DAPP
Sareechai Puttes/Time Out Bangkok

Work lessons: ศิริทิพย์ ศรีไพศาล | DAPP & Dapper

เรียนรู้เคล็ดลับความสำเร็จจากนักธุรกิจสาว ทายาทคนเดียวของแบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำของไทย

Top Koaysomboon
เขียนโดย
Top Koaysomboon
การโฆษณา

เราเชื่อว่าในชีวิตของผู้ชายไทยรุ่นราวคราวเดียวกับเรา (เด็ก '90s นั่นล่ะ) ทุกคนต้องผ่านประสบการณ์กับ Dapper แบรนด์แฟชั่นสัญชาติไทยแท้ๆ ที่อยู่คู่บ้านเราเกือบ 4 ทศวรรษกันทั้งนั้น ถ้าไม่ใช่เคยซื้อเสื้อ Dapper เป็นเสื้อนักศึกษา (เพราะทนใส่เสื้อโบนันซ่าไม่ได้จริงๆ) อย่างน้อยก็ต้องเคยเดินผ่านเวลาไปห้างสรรพสินค้า 

Dapper เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2523 โดยคุณศิริชัย และคุณภมรทิพย์ ศรีไพศาล สองสามีภรรยาที่ช่วยกันพาเอา Dapper ก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในแบรนด์แฟชั่นที่ประสบความสำเร็จที่สุดของไทย ตอนนี้ความสำเร็จได้ส่งผ่านมาที่ลูกสาวคนเดียว คุณแพรว-ศิริทิพย์ ศรีไพศาล ที่พร้อมนำเอาอาณาจักร Dapper ไปสู่ยุคใหม่ กับแบรนด์น้องเล็กที่ไม่เล็ก DAPP ที่คุณแพรวริเริ่มเมื่อ 5 ปีที่แล้ว และล่าสุดกับแผนกธุรกิจใหม่กับการออกแบบและผลิตยูนิฟอร์มให้แก่ร้านอาหารและแบรนด์ชั้นนำทั่วประเทศ บอกได้เลยว่า เครื่องแบบร้านและแบรนด์หลายๆ แห่งที่เรารู้สึกว่าอยู่ดีๆ ก็ดูเท่ขึ้น ฮิปขึ้น ก็คือผลงานของนักธุรกิจสาวร่างเล็กคนนี้และทีมงานนี่แหละ 

What you always wanted... Shop Now at DA+PP Stores and DA+PP Online #dappbrand #wanted #denimlovers #newarrivals

A post shared by Line: @da-ppbrand (@dappbrand) on

Continue the legacy

ตอนแรกที่เริ่มเข้ามาทำงานที่ Dapper พบปัญหาอะไรในแบรนด์หรือในการทำงานบ้าง

คือก็ต้องบอกว่า เขาก็ต้องมี way การทำงานที่มันเซ็ทไว้ ส่วนตัวที่รู้สึกเนี่ยก็หลายอย่าง บางอย่างมันอาจจะช้าไปไหม ซ้ำซ้อนเกินไปไหม หรือในการตัดสินใจที่จะทำอะไรมันอาจจะมีหลาย layer มากเกินไปไหม เพราะว่าจริงๆ แล้วการอยู่กับแฟชั่นทุกอย่างมันต้องไว แต่เราต้องมา balance ระหว่างความไวและความเนี้ยบ ลูกค้าเราไม่ได้มองหาความไว ความถูก เขาต้องการอะไรที่มันพิถีพิถัน อะไรที่มีความใส่ใจมีคุณภาพเพิ่มมานิดนึง สิ่งนี้เหล่านี้ที่โอเค
          เราเลยจะมองในเชิงของ process การบริหารการทำงาน ว่าทำอย่างไรให้มัน flow ดีขึ้น ให้คนเข้าใจได้มากขึ้นเร็วขึ้น เพื่อที่การตัดสินใจจะได้แข่งขันกันได้ดีกว่าที่มันเป็นมา แต่เราก็เข้าใจว่าการสร้างสรรค์มันใช้เวลา ก็น่าจะเป็นการพยายามหาจุดให้ลงตัวว่าแล้วอะไรที่มันเหมาะสมกับบริษัทของเรา แล้วก็ไปเปรียบเทียบว่าจะไปยืนอยู่จุดนั้นอย่างไรในตลาด

 

One size doesn't fit all

ทำไมเกิดอยากจะคิดสร้างแบรนด์ใหม่ขึ้นมาอีกแบรนด์

แพรวสร้าง DAPP ด้วย 2 เหตุผล หนึ่งคือเหตุผลของตัวเอง เราอยากลองว่าทำได้ไหม เพราะถ้าทำไม่ได้ในสิ่งที่เรามีอำนาจในการตัดสินใจทุกอย่าง ก็อย่าคิดเลยว่าจะสามารถบริหารงานทั้งบริษัทได้เพียงเพราะเราเป็นลูก DAPP เป็นโอกาสที่ทำให้เราเข้าใจทุกอย่างด้วยว่ามันต้องทำยังไง ตั้งแต่เดินเข้าไปหาห้าง เอาของไปให้เขาดู ไปอธิบายให้เขาฟัง ผ้าเป็นยังไงราคาเป็นยังไง พอได้พื้นที่มาแล้วมันก็ยังมีอีกมากมาย ต้องโปรโมทให้คนเข้าใจ การบริหารสินค้า การบริหารคน คือมันก็จะมาอีกเยอะแยะ เพราะ DAPP เป็นเหมือนอีกหนึ่ง business unit ที่แยกออกมาเลย 
          ในเชิงส่วนของตลาด แพรวมองว่าตลาดมันก็มีช่องว่าง คือสไตล์ของ DAPP มีความ craft แต่มีกลิ่นอายของ Dapper เกิดจากการที่เราลองปรับว่าถ้า Dapper เพื่อเป็นกลุ่มลูกค้าที่เด็กลง สนุกขึ้น สตรีทขึ้น เราจะทำยังไงดี สามารถทำให้เราจับตลาดที่ตอนนี้ไม่ได้มีการ player ที่ชัดเจน
          ตอนที่เราเริ่ม DAPP global brands ก็กำลังเริ่มเข้ามา แต่เรามองว่ากลุ่มนี้เขาก็จะมีข้อดีของเขา เขาจะมีสไตล์ของเขา ในขณะที่ของเราเองก็ทำที่เหมาะกับกลุ่มลูกค้าคนไทย และ Southeast Asian เป็นหลัก เช่น ส่วนหนึ่งเราก็พอรู้ อย่างเรื่องไซส์ ช่วงความยาวตัวหรือว่าแบบขาจะไม่พอดีเรา นอกจากเขาจะทำ Asian size อย่างเวลาเราทำ fitting เราจะขึ้นมาครบ size ก็ให้น้องที่ออฟฟิศนะ อย่างน้อยก็ต้องลองใส่ มันต้องยังไงบ้าง และเวลาผ่านไปมันก็ต้องปรับนะ เพราะคนเรามีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างเมื่อก่อนผู้ชายค่อนข้าง slim ผอมๆ ตัวบางๆ แต่เดี๋ยวนี้เขาเริ่ม build เริ่มอะไรกัน เราก็ต้องมาดูว่าขยายไหล่เท่าไหร่ สิ่งเหล่านี้มันมาพร้อมกับพฤติกรรม [ของผู้บริโภค]

