Leave it and break no hearts
สุภัทรา ศรีทองคำ / มูลนิธิ 100 ต้นสน

คุยเรื่องเพศ ศาสนาและคำถามไร้คำตอบ กับ 2 ศิลปิน ‘ภาพตะวัน’ และ ‘สมัคร์’

จากนิทรรศการ Leave it and break no hearts

Suriyan Panomai
เขียนโดย
Suriyan Panomai
การโฆษณา

“ปล่อยก็ร้าว แตะก็แตก” คือชื่อไทยของนิทรรศการ Leave it and break no hearts นิทรรศการที่เนื้อหาว่าด้วยเรื่องเพศ ศาสนา การถูกกดทับและคำถามที่ไม่มีคำตอบ โดย 2 ศิลปิน ‘ภาพตะวัน สุวรรณกูฎ’ และ ‘สมัคร์ กอเซ็ม’ จัดแสดงที่มูลนิธิ 100 ต้นสน ซึ่งความเซ็กซี่ของนิทรรศการนี้คือการเอื้อมไปแตะประเด็นที่แสนจะเปราะบางและยิ่งเซ็กซี่ขึ้นไปอีกเมื่อรู้ว่าศิลปินทั้ง 2 คนคลุกคลีอยู่กับประเด็นนี้มาอย่างยาวนานทั้งในแง่การทำงานและชีวิตส่วนตัว

ผลงานของพี่สมัคร์เน้นเล่าเรื่องผ่านวิดีโอและภาพถ่ายโดยมุ่งประเด็นความเป็นเควียร์ในวัฒนธรรมมุสลิมซึ่งเชื่อมโยงกับประสบการณ์ส่วนตัวของเขาและก่อนหน้านี้เขาก็เคยทำงานวิจัยเกี่ยวกับความเป็นเควียร์ในสังคมมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในฐานะนักวิชาการและเพิ่งหันมาทำงานศิลปะได้ราว 4-5 ปี

สมัคร์ กอเซ็ม
สุภัทรา ศรีทองคำ / มูลนิธิ 100 ต้นสน

“เรื่องเพศและศาสนามันก็เป็นเรื่องที่เรามีคำถามมากที่สุดก็เลยเป็นประเด็นที่เราสนใจมาตลอด พอเริ่มทำงานศิลปะมาประมาณไม่เกิน 5 ปี ตั้งแต่ปีแรกที่ทำก็หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพูดเลย กรณีของเราก็เป็นเรื่องเพศกับศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดค่อนข้างยากอยู่แล้วด้วยก็เลยพยายามทำเป็นงานศิลปะที่เล่าเรื่องผ่านสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์” พี่สมัคร์เล่าจุดเริ่มต้นของความสนใจในเรื่องเพศและศาสนา

การดูถูกเหยียดเพศมันจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้ามันไม่ได้รับพื้นที่แห่งการอนุญาต

ขณะที่งานของภาพตะวัน หรือ พี่ช้าง ศิลปินหญิงที่พำนักและทำงานที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย และเคยแสดงงานทั้งในประเทศไทยและในระดับนานาชาติมากว่า 20 ปี ใช้ภาพเขียนและสื่อผสมในการนำเสนอนัยของผู้หญิงที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อในพุทธศาสนาซึ่งพื้นฐานของภาพตะวันคือเด็กผู้หญิงที่โตมาในวัดเนื่องจากพ่อเป็นศิลปินและช่างเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง แต่บางพื้นที่ในวัดไม่ได้อนุญาตให้เธอเข้าไปได้เพราะเป็นผู้หญิง นั่นเลยเป็นจุดเริ่มต้นของคำถามที่หาคำตอบไม่ได้ของเธอ

