วันนี้คงมีน้อยคนที่จะไม่รู้จัก Morvasu เจ้าของเพลงดัง ‘Melbourne’ และ ‘เทาเทา’ เพลงใหม่ล่าสุดของเขาที่ติดหูหลายคนอยู่ในตอนนี้ เช่นเดียวกับเมื่อสิบปีก่อนที่เพลง ‘ภาวนา’ ของ Ten to Twelve เป็นเพลงที่ใครๆ ก็ร้องตามได้ ซึ่งเจ้าของเสียงฟังสบายในเพลงเหล่านี้ก็คือ ‘มอร์-วสุพล เกรียงประภากิจ’
นักร้องชายวัย 33 ปี คนนี้ ปัจจุบันมีอายุในวงการเพลงราว 12 ปี แจ้งเกิดจากการก่อตั้งวงกับเพื่อนๆ และทำเพลงกันเอง เคยเล่นประกวดบ้างแต่ก็ไม่ค่อยชนะ ถึงอย่างนั้นก็ถือว่าความสามารถไม่ธรรมดา จนมีค่ายชวนไปทำเพลงและเริ่มเป็นที่รู้จักในชื่อวง Ten to Twelve
จากที่เคยเล่นเป็นวงและห่างหายจากการทำเพลงไปพักใหญ่ๆ มอร์กลับสู่วงการเพลงอีกครั้งในฐานะศิลปินเดี่ยว ซึ่งเดบิวต์ไปเมื่อปี 2018 ด้วยเพลง ‘เวรกรรม’ หลายคนคงอยากรู้ว่าทำไมถึงออกมาทำเพลงคนเดียว นี่จึงเป็นคำถามแรกที่เราใช้เปิดบทสนทนากับเขา
“เริ่มจากวง Ten to Twelve พักแบบไม่มีกำหนด แต่เรายังอยากทำเพลงอยู่ ก็เลยเริ่มดีไซน์ว่าถ้าเราจะมีโปรเจ็กต์เดี่ยวมันต้องมีซาวนด์ไม่เหมือน Ten to Twelve แล้วมันจะเป็นแบบไหนล่ะ เราก็เลยใช้เวลาค้นหาสิ่งที่ตัวเองชอบอยู่ประมาน 2 ปี” มอร์ เล่าถึงจุดเปลี่ยนสู่การเป็นศิลปินเดี่ยว
ไม่ใช่แค่วงของเขาที่เปลี่ยนไป เพราะในช่วงเวลาเดียวกัน วงการเพลงไทยก็มีการเปลี่ยนแปลงมากเหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องวิธีการทำเพลง ซึ่งในฐานะศิลปินที่เขียนเพลงเอง เขาจึงต้องเรียนรู้สิ่งนี้ไปด้วย โดยมอร์เล่าว่า
“วัยรุ่นยุคนี้เขาทำเพลงไม่เหมือนกับที่เราทำเมื่อก่อน ยุคก่อนส่วนใหญ่จะขึ้นจากกีตาร์โปร่ง ดีดคอร์ด ร้องเพลง แล้วค่อยเอาไปใส่เครื่องดนตรี แต่ยุคนี้เหมือนทำดนตรีก่อน ทำลูปขึ้นมาก่อนแล้วค่อยหาเนื้อร้องให้มัน”
การทำเพลงสักเพลงอาจไม่ใช่เรื่องยากเท่าทำเพลงยังไงให้โดนและเข้าไปอยู่ในใจคนฟัง แต่สำหรับผู้ชายคนนี้ เราว่าเขาทำได้ดีแล้วทั้ง 2 อย่าง ซึ่งสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากๆ ในการทำเพลงให้ประสบความสำเร็จ เราว่าน่าจะเป็นเรื่องของแรงบันดาลใจการเขียนเพลง สำหรับมอร์แรงบันดาลใจมาจากเรื่องรอบตัวที่เจอแล้วจำได้หรือเขียนเรื่องราวเหล่านั้นเก็บไว้