"พฤติกรรมที่ต่างกันระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายก็สำคัญ บางเทรนด์ สินค้าผู้หญิงจะหมดคอลเลกชั่นอยู่แล้ว ผู้ชายเพิ่งเริ่ม adopt กับสิ่งนั้น ถ้าเราออกมาเร็วพร้อมกันกับผู้ชายนะ.. แป้ก อะไรพวกนี้ต้องผ่านประสบการณ์ ผ่านความเข้าใจถึงระดับหนึ่ง"

          หรืออย่างด้านลุค อย่างเมื่อก่อนลุคที่ฮิตอาจจะเป็นเนิร์ดๆ นิดนึง อย่างวันนี้ก็คือทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว ตอนนี้อาจจะเป็นแนวสปอร์ตมากขึ้น เราก็ต้องมาปรับ เอาภาพรวมในเชิงแบรนด์มาดู นี่เป็นสิ่งที่ต้องคอยทำการบ้านตลอดเวลา      
          พฤติกรรมที่ต่างกันระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายก็สำคัญ แบบบางทรงที่ขายดี ถ้าของผู้ชายเราอาจจะทำออกมาด้วยอีกวัสดุหนึ่ง อีกสีหนึ่ง ทำได้อีกหนึ่งคอลเลกชั่นเลย แต่ถ้าสินค้าของผู้หญิงนี่คือถ้าซ้ำปั๊บ ไม่เอาแล้ว หรือบางเทรนด์ สมมุติว่าเป็นพวกเทปๆ สินค้าผู้หญิงจะหมดคอลเลกชั่นอยู่แล้ว ผู้ชายเพิ่งเริ่ม adopt กับสิ่งนั้น ถ้าเราออกมาเร็วพร้อมกันกับผู้ชายนะ.. แป้ก อะไรพวกนี้ต้องผ่านประสบการณ์ ผ่านความเข้าใจถึงระดับหนึ่ง เพราะความเป็นจริงคือทุกคนก็ได้รับเทรนด์พร้อมกัน แต่หัวใจสำคัญคือการเอาเทรนด์นั้นกลับมาปรับให้มันเข้ากับลูกค้าของเรา และในเวลาที่ถูกต้อง ไม่อย่างนั้นมันก็จะกลายเป็นสต็อกที่ค้างไว้ เร็วที่สุดไม่ได้แปลว่าดีที่สุด ถ้าลูกค้ายังไม่รับหรือแม้กระทั่งในกลุ่มลูกค้านั้นเราก็ต้องดูด้วยว่าพฤติกรรมของเขาเป็นอย่างไร เขานำเทรนด์ขนาดไหนหรือเขาตามเทรนด์ขนาดไหนด้วยที่เป็นคนซื้อของเหล่านี้จริงๆ

Know your customers

แสดงว่าลูกค้าของ DAPP และ Dapper อาจจะไม่ได้เป็นคนรับเทรนด์เร็วขนาดนั้น

ใช่ คือเขาไม่ใช่คนอย่างนั้น เพราะถ้าเกิดเขาเป็นอย่างนั้นก็คงจะต้องตั้งใจค้นหา ถ้ายิ่งลูกค้าที่มาซื้อ Dapper ยิ่งจะมีความเชื่อว่า Dapper จะทำให้เขาดูดีขึ้น เพราะฉะนั้น เขาไม่ได้กำลังจะหาเทรนด์ที่เร็วที่สุดหรือดีที่สุด แต่เขารู้สึกได้ด้วยการเลือกเนื้อผ้าด้วยการตัดเย็บของเราคือสิ่งที่จะทำให้เขาดูดีขึ้นดูเนี้ยบขึ้นมากกว่าปกติทั่วๆไป สำหรับ DAPP จะเป็นการ reflect style ของคนเหล่านั้นเองมากกว่า คนที่เขานำแฟชั่นมากๆ อยู่ดีๆ เขาไม่มาเดินสายเราแน่นอน ฉะนั้นบางทีสิ่งพวกนี้เราต้องคุยกันให้เข้าใจกับทีมงานด้วย เขาจะมีจุดที่เขาวางไว้ เราก็ต้องบอกว่าจริงๆ ลูกค้าของเราเขาเป็นคนยังไง คือกลุ่มนั้นมีไม่ถึง 2%ในประเทศด้วยซ้ำ ถ้าเกิดทำมาขนาดนั้นคุณก็ขายได้แค่ที่เดียวแล้วก็จบไป เพราะมันมีหน้าที่ที่อยู่ได้แค่ไม่กี่จุด แต่บางอย่างคือสาดไปได้ทุกที่ ยังไงก็ขายได้ นี่คือสิ่งที่เราต้อง control ว่าเราจะผลิตอะไร จำนวนเท่าไหร่ ส่งขายอย่างไร จะขายยังไงให้มัน turn กลับมาให้เร็วที่สุด เพราะมันคือเงินตั้งต้นที่สุดท้ายเราก็ต้องการเงินนั้นมาซื้อของใหม่ สร้างของใหม่

 

