Cry Me a River

  • Things to do, นิทรรศการ
cry me a river
333Anywhere
การโฆษณา

Time Out พูดว่า

อกหัก คิดถึงบ้าน ทะเลาะกับเพื่อน โดนหัวหน้าด่า น้องแมวตาย ฟังเพลงเศร้า ดูซีรีส์ ฯลฯ มีเรื่องมากมายที่คอยทำให้เราเสียน้ำตา ไม่ใช่แค่เรื่องเศร้าหรือน่าเสียใจ บางทีเรื่องราวดีๆ ก็ทำเราน้ำตาซึมได้เหมือนกัน แต่ทำไมบางครั้งการปล่อยให้น้ำไหลออกมาถึงดูไม่โอเค?

ไม่เป็นไรนะ ถึงคนอื่นจะมองว่าร้องไห้เท่ากับอ่อนแอ ร้องไห้แล้วดูไม่คูลเลย แต่ ‘มด-นิศา ศรีคำดี’ หรือ Molly (มอลลี่) นักออกแบบของเล่นเจ้าของคาแร็กเตอร์ Crybaby กำลังบอกกับเราว่า “บางครั้งการร้องไห้ก็ไม่เป็นไร การร้องไห้ไม่ใช่เรื่องผิด แสดงความอ่อนแอบ้างก็ไม่เห็นเป็นไร” ผ่านนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเธอ Cry me a river ซึ่งจัดแสดงอยู่ที่ 333Anywhere เจริญกรุง 30

“เวลาเราออกไปเจอสังคมภายนอก เรารู้สึกว่าเราต้องพยายามแสดงด้านที่มันมีความสุขให้คนอื่นเห็นเพราะถ้าเราร้องไห้ต่อหน้าเขาคือเราอ่อนแอ เราเลยรู้สึกว่ามันควรมีพื้นที่นึงที่การร้องไห้มันไม่ใช่เรื่องผิด ทุกๆ ความรู้สึกมันควรจะโอเคที่จะแสดงออก”

จุดเริ่มต้นของ Crybaby

“Crybaby เริ่มต้นมาจากการเป็น art toy ค่ะ เราเป็นคนชอบทำของเล่นชอบทำงานประดิษฐ์มาตั้งแต่เด็กๆ จริงๆ เป็นคนชอบสะสมของเล่น แล้วตอนเด็กๆ เราไม่ได้มีเงินซื้อของเล่นมาก เราก็เลยกลับมาประดิษฐ์ของเล่นให้ตัวเองจนบ่มเพาะให้เราอยากเป็นนักอกแบบของเล่น มีช่วงนึงว่างงานก็เลยลองทำสิ่งที่ตัวเองชอบก็เลยทำตัว Crybaby ขึ้นมาค่ะ”

ทำไมต้องเป็นเด็กผู้หญิงร้องไห้?

“ตอนเด็กๆ เราไม่เข้าใจว่าเวลาแม่ตีทำไมแม่ต้องบอกว่า “เงียบ! หยุดร้อง!” ทำไมร้องไห้แล้วมันผิดล่ะ เราโดนตีเราก็เจ็บ โดนต่อว่าเราก็เสียใจ แต่ทำไมผู้ใหญ่หรือสังคมต้องพยายามให้เราหยุด นิ่ง เงียบ แล้วก็กล้ำกลืนน้ำตาเข้าไปข้างใน”

“เราก็เหมือนจะดื้อกับตรงนี้มาตั้งแต่เด็กเพราะเราไม่เข้าใจว่าถ้าเราเสียใจ ถ้าเราเจ็บ ทำไมเราถึงร้องไห้ไม่ได้ เราเลยเป็นคนที่ให้ความสนใจเรื่องของน้ำตามาตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็ก ตอนเรียนศิลปะก็ชอบวาดรูปที่มีคนร้องไห้”

“เรารู้สึกว่าการร้องไห้มันต้องผ่านกระบวนการความคิดความรู้สึกที่ละเอียดซับซ้อน มันมีมิติมาก มันไม่ใช่แค่ว่าเราร้องไห้เพราะสียใจ บางครั้งมันอาจผสมความโกรธความไม่พอใจความอัดอั้นตันใจ เป็นความรู้สึกที่มันท่วมท้นออกมาเป็นน้ำตา ไม่ใช่ง่ายๆ เหมือนเวลาเราหัวเราะ ก็เลยรู้สึกว่ามันน่าสนใจ”

