Gongkan
Sereechai Puttes/Time Out Bangkok
Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

Gongkan ศิลปินหนุ่มผู้ "Teleport" จากนิวยอร์กสู่นิทรรศการเดี่ยวในกรุงเทพฯ

คุยกับ ก้อง-กันตภณ เมธีกุล เจ้าของผลงานวาร์ปซิกเนเจอร์ที่สะท้อนความเหงา ปัญหาในสังคม และเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ของโลกนี้

Sopida Rodsom
การโฆษณา

ช่วงนี้ใครได้มีโอกาสผ่านไปผ่านมาที่ห้างสรรพสินค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ ก็น่าจะมีโอกาสได้เห็นผลงานของศิลปินชาวไทยที่มีชื่อเสียงโด่งดังในเมืองนิวยอร์กอย่าง ก้อง-กันตภณ เมธีกุล หรือที่หลายๆ คนอาจจะคุ้นเคยกันดีในชื่อ Gongkan โดยครั้งนี้นอกจากเขาจะนำผลงานศิลปะซิกเนเจอร์อย่าง Teleport มาทำลงบนผลิตภัณฑ์เป็นครั้งแรกร่วมกับร้าน Objects of Desire Store (ODS) ในคอนเซ็ปต์ Life is too short to hate แล้ว มาเมืองไทยครั้งนี้ Gongkan ยังหยิบเอางานซิกเนอเจอร์ที่สร้างชื่อที่นิวยอร์กกลับทำนิทรรศการเดี่ยวที่ใหญ่ที่สุดในชีวิต ชื่อว่า Teleport Exhibition ที่ Warehouse 30 อีกด้วย

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

งานแรกของก้องที่นิวยอร์กซึ่งกลายเป็นซิกเนเจอร์คือ Teleport ถามหน่อยว่าแล้วไอเดียการเคลื่อนที่ผ่านหลุมดำนี้มาที่มาได้อย่างไร Teleport เกิดขึ้นได้อย่างไร

เริ่มตั้งแต่ตอนไปอยู่นิวยอร์ก คือตอนอายุ 25-26 ช่วงนั้นทำงานโฆษณาเป็นครีเอทีฟ ถึงจุดหนึ่งเราอยากเป็นอาร์ทิสต์ก็เลยออกจากงานไปนิวยอร์ก ไปค้นหาตัวเอง... แต่ค้นไม่เจอสักทีจนผ่านไปหนึ่งปี เป็นเวลาปีหนึ่งที่เรา suffer กับตัวเอง จนวันหนึ่งเราเครียดมาก รู้สึกว่าชีวิตมันไม่มีทางออก มันเหมือนโดนปิดกั้นทุกทาง ทั้งจากสังคม ภาษา เชื้อชาติ คอนเนกชั่น เลยจินตนาการถึง Teleport ให้เป็นตัวแทนอิสรภาพที่เราจะได้ออกไปจากโลกตรงนั้น

        เรามองว่า Teleport เหมือนเป็นการเล่นกับความอยากรู้อยากเห็นของคน ทุกคนอยากไปที่ที่ดีกว่าเดิม อยากไปที่ที่ตัวเองอยากไป บางคนก็ไม่พอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ [Teleport] เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนรู้สึกว่า "ไปที่ไหนดีนะ" พอมันไปอยู่ตามเมืองต่างๆ ก็เหมือนทำให้คนได้ออกจากมิติโลกตรงนั้น ไปในที่ที่เขาอยากจะไปแทน

        เราทำ Teleport ขึ้นมาเป็น sticker bomb เอาไปติดตามที่ต่างๆ ในนิวยอร์กโดยเขียนชื่ออินสตาแกรมไว้ในสติกเกอร์ มันก็เลยเหมือนตัวละครวาร์ปไปที่ต่างๆ ในเมือง ทำให้คนเริ่มเห็น พอคนเริ่มเห็น เราก็เริ่มมีโปรไฟล์ และได้ไปวาดตามบิลบอร์ด ตามกำแพงใหญ่ๆ ในแมนฮัตตันหรือบรูคลิน ทำให้มี impact คนเริ่มรู้ว่าเราเป็นอาร์ทิสต์คนหนึ่งที่วาดงานแบบนี้

งั้นถ้าเราถามก้องตอนนี้ว่าก้องอยาก teleport ไปที่ไหน

อยากไปดูตัวเองตอนแก่ว่าจะมีสภาพชีวิตแบบไหน อาจจะพังไปเลยก็ได้... ไม่ก็ไปดูพ่อแม่ตอนหนุ่มสาวว่าใช้ชีวิต ทำไมโตมาเลี้ยงเราแบบนี้ อยากรู้ว่าเขามีความสุขขนาดไหน