Expanding your experise

นอกจาก Dapper และ DAPP คุณแพรวขยายธุรกิจอย่างไรบ้าง

ตอนนี้ที่แพรวกำลังทำเพิ่มคือ expand ไปในส่วนอื่นของธุรกิจโดยใช้ประสบการณ์ของการทำเสื้อผ้า นั่นก็คือการทำ corporate uniform และชุดยูนิฟอร์มร้านอาหาร แพรวเองเป็นคนที่ชอบทำอะไรใหม่ๆ ไม่ว่าจะสร้างอะไรขึ้นมามันจะใช้เวลาในกร Build up ประมาณ 5 ปีมันก็จะเริ่มอยู่ตัว ซึ่ง DAPP ก็อยู่ตัวแล้วตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว แต่ถ้าถามว่าจะสร้างแบรนด์ใหม่ก็คงไม่สร้าง ต้องบอกว่าธุรกิจแฟชั่นก็ไม่ใช่ธุรกิจที่น่าทำมากมายขนาดนั้น ทุกวันนี้ทุกคนก็มีปัญหา อันนี้ก็คือความจริงทั่วโลก ตั้งแต่อเมริกา ยุโรป แบรนด์ต่างๆ ถ้าไม่มีจุดยืนจริงๆ ไม่มีลูกค้าที่ชัดเจนจริงๆ ก็ค่อนข้างอยู่ยาก สุดท้ายมันก็ต้องมานั่งขายสินค้าให้ถูกที่สุดแล้วมันก็ไม่ได้ช่วยใครเลย
          แพรวก็เลยคิดว่า ถ้าอย่างนั้นลองดูว่าจะใช้ expertise ของเราในส่วนไหนที่มันจะสามารถต่อยอดธุรกิจได้ในเชิงที่มันเป็น B2B มากขึ้น ไม่ใช่ B2C ก็เลยมี (การออกแบบและผลิตยูนิฟอร์ม) ตรงนี้ขึ้นมา ซึ่งที่ผ่านมาเกือบสองปีก็เพิ่ม revenue ให้กับบริษัทอย่างน้อยเกือบ 10% ค่ะ
          อย่างปีที่แล้วคือทำให้ KFC ที่เปลี่ยนกันทั้งประเทศ เขาต้องการ turn จากการเป็น Fast food ไก่ทอด มาเป็น café มาเป็น lifestyle ซึ่งตรงนั้นเขาก็พยายามทำมันมาอยู่สักพักหนึ่ง แต่ว่าด้วยความที่แบบเวลาที่คนคิดถึง uniform มันจะไม่หลุดจากความเป็น uniform ต้องเป็น shirt แบบนี้ ต้องเป็นแขนประมาณนี้ คือมันจะมีความเชย มีความเหมือนกันไปหมด ต้องใช้ผ้านี้เท่านั้น เพราะมันคือผ้าที่ถูกที่สุด แต่เรามองว่ามันไม่ใช่ เพราะเรามี source ผ้า เรามี connection เราเรามี supplier 50-60 เจ้า แล้วเราต้องทำไอเทมของเราอยู่แล้ว เราก็เลยแบบ... ทำไมเราไม่เอาตรงนั้นมาสร้างประโยชน์ให้มากขึ้น  ทุกวันนี้เราอยู่ในธุรกิจเสื้อผ้า ซึ่งมันไม่ได้เป็นขาขึ้น แต่เราจะทำยังไงกับมันให้เราสามารถต่อยอดไปได้ในวิธีที่เราใช้ความสามารถและประสบการณ์ไปสร้างประโยชน์ให้กับส่วนไหนของตลาดที่มันไม่ได้มีคนทำอยู่ชัดเจน

"ทุกวันนี้เราอยู่ในธุรกิจเสื้อผ้า ซึ่งมันไม่ได้เป็นขาขึ้น แต่เราจะทำยังไงกับมันให้เราสามารถต่อยอดไปได้ในวิธีที่เราใช้ความสามารถและประสบการณ์ไปสร้างประโยชน์ให้กับส่วนไหนของตลาดที่มันไม่ได้มีคนทำอยู่ชัดเจน"

          เมื่อเราพร้อม พอโจทย์มาเราก็ทำได้ทันที อย่างเมื่อก่อน แผนกจัดซื้อ เขาจะซื้อ uniform ให้ครบทุกตำแหน่ง เขาต้องดีลกับ supplier 5-6 เจ้า เจ้าหนึ่งทำได้แต่เสื้อยืด เจ้าหนึ่งทำได้แต่เสื้อshirt เจ้าหนึ่งคือทำได้แต่ผ้ากันเปื้อน แต่เราทำได้ทั้งหมด และเรายังสามารถคุม theme ให้เขาได้จริงๆ เพราะถ้าไม่อย่างนั้นสิ่งที่มันจะหลุดออกมาคือสิ่งเล็กๆ น้อยๆ แต่มันจะสร้างความแตกต่าง สมมุติเสื้อข้างในเฉดสีฟ้าประมาณนี้ ผ้ากันเปื้อนต้องการสีน้ำเงินประมาณนี้ แต่พอคนละเจ้าทำ สิ่งที่ออกมาคือฟ้าและน้ำเงินที่ไม่ควรมาอยู่ด้วยกัน ซึ่งตรงนี้จัดซื้อเขาคงมองไม่ทะลุ หรือเรื่องการตัดเย็บ เรื่องการใช้งาน ซึ่งพอพนักงานเอาไปใช้งานจริงเขาก็รู้สึกดีในการที่เขาจะเข้าไปอยู่ในแบรนด์นั้น  
          ความยากของชุดยูนิฟอร์มอย่างหนึ่งคือมันต้องมีการแข่งขัน คือมันต้องแข่งกับคนอื่น ซึ่งมันก็คือ challenge อย่างหนึ่ง แต่ถามว่าสนุกไหมก็สนุก มัน challenging เราก็ต้องแข่งขันกับคนอื่นที่ส่วนมากเขาจะถูกกว่าเราตลอด แต่ที่เราจะพูดตลอดคือคุณต้องมอง long run อย่างเสื้อเชฟ (ร้านโออิชิ) ที่เราก็คือเราช่วยเติม finishing เข้าไปในผ้า โดยที่เวลามันโดนอะไรเปื้อนมันจะไหลออก มันจะไม่ติด แต่ถ้าคุณขอของที่ถูกที่สุดมันจะไม่มีสิ่งนั้น และคุณภาพของผ้าทำให้มันทน ซักไป 10-50 ครั้งมันก็ยังโอเคอยู่ สุดท้ายแล้วคุณได้ของดีที่ใช้ได้ในเวลานานขึ้น แล้วคือโดยปกติเชฟไม่ใช่คนที่เปลี่ยนงานบ่อย คือเราลงลึกไปถึงฟังก์ชั่นการใช้งาน แนะนำว่าคุณควรจะ invest อย่างไร เป็นแบบนี้เขาก็แฮปปี้ คือทุกวันนี้เขาก็แฮปปี้ ถามว่ามันถูกที่สุดไหม ไม่ แต่เราจะอธิบายให้ฟังว่าทำไมมันไม่ใช่ ไปซื้อผ้าสำเพ็งมาก็ทำให้เขาดูเลย ว่า test wash เกิน 30 ครั้งปั้บ ถ้าเกิดความร้อนเกิน 30 องศาผ้าจะเริ่มแตกแล้ว แล้วผ้าที่มันเริ่มแตกก็มาอยู่ในอิมเมจของร้าน เราก็เห็นอยู่ทุกวันไงว่ายูนิฟอร์มที่มันเน่ามันเยอะมากไง คุณอาจจะเพิ่ม 20-30 บาทต่อตัว แต่ถามว่าผลที่ได้สำหรับแบรนด์คุณในการใช้งานมันดีกว่ากันเยอะเลยนะ

"เราก็ต้องแข่งขันกับคนอื่นที่ส่วนมากเขาจะถูกกว่าเราตลอด แต่ที่เราจะพูดตลอดคือคุณต้องมอง long run อย่างเสื้อเชฟเราช่วยเติม finishing เข้าไปในผ้า เวลาเปื้อนมันจะไม่ติด แต่ถ้าคุณขอของที่ถูกที่สุดมันจะไม่มีสิ่งนั้น"

