เจ้าพระยาสกายปาร์ค
UddCเจ้าพระยาสกายปาร์ค

‘เจ้าพระยาสกายปาร์ค’ จากสะพานด้วนสู่สวนลอยฟ้าแห่งแรกของคนกรุงเทพฯ

ความสำเร็จแรกจากโครงการกรุงเทพฯ 250 ที่มีเป้าหมายในการสร้างการเปลี่ยนแปลงของผังเมืองกรุงเทพฯ ในอีก 20 ข้างหน้า

Suriyan Panomai
เขียนโดย
Suriyan Panomai
การโฆษณา

ลองจินตนาการดูสิว่าถ้าคนกรุงเทพฯ หันมาเดินกันมากขึ้น (โดยมีเมืองที่เอื้อต่อการเดิน) และมีพื้นที่สีเขียวขยายใหญ่ขึ้นมากกว่านี้ เมืองของเราจะดีขึ้นยังไงบ้าง?

ที่ตอบได้เลยตอนนี้ก็คือ รถราบนท้องถนนคงจะบางตาลงไปบ้างหรืออาจจะมากพอที่จะฉุดกรุงเทพฯ ลงมาจากอันดับต้นๆ ของเมืองที่รถติดที่สุดในโลกได้ จากนั้นก็อาจจะส่งผลดีต่อไปยังเรื่องของมลภาวะทางอากาศที่ลดลงเป็นเงาตามตัวโดยมีพื้นที่สีเขียวมาเสริมอีกแรง และคงมีอะไรดีๆ เกิดขึ้นตามมาอีกมากมายเพียงแค่เราได้เดินกันมากขึ้นในเมืองที่เดินได้

‘ความฝัน’ เหล่านี้เป็นที่มาของ โครงการจัดทำผังแม่บทการฟื้นฟูย่านเมืองเก่าและการอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสาน หรือที่เคยได้ยินกันบ่อยๆ ในชื่อ ‘โครงการกรุงเทพฯ 250’ ที่ริเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 โดยมีเป้าหมายที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของผังเมืองกรุงเทพฯ ในอีก 20 ข้างหน้า ซึ่งจะตรงกับวาระเฉลิมฉลอง 250 ปี ในการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์

และความสำเร็จแรกของโครงการฯ ก็คือ ‘เจ้าพระยาสกายปาร์ค’ ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงสร้างเก่าของโครงการรถไฟฟ้าลาวาลิน ที่คนในพื้นที่เรียกกันว่า ‘สะพานด้วน’ หลังถูกปล่อยทิ้งร้างนานกว่า 30 ปี จนกลายเป็นสวนลอยฟ้าข้ามแม่น้ำแห่งแรกของโลก ที่เปิดอย่างเป็นทางการวันนี้ (24 มิ.ย. 63) วันแรก

จากสะพานด้วนสู่สวนลอยฟ้า

ผศ. ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) หัวหน้าทีมออกแบบเจ้าพระยาสกายปาร์ค ที่ทำงานร่วมกับทีมภูมิสถาปัตยกรรม นำโดยคุณกชกร วรอาคม จาก Landprocess และทีมสถาปนิก นำโดยอาจารย์จักรดาว นาวาเจริญ จาก N7A Architechs เล่าถึงการทำงานด้านการออกแบบให้เราฟังว่า

Niramon Serisakul
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok

“ทีม Urban Designer โดย UddC เรามองเรื่องยุทธศาสตร์ของเมือง การเชื่อมโยงการสัญจรในเมืองและการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ซึ่งต้องทำภายใต้ข้อจำกัดทางโครงสร้างการปกครองส่วนท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร เราได้คำนวณออกมาแล้วว่า ถ้ามีการปรับปรุงเจ้าพระยาสกายปาร์ค จะทำให้คะแนนการเข้าถึงโดยเท้า หรือ Good Walk Score เพิ่มจาก 49% เป็น 72% เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า และสามารถเชื่อมมรดกวัฒนธรรมที่เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวกว่า 200 แห่งที่อยู่ 2 ฝั่ง ได้ดียิ่งขึ้น”

“ถ้าคุณขี่จักรยานเล่นอยู่ที่ย่านกะดีจีน คุณจูงจักรยานช้ามสกายปาร์คตรงนี้ คุณสามารถที่จะลัดเข้าคลองโอ่งอ่าง และคุณสามารถถึงเยาวราช เจริญกรุง ได้ภายในเวลา 15 นาที นี่คือภารกิจของ Urban Designer”

จากนั้นทั้งหมดก็ถูกนำมาสานต่อให้เป็นรูปธรรมโดยทีมสถาปนิกที่ดูแลเรื่องการออกแบบตัวโครงสร้างที่มีความยาว 280 เมตร กว้าง 8 เมตร และถูกขนาบด้วยสะพานพระปกเกล้าที่การจราจรหนาแน่นทั้งวัน ให้มีความน่าสนใจและที่สำคัญคือต้องน่าเดิน เป็นที่มาของไอเดียการออกแบบโดยยกระดับบางช่วงขึ้นมา

เจ้าพระยาสกายปาร์ค
เจ้าพระยาสกายปาร์คBMA

“ที่มาของการยกระดับขึ้นคล้ายหลังเต่า เราล้อกับรูปทรงของสะพานพระพุทธยอดฟ้า ที่มีโครงถักโค้งๆ แต่ที่สกายปาร์คไม่ใช่แค่รูปทรง เรามีฟังก์ชันด้วย ส่วนที่ยกระดับขึ้นมาคือ  Sunset and Sunrise Amphitheatre สำหรับชมวิว Sunset คือฝั่งเมืองเก่า มองไปยังวัดอรุณ เกาะรัตนโกสินทร์ มองกลับมายัง Sunrise จะเห็นย่านสีลม สาทร เจริญกรุง ตลาดน้อย ตรงนั้นคือฝั่งเมืองใหม่ นี่ก็จะเป็นกิจกรรมใหม่ๆ ที่จะทำให้คนเห็นว่าเมืองมันสวยนะ มันมีอะไรที่เราไม่เคยเห็น”

