Your Name แตกต่างจากเรื่องอื่นมากไหม พี่สองต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง

สำหรับพี่ไม่ต่างกันนะ ไม่ว่าจะทำงานเมืองไหน ตัวเนื้องานมันเหมือนกัน ทำภาพยนตร์เหมือนกัน มีจุดประสงค์เหมือนกัน เพียงแต่อาจจะพูดคนละภาษาแค่นั้นเอง... การปรับตัวสำหรับพี่ไม่มีนะ ถ้าเรารู้ว่าในระบบสากลกองถ่ายเขาทำงานกันอย่างไร เราก็สามารถ fit it เข้าไปได้อย่างดีจากหน้าที่ที่คุณทำ แต่เสียดายที่บ้านเราทุกวันนี้อาจจะยากสำหรับเด็กยุคใหม่ที่จะเข้าใจแล้วแหละ เพราะมันถูกละเลยไประดับหนึ่งเหมือนกันในเรื่องของ craftman เรื่องของคนที่มาทำงานในกองถ่าย

ละเลยในที่นี้หมายถึงอะไรคะ

เวลาเราพูดถึงการพัฒนาหนังไทย เราจะพูดถึง level บนๆ ซึ่งเขาไม่ได้น่าห่วงมากเท่าไหร่หรอก แต่ level ของผู้ปฏิบัติการณ์ไมได้ถูกพูดถึงเลย เอาง่ายๆ คนเราจะทำอะไรสักอย่าง ก็ต้องประกอบด้วยสมองที่ดี ซึ่งก็คือผู้กำกับใช่ไหม? มีตาที่ดี ก็คือช่างภาพ มีหูที่ดี แต่ถ้าเราไม่มีมือที่ดี มันก็ไม่ได้ เหมือนเราได้แต่นั่งเฉยๆ แล้วคิดไปสิ เพราะฉะนั้นมือที่ดีคือสิ่งที่ไม่มีใครพูดถึง... บางทีเรามองข้ามการพัฒนาบุคลากรที่เป็นมือในการทำงานแบบจริงๆ จังๆ ไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน ก่อนหน้านี้มันมีกระบวนการผลิตคนขึ้นมาทำงาน มีผู้คนที่พยายามใส่ความรู้ลงไปเพื่อให้คนทำงานดีขึ้น หลังจากนั้นมันก็หายไป เพราะระบบสังคมโดยรวม ระบบเศรษฐกิจ เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเกิดอะไรขึ้น เพื่อนพี่ตั้งหลายคนที่เขาเป็นช่างไฟ อยากทำงาน อยากทำหนัง แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่สามารถทำให้เขาเลี้ยงชีพได้ มนุษย์มีความต้องการเหมือนๆ กันแหละครับ แต่ว่าเมื่อเราทำงานแล้ว มันจะเลี้ยงชีพเราได้ไหมละ บางทีรู้สึกว่าเราให้ความสำคัญกับเงินจนมองข้ามสิ่งอื่นไป

ถ้าอย่างนั้นพี่มองว่าแวดวงหนังไทยในตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

พี่ว่ามันร่อแร่เต็มที โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้คนที่เป็นช่างเทคนิคหายากขึ้นทุกวัน แปลว่าเราจะไม่มีบุคลากรที่มีความสามารถและความเข้าใจระดับสากล ผู้กำกับเราไม่ห่วงหรอก เพราะว่าผู้กำกับบ้านเราเก่งมากมาย เอาตัวรอดเก่งมาก ทั้งๆ ที่สภาพแวดล้อมแย่มาก แต่ก็ยังมีคนทำได้ดี แต่ว่าสิ่งที่ร่อแร่คือ... เอาง่ายๆ ผมมีงานไปถ่ายต่างประเทศ เขาถามเราว่าเราจะเอาผู้ช่วยกล้องจากเมืองไทยไปสักคนไหม คำตอบคือไม่ไง ไม่ได้เป็นเพราะไม่อยากได้นะ แต่เพราะหาคนไม่ได มันไม่มีคนๆ นั้น ณ เวลานี้