          นอกจากนั้นเราก็จะคอยหาอะไรที่มันพัฒนามากขึ้น อย่างตอนนี้ก็มีไปคุยกับโรงงานว่า ถ้าเกิดอยากจะลองดูว่าทำยังไงให้ชุดนักเรียนดีขึ้น แบบพวกกางเกงที่ไล่ยุงได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ถ้าเกิดเด็กไปทัศนศึกษา กางเกงก็ตัดเหมือนกับปกตินั่นแหละแต่จะมีกลิ่นที่ยุงไม่ชอบแต่ไม่มีปัญหากับผิวเด็ก ยุงก็จะไม่เข้ามาอย่างน้อย 50% แพรวก็รู้สึกว่าเออ.. มันมีประโยชน์ มันมีประโยชน์กับคนที่ได้ใส่ มีประโยชน์กับคนที่ได้ใช้ นอกจากจะได้ลุคที่มันดูดีขึ้นแล้ว มันก็ยังทำให้มีอะไรที่มันดีมากขึ้นกว่านั้นด้วย
          ลูกค้าเรามีทุก area เลย โรงพยาบาล fast food เอ่อ... โรงงานผลิตไฟฟ้า บูรพา (หัวเราะ) คือวันก่อนแพรวเข้าไปคุยกับบริษัทบูรพา ที่เขาเป็น consult ด้าน engineering ให้กับรัฐบาล เขาอยากได้ uniform ที่มี QR code ที่ทำให้คนอยาก scan เพื่อจะเข้าไปดู service เขาว่ามีอะไรบ้าง นี่คือ vision ของ CEO เราก็แบบ เอ้ย..เก๋อ่ะ! แต่ว่าทำยังไงให้มันไม่น่าเกลียด คือในขณะที่แต่ส่วนมากคนจะคิดว่า 'อยู่บนอกสิ' แต่พนักงานเขามีทั้งชายและหญิง เพราะฉะนั้นถ้า QR code อยู่บนหน้าอกคือไม่ดีละ ให้คนมา scan บนอก มันจะแบบ.. ไม่ใช่ไง (หัวเราะ) หรือถ้าอยู่บนหลังมันก็เหมือนเสื้อแถม มันก็ดูไม่ดี แพรวก็เลยมานั่งคิดว่าถ้าเกิดเราทำเป็นกระเป๋าล่ะ ซึ่งจะคล้ายคอลเลกชั่นนึงของเราที่มันจะมีอีกชิ้นหนึ่งที่ถอดออกได้ เหมือนเป็นกระดุมที่พอถอดออกมาก็จะมี QR ได้โดยที่มันก็ใส่ได้ คืออย่างน้อยมันก็เป็นกิมมิค หรืออยู่บน cuff เสื้อที่มันต้องมีกระดุมเป็นลูกเล่นในเสื้อเชิ้ต มันไม่ใช่แบบเพื่อเดินไปเดินมา สแกนฉัน สแกนฉัน มันก็ไม่มั้ง (หัวเราะ) 
         อย่าง Maisen คือทุกอย่างต้องสั่งจากญี่ปุ่น แล้วมันแพงเพราะเจอภาษีนำเข้าอีก ตัวหนึ่งนี่คือเกือบพันบาทนะเหตุผลที่ญี่ปุ่นไม่ยอมให้ทำยูนิฟอร์มเองเพราะว่า supplier ไทยไม่สามารถหาผ้าที่มันถูกต้องอย่างที่เขาต้องการได้ เราก็เลยบอกว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวเราจัดการให้ เราไปคุยกับโรงงานที่ทำเสื้อเชฟส่งออกญี่ปุ่น บอกให้เขาช่วยเอาไปขายญี่ปุ่นหน่อย จนโอเค saving ที่เขาได้ขึ้นมาคืออย่างน้อย 30%
          ประเด็นคือลูกค้าเราเขาทำอาหารได้ดี เขาทำร้านอาหารสวย การตกแต่ง ดีหมดทุกอย่าง แต่เขาไม่รู้ knowhow ของเสื้อผ้าว่ามันมันทำอะไรได้อีกมากกว่าการสวมใส่ อย่างความหนาของปกแค่ลดไปนิดเดียวมันก็ดูเท่ขึ้นมาแล้ว เขาแค่ต้องการคนที่มาช่วยเขาดู total look ซึ่งส่วนตัวแพรวชอบเรื่องแบรนดิ้ง พอเข้าไปคุยกับเขามันก็ค่อนข้างตอบโจทย์ได้ระดับหนึ่งเลย 

"เขาทำอาหารได้ดี เขาทำร้านอาหารสวย การตกแต่ง presentation ทุกอย่าง แต่เขาไม่รู้ว่า knowhow ของเสื้อผ้า ว่ามันมันทำอะไรได้อีกมากกว่านั้น อย่างความหนาของปกแค่ลดไปนิดเดียวมันก็ดูเท่ขึ้นมาแล้ว

          หรือเรื่องสต็อก แพรวก็บอกเขาว่าเรามี data ช่วยคุณได้นะ ว่าชุดยูนิฟอร์ม จริงๆมันก็คือเป็น Bell Curve เหมือนกับไซส์มนุษย์ทั่วไปในโลกนี้ size M เป็นส่วนมากที่ 30% ที่เหลือก็ S L XL เราช่วยให้เขามี waste น้อยลง ทำให้เขาไม่ต้องมานั่งสต็อกของที่ไม่รู้จะได้ใช้หรือเปล่า เหมือนเป็นการ Total Solution เพราะว่าอย่างที่บอก อย่างเวลาเราทำคอลเลกชัั่นของเราเองเราก็ต้องคำนึงถึงเรื่องพวกนี้มากว่าจะต้อง สต็อกไซส์เท่าไหร่ ผลิตมากน้อยแค่ไหน กระจายกี่สาขา เสื้อบางสีถ้าคุณส่งไปใต้ยังไงก็ไม่ขายเพราะคนใต้ใส่ยังไงก็ไม่สวย แต่ถ้ายัดไปภาคเหนือก็ส่งไปเลยเราต้องเข้าใจคนใช้ คนใส่ คนซื้อ และตอบโจทย์ธุรกิจหรือ corporate branding 
          หรือบางครั้งลูกค้าบางท่านไม่เข้าใจว่าทำไมถึงไม่มี supplier คนไหนที่จะสามารถผลิตชุดยูนิฟอร์มของเขาได้ในเวลาที่กำหนด คำถามคือคุณทำงานอย่างไรละ? คุณให้ projection เขาไหม ถ้าแนะนำนะให้คุณทำงานกับโรงงานหนึ่ง อย่าเปลี่ยนมาก แล้วบอกเขาเลยว่าจะมีการสั่งอย่างน้อยกี่ร้อยตัวทุกกี่เดือน เพื่อที่ว่าเขาจะได้ manage มันคือการบริหารจัดการ คุณทำ contract กับเขาไหมสักปีหนึ่ง แล้ว 30 วันคุณได้ของแน่นอน คือเราต้องไปช่วยอธิบายว่าสิ่งที่เขาอยากได้ จริงๆ ปัญหามันมีทางออกนะ แต่ถ้าเกิดคุณไม่ปรับวิธีการทำงานของคุณ ก็ต้องรับสภาพนะว่าคุณจะหาทางออกไม่ได้ 

