Mounia Meddour
Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

Mounia Meddour เจ้าของภาพยนตร์สัญชาติแอลจีเรียที่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์

พูดคุยกับผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Papicha ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศในปี 2020

เขียนโดย
Wissuta Ploypetch
การโฆษณา

แอลจีเรีย เป็นอีกจุดหมายปลายทางที่เหล่านักท่องเที่ยวอยากจะไปเยือนเพื่อเยี่ยมชมความสวยงาม แต่เบื้องหลังความสวยงามนั้นก็เคยเข้มข้นไปด้วยแนวคิดอนุรักษ์นิยมแบบชายเป็นใหญ่ รวมถึงข้อกำหนดทางศาสนาหรือแนวคิดเคร่งศีลธรรมตามค่านิยมของสังคมอาหรับ ทำให้ผู้หญิงในประเทศหลายคนต้องเผชิญกับการจำกัดทางเสรีภาพและไม่ได้รับความเท่าเทียมกับเพศชาย จนถึงขนาดสูญเสียความเป็นตัวเอง

มูเนีย เม็ดดูร์ (Mounia Meddour) ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Papicha (ปาปิชา) คือหญิงสาวชาวแอลจีเรียที่เคยเผชิญกับเหตุการณ์เหล่านี้เช่นกัน โดยเธอต้องจากประเทศแอลจีเรียมายังประเทศฝรั่งเศสด้วยเหตุผลความไม่สงบทางสังคมในวัยเพียง 20 ปี ซึ่งเมื่อมาถึงประเทศฝรั่งเศสเธอก็ได้เลือกศึกษาต่อทางด้านภาพยนตร์ เริ่มทำงานสารคดีหลายชิ้นที่เกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงในสังคมมาเกร็บ (Maghreb สังคมแอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือ) ก่อนจะเริ่มทำโปรเจ็กต์ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกเป็นของตัวเอง โดยนำเอาแรงบันดาลใจมาจากชีวิตของตัวเธอเองในช่วงปี 1990 

Papicha บอกเล่าเรื่องราวของ ‘เนดจ์ม่า’ หญิงสาวที่ใฝ่ฝันอยากเป็นดีไซน์เนอร์กับกลุ่มเพื่อนซี้ของเธอ ที่ต้องเผชิญหน้ากับสงครามศาสนาและค่านิยมทางสังคมที่บังคับให้ผู้หญิงทุกคนอยู่ในบ้านและต้องปกปิดร่างกายมิดชิด ซึ่งการที่ความฝันนั้นสวนทางกับกฎเกณฑ์ของสังคมอยู่ ก็ไม่ได้ทำให้เนดจ์ม่าหวั่นไหวแม้แต่น้อย เธอเดินหน้ายืนหยัดเพื่อเสรีภาพของตัวเองด้วยการจัดแฟชั่นโชว์ในมหาวิทยาลัย โดยที่ไม่รู้เลยว่าในที่สุดแล้วมันจะนำไปสู่อะไร 

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับคัดเลือกให้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์สาขา Un Certain Regard พร้อมคว้า 3 รางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์ฝรั่งเศส เมืองอ็องกูแลม นั่นคือ รางวัลขวัญใจประชาชน รางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และรางวัลนักแสดงหญิงยอดเยี่ยม แถมล่าสุดยังได้รับคัดเลือกล่วงหน้าเพื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ปี 2020 ในสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศ แม้จะยังไม่ได้รับอนุญาตให้ฉายในประเทศแอลจีเรีย ซึ่งมูเนียคาดว่าเป็นเพราะเหตุการณ์การประท้วงรัฐบาลที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ (หรือไม่ก็เป็นเพราะเข็มกลัดสนับสนุนการประท้วงที่พวกเธอติดขึ้นไปร่วมเทศกาลงานคานส์)

