เรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยถูกนำมาเผยแพร่สู่คนเมืองอีกครั้งโดยครั้งนี้เป็นการนำเสนอของหอศิลป์ กรุงเทพฯ ร่วมกับ 3 ศิลปินได้แก่ กลุ่มศิลปิน Hear&Found, DuckUnit และ ศุภชัย เกศการุณกุล ในนิทรรศการชื่อ Sound of the soul
Sound of the soul เล่าเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ในรูปแบบนิทรรศการเสียงและ visual performance สะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำที่กลุ่มชาติพันธุ์ได้พบเพื่อให้คนเมืองรู้จักและเข้าใจกลุ่มชาติพันธุ์มากขึ้น รวมถึงเปิดโอกาสในการถ่ายเทวัฒนธรรมและองค์ความรู้พื้นถิ่นและลดระยะห่างของคำว่า ‘เราและเขา’
เนื้อหาในนิทรรศการได้จากการลงพื้นที่ไปสำรวจ ไปเดินป่า ไปดูวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) ในจังหวัดเชียงใหม่ นานนับสัปดาห์ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดย ฟ้า-กัญหรัตน์ เลี่ยมทอง จากฝ่ายกิจกรรมหอศิลป์ กรุงเทพฯ เป็นคนเลือกประเด็นและแง่มุมในการเล่าเรื่อง, Hear&Found ทำหน้าที่ออกแบบเสียง, ศุภชัย เกศการุณกุล ผลิตวิดีโอ visual performance ซึ่งเป็นวิดีโอสัมภาษณ์ชาวปกาเกอะญอในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และ DuckUnit ออกแบบนิทรรศการทั้งหมด
จากทางเข้าทุกคนจะได้ยินเสียงกล่าวต้อนรับเป็นภาษาชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าส่วนใหญ่เราฟังไม่ออกหรอกจนกว่าจะได้อ่านคำเฉลยในเนื้อหาส่วนแรกของนิทรรศการที่มาพร้อมกับแผนที่แสดงถิ่นที่อยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ทั้งที่มีจำนวนมากพอๆ กับจังหวัดในประเทศนี้แต่น่าแปลกที่เรารู้เรื่องราวของพวกเขาน้อยเหลือเกินและที่รู้อยู่ก็ไม่ได้ถูกเสมอไปด้วย
เดินเลยไปหน่อยเป็นสเตชั่นเสียง 3 จุดที่ให้คนกลุ่มชาติพันธุ์มาเล่าถึงปัญหาที่พวกเขาพบเจอ ซึ่งมีหลากหลายกลุ่ม อาทิ อูรักลาโวยจ มอแกน มอแกลน มานิ (ตองเหลือง) ตรงนี้เราต้องเงี่ยหูฟังผ่านลำโพงเล็กๆ เพราะความตั้งใจของนิทรรศการคือเป็นแพลตฟอร์มให้เขาได้พูดและมีคนมาฟัง
ถัดมาเป็นส่วนของ visual performance ผลงานของศุภชัยที่เล่าเรื่องผ่านวิดีโอสัมภาษณ์ชาวปกาเกอะญอ ในจังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในนั้นคือ ‘พะตี่จอนิ โอ่โดเชา’ ซึ่งเป็นปราชญ์ในพื้นที่ และวิดีโอการแสดงดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมที่เราควรให้ความสนใจมากกว่านี้
Sound of the soul เป็นนิทรรศการเสียงที่ถูกออกแบบมาอย่างดี เพราะแม้ในห้องจะเต็มไปด้วยเสียง แต่ไม่มีเสียงไหนรบกวนกันเลยและถ้าตั้งใจฟังจริงๆ เราก็จะได้ยินชัดทุกเสียง นิทรรศการจัดแสดงอยู่ที่ห้องสตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลป์ กรุงเทพฯ เปิดให้เข้าชมแล้ววันนี้ - 31 กรกฎาคม เข้าชมฟรี