"จริงๆ ปัญหามันมีทางออกนะ แต่ถ้าเกิดคุณไม่ปรับวิธีการทำงานของคุณ ก็ต้องรับสภาพนะว่าคุณจะหาทางออกไม่ได้ "

  

 

Learn from the master

การทำงานกับคุณพ่อ ซึ่งมีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จ ได้เรียนรู้อะไรจากท่านบ้าง และได้นำมาปรับใช้ยังไงบ้าง
คือจริงๆต้องบอกว่าเยอะมาก แต่ว่าถ้าถามว่าหลักๆแน่ๆเลยคืออย่างที่บอกว่าการทำเสื้อผ้า เพราะว่าเริ่มต้นมาคือแพรวไม่รู้เลยว่าอะไรคืออะไร ผ้าอันนี้คืออะไร มันเรียกว่าอะไร มันยืดไม่ยืด คือมันแบบ Blank ต้องมาเรียนรู้ตั้งแต่เส้นด้าย เส้นด้ายยาวเท่าไหร่คู่มาขวางกันเท่าไหร่ แปลว่าอะไร ทอออกมาเป็นลายนี้คือยังไง เสร็จแล้วคือมีเรื่องของ pattern อีกคือต้องตัดต่อยังไงให้เอวมันพอดี มีวิธีการเก็บยังไง คือมันจะเป็นอีกเรื่องนึงเลยคืออีกหนึ่งสิ่งที่เราต้องใช้เวลาเรียนรู้ ซึ่งเราไม่เคยรู้มาก่อนเลย
          จริงๆ ส่วนตัวไม่ได้เป็นคนชอบแฟชั่น ไม่ได้เป็นคนสนใจอะไรพวกนี้เลย เพราะฉะนั้นมันก็เลยไม่ได้อยู่เป็นธรรมชาติของตัวเอง แต่ว่าก็ใช้เวลาค่อนข้างมาก เพราะมันเยอะ แต่ละ category มันไม่เหมือนกัน อย่างเชิ้ตผู้ชายผ้ายืดไม่ยืด แจ๊กเก็ตใช้ผ้าอะไร สูท lining เยอะมั้ย ยาวครึ่งตัวหรือเต็มตัว เป็นผ้าที่มีความผสมของ polyester หรือ cotton มันแปลว่ามันต่างยังไงมันยืดไม่ยืด แล้วมาดูในแง่ของการใส่ อากาศที่ใช้อีก การดูแลรักษาอีก การที่จะดูว่าให้มันอยู่นานแค่ไหนอีก สิ่งเหล่านี้มันทำให้เสื้อตัวนั้นก็สามารถทำมาได้ในหลายๆ แบบ แต่ต้องเข้าใจในสิ่งนั้นว่ามันจะต้องทำยังไง และเลือกอะไรให้มันเหมาะสมกับอะไร

การมีคุณพ่อที่เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาก กดดันไหม

ก็กดดันนะ เพราะว่าเขาก็จะมี way ของเขาที่ทำมาแล้วเขาประสบความสำเร็จ แต่แพรวก็ไม่ได้เป็นคนแบบนั้นไง คือก็มีความดีด ความกบฏ ความอะไรของตัวเองอยู่ในระดับนึง (หัวเราะ) แพรวก็แบบแล้วทำไม มันเป็นอย่างอื่นไม่ได้เหรอ เขาดุ แต่เขาจะสอน ตั้งแต่แรกเขาจะบอกว่า “ถ้าจะตัดสินใจทำอะไรในธุรกิจ คิดซะว่าถ้ามันไม่ประสบความสำเร็จ ถ้ามันเฟล แล้วเราจะรับผิดชอบกับมันได้ไหม ถ้าเรารับผิดชอบไม่ได้ก็อย่าทำ แต่ถ้าเกิดคุณจะทำแล้วเนี่ย worst case แล้วคุณต้องสามารถรับผิดชอบมันได้วยตัวคุณเอง ไม่ว่ามันจะเกี่ยวข้องกับเรื่องคน เรื่องเงิน เรื่องคู่ค้า เรื่องอะไรก็แล้วแต่เนี่ย ถ้ารับผิดชอบไม่ได้ก็อย่าทำ คิดให้มันดีๆกว่านั้น” ซึ่งมันก็ดี มันกลายเป็นว่าเวลาเราจะลองอะไร เราก็จะได้คิดให้หมด เพราะบางทีมันอยากลอง มันมีโอกาส คนอื่นเขาทำกัน เราก็มีไอเดียของเราขึ้นมา แต่เราไม่ได้คิดไปว่าถ้าไอเดียของเรามันไม่เวิร์คขึ้นมาเราแก้ปัญหากันได้มั้ย เพราะว่ามันมีผู้เกี่ยวข้องเยอะแยะมากมายที่เขาจะต้องมานั่งรองรับปัญหานั้นกับเรา

