Cannes Netflix

ควันหลงดราม่าร้อนจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์

คุณว่าหนัง Netflix มีศักดิ์ศรีเทียบเท่าหนังที่ฉายในโรงไหม?

Sopida Rodsom
เขียนโดย
Sopida Rodsom
การโฆษณา

นอกจากการตามติดดาราแต่งตัวสวยๆ บนพรมแดงแล้ว อีกประเด็นร้อนจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในปีนี้นี้หนีไม่พ้นการที่ เปโดร อัลโมโดวาร์ ผู้กำกับดังชาวสเปน ประธานคณะกรรมการตัดสินในปีนี้ ออกตัวกลางงานแถลงข่าวว่า “ไม่ค่อยพอใจ” ที่สองภาพยนตร์ Netflix — Okja ภาพยนตร์ของผู้กำกับชาวเกาหลีใต้ บองจุนโฮ และภาพยนตร์สัญชาติอเมริกัน The Meyerowitz Stories (New and Selected) ของผู้กำกับ โนอาห์ บอมบาช ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำ

 

Okja

 

การฉายในโรงคือตัวแปรสำคัญ

เปโดร อัลโมโดวาร์ กล่าวว่า เขาอยากให้ภาพยนตร์ที่เข้าชิงรางวัลฯ ต้องผ่านการฉายในโรงภาพยนตร์ปกติ และมีผู้ชมจากทั่วโลกได้ชมจากจอขนาดใหญ่มากกว่า และถึงแม้แพลตฟอร์มดิจิตัลจะเป็นการนำเสนอภาพยนตร์ในรูปแบบใหม่ แต่แพลตฟอร์มนี้ก็ไม่ควรมาเปลี่ยนวัฒนธรรมการชมหนัง และต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎที่มีอยู่ด้วย

แถมคณะกรรมการพิจารณาหนังของเทศกาลฯ ยังออกมาขานรับความเห็นของเปรโด ด้วยการประกาศว่าตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นไป ภาพยนตร์ที่จะเข้าชิงรางวัลในเทศกาลภายนตร์เมืองคานส์ทุกเรื่องต้องเข้าฉายในโรงหนังภายในประเทศฝรั่งเศสแล้วเท่านั้น 

ผู้กำกับดัง เป็นเอก รัตนเรือง ให้ความเห็นสนับสนุนกรณีนี้ว่า “กรณีหนังสองเรื่องของ Netflix ที่เมืองคานส์ คงเป็นเพราะบรรดาเจ้าของโรงหนังต่างๆ ออกมาประท้วง ผมเข้าใจว่าประเทศฝรั่งเศสมีวัฒนธรรมการเสพภาพยนตร์ที่เพียวมาก เขาคงยังเชื่อว่าโรงภาพยนตร์ยังเป็นที่ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเสพงานศิลปะแขนงนี้ ผมเห็นด้วยกับมุมมองนี้นะครับ เพราะผมคงไม่ไปเดินเสพงานศิลปะในห้างสรรพสินค้าแน่ๆ ไม่ว่างานจะดีแค่ไหนก็ตาม”

“...หนังในโรงกับหนังออนไลน์แตกต่างกันราวฟ้ากับดินครับ ไม่ใช่ที่คุณภาพของตัวหนังนะ แต่เป็นที่คุณภาพของการเสพ ความใหญ่ของภาพ ความละเอียดของเสียง ระยะจากจอภาพถึงที่นั่งของเรา ความมืด และความเงียบที่ทำให้เราดิ่งเข้าไปในบรรยากาศของหนัง รวมถึงการที่เราไม่สามารถกดปุ่ม pause แล้วลุกไปทำอย่างอื่นได้” เป็นเอกกล่าวเสริม “ทุกอย่างนี้ทำให้การเสพภาพยนตร์มีคุณภาพ บนมือถือหรือคอมฯ เราดูอะไรสั้นๆ ดูเล่นๆ ได้ แต่ถ้าเสพสิ่งที่เป็นศิลปะ ผมคิดว่าเราต้องเสพในที่ที่เหมาะสม ที่ที่ทำให้งานนั้นเป็นงานศิลปะครับ”

 

 

หนังดีก็คือหนังดี ไม่เกี่ยวกับวิธีฉาย

อีกฝั่งนึง นักแสดงซุปเปอร์สตาร์ชาวอเมริกัน วิล สมิธ หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินในปีนี้ และนักแสดงนำใน Bright ภาพยนตร์ทริลเลอร์ของ Neltflix ที่มีทุนสร้างกว่า 90 ล้านเหรียญฯ และมีแผนจะลงฉายออนไลน์ช่วงปลายปีนี้มีความเห็นว่า Netflix ไม่ได้มีผลกระทบต่อการออกไปดูหนังโรง เพราะลูกๆ ของเขาก็ยังออกไปดูหนังอาทิตย์ละสองครั้ง และกลับบ้านมาดู Netflix ด้วยอยู่ดี และทั้งสองช่องทางก็ให้ความบันเทิงที่แตกต่างกันออกไป แถมยังเป็นช่องทางให้เข้าถึงศิลปินที่อยู่อีกมุมโลก ซึ่งไม่ค่อยได้มีโอกาสได้เห็นหรือติดตามผลงานเช่นกัน

