งามสมบรมราชินีนาถ

  • Things to do, นิทรรศการ
  • 5 จาก 5 ดาว
  • แนะนำ
  1. Fit for a Queen exhibition at Queen Sirikit Museum of Textiles
    Sereechai Puttes/Time Out BangkokFit for a Queen
  2. Fit for a Queen exhibition at Queen Sirikit Museum of Textiles
    Sereechai Puttes/Time Out Bangkok
  3. Fit for a Queen exhibition at Queen Sirikit Museum of Textiles
    Sereechai Puttes/Time Out BangkokFit for a Queen
  4. Fit for a Queen exhibition at Queen Sirikit Museum of Textiles
    Sereechai Puttes/Time Out BangkokFit for a Queen
การโฆษณา

Time Out พูดว่า

5 จาก 5 ดาว

นิทรรศการแสดงฉลองพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชีนีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชีนีนาถ จัดแสดงนิทรรศการ งามสมบรมราชีนีนาถ เพื่อถวายพระเกียรติเนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุครบ 7 รอบ โดยจัดแสดงฉลองพระองค์หายากซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯทรงเมื่อครั้งตามเสด็จฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เยือนนานาประเทศในช่วงทศวรรษที่ 60 โดยฉลองพระองค์ส่วนใหญ่ เป็นผลงานการออกแบบของกูตูริเย่ร์ชาวฝรั่งเศส ปิแอร์ บัลแมง และผลงานการออกแบบการปักของ ฟรองซัว เลอซาจ เจ้าของสตูดิโองานปักที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในสตูดิโอปักที่ดีที่สุดของฝรั่งเศสจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเมื่อผนวกกับสไตล์และความงามอันเป็นเอกลักษณ์ของพระองค์ งานออกแบบฉลองพระองค์ต่างๆ เหล่านี้ได้เป็นส่วนหนึ่งให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชีนีนาถในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้รับการยอมรับว่าเป็นสตรีที่งดงามและแต่งตัวที่ดีสุดในโลกในหลายโอกาส

นอกจากฉลองพระองค์จำนวนหลายองค์ นิทรรศการยังจัดแสดงเอกสารสำคัญ วิดีโอสัมภาษณ์นายฟรองซัว เลอซาจ และหีบเดินทางหลุยส์ วิตตอง สั่งทำพิเศษประดับตราพระราชลัญจกรณ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งหาดูได้ยากยิ่ง

หลายคนอาจมีความสงสัยว่าทำไม สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชีนีนาถ จึงทรงตัดสินพระทัยเลือกดีไซเนอร์ชาวต่างชาติในการออกแบบและตัดเย็บฉลองพระองค์สำหรับการเสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกาและยุโรปในช่วงปี พ.ศ. 2503 หนึ่งในภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ เมลิสซา เลเวนตัน ได้อธิบายว่าในยุคนั้นยังไม่มีดีไซเนอร์ชาวไทยที่คุ้นเคยกับธรรมเนียมการแต่งกายของราชวงศ์ในโลกตะวันตกมากพอ ดังนั้นการเลือกดีไซเนอร์ชาวต่างชาติที่คุ้นเคยกับการทำงานกับราชวงศ์ต่างชาติย่อมเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่าในการออกแบบฉลองพระองค์ที่จะได้รับการจับตาจากสายตาชาวโลก

ส่วนสาเหตุที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ทรงเลือกนายปิแอร์ บัลแมงนั้น เมลิสซาเล่าเสริมว่าในขณะนั้น คริสเตียน ดิออร์ ดีไซเนอร์โอต์กูตูร์ชื่อดังของฝรั่งเศสพึ่งเสียชีวิได้ไม่นาน (ดิออร์เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2500) และผู้ที่มารับหน้าที่กุมบังเหียนห้องเสื้อดิออร์ต่อคือผู้ช่วยวัยรุ่นอายุเพียงยี่สิบกว่าปีของเขานามว่า อีฟส์-แซงส์ โลรองต์ ที่มาพร้อมกับสไตล์ใหม่ที่อาจดูไม่เหมาะสมกับฉลองพระองค์และสไตล์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ในขณะที่ดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศสอีกคนอย่าง โคโค่ ชาแนล ที่เพิ่งกลับมาเปิดห้องเสื้ออีกครั้งก็มีขาวฉาวเรื่องความสัมพันธ์ของเธอกับบุคคลในพรรคนาซี ทำให้แบรนด์ชาแนลในขณะนั้นไม่เป็นที่นิยมในยุโรป ในทางกลับกัน ปิแอร์ บัลแมง ในช่วงนี้คือหนึ่งในแฟชั่นเฮ้าส์ขนาดใหญ่ ทั้งยังเป็นแบรนด์ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงคุ้นเคยตั้งแต่สมัยยังประทับอยู่ในยุโรป (ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่บัลแมงจัดแสดงผลงานคอลเลกชั่นแรกๆ) นอกจากสไตล์ของเขามีความหรูหรา ห้องเสื้อปิแอร์ บัลแมง ยังมีช่างเย็บจำนวนมากที่สามารถตัดเย็บฉลองพระองค์จำนวนมากได้ในเวลาที่กำหนด ห้องเสื้อปิแอร์ บัลแมงจึงเป็นตัวเลือกที่สมบูรณ์แบบในการตัดเย็บฉลองพระองค์ ณ เวลานั้น 

สำหรับกระบวนการทำงาน เนื่องจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ไม่สามารถเสด็จฯ ไปยังกรุงปารีสเพื่อลองฉลองพระองค์ด้วยพระองค์เอง บัลแมงจึงใช้วิธีตัดเย็บชุดตามสัดส่วนของพระองค์ และใช้ผ้าไหมไทยที่ส่งตรงจากกรุงเทพฯ ไปที่ฝรั่งเศสเพื่อตัดเย็บชุดทั้งคอลเลกชั่น โดยได้ เมซง เลอซาจ ดูแลงานปักทั้งหมด ก่อนฉลองพระองค์ทั้งหมดจะถูกส่งมายังกรุงเทพฯ ในหีบเดินทางสั่งทำพิเศษของหลุยส์ วิตตอง เพื่อให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชีนีนาถ ทรงลองเพื่อการปรับแก้ไขครั้งสุดท้ายโดยผู้ชายของปิแอร์ บัลแมง เพื่อความสมบูรณ์ที่สุดของฉลองพระองค์แต่ละชุด

Top Koaysomboon
เขียนโดย
Top Koaysomboon

รายละเอียด

ที่อยู่
การโฆษณา
เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