RIVULET at Awakening Bangkok 2020
Tanisorn Vongsoontorn/Time Out Bangkok

ธีรวัฒน์ คลังเจริญชัย: "ผมอยากให้ทุกคนได้ลองเอาชนะความกลัวด้วยการ 'เดินบนน้ำ'"

คุยกับศิลปินเจ้าของผลงาน 'Rivulet' ที่เทศกาล Awakening Bangkok 2020 ที่อยากชวนทุกคนเอาชนะตัวเอง

Kenika Ruaytanapanich
เขียนโดย
Kenika Ruaytanapanich
การโฆษณา

Rivulet (ริวัลเล็ต) ผลงานแสดงไฟในเทศกาล Awakening Bangkok 2020 ที่ฉายอยู่บนสนามฟุตบอลเล็กๆ ใกล้กับมัสยิดฮารูน เป็นชิ้นงานจัดแสดงในรูปแบบการฉาย mapping ลงบนพื้น ด้วยลวดลายคล้ายกับผืนน้ำ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนลายไปเรื่อยๆ ให้ทุกคนกลับไปถ่ายรูปกันได้ตลอดช่วงเทศกาล

และนอกจากแสง สี เสียง ถ้าพูดถึงสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินสร้างผลงานชิ้นนี้ออกมาก็มีความล้ำลึกไม่แพ้กัน

RIVULET
Tanisorn Vongsoontorn/TimeOut Bangkok

“ผมเริ่มสนใจงานศิลปะแนวนี้มา 10 กว่าปีแล้ว ตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เป็นความชอบส่วนตัวด้านแสงสีเสียงด้วย โดยเฉพาะพวก sound electronic ผมเลยไปเรียนต่อที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน ที่เขามีมหาวิทยาลัยขึ้นชื่อเรื่องพวกนี้โดยตรง”

คุณธี -  ธีรวัฒน์ คลังเจริญชัย ศิลปินเจ้าของผลงานชิ้นนี้เล่าให้เราฟังถึง ความชอบในการทำผลงานสไตล์ Mapping จนทำให้เขาตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโทคณะ Media Spaces (M.A.) ที่ University of Applied Sciences Europe ประเทศเยอรมนี เป็นคณะที่เรียนโดยตรงด้านมัลดิมีเดียและสเปซ โดยขณะเรียนอยู่ที่นั่นเขาก็เคยมีผลงานทำเสียงประกอบให้นิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ของกรุงเบอร์ลินด้วย

“ศิลปินที่ผมชื่นชอบคือ ริวจิ อิเคดะ (Ryoji Ikeda) เป็นศิลปินวิชวลอาร์ตที่ทำงานสื่อผสม การฉาย mapping หรือการเขียนโค้ดดิ้งแบบ generative design”

THEERAWAT KLANGJAREONCHAI
Tanisorn Vongsoontorn/Time Out Bangkok

หลังจากคุณธีกลับมาจากประเทศเยอรมนี เขาก็จัดแสดงผลงานชิ้นแรกในประเทศไทยร่วมกับศิลปินคนอื่นๆ ที่มาจากประเทศเยอรมนีเช่นกัน ในนิทรรศการที่ชื่อว่า ‘There Is No Thai Park’ ที่เคยจัดแสดงอยู่ ณ SAC Gallery ชิ้นงานของคุณธีเป็นดิสโก้บอลที่มีการฉาย mapping ลงบนลูกบอลดิสโก้ นิทรรศการนี้เล่าถึงความทรงจำที่ศิลปินมีเกี่ยวกับ Thai Park สวนสาธารณะแห่งหนึ่งในกรุงเบอร์ลิน

สำหรับผลงาน Rivulet ที่จัดแสดงในเทศกาล AWKN2020 จึงเป็นชิ้นงานที่ 2 ที่ศิลปินจัดแสดงในประเทศไทย เป็นการผสมทั้ง ความชอบ และ ความเชื่อ ส่วนตัวลงไป จนเกิดเป็นงานจัดแสดงชิ้นนี้ที่คุณธีต่อยอดมาจากคอนเซ็ปต์งานที่พูดถึงการก้าวไปข้างหน้า การมีความหวัง โดยศิลปินมองว่าเนื่องจากปีนี้เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ทุกคนเกิดทั้งความกลัว ความเศร้า และรู้สึกหดหู่ จึงอยากนำเสนอผลงานที่จะสร้างความกล้าให้ทุกคนไม่กลัวความเปลี่ยนแปลงที่จะเข้ามา

“การไม่มีความหวังทำให้ชีวิตเราไม่สดใส พอผมได้เห็นพื้นที่ตรงนี้ที่เป็นของมัสยิดฮารูนก็รู้สึกสนใจ เพราะเหมาะกับการฉาย mapping ลงบนพื้น ซึ่งพื้นที่นี้จะมีข้อจำกัดคือ ห้ามมีเสียง และต้องไม่รบกวนคนในพื้นที่เยอะ"

"ผมเลยกลับมาคิดว่าจะทำชิ้นงานแบบไหนดีที่ตรงกับสิ่งที่เราสนใจ แล้วก็จบที่งานเกี่ยวกับ ‘น้ำ’ เพราะผมอยากให้ทุกคนเอาชนะความกลัวของตัวเอง จึงตัดสินใจทำผลงานที่ให้ทุกคนมาลอง 'เดินบนน้ำ' ซึ่งเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติและเป็นไปไม่ได้”

