5 สิ่งที่เราเรียนรู้ (และอยากให้แก้ไข) จากนิทรรศการใหม่ของ Museum Siam ก่อนเปิดให้บริการจริงในเดือนธันวาคมนี้

Top Koaysomboon
เขียนโดย
Top Koaysomboon
การโฆษณา

เมื่อเดือนก่อน Time Out Bangkok ได้รับเชิญให้เป็นหนึ่งในสื่อมวลชนและประชาชนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มแรกๆ ที่ได้เข้าชม "ถอดรหัสไทย" นิทรรศการถาวรใหม่ในอาคารหลักของมิวเซียมสยาม หลังจากปิดปรับปรุงมาร่วม 3 ปี ก่อนที่จะเสร็จสมบูรณ์พร้อมเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมในวันที่ 2 ธันวาคมที่จะถึงนี้

โดยนิทรรศการใหม่นี้ ทางมิวเซียมสยามอธิบายว่าเป็นภาคต่อของนิทรรศการถาวรครั้งก่อน "เรียงความประเทศไทย" ที่บอกเล่าเรื่องราวของการค้นหาที่มาของคนไทย (ที่หลายคน—รวมถึงพวกเรา—ชอบกันมากๆ) โดยนิทรรศการครั้งนี้มุ่งตั้งคำถามและหาคำตอบว่า “ความเป็นไทยที่แท้จริงคืออะไร” ผ่านการจัดแสดงบนชั้น 2 และชั้น 3 ของอาคารมิวเซียมฯ เปิดตัวด้วยหุ่นเสมือนเลดี้กาก้าสวมชฏา (ที่เราว่า... ไม่เก่าไปแล้วเหรอ?) และกลไกไฮดรอลิกมากมาย (ที่ไม่ได้ช่วยอะไรเท่าไหร่) ตามที่อาจจะได้เห็นตามสื่ออนไลน์บางแล้ว

และหลังจากได้ดูรอบพรีวิว นี่คือสิ่งที่เราคิด และหวังว่ามิวเซียมสยาม ในฐานะองค์กรมหาชน จะรับฟัง และ (อาจจะ) นำไปปรับปรุง เพื่อประโยชน์สำหรับเราคนไทยผู้เสียภาษีทุกคน

 

(1) ดูนิทรรศการจบแล้ว ไม่รู้สึกว่าได้รับความรู้อะไรใหม่ แถมกิมมิคหรือกลไกที่ดูตื่นเต้น เอาจริงๆ แทบจะไม่ได้ให้ประโยชน์กับการทำความเข้าใจนิทรรศการนี้เลย

ไม่แน่ใจว่าเราแก่ไปหรือว่าอย่างไร แต่นิทรรศการใม่นี้ไม่ได้ให้อะไรมากกว่าในหนังสือเรียนสมัยมัธยม ไม่มีข้อมูลอะไรที่ทำให้เราว้าวหรือพยักหน้าหงึกๆ ตามไปได้ — โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเทียบกับนิทรรศการเก่าๆ ที่มิวเซียมสยามทำดีมาตลอด โอเค.. เราอาจจะรู้สึกว่าเรื่อง “การค้นหาความเป็นไทย” เป็นเรื่องที่ค่อนข้างเก่า และได้รับการพูดถึงมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่ถ้ามีข้อมูลหรือการนำเสนอใหม่ๆ เราก็ยังจะตื่นเต้นและอยากดูอยู่นะ แต่ถึงแม้ว่าตลอดหลายห้องของนิทรรศการจะมีกลไกหรือกิมมิคที่ (ใครสักคนคิดว่า) น่ารัก เช่น ลิ้นชักเปิดออกมาแล้วให้อ่านอะไรบางอย่าง หรือแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่มีกลไกเลื่อนขึ้นลงเพื่อบอกเล่าเรื่องราว ฯลฯ ซึ่งถึงจะดูน่าตื่นเต้น แต่จริงๆ แล้วไม่ได้เสริมสร้างความรู้อะไรใหม่ๆ ให้กับเราเลย และถ้าบอกว่าทำให้เด็กๆ ดู เราขอให้อ่านข้อต่อไป

 

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

 

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

(2) นิทรรศการที่ควรจะทำมาให้เด็กๆ แต่สิ่งจัดแสดงส่วนใหญ่สูงเกินกว่าเด็กจะดูได้สบายๆ

ในห้องที่สองของนิทรรศการ จะเชิญชวนให้ผู้ชมค้นหาที่มาที่แท้จริงของสิ่งที่เราคิดว่าเป็น “ไทย” ผ่านลิ้นชักมากมายบนผนัง (ตามรูปข้างบน) ซึ่งกิมมิคลิ้นชักแบบนี้เด็กๆ น่าจะชอบ และเมื่อประกอบการบรรยายที่ดีก็น่าจะส่งเสริมการเรียนรู้ได้ดี แต่ลิ้นชักกว่าครึ่งติดตั้งไว้สูงเกินกว่าเด็กสิบขวบจะเปิดและปีนอ่านคำบรรยายด้านใน หรือถ้าจะให้ถึงก็ต้องมีการโหนเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้นิทรรศการพังก่อนเวลาอันควรแน่ๆ ในขณะที่ห้องที่สามที่เป็นแพลตฟอร์ตซ่อนระบบไฮโดรลิก (รูปด้านล่าง) บอกเล่าความเชื่อมโยงของประวัติศาตร์ไทยและพัฒนาการของความเป็นไทย ก็สูงเกินกว่าเด็กจะเห็นได้ชัดๆ อันนี้เราแนะนำให้ทำอัฒจรรย์เพื่อการรับชมอย่างชัดเจนไปเลยดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้องนี้บรรยายยาวเกือบ 20 นาที ยืนนานๆ ก็เมื่อยเหมือนกันนะ