นิทรรศการ Cry me a river พูดถึงอะไร

“เราอยากสร้างพื้นที่เล็กๆ ให้ทุกคนเข้ามาระบายความเสียใจ ความอัดอั้นตันใจ ความทุกข์ใจ ให้ทุกคนเอามันมาทั้งที่นี่ เพราะเวลาเราออกไปเจอสังคมภายนอก เรารู้สึกว่าเราต้องพยายามแสดงด้านที่มันมีความสุขให้คนอื่นเห็นเพราะถ้าเราร้องไห้ต่อหน้าเขาคือเราอ่อนแอ เราเลยรู้สึกว่ามันควรมีพื้นที่นึงที่การร้องไห้มันไม่ใช่เรื่องผิด ทุกๆ ความรู้สึกมันควรจะโอเคที่จะแสดงออก”

“เราก็เลยอยากเปิดพื้นที่ตรงนี้ให้ทุกคนได้มาแชร์ความรู้สึกกันและอยากบอกให้ทุกคนรู้ว่า บางครั้งการร้องไห้ก็ไม่เป็นไร การร้องไห้ไม่ใช่เรื่องผิด แสดงความอ่อนแอบ้างก็ไม่เห็นเป็นไร เราควรได้ใช้เวลาศึกษาความรู้สึกของตัวเอง ความทุกข์ในใจ หรือชำระล้างจิตใจเพื่อจะได้ก้าวข้ามผ่านมันไปในที่สุด”

ไฮไลต์ของนิทรรศการ

“โดยรวมของนิทรรศการมดจะเปลี่ยนสเก็ตช์บ่อยมาก แต่สิ่งเดียวที่มดไม่เคยเปลี่ยนเลยก็คือเรื่องของคอนเซ็ปต์หลักของนิทรรศการก็คือตัวบ่อน้ำตาบ่อใหญ่ที่อยู่ตรงกลางห้องกับน้อง Big Girl Cry ที่นอนอยู่ในนั้น เพราะอย่างที่บอกว่าเราอยากให้ทุกคนมาร่วมแชร์ความรู้สึกต่างๆ กับตัวน้องในงานนี้จริงๆ ดังนั้น ตัวนี้ก็จะเป็นคาแร็กเตอร์หลักที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยไม่ว่าสเก็ตช์รอบงานมันจะเปลี่ยนไปขนาดไหนก็ตาม”

Crybaby แต่ละตัวร้องไห้เพราะอะไรบ้าง?

“แต่ละตัวก็จะมีเหตุผลของการร้องไห้ที่ต่างกันออกไปค่ะ บางตัวก็จะร้องไห้ด้วยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ใกล้ตัว อย่างตัว Naked Brown (สีน้ำตาล) ก็ร้องไห้เพราะว่าสักแล้วเจ็บ เหตุผลง่ายๆ เลย ส่วนตัวผมเหลืองก็เหมือนนางออกไปตากแดดแล้วผิวไหม้กลับมา ”

“บางตัวก็จะร้องไห้ด้วยความหมายที่ลึกซึ้งกว่านั้นแล้วแต่ดีไซน์ อย่างตัวสีชมพูที่ชีวิตดูอินเลิฟ อ่อนหวาน แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ชีวิตทุกด้านของนาง ส่วนตัวที่เป็นสีขาวดำก็เหมือนเขารอคนเข้ามาเติมสีสันให้ชีวิตเขา ตัวสีดำก็รอวันที่แสงสว่างจะส่องมาถึงเขาเหมือนกัน ส่วนตัวสีรุ้งก็จะพูดถึงเรื่อง LGBTQ+ ว่ารักไม่ควรถูกจำกัดด้วยเพศหรือข้อจำกัดอะไรทั้งสิ้น ความหมายคร่าวๆ ของแต่ละตัวก็ประมาณนี้ค่ะ”

ปกติเป็นคนร้องไห้ง่ายไหม?

“ก็เป็นคนอารมณ์อ่อนไหว แต่เราก็เป็นหนึ่งคนที่ติดอยู่กับกรอบสังคมที่ว่าเราไม่ควรร้องไห้ให้ใครเห็น ไม่ควรเปิดเผยด้านที่อ่อนแอให้ใครรู้ อย่างเวลามีใครถามว่าเป็นอะไรไหม เราก็จะตอบไปโดยอัตโนมัติว่า เราโอเค เราไม่เป็นอะไร ซึ่งจริงๆ แล้วบางครั้งเราเป็น แล้วมันคงจะดีกว่าถ้าเราได้บอกไปตรงๆ ว่าเราเป็น”

“Crybaby เหมือนเป็นตัวแทนที่ช่วยร้องไห้แทนเราและเหมือนบอกทุกคนว่าการร้องไห้มันควรเป็นเรื่องที่ง่ายกว่านั้น มันควรจะเป็นเรื่องที่ยอมรับได้”

Suriyan Panomai
เขียนโดย
Suriyan Panomai

รายละเอียด

ที่อยู่
ราคา
Free Entry
เปิดบริการ
11:00-18:00
การโฆษณา
เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