"บ้านปลายเนิน" จากวังสู่การเปิด “พิพิธภัณฑ์” ของนายช่างแห่งกรุงสยาม

Saranyu Nokkaew
เขียนโดย
Saranyu Nokkaew
การโฆษณา

ใครที่เคยใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินคลองเตย อาจจะคุ้นตาอยู่บ้างกับตรอกเล็กๆ ที่มักจะเปิดประตูแง้มให้เห็นถึงความร่มครึ้มใต้เงาต้นไม้ไทย ราวกับเป็นโอเอซิสของย่านคลองเตย

บ้านปลายเนิน คือป้ายเล็กๆ หน้าบ้านที่ชวนให้สงสัยมาตลอดว่าคลองเตยมีเนินเดินอยู่ตั้งแต่เมื่อไหร่ กระทั่งวันที่ 28 เมษายนของทุกปีที่บ้านหลังนี้จะเปิดต้อนรับแขกเหรื่อเราจึงได้รู้ว่าที่แท้บ้านปลายเนินคือ ตำหนักที่ประทับของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระราชโอรสลำดับที่ 62 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ผู้ทรงเป็น นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม และ สมเด็จครู ของนักเรียนศิลปะในทุกแขนง

สมเด็จครูที่ตำหนักไทย

บ้านปลายเนิน หรือ วังคลองเตย บนถนนพระราม 4 แห่งนี้ไม่ได้มีคุณค่าเพียงสถานที่สุดท้ายในพระชนม์ชีพของสมเด็จครู แต่สำหรับแวดวงประวัติศาสตร์และศิลปะ เนื้อที่ 13 ไร่ ของบ้านปลายเนินเปรียบเหมือนคลังสมบัติด้านศิลป์แห่งสยามที่แม้จะไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของกรมศิลปากรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นงานช่าง งานสถาปัตยกรรม หรือแม้แต่แวดวงนาฏศิลป์ก็มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ให้ศึกษาอย่างครบถ้วน เพราะ ณ ใต้ถุนเรือนไทยที่เรียงแถวยาวอย่างขบวนรถไฟ และบ้านสีมิ้นต์ริมน้ำแห่งนี้คือจุดกำเนิดของ คณะละครสมัครเล่นบ้านปลายเนิน ซึ่งดำเนินการสอนนาฏศิลป์แบบไทยเดิมตามแบบแผนโบราณที่สมเด็จครูได้วางไว้

“ทุกพื้นที่ของบ้านปลายเนินเต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ศิลปะ อย่างตำหนักไทยถูกออกแบบให้เรียงกันเป็นแถวแบบรถไฟแทนที่จะตั้งเป็นกลุ่มแบบเรือนไทยในสมัยก่อน สวนที่ยืนอยู่ตรงนี้ยังคงรักษารูปแบบการจัดสวนแบบเดิมไว้ ซึ่งสมเด็จทวดได้ออกแบบสวนให้เป็นเหมือนฉากละคร มีภูเขา แม่น้ำ มีมุมที่นางละครจะรำออกมาเปิดตัว ทางเดินตรงนี้เรายังคงรักษาไว้ เรียกว่าทางเสด็จ เป็นทางเดินที่รัชกาลที่ 8 รัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จทรงเยี่ยมพระอัยกาที่ตำหนักตึก ซึ่งตึกหนักตึกแห่งนี้คือที่ที่สมเด็จทวดสิ้นพระชนม์”

ม.ล.จิตตวดี จิตรพงศ์ ทายาทรุ่นที่ 4 ของราชสกุล เล่าถึงประวัติศาสตร์ที่อยู่ในทุกตารางนิ้วของบ้านปลายเนิน โดยเฉพาะห้องบรรทมของสมเด็จครูนั้น ข้าวของทุกชิ้นยังคงได้รับการเก็บรักษาไว้ไม่ต่างกับตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ทั้งเศษเล็บสมเด็จครู ผ้าเช็ดพระพักตร์ เส้นพระเกศา รวมทั้งพระบรมอัฐิเจ้านายราชสกุลจิตรพงศ์ทุกพระองค์

หัวโขนทีบอกเล่าความงามของช่างไทยในยุคนั้น

ภาพร่างวัดราชาธิวาส

แม้ล่าสุดจะเริ่มมีการนำสิ่งของเหล่านั้นออกมาศึกษา แต่ก็ยังเป็นเพียงส่วนน้อยเพียง 20% เท่านั้น ซึ่งความน่าตื่นเต้นก็คือ ภาพร่างฝีพระหัตถ์ของสมเด็จครู พระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 5 พระราชทานคำแนะนำการออกแบบพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรฯ ภาพร่างวัดราชาธิวาส ภาพร่างพระอาทิตย์ชักรถในพระที่นั่งบรมพิมาน สมุดบันทึกงานช่างไทย หนังสือส่วนพระองค์ที่ทรงใช้อ่านศึกษาหาความรู้อายุกว่า 100 ปี รวมทั้งของสะสม หัวโขนที่บอกเล่าความงามของช่างไทยในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี

นี่จึงเป็นที่มาของการปรับปรุงบ้านปลายเนินครั้งใหญ่เพื่อที่จะเปลี่ยนถ่ายไปสู่พิพิธภัณฑ์ โดยอาคารหลังแรกที่ได้รับการปรับปรุงคือตำหนักไทย ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้เข้าชมได้ทันใน ”วันนริศ” ของปีนี้ (วันที่ 28 เมษายนของทุกปี) จากนั้นจึงจะเป็นการปรับปรุงภูมิทัศน์ สวน ระบบน้ำ ให้บ้านปลายเนินที่อยู่ปลายเนินรถไฟเก่าได้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง และมากกว่าพิพิธภัณฑ์ เราก็ยังหวังให้คณะละครสมัครเล่นบ้านปลายเนินกลับมาเปิดการแสดงและทำการฝึกสอนอีกครั้งด้วยเช่นกัน 

แชร์เนื้อหา

บทความล่าสุด

    การโฆษณา