ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค
www.navy.mi.th

‘ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค’ มรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าที่รัชกาลที่ 9 ทรงฟื้นฟู

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 เบื้องปลาย คนไทยและทั่วโลกจะได้ชื่นชมความยิ่งใหญ่ของพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ของไทยและจะเป็นเหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ไทยอีกหนึ่งเหตุการณ์

Suriyan Panomai
เขียนโดย
Suriyan Panomai
การโฆษณา

พระราชพิธีสำคัญที่สะท้อนวิถีชีวิตคนไทย

ด้วยวิถีชีวิตของคนไทยที่ผูกพันกับสายน้ำมาตั้งแต่อดีต ทั้งในเรื่องการคมนาคม การค้าขาย และประเพณีสำคัญต่างๆ เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำ ทั้งการเสด็จฯ ไปในการรบ หรือแม้แต่การพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ก็จะมีริ้วขบวนเรือนับร้อยลำ เรียกว่า ‘ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค’ บ้างก็ว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่มีหลักฐานที่แน่นอนเป็นบันทึกของราชฑูตฝรั่งเศส ระบุไว้ว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาและสืบทอดต่อมาในสมัยธนบุรี รัตนโกสินทร์ จนถึงปัจจุบัน

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ (ขาไป) ในขบวนเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางชลมารค
หนังสือรายการละเอียดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 7

พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ถูกจัดขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 4 และปฏิบัติต่อมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 7 เพื่อให้พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ได้เสด็จฯ ให้ประชาชนได้เฝ้าชื่นชมพระบารมี เพราะเมื่อก่อนโอกาสที่ประชาชนจะได้ชื่นชมพระบารมีของพระมหากษัตริย์นั้นมีน้อยมาก ก่อนจะว่างเว้นไปในสมัยรัชกาลที่ 8 เนื่องจากไม่ได้จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 9 ก็ไม่มีการเสด็จฯ โดยขบวนพยุหยาตราชลมารค ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แต่พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ฟื้นฟูขบวนพยุหยาตราทางชลมารคขึ้นในปี พ.ศ. 2500 เนื่องในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ รวมทั้งบูรณะซ่อมแซมเรือที่เสียหายอย่างหนักจากการถูกระเบิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนสามารถจัดขบวนฯ ได้ตามโบราณราชประเพณี และสร้างเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ 9 เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งลำในปี พ.ศ. 2539 ทำให้มีเรือพระราชพิธีทั้งสิ้น 52 ลำ

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราชลมารค ในสมัยรัชกาลที่ 9 จัดขึ้นทั้งหมด 17 ครั้ง โดยเป็นการเสด็จพระราชดำเนิน 14 ครั้ง อัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ 1 ครั้ง และจัดแสดงขบวนเรือพระราชพิธี 2 ครั้ง

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งล่าสุด จัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2555 โดยในหลวงรัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัด อรุณราชวราราม เนื่องในโอกาสมหามงคลทรงเจริญพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา

นั่นหมายความว่าการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.2562 ที่จัดขึ้นในวันที่ 12 ธันวาคม 2562 มีระยะห่างจากการจัดพระราชพิธีดังกล่าวครั้งสุดท้ายในสมัยรัชกาลที่ 7 ถึง 93 ปีด้วยกัน

ความยิ่งใหญ่ของขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งแรกในรัชกาลที่ 10

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งนี้ จัดรูปขบวนเรือพระราชพิธีเป็น 5 ริ้ว 3 สาย ได้แก่ ‘ริ้วสายกลาง’ มีเรือสำคัญเป็นเรือพระที่นั่งทั้ง 4 ลำ คือเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ส่วนเรืออื่นๆ ในริ้วสายกลางก็มีทั้งเรืออีเหลือง เรือแตงโม พร้อมด้วยเรือตำรวจนอกและเรือตำรวจใน รวม 6 ลำ

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
เฟซบุ๊ก: เรือพระราชพิธี
เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช
เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช
เฟซบุ๊ก: เรือพระราชพิธี
เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ 9
เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ 9
เฟซบุ๊ก: เรือพระราชพิธี
เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์
เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์
เฟซบุ๊ก: เรือพระที่นั่ง

ขณะที่ ‘ริ้วสายใน’ ซึ่งขนาบข้างสายกลาง มีทั้งเรือทองขวานฟ้าและเรือทองบ้าบิ่น เป็นเรือประตูหน้า ส่วนเรือเสือทยานชลและเรือเสือคำรณสินธุ์ เป็นเรือพิฆาต เรือรูปสัตว์อีก 8 ลำ และปิดท้ายริ้วสายในด้วยเรือเอกไชยเหินหาวและเรือเอกไชยหลาวทอง ส่วน ‘ริ้วสายนอก’ ประกอบด้วยเรือดั้งและเรือแซง สายละ 14 ลำ รวมเรือพระราชพิธีทั้งหมด 52 ลำ ใช้กําลังพลฝีพาย จํานวน 2,200 นาย แต่งกายโดยยึดถือรูปแบบเดิมตามโบราณราชประเพณี

สำหรับบทเห่เรือได้ประพันธ์ขึ้นใหม่ จำนวน 3 องก์ โดย ‘นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย’ อดีตผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นปูชนียบุคคลด้านภาษาไทยและศิลปินดีเด่นจังหวัดราชบุรีผู้เคยประพันธ์กาพย์เห่เรือ เพื่อใช้ในขบวนพยุหยาตราชลมารคมาแล้ว 6 ครั้ง ส่วนผู้เห่เรือ คือ นาวาเอกณัฏวัฒน์ อร่ามเกลื้อ รองผู้อำนวยการกองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ

และครั้งนี้ยังคงใช้เส้นทางเสด็จพระราชดําเนินเส้นทางเดียวกับที่เคยใช้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 9 คือ เส้นทางจากท่าวาสุกรีถึงท่ามหาราช ร่วมสัมผัสความงดงามของประเพณีและวัฒนธรรมไทยได้ในวันพฤหัสบดี ที่ 12 ธันวาคม นี้

เรื่องเด่น
    เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ
      การโฆษณา