photo: HKETO
photo: HKETO

We are Hong Kong - การลงทุนทางเทคโนโลยีของ ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ที่นำไปสู่ความยั่งยืนด้านแรงงาน สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ

ความคิดริเริ่มและการทดลองทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ของฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ยังเป็นต้นแบบให้แก่ท่าเทียบเรืออื่นๆ ในเครือทั่วโลกอีกด้วย

Time Out Bangkok in partnership with HKETO
การโฆษณา

กลับมาอีกครั้งแล้วกับซีรีส์ ‘We are Hong Kong’ ที่แนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกับธุรกิจต่างๆ จากฮ่องกงที่ดำเนินกิจการในประเทศไทย ครั้งนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับ ‘ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย’ หนึ่งในผู้ให้บริการท่าเทียบเรือชั้นนำในประเทศไทย

เป็นเวลาเกือบ 20 ปีแล้วที่ ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ให้บริการท่าเทียบเรือในท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ในฐานะเกตเวย์ต้นทางและปลายทางของไทยและภูมิภาคที่ครอบคลุมถึงประเทศลาว บางพื้นที่ของเมียนมาตอนกลางและกัมพูชา รวมถึงจีนตอนใต้ ในการขนส่งสินค้าของผู้นำเข้าและส่งออกให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว แม่นยำ และปลอดภัย 

ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย พัฒนาการให้บริการอยู่เสมอเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้เกิดการซื้อขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากยิ่งขึ้น กระตุ้นให้การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศสูงขึ้นตามไปด้วย

photo: HKETO
photo: HKETO

“เรามองว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงโควิดคือโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นความท้าทาย เนื่องจากโรคระบาดทำให้เกิดความเจ็บป่วยต่อพนักงานและผู้มาใช้บริการ ทำให้ไม่สามารถเข้ามาทำงานและรับบริการในท่าเทียบเรือได้ตามปกติ ศักยภาพในการให้บริการจึงลดลงจาก 100% ตลอด 24 ชั่วโมง เหลือเพียงเฉลี่ย 70-80% กว่าๆ ของโดยรวมของธุรกิจท่าเทียบเรือเท่านั้น” อาณัติ มัชฌิมา ประธานบริหารงานทั่วไปของบริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย จำกัด อธิบาย 

ถึงอย่างนั้นฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ก็ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากก่อนหน้านั้นได้ทดลองใช้ระบบ E-Document และ E-Payment อยู่ก่อนแล้ว นอกจากนำมาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อความต่อเนื่องในการให้บริการและการทำธุรกรรมต่างๆ ในห้วงวิกฤตของโรคระบาดที่ก่อให้เกิดการขาดแคลนกำลังคนและผู้ใช้บริการที่ต้องมาติดต่อธุรกรรมที่ท่าเทียบเรือแล้ว เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ยังช่วยลดความเสี่ยงในการทำงานของเจ้าหน้าที่รับและส่งเอกสารที่ต้องเผชิญอันตรายบนท้องถนน ลดระยะเวลาและต้นทุนในการขนส่ง รวมไปถึงการช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีการใช้กระดาษ ยานพาหนะ และน้ำมันน้อยลงด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ยังก้าวหน้าไปอีกขั้นด้วยการนำเทคโนโลยี ‘Remote Control’ มาประยุกต์ใช้ในท่าเทียบเรือ D ที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ที่บรรทุกตู้ได้ประมาณ 14,000-23,000 TEU ซึ่งไม่เคยมีท่าเรือที่สามารถรองรับเรือที่มีขนาดใหญ่แบบนี้ในไทยมาก่อน โดยเทคโนโลยีดังกล่าวช่วยให้พนักงานสามารถควบคุมการปฏิบัติงานของปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่า (Quay Crane) และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยาง (Rubber Tyred Gantry Crane - RTGC) จากระยะไกลในหอบังคับการได้ ซึ่งช่วยเสริมความปลอดภัย อำนวยความสะดวก และสร้างประสิทธิภาพในการทำงานกับเรือขนาดใหญ่ที่ต้องอาศัยความละเอียดและความแม่นยำได้มากยิ่งขึ้น