 

(3) คำบรรยายน่าจะต้องตรวจทานกันใหม่อีกสักรอบ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ

อันนี้เราว่าทีมงานมิวเซียมสยามน่าจะต้องไปเดินอ่านอีกรอบ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ เพราะการจัดวางและคำอธิบายบางอย่างอาจจะ make sense สำหรับคนไทย แต่ไม่ make sense สำหรับชาวต่างชาติที่ไม่ได้เข้าใจวัฒนธรรมของเราแน่ๆ (เอาจริงๆ คนไทยอย่างเราอ่านบางประโยคยังมีขมวดคิ้วแบบ.. หรอ?)

 

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

 

(4) มิวเซียมสยามแทบไม่ได้ใช้ประโยชน์จากอาคารทรงโคโลเนียลสุดคลาสสิคเลย

มิวเซียมสยามตั้งอยู่ในอาคารกระทรวงพาณิชย์เก่า ซึ่งเป็นอาคารสามชั้นศิลปะอิตาเลียนเรอเนสซองต์ ก่อสร้างระหว่างปี พ.ศ. 2463-65 เป็นหนึ่งในอาคารที่ใช้คอนกรีตเสริมเหล็กอาคารแรกๆ ในประเทศไทย และประดับประด้วยด้วยรายละเอียดปูนปั้นมากมาย เรียกว่ามีคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมและศิลปกรรมเป็นอย่างมาก การที่พิพิธภัณฑ์ชั้นนำของประเทศตั้งอยู่ในอาคารที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์เช่นนี้ ก็เป็นเรื่องที่เหมาะดี

แต่สิ่งหนึ่งที่คนที่ชื่นชอบการเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์อาจจะสังเกตได้ คือในต่างประเทศ ถ้าพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ในอาคารเก่าที่สวยงาม (หรือเรียกง่ายๆ ว่าสเปซสวย) เช่น Louvre หรือ Musée d’Orsay ที่ปารีส นักออกแบบพิพิธภัณฑ์จะออกแบบให้ผู้เข้าชมได้ชื่นชมกับนิทรรศการมากพอๆ กับสถานที่ที่นิทรรศการตั้งอยู่ แต่ที่มิวเซียมสยาม เราแทบไม่เห็นการใช้ประโยชน์จากสเปซสวยๆ เลย (ไม่รวมภายนอกที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีนะ) ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างน่าเสียดาย

 

(5) สินค้าในร้านขายของที่ระลึกน่าเบื่อไปแล้วสำหรับยุคนี้

ถ้าสังเกตกันดีๆ สินค้าที่วางขายในร้านขายของที่ระลึกในหลายมิวเซียมทั่วโลกทุกวันนี้ไม่เพียงแต่สวยงามสะท้อนเอกลักษณ์ของมิวเซียมนั้นๆ ยังมีความเอ็กซ์คลูซีฟ และหลุดออกจากกรอบเดิมๆ ของ “ของที่ระลึกจากพิพิธภัณฑ์” ไปมาก มิวเซียมสยามอาจจะต้องลองร่วมมือกับแบรนด์เอกชนเพื่อสร้างสรรค์อะไรแบบนี้บ้างแล้วนะ (อย่างเช่นนิทรรศการ Tadao Ando ที่โตเกียวมีเสื้อคอลเล็กชั่นพิเศษทำโดย Uniqlo ที่มีขายที่มิวเซียมเท่านั้น หรืออย่างที่พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ของบ้านเราก็มีถุงผ้าป้าต่าย Jay the Rabbit มาแล้วนะ)

 

 
ท้ายที่สุด อยากบอกว่าเราไม่ได้โกรธเกลียดมิวเซียมสยามแต่อย่างใด แต่อยากเป็นเสียงสะท้อนจากคนที่ (แน่นอนว่าเราเสียภาษี) อยากให้มันดีขึ้น ดีจนถึงขั้นที่เรายอมเสียเงินเพื่อเข้าไปดูนิทรรศการ เหมือนกับที่เราแทบจะล้มละลายหลังจากจ่ายค่าบัตรมิวเซียมมากมายเวลาไปเมืองนอก แต่อิ่มเอมจากสิ่งที่ได้รับและไม่รู้สึกว่าเสียดายเงิน

 

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

นิทรรศการถอดรหัสไทย จะเปิดให้ประชาชนเข้าชมตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคมเป็นต้นไป ณ มิวเซียมสยาม ถนนมหาไชย

แชร์เนื้อหา

บทความล่าสุด

    การโฆษณา