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

Teleport กลายมาเป็นชื่อนิทรรศการเดี่ยวขนาดใหญ่ที่ Warehouse 30 ตอนนี้ด้วย เล่าที่มาที่ไปให้ฟังหน่อย

งานนี้เป็น solo exhibition ใหญ่ที่สุดในชีวิต เป็นการรวมงาน painting ทั้งหมดของเรา ซึ่งเป็นงาน acrylic on canvas แล้วก็มีรูปปั้นด้วย โดยเป็นเรื่องราวของหลุมดำที่เราสร้างเกี่ยวกับอิสรภาพ นิทรรศการนี้เลยจะมีงาน painting ประมาณ 30 ชิ้น และมีวิดีโอสัมภาษณ์คนต่างๆ ว่าถ้า teleport ได้แล้วอยากไปไหน งานนี้จะได้เห็นแง่มุมคนจากหลากหลายอาชีพ แต่ละคนก็อยากไปไหนไม่เหมือนกัน

        Teleport ไม่ได้เป็นแค่การอยากไปในที่ใดที่หนึ่งเท่านั้น แต่ [นิทรรศการ] จะตีความให้ลึกลงกว่าเดิม นำความคิดของเรา นำอะไรที่เรามองว่าอยู่ในกรอบหรืออยู่ในที่ที่ไม่ดี แล้วพาวาร์ปไปที่ที่เราอยากให้มันเป็น การวาร์ปคือการที่เราเป็นอิสระทางด้านจิตใจ อยากพาสังคมที่เราพบเจอในปัจจุบัน สิ่งที่เรามองว่าไม่ดีหรือไม่ถูกต้อง ไปยังที่ที่ดีขึ้นกว่านี้ แต่ละภาพเลยจะเล่าเรื่องแตกต่างกันไป

เห็นมีการพูดถึงหลายประเด็น ทั้งเรื่องเพศ เรื่องสงคราม...

บางทีโลกตอนนี้ก็ไม่ได้น่าอยู่ มีเรื่องดาร์กๆ ที่ทำลายกันเอง ซึ่งเกิดจากความใจแคบ เรื่องเพศ ความไม่เท่าเทียม คือคนตั้งกฏขึ้นมาว่าเพศนี้ต้องโดนเหยียด ชนชาตินี้ต้องโดนเหยียด ทั้งที่เราควรวัดกันที่ความดีหรือความสามารถมากกว่า คนพวกนี้มีความคิดแคบ Teleport เลยเป็นเหมือนการเปิดประตูความคิดของเขา พาความคิดไปอีกจุดหนึ่ง ส่วนเรื่องสงครามหรือความขัดแย้ง ถ้าเราเปิดใจ เข้าใจคนอื่น ไม่เห็นแก่ตัว สิ่งที่ทำลายโลกก็จะมาช่วยสร้างสรรค์โลกได้

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

แล้วก้องมองว่าปัญหาสังคมไหนที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นแล้วบ้าง

ก็น่าจะเรื่องเกย์นะ ตอนเด็กๆ เราเคยโดนล้อว่าเป็นตุ๊ด เพราะว่าเป็นเด็กเรียบร้อย ใส่แว่น วาดรูปเก่ง ไมได้เล่นกีฬาขนาดนั้น เพื่อนผู้ชายแบบเฮ้วๆ ก็จะแบบว่ามาล้อ "ไอ้ตุ๊ด" เขาก็คงสนุก คือตอนนั้นเราไม่ได้เครียดอะไรนะ แต่เราแค่รู้สึกว่า "ตุ๊ด" กลายเป็นคำด่า ทั้งที่ก็เป็นแค่เพศๆ หนึ่ง แต่พอโตขึ้นเลยรู้ว่าทุกอย่างอยู่ที่ความดี ความสามารถมากกว่า ตอนนี้โลกเริ่มเข้าใจเพศที่สามมากขึ้น และเริ่มให้ความเท่าเทียมมากขึ้นด้วย

มีงานชิ้นไหนก้องคิดว่าเป็นไฮไลต์ของงานบ้าง

จริงๆ เราชอบหมดเลย เพราะแต่ละอันกรั่นกรองมาไม่เหมือนกัน แต่ถ้าไฮไลต์ก็น่าจะเป็นรูปโปสเตอร์ที่มีผู้หญิงเดินแล้วบางส่วนโผล่ออกมา [The Time Traveller] เพราะมีความเรีบยง่าย บอกว่าเราเป็นอิสระกับร่างกายของเราเอง อยากทำอะไรก็ทำ อยากไปไหนก็ไป ไม่จำเป็นต้องอยู่ตรงนี้ทุกส่วนก็ได้