“ท่าเทียบเรือ D เป็นท่าเทียบเรือแรกในแหลมฉบังที่ใช้ระบบ Remote Control กับปั้นจั่นยกตู้สินค้าทั้ง 2 แบบ ในช่วงวิกฤติโควิด ระบบเหล่านี้สามารถช่วยงานได้เป็นอย่างดีและราบรื่น นอกจากนี้ยังช่วยสร้างความยั่งยืนทั้งในมิติของแรงงาน ด้วยการเพิ่มความหลากหลายทางเพศในที่ทำงาน เราสามารถสร้างอาชีพให้ผู้หญิงได้ในสัดส่วนถึง 15% ซึ่งสูงสำหรับธุรกิจประเภทนี้ที่แต่เดิมมีแต่ผู้ชาย และเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุทำงานต่อไปได้ ในห้วงเวลาที่ประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมไปถึงมิติสิ่งแวดล้อมที่พาตัวเองไปสู่การเป็น ‘Green Port’ ผ่านการใช้ปั้นจั่นยกตู้สินค้าระบบไฟฟ้าแทนน้ำมันดีเซล ลดการสร้างมลภาวะและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชุมชน ทั้งหมดนี้ทำให้ท่าเทียบเรือ D เป็นต้นแบบให้ท่าเทียบเรือฮัทชิสันแห่งอื่นๆ ทั่วโลกนำไปปรับใช้ได้” อาณัติกล่าวเสริม

นอกจากระบบ Remote Control แล้ว ยังมีการใช้ประตูทางเข้าท่าเรืออัตโนมัติ (Auto Gate) รวมไปถึงรถหัวลากอัตโนมัติ (autonomous trucks) ที่ขับเคลื่อนผ่านระบบ AI ซึ่งอย่างหลังนี้เป็นนวัตกรรมที่ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ภาคภูมิใจ เพราะพิสูจน์ได้ว่าสามารถปฏิบัติการร่วมกับรถหัวลากที่มีคนขับได้ภายใต้ระบบ Dual Mode ได้เป็นอย่างดี ซึ่งท่าเทียบเรือฮัทชิสัน แหลมฉบังเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในโลก 

photo: HKETO
photo: HKETO

“เราได้รับความไว้วางใจจากบริษัทแม่ในฮ่องกงในการมีส่วนร่วมในกระบวนการคิดริเริ่มต่างๆ และได้รับการอนุญาตให้ทดลองเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อสร้างสรรค์และนำเสนอเป็นโครงการนำร่องให้แก่ 53 ท่าเทียบเรือในเครือทั่วโลก ซึ่งโปรเจกต์ autonomous trucks ก็เป็นหนึ่งในนั้น รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของท่าเทียบเรือ D เราก็ภูมิใจที่คนไทยมีความสามารถจนบริษัทแม่ในฮ่องกงให้การยอมรับและสนับสนุน

“การลงทุนในท่าเทียบเรือ D เป็นการต่อยอดความสำเร็จของ ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ที่ได้ปฏิบัติการในท่าเรือแหลมฉบังมายาวนานกว่าทศวรรษ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความยั่งยืนให้แก่องค์กร นอกจากนี้ การลงทุนในท่าเทียบเรือ D ยังจะเป็นต้นแบบให้กับท่าเทียบเรืออื่นๆ ในภูมิภาคด้วย ที่เล็งเห็นว่าในอนาคตปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในท่าเทียบเรือมากยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถต่อยอดโอกาสทางธุรกิจของบริษัทและเศรษฐกิจของประเทศได้ในระยะยาว

“ทั้งหมดนี้ต้องขอบคุณบริษัทแม่ในฮ่องกงที่มองการณ์ไกลและสร้างโอกาสเปิดรับความคิดริเริ่มต่างๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจทั้งในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ” อาณัติกล่าวทิ้งท้าย

แชร์เนื้อหา

บทความล่าสุด

    การโฆษณา