ถึงจุดไหนที่คิดว่า โอเค แพรวรอดละ

คงเป็นเมื่อเวลาที่ ไม่ได้เข้าไปถามอะไรเขามาก แล้วก็คนอื่นมาเป็นคนบอกเขา “ว่าเอ้อเนี่ย ลูกคุณก็ใช้ได้นะ” ห้าง หรือว่าคู่ค้า หรือคู่แข่งพูดแบบ “เฮ้ย.. นี่ลูกสาวทำเองเหรอ” อะไรอย่างนี้ หรือว่าในบริษัทเองก็เถอะ ตั้งแต่แพรวบอกว่าเดี๋ยวแพรวจะดูแลจัดการทุกอย่าง รวมถึงการเงินด้วย เซ็นต์เช็คเองทุกอย่าง คือแพรวจะรับผิดชอบหาเงินและหมุนเงินให้ทัน เราต้องทำทุกอย่างให้มันได้ เมื่อก่อนนี้ก็จะดูถึงแค่พวกหน้าบ้าน ไอ้พวกเอกสารข้างหลังบ้านคือแพรวไม่ได้ยุ่ง เพราะฉะนั้นเนี่ยการที่แพรวไม่ได้ทำตรงนั้นมันทำให้เราก็ไม่ได้รู้จริงๆ ว่านั่นน่ะคือความยาก ว่ามันจะอยู่รอดไม่รอดหรือมันจะได้ไม่ได้ หรือมันควรจะมากน้อยขนาดไหน พอเราทำรับผิดชอบตรงนั้นได้ เขาก็จะรู้สึกว่า..โอเค คิดว่าน่าจะปล่อยให้บริหารจัดการด้วยตัวเองได้แล้ว  
          แพรวทำงานมาปีนี้ปีที่ 10 ที่ทำ DAPP มาก็ 5 ปี ถ้าถามว่าช่วงไหนที่เขารู้สึกโอเคก็น่าจะช่วงประมาณสัก 2 ปีที่แล้วเองมั้ง ที่เรารู้แล้วว่าเขาเริ่มฟังเรา และก็เขาให้เราไปแก้ปัญหาในส่วนของเขาด้วย คือบางอย่างเขาก็ถามมา แพรวก็บอกอันนี้แพรวไม่รู้ เขาก็อ้าว อันนี้แพรวไม่รู้ได้ยังไง แพรวต้องมีคำตอบให้ แพรวก็บอกแพรวไม่ได้รู้ทุกอย่างไม่ได้เก่งทุกอย่าง ไม่ได้ฉลาดขนาดนั้น แต่จะพยายามได้ ลองไปหาคำตอบมาให้ได้ เรารู้ว่าถ้าเป็นเมื่อก่อนเขาไม่เอามาถามเราหรอก 
          อีกส่วนนึงคือด้านคนที่ทำงานกับเรา ถ้าเขาเดินเข้ามาถามว่ามีอะไรให้ทำอีกไหม คุณแพรวอยากจะไปทางไหน direction มันคืออะไร ความกระตือรือร้นเหล่านี้ที่ทำให้เราเห็นว่าเขาไม่ได้อยู่ไปวันๆ เขาไม่ได้รู้สึกว่าสั่งมาถึงจะทำ พูดง่ายๆคือถ้ามีคนเก่งคนดีที่เขาทำงานกับเรา เราก็รู้แล้วว่าเราก็คงจะโอเค เพราะถ้าไม่อย่างนั้นเขาก็คงจะไม่อยู่ แต่วันนี้คือเขาอยู่และเขายังนำเสนอไอเดียนั่นนี่ คนเหล่านี้ก็จะมีทั้งอายุโตกว่า เด็กกว่า เท่ากัน ซึ่งจริงๆแล้วทีมก็ควรจะเป็นอย่างนั้น ถ้าทุกคนในทีมใหม่หมดมันจะวุ่นวายมากเลย มันจะต้องมีบางคนที่ผ่านประสบการณ์งานมาบ้างแล้ว เขาจะมีความเป็นผู้ใหญ่พอที่จะบริหารจัดการบางอย่าง เขาอาจจะไม่ได้เป็นคนที่เก่งที่สุด แต่เราต้องมีคนแบบนี้อยู่ในทีมด้วย

"ถ้าทุกคนในทีมใหม่หมดมันจะวุ่นวายมากเลย มันจะต้องมีบางคนที่ผ่านประสบการณ์งานมาบ้างแล้ว เขาจะมีความเป็นผู้ใหญ่พอที่จะบริหารจัดการบางอย่าง เขาอาจจะไม่ได้เป็นคนที่เก่งที่สุด แต่เราต้องมีคนแบบนี้อยู่ในทีมด้วย"

          การที่เราจะจัดเตรียมทีมที่จะทำงานเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าอันนี้มันใช้เวลาเยอะมาก และในทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือว่าปรับ มันก็ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรตลอดเวลา คือเวลาทำงานกับคนอื่นหรือว่าการทำงานกับตัวเอง แล้วผ่านแต่ละโปรเจ็กต์ สิ่งที่มันได้รับตลอดเวลาก็คือเราต้องพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น เราได้เรียนรู้ตัวเองว่ามันต้องจัดการอะไรให้มันดีขึ้น สิ่งที่เคยทำมาที่มันเวิร์คมันไม่ได้แปลว่าจะใช้แบบนั้นได้ตลอดไป สถานการณ์เปลี่ยน คนเปลี่ยน ตลาดเปลี่ยน ก็ต้องปรับตลอด บางอย่างมันอาจไม่ได้ถูกใจตัวเอง ไม่ได้ชอบ ไม่ได้สบายใจที่จะทำ แต่มันก็ต้องทำ
          ยิ่งแบบคือเวลาไปดีลกับคน คนก็มีมากมายหลากหลาย ยูนิฟอร์มนี่เจอหลากหลายจริงๆ ตั้งแต่กระทรวงต่างๆ จนกระทั่งฝรั่งจ๋าเลยอะไรอย่างนี้ คือเราก็ต้องหาวิธีที่จะทำยังไงให้เขาเข้าใจเรา ฟังเรา และก็เชื่อใจที่จะทำงานกับเรา ตรงนี้คือมันเป็นศิลปะที่ต้องทำให้ดี
          อีกสิ่งที่สำคัญคือไม่ใช่ว่าจะทำยังไงก็ได้ให้มันขายแล้วดูดี แต่คุณต้อง deliver สิ่งนี้ให้ได้ และคุณต้องมีความจริงในสิ่งนั้นถึงระดับหนึ่ง เพราะไม่งั้นเดี๋ยวสุดท้ายมันก็ออกมาเองแหละไม่ช้าก็เร็ว และคุณก็คงจะได้งานครั้งเดียวแล้วเขาก็อาจจะพูดต่อหรือเขาจะอะไรก็แล้วแต่มันก็ไม่ได้สามารถทำให้คุณไปไหนได้ไกล 

"สิ่งที่เคยทำมาที่มันเวิร์คมันไม่ได้แปลว่าจะใช้แบบนั้นได้ตลอดไป สถานการณ์เปลี่ยน คนเปลี่ยน ตลาดเปลี่ยน ก็ต้องปรับตลอด บางอย่างมันอาจไม่ได้ถูกใจตัวเอง ไม่ได้ชอบ ไม่ได้สบายใจที่จะทำ แต่มันก็ต้องทำ"