ภาพตะวัน สุวรรณกูฏ
สุภัทรา ศรีทองคำ / มูลนิธิ 100 ต้นสน

“หลังจากโตขึ้นก็มาทำงานภาพจิตรกรรมฝาผนัง การนำเสนองานของเราในวัดโดยเฉพาะในวัดไทยก็จะเป็นการเล่าเรื่องแบบที่ชูประเด็นของบารมีในชาดกซึ่งส่วนใหญ่เป็นบารมีของผู้ชาย พอทำทำไปเราก็มีความรู้สึกว่าเราไม่ได้พูดเรื่องของตัวเองเท่าไหร่ แต่ระหว่างที่เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังไปก็เห็นว่ามันมีศิลปะร่วมสมัยที่มันพูดได้มากกว่าก็เลยค่อยๆ เข้ามาในบริบทของศิลปะร่วมสมัยโดยปริยาย” พี่ช้างเล่า

จุดเริ่มต้นที่ทั้ง 2 คนได้เริ่มทำความรู้จักและมาร่วมงานกันในนิทรรศการนี้ ต้องย้อนกลับไปปี 2017 พี่สมัคร์มีโอกาสได้แสดงผลงานครั้งแรกในนิทรรศการ The Endmeshes ที่หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปกร วังท่าพระ ส่วนพี่ช้างก็ได้เห็นงานของพี่สมัคร์ครั้งแรกที่นั่นแล้วเนื้อหาเกี่ยวกับเควียร์มุสลิมในพื้นที่ชายแดนใต้ก็ไปปะทะกับประสบการณ์และแนวคิดการทำงานของพี่ช้างเข้าเต็มๆ

“เป็นพี่เองที่ติดต่อสมัคร์ไป เราไม่รู้จักกันมาก่อน แต่พอเห็นงานของสมัคร์ชุดนั้นมันเกิดการปะทะอย่างแรงแล้วก็เชื่อมโยงไปถึงงานชุดแรกๆ ที่เราแสดงในนิทรรศการ womanifesto ปี 1997 ซึ่งมันคือ 20 ปีให้หลัง งานนั้นชื่อว่า ‘นารีผล’ เล่าเรื่องของเด็กผู้หญิงอายุ 12 ที่ถูกพ่อแม่ขายไป ในเวลานั้นเราจะได้แสดงงานที่บางกอกอาร์ตเบียนนาเล่แล้วสมัครก็มีชื่ออยู่ในลิสต์ศิลปินเหมือนกัน ตอนมาติดตั้งงานก็เลยมีเวลาได้ทำความคุ้นเคยกับสมัคร์”

 

อย่าไปทำร้ายหัวใจเขา

Leave it and break no hearts คือชื่อที่ยืมมาจากผลงานของพี่ช้างชิ้นหนึ่งซึ่งถูกนำมาจัดแสดงอยู่ในครั้งนี้ด้วย สำหรับเรานี่คือวลีสื่อถึงความเปราะบางและสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเมื่อต้องพูดถึงเรื่องเพศในบริบทของศาสนา พี่ช้างเล่าให้ฟังว่าชื่อนี้ได้มาจากตอนไปพำนักและทำงานอยู่ที่ทุ่งสัมฤทธิ์ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีอนุสาวรีย์การต่อสู้ของย่าโมหรือท้าวสุรนารีกับหลานสาวคือนางสาวบุญเหลือตั้งอยู่

พี่ช้างซึ่งมีคำถามในใจว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับความเป็นหญิงที่ถูกจำกัดสิทธิบางอย่างในบริบทของพุทธศาสนาอยู่แล้วก็ไปปะทะกับอนุสาวรีย์วีรสตรีที่ถูกใช้ประกอบสร้างประวัติศาสตร์ท้องถิ่นซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นชาตินิยมก็เกิดคำถามขึ้นมาอีกครั้ง

 Leave it and break no hearts
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok

“ระยะเวลา 4 อาทิตย์ที่เราอยู่ที่นั่นมันก็มีคำถาม แล้วคำถามนี้บางทีมันก็ไม่ได้มีคำตอบจากคนทั่วไปเพราะมันเป็นคำถามเชิงย้อนแย้ง กระทั่งได้มาเจอกับผู้อาวุโสที่อยู่ที่นั่นอาจารย์ทวี รัชนีกร (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ปี พ.ศ. 2548) ก็บอกว่า อย่าไปทำร้ายหัวใจเขา”