        อีกชิ้นที่ชอบคือ The Golden Pool อันนี้มาจากงานวาดสตรีทอาร์ตในนิวยอร์ก ซึ่งวาดบนกำแพง เลยอยากลองวาดลง canvas ดูน่าจะได้ mood and tone ที่ใหม่ขึ้นกว่าเดิม แต่ภาพนี้จริงๆ ได้แรงบันดาลใจจากการอยู่ในเมืองที่โคตรเมือง ไม่ว่าจะกรุงเทพฯ หรือนิวยอร์กที่ drive ด้วยเงิน ด้วยเศรษฐกิจ คนเลยไปหมกหมุ่นกับความสำเร็จ ความร่ำรวย เราเลยทำงานนี้ขึ้นมาเพื่อเตือนตัวเองด้วย เตือนคนอื่นด้วยว่า ประตูสีทองที่ดูสวยงาม คือลาภ ยศ เงินทอง แต่ถ้าดำผุดดำว่ายในนั้นนานๆ ก็อาจจะออกมาไมได้ อยู่ในวังวนของประตูสีทองอันนั้นไปเรื่อยๆ 

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

The Lake ผลงานสตรีทอาร์ตของ Gongkan ที่เป็นแรงบันดาลใจของ The Golden Pool

ก้องยังมีอีกนิทรรศการที่ ODS ที่ Siam Discovery ด้วย แต่ทำไมเลือกเสนอในชื่อ Life is too short to hate

เราคิดว่าอยากจะทำอะไรที่เป็นงานอาร์ตในรูปแบบที่เป็นโปรดักส์ที่สามารถอยู่ในชีวิตของทุกคนได้ ก็เลยอยากเล่นกับเรื่องความรัก ความเกลียดชังในสังคมปัจจุบัน เพราะมีปัญหาเยอะมาก ซึ่งเกิดจากการแบ่งแยกชนชั้น เชื้อชาติ เพศ หรือความไม่เท่าเทียมกัน เราอยากให้หลุมดำวาร์ปให้คนเข้ามารักกันอีกครั้ง หรือเป็นตัวแทนส่งความรักความสุขไปให้คนที่เห็นแทน

        เรารู้สึกว่าคนไปมองที่ผลประโยชน์ ไปมองที่อะไรก็ไม่รู้ เช่น เป็นเกย์ก็ผิด หรือคนดำคนขาว เรารู้สึกว่าเขาไปคิดมากเกินไป เพราะจริงๆ ชีวิตมันไม่ได้ยาวขนาดนั้น ดังนั้นมาใช้ชีวิตวันนี้ให้มีความสุขที่สุด ให้สังคมมีความสุข เพราะไม่รู้เหมือนกันว่าเราจะอยู่บนโลกนี้อีกนานเท่าไหร่

งานชิ้นไหนใน Life is too short to hate ที่ชอบเป็นพิเศษ

เราชอบงาน [Donald] Trump กับ Kim [Jong-un] เรารู้สึกว่ามันเกิดขึ้นจริงไม่ได้หรอกที่สองคนนี้จะจูบปากกัน แต่มันเป็น imagination ที่ออกมาจากหลุมดำของเรา มันก็เลยเกิดขึ้นได้ งานนี้เป็นตัวแทนที่จะสื่อว่า [ถึงแม้] จะต่างเชื้อชาติ ต่างประเทศ มีอะไรไม่เหมือนกัน แต่เราอยากให้คนที่เกลียดชังกันมากที่สุดมาจูบกัน เป็นการบอกว่าเราควรสงบศึกในชีวิตจริง และช่วยเหลือกันได้แล้ว เพราะโลกก็แย่ลงทุกวัน

Objects of Desire Store

Siam Paragon Dev.

มีความขัดแย้งหรือปัญหาไหนที่ก้องอยากให้หายไปบ้าง

สำหรับในประเทศไทยเรารู้สึกว่าคือเรื่องความไม่เท่าเทียมของกฎหมาย ซึ่งเห็นได้บ่อยในช่วงนี้ กฎหมายมันควรศักดิ์สิทธิ์กว่านี้ ประเทศมันก็จะดีกว่านี้ ไม่ใช่ว่าใครมีเส้นสายก็สามารถชนะคนที่ถูกต้องได้

  

อยากให้คนมาชมงานได้อะไรกลับไป

อยากให้คนได้ปล่อยปลดตัวเอง เรามาดูงานเพื่อมาดูตัวเอง... เราอยากไปไหน อยากทำอะไร เราเป็นคนแบบนี้ไหม เราเป็นคนแคบไปไหม อยากเปิดความคิดมากขึ้นไหม และจะได้แง่มุมในชีวิตที่ open-minded มากขึ้นผ่านงานนี้ครับ

นิทรรศการ Teleport Exhibition จัดแสดงจนถึงวันที่ 15 มิถุนายน ที่ Warehouse 30

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

เรื่องเด่น
    เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ
      การโฆษณา