คุณธีตั้งใจทำผลงานชิ้นนี้เพราะอยากให้ผู้มาชมงานได้รู้สึกได้ก้าวข้ามขีดจำกัด ราวกับได้เอาชนะความกลัวของตัวเอง และเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลง ความไม่แน่นอนต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งเราเพียงต้องกล้าที่จะก้าวออกไปเพื่อเอาชนะสิ่งเหล่านั้น

“ผมรู้สึกว่างานนี้เข้ากับพื้นที่ตรงนี้ได้ดี เหมือนมันสามารถอยู่กับทุกคนได้ ส่วนตัวแล้วผมเป็นคนสนใจเรื่องความเชื่อและศาสนาด้วย และไม่ว่าศาสนาไหนก็จะมีการพูดถึงน้ำ เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิต ก็เลยเกิดเป็นชิ้นงานนี้ ที่ชื่อว่า Rivulet แปลว่า แม่น้ำ หรือคูน้ำเล็กๆ

ส่วนตัวชอบคำนี้ด้วย เพราะว่า vu-let คล้ายกับคำว่า bullet ที่หมายถึงกระสุนพอดี ตรงกับความตั้งใจของผมที่อยากให้งานนี้เป็นเหมือนการยิงความกล้าออกไปให้ทุกคนเผชิญกับสิ่งใหม่ๆ”

RIVULET at Awakening Bangkok 2020
Yasinthorn Sangprateep
RIVULET at Awakening Bangkok
Yasinthorn Sangprateep
ถ้าถามว่าการเขียนโค้ดยากไหม ผมคิดว่าเพราะเป็นสิ่งที่เราชอบและเนิร์ดมากกว่า

คุณธีบอกว่างานชิ้นนี้จะมีอยู่ประมาณ 2-3 ลาย ซึ่งจะเปลี่ยนลายไปเรื่อยๆ ให้คนมาเดินเที่ยวงานไม่เบื่อ ซึ่งจะคงคอนเซ็ปต์น้ำเอาไว้ แต่ว่าจะเปลี่ยนรูปร่างรูปทรงต่างกันไป โดยงานนี้สร้างขึ้นจากการเขียนโค้ด หรือ generative design ที่ไม่ใช่ภาพวิดีโอ แต่เป็นการประมวลผลโดยอัลกอริทึ่มที่ทำให้ชิ้นงานเคลื่อนไหวจริงเหมือนน้ำ ลายที่ฉายลงพื้นจึงขยับไม่ซ้ำกัน

“ตอนเรียนก็ไม่มีการสอนทั้งหมด แต่เพราะเราชอบ เราสนใจ เราทำมันเรื่อยๆ ทำทุกวัน อีกอย่างหนังสือเกี่ยวกับการเขียนโค้ดก็มีอยู่ในห้องสมุดอยู่แล้ว ถ้าเราขยันพอที่จะขุดมัน ก็จะเจอวิธีทาง”

ซึ่งเรื่องน่าเสียดายอย่างหนึ่งคือตอนแรกคุณธีวางแผนให้ชิ้นงานสามาถ interact กับคนดูได้ด้วยตัวเอง แต่เพราะความสูงของหลังคาที่ต้องปีนขึ้นไปติดตั้งระบบ ทำให้ลูกเล่นนี้ต้องยกเลิกไป แต่ถึงอย่างนั้น ขณะนั่งสัมภาษณ์เราก็ได้เห็นการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนและชิ้นงาน อย่างเช่นเด็กๆ ที่มาเกลือกกลิ้งบนสนามฟุตบอลเพื่อเล่นกับแสง หรือเสียงพิธีกรรมจากมัสยิดฮารูน สิ่งเหล่านี้ช่วยเพิ่มบรรยากาศให้ชิ้นงานดูมีมนต์ขลังได้อย่างน่าสนใจ

“การนำชิ้นงานมานำเสนอบนพื้นที่ตรงนี้ คนในพื้นที่ก็ไม่ได้ต่อต้านอะไร แต่เราก็มีการคุยกันเพื่อปรับคอนเซ็ปต์ที่มีการพูดถึงศาสนา เพราะชาวบ้านแถบนี้ส่วนใหญ่เป็นอิสลาม หากมีคนมาถามเราก็จะเล่าเท่าที่เล่าได้ แต่ผมเองอยากให้มองว่าเป็นงานศิลปะมากกว่า”

Rivulet ชิ้นงานจัดแสดงหมายเลข 8 อยู่ที่ มัสยิดฮารูน ไม่ไกลจากบ้านพักตำรวจน้ำ เมื่อเจอทางเข้ามัสยิดจะเห็นผลงาน River Flow แล้วเดินเลยมาอีกนิดก็จะเจอผลงานไฟชิ้นนี้แล้ว 

View this post on Instagram

A post shared by Nattanich Sp (@viview_nns)

View this post on Instagram

A post shared by ffaeirst (@firstpyn__)

เรื่องเด่น
    เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ
      การโฆษณา