“คำว่าอย่าไปทำร้ายหัวใจเขานี่มันตอบคำถามนะ มันตอบคำถามได้ว่าในบางพื้นที่ สิ่งหนึ่งหรือสภาวะหนึ่งมันได้กลายเป็นสิ่งใหม่ เป็นเอกลักษณ์ใหม่ไปแล้ว มันไม่ใช่สิ่งที่อยู่นิ่งๆ กับที่ มันเปลี่ยนไปตามกาลตามบริบทของมัน สำหรับพี่มันเลยเป็นโอกาสที่จะตั้งคำถาม แทนที่จะบอกคำตอบฟันธงว่าอันนี้ใช่หรือไม่ใช่ เพราะมันมีหัวใจรองรับอยู่”

“ชื่อนี้มันก็เลยอยู่ในใจมาตั้งแต่ก่อนมาทำงานกับสมัคร์แล้ว แต่ leave it and break no hearts มันจะมีขีดตรงคำว่า it กับคำว่า no ซึ่งเป็นประเด็นของสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ถ้าเอาสองคำนี้ออกไปมันก็คือ “leave and break hearts” How can you do that?” พี่ช้างเล่า

 Leave it and break no hearts
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok

“ชื่อนี้จริงๆ อาจจะเป็นประเด็นที่ผมไม่ได้พูดตรงๆ ผ่านงานที่แสดงในที่ร้อยต้นสน แต่ก็รู้สึกว่ามันเป็นโจทย์ที่เราจะสามารถใช้มองกลับมาที่งานตัวเองได้เพราะการพูดเรื่องเพศที่สาม ผู้หญิงหรือประเด็นเรื่องเพศสภาพในสังคมมุสลิมมันก็เป็นเรื่องที่แตะไม่ค่อยได้เหมือนกัน ก็จะมีประเด็นที่สืบเนื่องกับงานพี่ช้างแต่ก็จะมีจุดที่ต่างกันอยู่บ้างเหมือนกัน อย่างงานของพี่ช้างจะพูดถึงสิ่งที่มีอยู่ แต่งานของผมจะพูดถึงสิ่งที่ไม่อยากให้มีอยู่ เช่น เพศที่ไม่ได้อยู่ในครรลอง ฉะนั้นมันก็จะมีลักษณะของการปล่อยหรือทิ้งมันไปอยู่ ผมก็เลยรู้สึกว่าชื่อนี้น่าสนใจมาก” พี่สมัคร์เสริม

คำถามที่ (ยัง) ไม่มีคำตอบ

ของพี่มันซับซ้อนยิ่งกว่านั้น” พี่ช้างเกริ่นเมื่อเราเกิดสงสัยว่าคำถามที่หาคำตอบไม่ได้ที่พูดถึงตั้งแต่ต้นของศิลปินทั้ง 2 คนที่อยู่ตรงหน้าใช่เรื่องอคติทางเพศหรือไม่ ก่อนจะพูดถึงผลงานนารีผลของเธออีกครั้งเพื่ออธิบายความซับซ้อนให้เราฟังว่า

“ยกตัวอย่างกรณีผลงานนารีผล เด็กผู้หญิงคนนี้เขาเสิร์ฟก๋วยเตี๋ยวให้เราทุกวันแล้วเราก็เริ่มสนิทกับเขา จนวันนึงเขาหายไปพอถามคนท้องถิ่นก็บอกว่าเขาขายไปแล้ว เราก็ตกใจ เขาขายลูกได้ยังไง เป็นฉันจะไม่ยอมทำ แต่คนในทีมที่เป็นผู้ชายอายุมากกว่าเราก็บอกว่า เธอจะรู้ได้ยังไง ถ้าเธอเป็นคนในพื้นที่เธออาจจะขายก็ได้ เพราะเขาขายกันทั่ว พอกลับมาเขาก็ซื้อบ้านซื้อทีวีตู้เย็นซื้อมอเตอร์ไซค์รถปิ๊กอัปให้ครอบครัว 