ก้อง ฤทธิ์ดี นักวิจารณ์หนังจากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ผู้คร่ำหวอดกับเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์มาตลอดหลายปี ให้ความเห็นว่า “หนังอย่าง Okja ถูกผลิตออกมาให้เป็นภาพยนตร์ แม้จะตั้งใจทำเพื่อฉายทางทีวีก็ตาม ดังนั้นหนังของ Netflix ก็ควรได้รับโอกาสเข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำ แต่หนังที่เข้าชิงก็ต้องเป็นหนังที่ดีจริงๆ ด้วยเช่นกัน”

“...หนังที่ดีก็คือหนังที่ดีครับ แต่ก่อนภาพยนตร์สำหรับทีวีถูกมองว่าคุณภาพไม่ดี แต่ในปัจจุบันผู้กำกับดังๆ ก็หันมาทำภาพยนตร์สำหรับทีวี จนมันแทบไม่ต่างกันแล้ว ผู้กำกับอย่าง เจน แคมเปี้ยน และเดวิด ลินช์ ก็เอางานตัวเองมาฉายในเทศกาลเหมือนกัน แต่ไม่เป็นกระแสมาก เพราะหนังไม่ได้เข้าชิงรางวัลใหญ่”

ก้องยังเล่าเสริมบรรยากาศภายในงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เพิ่มเติมอีกว่า “อุตสาหกรรมภาพยนตร์ฝรั่งเศสนั้นมีธรรมเนียมของตัวเองเยอะมากครับ และพวกเขาอาจจะไม่พอใจที่ Netflix เลี่ยงการทำตามระบบที่มีอยู่แล้ว ผมเข้าใจพวกเขานะ แต่คนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้อยู่ในประเทศฝรั่งเศสอาจไม่ได้สนใจเรื่องนี้มากนัก แต่ในงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ คนคอยโห่โลโก้ Netflix กันตลอด ผมก็ไม่แน่ใจว่าแกล้งโห่เล่นๆ หรือโห่จริงจังเหมือนกัน”

 

The Meyerowitz Stories (New and Selected)

 

แล้วทำไม Netflix ไม่ฉายในโรงปกติล่ะ?

ประเทศฝรั่งเศสมีกฎหมายบังคับให้ภาพยนตร์จะสามารถฉายบนแพลตฟอร์มออนไลน์สตรีมมิ่งได้ก็ต่อเมื่อหนังเรื่องนั้นเข้าฉายในโรงหนังภายในประเทศฝรั่งเศสไปแล้ว 36 เดือนหรือ 3 ปี และนี่อาจจะเป็นหนึ่งในสาเหตุหนึ่งที่ Netflix เลือกที่จะไม่ฉายภาพยนตร์ออริจินัลของตัวเองในประเทศฝรั่งเศส

ความจริงแล้วภาพยนตร์ของ Amazon แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งอีกบริษัทหนึ่งก็เข้าชิงรางวัลในงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่นในปีที่แล้ว The Neon Demon นำแสดงโดย แอล แฟนนิ่ง ยอมเปิดฉายในโรงแบบปกติ และขายลิขสิทธิ์การฉายในประเทศฝรั่งเศสให้กับบริษัทจัดจำหน่ายภาพยนตร์ท้องถิ่น “ขอออกตัวก่อนว่าไม่ได้ตามเรื่องนี้มากนัก แต่คิดว่าคุณภาพของหนังบนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งดีไม่แพ้หนังโรงเลย อย่างปีที่แล้วมีเรื่อง Manchester by the Sea ที่ได้รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์ ก็เป็นของ Amazon แต่เรื่องนี้เข้าโรงฉากปกติก่อน” ผู้กำกับ โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูลกล่าว “ทั้งหมดอยู่ที่การเปลี่ยนผ่านมากกว่าครับ แต่ผมเชื่อแพลตฟอร์มนี้จะไม่ทำให้วัฒนธรรมการดูหนังตายไป เพราะคนก็ยังอยากเสพหนังในโรงอยู่ดี”  

แล้วคุณล่ะ คิดว่าอย่างไร?

 

Did you know?

เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์จัดมาตั้งแต่ปี 1946 เป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ประเทศฝรั่งเศส ภายในงานจะมีการจัดแสดงและประกาศรางวัลประเภทต่างๆ ให้กับภาพยนตร์และหนังสั้นจากทั่วโลก โดยมีรางวัล Palme d’Or หรือรางวัลปาล์มทองคำเป็นรางวัลสูงสุดของเทศกาล

ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรก (และเรื่องเดียว) ที่คว้ารางวัลปาล์มทองคำจากเวทีเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์มาครองคือ ลุงบุญมีระลึกชาติ ของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ในปี 2010

การโฆษณา

ภาพยนตร์ที่ชนะรางวัลปาล์มทองคำ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปีนี้ได้แก่ The Square หนังดราม่าเชิงเสียดสีของผู้กำกับขาวสวีเดน Ruben Östlund

เรื่องเด่น
    เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ
      การโฆษณา