Secrets to success

คิดว่าการเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ มีปัจจัยอะไรบ้าง

มีสองส่วน คือส่วนที่วัดได้ด้วยตัวเลขและส่วนที่วัดไม่ได้ด้วยตัวเลข ในการที่เราจะเดินงานไปปฏิบัติอะไรสักอย่างมันต้องดูว่าทำไปเพื่ออะไร ตัวเลขตอบโจทย์มั้ย สุดท้ายได้อะไร ต้องทำเท่าไหร่ ลงเงินเท่าไหร่ คือมันบอกได้เลยว่าถ้าเราทำได้ 100 เราจะได้ 10 ถ้าเราทำได้ 80 เราอาจจะเหลือ 5 คือพวกนี้ถ้าเห็นด้วยตัวเลขมันรู้อยู่แล้วว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ซึ่งจะเห็นชัด
          แต่ว่าการจะประสบความสำเร็จจะต้องมี soft side ด้วย ซึ่งเกี่ยวกับคน เกี่ยวกับการต่อรอง เกี่ยวกับการกระทำในส่วนอื่นที่มันไม่สามารถที่จะวัดผลออกมาได้เป็นตัวเป็นตน แต่ถ้ามันไม่มีสิ่งนั้นยังไงก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะว่าคุณยื่นตัวเลข ก็ตัวเลขมันบอกแบบนี้ก็ต้องทำแบบนี้ แต่คุณเห็นหน้าเขามั้ย เขาไม่ต้องการจะทำแบบนี้กับคุณ ถ้าคุณไม่เข้าใจเขา คุณไม่หาวิธีพูดให้เขาจะฟังคุณก่อน ยังไงสิ่งนั้นก็เกิดขึ้นไม่ได้
          เมื่อไหร่เอางานไปให้เขา เขายี้หรือเขามองว่ามันเป็น challenge ใหม่ หรือเขาแบบ..มาอีกแล้วเหรอ ถ้าเป็นอย่างนี้เราก็รู้แล้วว่าบางอย่างมันกำลังไม่เวิร์คอยู่ มันกำลังจะไม่เดินไปในทางที่มันประสบความสำเร็จแน่ เพราะว่าคนที่เขาจะต้องทำเขารู้สึกว่ามันไม่ใช่ เขาไม่เชื่อ หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งการที่จะดำเนินการต่อมันก็ต้องคุยกันว่า ที่เราคิดแบบนี้ถ้าเกิดคุณไม่เห็นด้วยคุณคิดว่ามันเป็นเพราะอะไร คุณมีอะไรที่คุณต้องการที่จะนำเสนอมาให้มันดีกว่านี้มั้ยให้เราฟัง เสร็จแล้วปั๊บ เราก็หา conclusion ที่มันจะโอเค
          หรือบางคนพูดแล้วมีเสน่ห์ อะไรก็ฟังดูดี ได้ค่ะ ดีค่ะ นู่นนี่ค่ะ แต่แล้วสุดท้ายคุณก็ deliver ออกมาไม่ได้ เพราะว่าคุณยังไม่รู้เลยว่าคุณต้องทำอะไรก่อน คุณต้องให้ใครทำก่อน มันจะใช้เงินเท่าไหร่ มันต้องวางแผนยังไง คือสิ่งนี้มันเหมือนต้องแบบทำไปด้วยกันและคิดไปด้วยกันตลอดเวลา แต่แค่ว่าการที่คุณจะเอาอะไรมาเป็นตัวตัดสินใจเนี่ยมันก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในเคสนั้นๆ ถ้าหยิบจุดมาผิดในสถานการณ์ที่ผิดยังไงมันก็ไม่ประสบความสำเร็จ 

"เมื่อไหร่เอางานไปให้เขา เขายี้หรือเขามองว่ามันเป็น challenge ใหม่ หรือเขาแบบ..มาอีกแล้วเหรอ ถ้าเป็นอย่างนี้เราก็รู้แล้วว่าบางอย่างมันกำลังไม่เวิร์คอยู่ มันกำลังจะไม่เดินไปในทางที่มันประสบความสำเร็จแน่ เพราะว่าคนที่เขาจะต้องทำเขารู้สึกว่ามันไม่ใช่ เขาไม่เชื่อ"

 

Importance of branding 

ในฐานะที่เป็นนักสร้างแบรนด์ คุณแพรวคิดว่าอะไรคือความสำคัญของการสร้างแบรนด์ ทำไมเราต้องสร้างแบรนด์

เราต้องสร้างแบรนด์เพราะว่าถ้าไม่งั้นเสื้อมันก็จะกลายเป็นสิ่งที่มันเหมือนกัน เสื้อยืดสีขาวตัวนี้ถ้าเกิดมันไม่ได้มีแบรนด์มา.. ฉันหาเสื้อขาวได้ถูกที่สุดก็ไปตลาดนัดก็ได้ 100 กว่าบาท หรือถ้าเกิดว่าเสื้อขาวที่เขาแบบมีที่มาที่ไปของการตัดเย็บ หรือ branding หรือ inspiration หรืออะไรก็แล้วแต่มันก็ทำให้คุณค่าของสิ่งนั้นมันไม่ใช่แค่เสื้อขาวเฉยๆ นี่คือทำไมแบรนด์ถึงต้องมีเรื่องราว ก็เพราะว่าคนที่เขาถูกใจกับสิ่งนั้นเขาจะอิน แล้วมันก็จะทำให้แบรนด์นั้นมีคุณค่าขึ้นมา
          แต่แบรนด์ก็จะต้อง deliver on สิ่งที่เขา promise เหมือนกัน คุณก็ต้องชัดว่าฉันเป็นแบรนด์ที่คุณภาพประมาณเท่านี้ สไตล์ประมาณเท่านี้ ขายของคนอายุประมาณเท่านี้ ในราคาเท่านี้ คุณก็ต้อง deliver on สิ่งนั้น แต่ถ้าเกิดคุณไม่เคยทำ เราก็เคยเห็นตัวอย่างเยอะแยะมากมายที่เหมือนทำมาหลอกแล้วก็เรียกราคาสูงเกินความจำเป็น โดยที่มันไม่มีอะไรบอกว่าทำไมแบรนด์นั้นมีมูลค่า คนก็ไม่ซื้อ
          มันคือการเพิ่มมูลค่าให้ถูกต้อง และเป็นความเชื่อมโยงต่อเนื่องในการเล่าเรื่องราวมากกว่าเพราะว่าคนจะได้ไม่งง แบรนด์ต้องมีจุดยืน ก็คือเหมือนคนๆนึง ถ้าเมื่อไหร่มีการเปลี่ยนไปตามเวลาแล้วคุณเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา คนก็จะงงว่า..สรุปคุณยังไงนะ สไตล์เป็นยังไงนะ คุณต้องการอะไรนะ ถ้าลูกค้างงเมื่อไหร่เขาก็ไม่เอา เขาก็จะรู้สึกว่าฉันไปอย่างอื่นที่ฉันเข้าใจง่ายขึ้นดีกว่า ที่เข้ากับฉันมากกว่า มันก็จะทำให้ลูกค้าที่เขาอยากอยู่กับคุณเขาก็จะไม่อยู่กับคุณเพราะว่าเขาไม่เข้าใจคุณ เขาเข้าไม่ถึงคุณ เพราะวันนี้คุณพูดอะไรก็ไม่รู้ 

"แบรนด์ต้องมีจุดยืน ถ้าเมื่อไหร่มีการเปลี่ยนไปตามเวลาแล้วคุณเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา คนก็จะงงว่า..สรุปคุณยังไงนะ สไตล์เป็นยังไงนะ คุณต้องการอะไรนะ ถ้าลูกค้างงเมื่อไหร่เขาก็ไม่เอา เขาก็จะรู้สึกว่าฉันไปอย่างอื่นที่ฉันเข้าใจง่ายขึ้นดีกว่า ลูกค้าที่เขาอยากอยู่กับคุณเขาก็จะไม่อยู่กับคุณเพราะว่าเขาไม่เข้าใจคุณ"

 