หนังไทยที่อยากไปเมืองนอกหรือไประดับเวทีรางวัล ต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง

หนังไทยมันก็ไปของมันอยู่แล้ว มีบริษัทที่เขาทำหนังได้ดี ได้กำไร ก็คือรุ่นพี่ของพี่เอง ซึ่งเขาทำได้ดีอยู่แล้ว นั่นเพราะตัวเขาเอง แต่โดยรวมของหนัง มันคงเป็นเรื่องของความโดดเด่นเป็นครั้งๆ แต่ไม่สามารถกระจายเป็นวงกว้างออกไปได้ เนื่องจากบุคลากรของเราที่ผลิตออกมามัน... ตอบไม่ถูกเหมือนกัน อาจเป็นเรื่องของยุคด้วยมังครับ

สุดท้ายแล้วพี่มีคำแนะนำให้กับคนในแวดวงหนังไทยที่อยากก้าวไปสู่ระดับสากล หรือระดับฮอลลีวู้ดอย่างไรบ้าง

ทำเยอะๆ แล้วก็เป็นตัวเองที่เราจะเป็น เก็บประสบการณ์เยอะๆ เรียนรู้เยอะๆ แล้วก็ลืมเพื่อจะได้ทำงานออกไปได้ โดยไม่ยึดติดกับอะไร พี่ว่ามันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ยอมรับได้หรือเปล่าว่าเด็กสมัยนี้เห็นแต่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ไม่สามารถเห็นโลกความจริงได้มากกว่านี้แล้ว สมมุติมีเด็กคนหนึ่งโตบ้านนอก ได้ยินเสียง MP3 น้อยมาก เสียงทีได้ยินคือเสียง full range ของธรรมชาติ ส่วนเด็กอีกคนได้ยินแต่เสียง MP3 นี่พูดถึงแค่โสตประสาทหูอย่างเดียวนะ คนที่ได้ยินเสียง full range ก็มีโอกาสเข้าใจเสียงดนตรีมากกว่าในความคิดพี่ พี่คิดว่าเราสนใจสังคมเมืองจนละเลยธรรมชาติ เราใช้ชีวิตจำกัดจนเกินไป และมีทัศนคติหลายอย่างที่ทำให้เราหลงผิด

Tarovsky บอกไว้ว่าคนรุ่นใหม่ควรลดระดับการแสดงออก อยู่กับตัวเองให้มากขึ้น เพื่อ process สิ่งที่มีในหัว พี่คิดว่ามันเป็นเรื่องของยุคสมัย เด็กมันไม่ผิดหรอก แต่ผู้ใหญ่เองต่างหากจะเข้าใจเรื่องนี้ไหม สุดท้ายไม่มีอะไรถูกอะไรผิด เราเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของ civilization เท่านั้นเอง มันเป็นปรัชญาที่ต้อง discuss กันยาวนะ แต่สังคมเมือง shape คนสมัยนี้ให้หลงลืมหลายอย่าง เราอาจจะติดกับ flash famous หรือชื่อเสียงแบบเร็วๆ จับมาเป็นสรณะ แล้วแก่นสารจริงๆ คืออะไร

แต่มันก็ยากนะ เพราะเมืองไทยเป็นประเทศที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูงในแง่ความคิดโดยที่เราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ เนื่องจากเราเป็นสังคมพุทธที่มีความต่อเนื่องทางวัฒนธรรม ไม่มีอิทธิพลทางการเมืองจากข้างนอกมามีผลทางตรง เราไม่เคยเป็นเมืองขึ้น ไม่เคยมีใครมาสั่งให้เรากินขนมปัง เพราะฉะนั้นขบวนความคิด การเรียนรู้ การศึกษาในสังคมไทยจึงเป็นการพัฒนาในแบบของเราเอง ดีไม่ดีเราไม่ว่า แต่เราอาจจะถูก vision ที่ใครก็ไม่รู้พยายามสร้างว่าเราต้องเป็นคนแบบไหนมากกว่า จนเราหลงนึกไปว่าเราเป็นคนแบบนั้นจริงๆ

เรื่องเด่น
    เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ
      การโฆษณา