“เราก็อึ้ง หาคำตอบไม่ได้ แล้วก็คิดว่าจริง เราอาจจะขายในบริบทที่ว่าเราอยู่ตรงนั้น ทุกคนทำตรงนั้นประเด็นก็คือว่า เราจะชี้ว่าคุณผิด เราผิด หรือว่า “อะไรอนุญาตให้เกิดสิ่งนี้ในสังคม” คำถามนี้คือสิ่งที่กำลังพยายามพูดว่ามันคือความซับซ้อนที่ซ้อนทับ มันมีเลเยอร์มากกว่าการดูถูกเหยียดเพศ เพราะการดูถูกเหยียดเพศมันจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้ามันไม่ได้รับพื้นที่แห่งการอนุญาต นั่นคือคำถาม แล้วก็มันเป็นประเด็นที่เราใช้เชื่อมโยงกับงานของเรามาเสมอเพราะมันคือสิ่งที่บีบคั้นหัวใจเรามากที่สุด”

เราอยากให้อย่างน้อยเควียร์เป็นสิ่งที่คนในสังคมที่เขาอยู่รู้ว่าเควียร์คืออะไร เพราะมันส่งผลต่อการมีอยู่ของคนเหล่านี้
Leave it and break no hearts
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok

ฝั่งพี่สมัคร์เสริมในมุมของตัวเองที่เจอทั้งคำถามจากคนอื่นและคำถามต่อตัวเอง เพราะตั้งแต่ทำงานในประเด็นเควียร์มุสลิมก็ถูกตั้งคำถามมาตลอดว่า ต้องการอะไร ทำไมต้องไปหยิบเรื่องที่เป็นแผลหรือเรื่องที่เขาไม่อยากจะพูดถึงขึ้นมา

“สุดท้ายเราก็ต้องกลับมาถามตัวเองลึกๆ ว่าคนที่เราต้องการจะพูดและทำงานด้วยเป็นใคร ถ้าเราต้องการพูดกับคนที่เป็นเควียร์ในสังคมมุสลิมและนั่นคือสิ่งที่ชัดเจน เราก็ทำหน้าที่ของเราไป” นั่นคือคำตอบที่พี่สมัคร์พอจะตอบตัวเองได้ แต่ต่อคำถามของคนอื่นนั้นเขายังคงต้องทำงานอย่างหนักต่อไป

Leave it and break no hearts
สุภัทรา ศรีทองคำ / มูลนิธิ 100 ต้นสน

“เราอยากให้อย่างน้อยเควียร์เป็นสิ่งที่คนในสังคมที่เขาอยู่รู้ว่าเควียร์คืออะไร เพราะพอรู้ว่าสิ่งเหล่านี้คืออะไรมันก็ส่งผลต่อการมีอยู่ของคนเหล่านี้ เรื่องการยอมรับไม่ยอมรับ เราไม่ต้องการขนาดนั้นเพราะรู้ว่าบางสังคมก็มีระดับการยอมรับที่ไม่เหมือนกัน ฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากสำหรับผมขอคือไม่เชิงลดอคติหรอก แต่อย่างน้อยก็อยากให้เปิดรับว่าคนเหล่านี้คือใครมากกว่าที่จะตัดเขาออกไปเพราะการตัดเขาออกไปมันเกิดปัญหาหลายอย่าง”

นิทรรศการ Leave it and break no hearts - ปล่อยก็ร้าว แตะก็แตก

สถานที่: มูลนิธิ 100ต้นสน

วันและเวลาเปิดบริการ: พฤหัสบดี - ศุกร์ เวลา 10.00 - 18.00 น. และเสาร์ - อาทิตย์ เวลา 10.00 - 19.00 น. 

ระยะเวลาจัดแสดง: จนถึง 4 พฤศจิกายน 2565

ค่าเช้าชม: เข้าชมฟรี

เรื่องเด่น
    เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ
      การโฆษณา