The future of buying

คุณแพรวมองภาพในบริษัทในอีกสัก 5–10 ปีข้างหน้าเป็นยังไง

Core business ของเราคงไม่ได้เปลี่ยนไปเป็นสิ่งอื่น แต่เราจะต้องทำยังไงให้มันมีประสิทธิภาพมากขึ้น มันช่วยเหลือการใช้งานของคนมากขึ้น การทำงานที่มันจะลดการผิดพลาด ลด waste หรือลดอะไรให้มันลดน้อยลงจะทำอย่างไรได้บ้างซึ่งมันก็คงหนีไม่พ้น พวกเทคโนโลยีหรือ robot ต่างๆแต่เราจะหยิบมันมาใช้อย่างไรให้มันเหมาะสม อย่างเช่นตอนนี้ ที่แพรว develop อยู่ก็คือพวก sensor ที่คุณยืนเฉยๆ แล้วมันจะวัดรูปร่างของแต่ละคนออกมาเพื่อจะมา match กับสเกลของเรา แค่ยืนอยู่เฉยๆก็จะเลือกไซส์ของคนได้ถูกต้องเลย
          คือแพรวมองว่าหลายๆอย่างที่เคยต้องทำด้วยคนหรือด้วย data สามารถพัฒนาให้ง่ายมากกว่าเดิมได้อีกเยอะ อย่างการขายสินค้าในห้าง ถ้าในอนาคตมันมีระบบที่ดีและชัดเจนขึ้น ชิ้นไหนขายแล้วใน warehouse ก็สั่งเติมให้ได้เลยแบบ real time หรือการส่งของที่สั่งออนไลน์มากขึ้น ทำให้การซื้อไม่จำเป็นที่จะต้องจบที่หน้าร้านอย่างเดียว shop อาจจะเหลืออยู่ไม่กี่ที่ ลูกค้าเข้าไปดูเอง สั่งซื้อมา เสร็จแล้วของส่งไปที่บ้าน อะไรแบบนี้
          เสื้อผ้าเป็นสิ่งหนึ่งที่อาจจะโชคดี อาจจะไม่เหมือนกับธุรกิจที่บางอย่างที่มันสามารถตายไปได้กับเทคโนโลยีหรือการเปลี่ยนแปลง เพราะว่ายังไงมนุษย์ต้องใส่เสื้อผ้า เป็นสิ่งที่ต้องใส่ถอดและซักและเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ ทุกวัน แต่ว่าพฤติกรรมในการที่เข้าไปหาสิ่งของพวกนั้นมันจะไม่เหมือนสิ่งปกติ
          อย่างทุกวันนี้คนเดินเข้าห้างน้อยลง คนเดินเข้าห้างแล้วไม่ต้องการจะซื้อเสื้อผ้าในราคาเต็ม ตอนนี้ทุกคนมีปัญหานี้ แล้วคนก็ไป blame ว่า อ้อ.. เพราะไปซื้อออนไลน์ แต่คุณลองไปเช็คตัวเลขตรงนั้นดูสิ จริงๆ ตรงนั้นเขาอาจจะดึง share ตรงนั้นของคุณไปสัก 1% มันไม่ได้เยอะมากมายขนาดนั้นนะ อย่าทำให้มันเป็นเรื่องใหญ่ แต่คุณต้องมาดูเองว่า วันนี้การเปลี่ยนแปลงของลูกค้าตรงนั้นมันต้องเป็นเพราะอะไรแน่ๆ เขาเอาเงินไปกินมากขึ้นหรือเปล่า เอาเงินไปท่องเที่ยวมากขึ้นหรือเปล่า เขาไม่ให้ value กับเสื้อผ้าเหมือนเดิมแล้วใช่ไหม วันนี้ราคาไหนวิธีการซื้อตรงไหน การเข้าหาเขาตรงไหนที่มันเหมาะสม คุณต้องปรับตรงนั้นแล้วทำให้เขาอยากจะมีความเกี่ยวข้องกับแบรนด์ของคุณอยู่ กับสิ่งที่คุณ offer อยู่ เพราะสุดท้ายมันก็คือเสื้อผ้านี่แหละ เราแค่ต้องขายในวิธีการที่เขาอยากจะซื้อ

"อย่างทุกวันนี้คนเดินเข้าห้างน้อยลง คนเดินเข้าห้างแล้วไม่ต้องการจะซื้อเสื้อผ้าในราคาเต็ม แล้วคนก็ไป blame ว่า อ้อ.. เพราะไปซื้อออนไลน์ แต่คุณลองไปเช็คตัวเลขตรงนั้นดูสิ จริงๆ ตรงนั้นเขาอาจจะดึง share ตรงนั้นของคุณไปสัก 1% มันไม่ได้เยอะมากมายขนาดนั้นนะ อย่าทำให้มันเป็นเรื่องใหญ่ แต่คุณต้องมาดูเองว่า วันนี้การเปลี่ยนแปลงของลูกค้าตรงนั้นมันต้องเป็นเพราะอะไรแน่ๆ"

คุณแพรวคิดว่าเราจะไปอยู่ในจุดในการที่ห้างจะปิด แล้วคนไม่ไปห้างอย่างนี้ไหมครับ

แพรวว่ามันมีนะคะ แต่ว่ามันอาจจะไม่ได้เป็นในดีกรีที่มันเยอะขนาดนั้น เพราะว่าต้องบอกว่าพฤติกรรมของคนไทยหรือคนเอเชียจะไม่เหมือนคนอเมริกันหรือคนต่างชาติ ซึ่งส่วนมากเวลาเดินห้างเขามีเหตุผลในการไป ส่วนคนไทยเราไม่ค่อยมีเหตุผลในการไป (หัวเราะ) ร้อนอะ หิวอะ เดินผ่านไปเสื้อสวยอะ แต่ไม่ซื้อ
          ออนไลน์ช็อปปิ้งเขาวัดกันที่ conversion rate ว่าส่งไปเท่าไหร่ได้เท่าไหร่กลับมาเท่าไหร่ ของเอเชียหรือของเมืองไทยนี่ประมาณ 1 หรือ 2% นะ คือต่ำมาก อย่างของอเมริกันนี่คือ 10-15% และเวลาที่เขาใช้ในการ convert สั้นกว่าเรา.. มากกว่าครึ่งหนึ่ง เพราะเขาชัดเจน ฉันเข้ามาเว็บนี้ ซื้อสีนี้ เสร็จแล้วออก แต่ของเราไม่ใช่ไง เอ๊ะ..สีนี้ก็สวย เอ๊ะๆ เดี๋ยวก่อน ส่งไปให้เพื่อนดู..แกว่าไงอะ คือมันไม่จบ ซึ่งอันนี้มันเป็นสิ่งที่เราต้องเข้าใจ มันจะเอามาวัดวิธีเดียวกันไม่ได้
          คือถ้าถามแพรว ห้างไม่หายไปหรอก นอกจากว่าสายนั้นมันรถติดมากๆ รถไฟฟ้าไปไม่ถึง อันนั้นก็เป็นไปได้ว่าห้างอาจจะต้องปิดตัวลง ถ้ามันไม่สามารถหาวิธีให้คนเข้าไปได้ที่มันง่ายกว่านี้ แต่ถ้าไม่งั้นมันก็จะมีอยู่นั่นแหละ แต่มันก็อาจจะไม่สามารถผุดเป็นดอกเห็ดได้เหมือนที่ผ่านมา มันก็จะได้รับการลดและ select มากขึ้น ให้เหมาะสมกับคนที่เขาจะมาเดิน

เรื่องเด่น
    เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ
      การโฆษณา