“ตอนทำเพลง ส่วนใหญ่ก็เริ่มจากการทำเมโลดีก่อน แล้วเวลาเมโลดีมันพูดอะไรกับเรา เราค่อยเอาเรื่องที่เราเก็บไว้มาเขียน เหมือนเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตเรากับเมโลดีที่เราทำได้มันแมชต์กัน ก็จะเขียนเป็นเพลงขึ้นมา”
ดนตรี เมโลดี วิธีเขียนเนื้อร้อง คือสิ่งที่มอร์ ตั้งใจออกแบบให้ Morvasu แตกต่างไปจาก Ten to Twelve ซึ่งเขาบอกว่าถึงคนเล่าเรื่องจะเป็นคนเดียวกัน แต่อยู่ในคนละช่วงวัย เพราะฉะนั้นเรื่องที่เล่าก็จะต่างกันออกไป และเขาเองก็ชอบทั้งสองอย่างในคนละแบบ
“I Melbourne You” เราเคยเห็นมอร์เขียนคำนี้ในแคปชันบนอินสตาแกรมของเขา ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ความหมายของคำนี้คืออะไร ซึ่งเขาเองก็ไม่รู้ แต่ก็เล่าที่มาที่ไปให้ฟังว่า
“จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องที่คนฟังเอาไปพูดต่อ เราก็ดีใจและตื่นเต้นมากที่งานมันมีชีวิตของตัวเอง คนจะเอาไปทำอะไรก็ได้ ถ้ามันโดนเขา ซึ่งดีใจมากที่มันโดนเขา Melbourne ของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน แต่เท่าที่เราเข้าใจมันคงเป็นความรู้สึกแบบ ฉันชอบเธอนะ ฉันดีใจที่มีเธออยู่ใกล้ๆ อยากอยู่ใกล้เธอจังเลย ซึ่งความหมายมันเป็นอะไรก็ได้ที่แทนความรู้สึกดีๆ ให้กับคนที่เรารัก แฟน เพื่อน อะไรอย่างนี้”
อย่างที่บอกว่า Melbourne คือเพลงที่ทำให้หลายคนได้รู้จักมอร์ในมุมใหม่ๆ ซึ่งเพลงนี้เขาแต่งมาจากความรู้สึกตอนไปโรดทริปกับแฟนที่เมลเบิร์น เมืองใหญ่ของออสเตรเลีย แต่เนื่องจากช่วงนี้เดินทางไปต่างประเทศยังไม่ได้ เราเลยชวนมอร์จินตนาการถึงโรดทริปในกรุงเทพฯ แล้วแต่งเพลงดูบ้างซิว่าเพลงนั้นจะเล่าเรื่องอะไร
“Bangkok ใช่ไหม นึกถึงอะไรลอฟต์ๆ เสียงดังๆ ความยุ่งเหยิง ร้อน แต่ก็น่าจะทำยากเนอะ”
ไม่ต่างจากที่เราคิดเท่าไหร่ แต่ถึงอย่างนั้น เมื่อเราให้เปรียบเทียบ Melbourne กับ Bangkok มอร์ก็ยังเลือกให้ Bangkok เป็นบ้าน ที่ต่อให้ยุ่งเหยิงแต่เราก็รักมัน ส่วน Melbourne ก็เปรียบเสมือนการพักร้อนที่นานๆ จะแวะไปเยือน
แล้วคิดว่าคนฟังชอบเพลงคุณเพราะอะไร? เราถามทิ้งท้ายก่อนจบบทสนทนาเพื่อให้มอร์ไปเตรียมตัวขึ้นร้องเพลงบนเวที
“เคยปาร์ตี้กับเพื่อนแล้วก็ร้องเพลงกัน ตอนเราร้องเราเหมือนเจออะไรบางอย่าง พอเราเล่นเพลงที่ไม่เคยมีใครฟังมาก่อน คนก็ดูอินกับมัน ซึ่งเราอาจจะไม่ใช่นักร้อง แต่เป็นแค่คนเล่าเรื่อง และเล่าไปด้วยน้ำเสียงแบบนี้ คนอาจจะชอบที่เราเป็นแบบนี้ก็ได้ เดานะครับ”