เจ้าพระยาสกายปาร์ค
เจ้าพระยาสกายปาร์คBMA
เจ้าพระยาสกายปาร์ค
เจ้าพระยาสกายปาร์คBMA

ขณะเดียวกัน ความร่มเงาและสีเขียวบนสะพานก็เป็นหน้าทีมภูมิสถาปนิก ซึ่งโจทย์ที่ได้คือต้องเป็นต้นไม้ที่ทนแดด ทนลม โค่นล้มไม่เป็นอันตรายและสามารถปลูกได้โดยไม่ต้องใช้ดินเยอะ คำตอบจึงลงตัวอยู่ที่ต้นมะกอก ต้นยี่โถ ต้นชงโค และไม้พุ่มซึ่งจะเน้นพืชพรรณของไทยเพราะมีความทนทาน

“บางคนจะถามว่า ทำไมต้นไม้ไม่ค่อยร่มเลย ทำไมไม่มีต้นไม้ใหญ่ ก็ต้องบอกว่าข้อจำกัดของโครงการนี้คือการสร้างบนโครงสร้างเดิม กรมทางหลวงชนบทก็จะมีมาตรฐานของน้ำหนักที่อนุญาตได้ภายใต้ความปลอดภัย ก็เลยทำให้เราได้ต้นไม้ที่มีร่มเงาได้พอประมาณ พอให้การเดิน 300 เมตร ไม่ร้อนจนเกินไป”

ถอดบทเรียนจากต่างประเทศ

หัวหน้าทีมออกแบบ ได้ยกตัวอย่างโครงการคล้ายกันในต่างประเทศ ทั้งที่ยังไม่สำเร็จอย่าง The Garden Bridge ที่ลอนดอน เพราะเป็นการก่อสร้างใหม่ทั้งโครงการ ซึ่งจะทำให้ต้นไม้เก่าที่อยู่เชิงสะพานถูกตัดโค่นจำนวนมาก จึงถูกตั้งคำถามว่า ทำไมต้องตัดต้นไม้เก่าทิ้งแล้วไปปลูกบนสะพานแพงๆ

นอกจากนั้นในขั้นตอนการออกแบบก็ยังได้ศึกษาโครงการต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จมาก่อนหน้าด้วย ไม่ว่าจะเป็น High Line ที่นิวยอร์ก และ Viaduc Des Arts ที่ปารีส

“ถ้าคนเห็นเจ้าพระยาสกายปาร์ค สิ่งแรกที่นึกถึงเลยก็คือ High Line ที่นิวยอร์ก เพราะเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างที่ไม่ได้ใช้งานมาเป็นฟังก์ชันใหม่ๆ ตอบสนองความต้องการร่วมสมัยของคนเมือง แต่ต้องบอกว่าผู้มาก่อนการกว่านั้นคือ Viaduc Des Arts ที่ปารีส ซึ่งเป็นการปรับปรุงโครงสร้างรถไฟฟ้าเหมือนกัน แล้วก็ทำเป็นสวนเชื่อมป่าของปารีสสองแห่ง เนื่องจากไม่ได้ข้ามแม่น้ำ ข้างล่างเขาก็จะปรับเป็นช็อป เป็นสตูดิโอ ให้คนทั่วไปหรือศิลปินมาเช่าทำเป็นร้านอาหาร คาเฟ่ จากที่เคยเป็นย่านเสื่อมโทรมมันก็พลิกฟื้นกลับมา”

การผลักดันจากหน่วยงานภาครัฐ

ตลอดระยะเวลา 4 ปี ในการเจรจาหารือจนได้ข้อตกลงร่วมกัน และอีก 1 ปี ในการก่อสร้างเจ้าพระยาสกายปาร์ค ถือเป็นความสำเร็จที่แสดงให้เห็นว่าพื้นที่สาธารณะคุณภาพดีเกิดขึ้นได้จริงจากความร่วมมือของหลายๆ ฝ่าย ทั้งทีมออกแบบและการผลักดันของกรุงเทพมหานครและกรมทางหลวงชนบท

การออกแบบที่เราเสนอไป ถ้าทุกอย่างทำภายใต้เงื่อนไขของความปลอดภัย กรุงเทพมหานครให้อิสระกับเราเต็มที่ เราจึงได้พื้นที่สาธารณะที่เรียกได้ว่าร่วมสมัย หลายๆ คนก็บอกว่าเหมือนของต่างประเทศ สวยจังเลย ก็ต้องให้เครดิตกรุงเทพมหานคร กรมทางหลวงชนบท การทางพิเศษแห่งประเทศไทยของกระทรวงคมนาคม ที่ผลักดันจนฝันเป็นจริง” ผศ. ดร.นิรมล กล่าว

เมื่อก้าวแรกได้เริ่มขึ้นแล้ว จากนี้ไปคนกรุงเทพฯ ก็คงจะมีพื้นที่สาธารณะดีๆ ที่เป็นผลผลิตจากโครงการเดียวกันทยอยออกมาให้ชื่นชมอยู่เป็นระยะ ตลอดช่วง 2 ทศวรรษ

เรื่องเด่น
    เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ
      การโฆษณา