“เคยมีภาพยนตร์แอลจีเรียเพียงไม่กี่เรื่องที่สามารถไปถึงออสการ์ได้ การที่ภาพยนตร์ของเราสามารถไปถึงได้ขนาดนั้นทั้งที่โปรดักชั่นเล็กมาก และใช้เงินน้อยมาก จึงเป็นเรื่องมหัศจรรย์และน่าภาคภูมิใจ แต่ไม่ได้อยากให้มองว่าภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนสังคมแอลจีเรียทั้งหมด มันเป็นมุมมองของผู้หญิงคนหนึ่งที่เคยสัมผัสช่วงเวลานั้นมากกว่า” มูเนียบอกกับ Time Out ระหว่างการพูดคุยเกี่ยวกับภาพยนตร์ดังกล่าว

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

มูเนียใช้เวลากว่า 5 ปี ในการพัฒนาบทภาพยนตร์และวางแผนการถ่ายทำ โดยส่วนที่ยากที่สุดคือการหาทุนสร้าง “แม้ว่าฉันจะเคยกำกับภาพยนตร์สารคดีมาหลายเรื่อง แต่นี่เป็นการกำกับและเขียนบทภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของฉัน แถมมันยังเป็นเรื่องราวที่ค่อนข้างเซนซิทีฟและเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์จริงในอดีตอย่างสงครามกลางเมือง ฉันจึงต้องใช้เวลาในการตรวจสอบรายละเอียดหลายอย่างเพื่อให้มั่นใจว่ามันจะออกมาสมจริงและทรงพลังที่สุด อีกอย่างหนึ่งที่ใช้เวลามากก็คือการหาเงินทุน เพราะภาพยนตร์ของเราไม่มีนักแสดงชื่อดัง มันจึงไม่ดึงดูดพวกนักลงทุนหรือบริษัทจัดจำหน่ายสักเท่าไร นอกเหนือจากนั้นคือการจัดหาอุปกรณ์ที่ต้องนำเข้าจากเบลเยียมผ่านฝรั่งเศส ด้วยความที่ประเทศแอลจีเรียไม่มีอุปกรณ์ นั่นเลยทำให้กระบวนการถ่ายทำล่าช้าไปอีก” 

สงครามที่เนดจ์ม่าและเพื่อนต้องเจอนั้นเป็นสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นจริงในปี 1991-1997 ระหว่างรัฐบาลทหารกับกลุ่มอิสลามติดอาวุธที่ทำให้มีประชาชนถูกสังหารเป็นจำนวนมาก คาดการณ์ว่าประมาณ 40,000-200,000 คน โดยนักสื่อสารมวลชนและชาวต่างชาติถือเป็นเป้าหมายหลัก มูเนียเล่าถึงความกดดันทางสังคมแอลจีเรียในช่วงสงครามที่เธอเคยเจอว่า

“การเป็นศิลปิน นักข่าว หรือกระทั่งเพียงเป็นผู้หญิง ถือเป็นเรื่องอันตรายมากในช่วงเวลานั้น คนที่เรียนวารสารศาสตร์อย่างฉันมักจะตกเป็นที่เพ่งเล็ง และแม้จะผ่านมานานแล้วแต่พอผู้คนรู้ว่าเรามาถ่ายทำภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับช่วงเวลานั้น พวกเขาก็เหมือนยังมีอะไรอยากจะพูด อยากจะระบายเกี่ยวกับมันอยู่เลย” 

ฉากหนึ่งในภาพยนตร์ Papicha

ในภาพยนตร์สิ่งที่แตกต่างจากชีวิตจริงของมูเนียคือ เครื่องมือในการต่อสู้ที่ไม่ใช่การรายงานข่าวหรือตีแผ่ความจริงแบบนักสื่อสารมวลชน ซึ่งเป็นสาขาที่เธอเรียน แต่เป็นเสื้อผ้าและแฟชั่นโชว์ นั่นเพราะมูเนียเห็นว่าการจัดแฟชั่นโชว์เป็นสัญลักษณ์ของการขัดขืนต่อค่านิยมที่พยายามบังคับผู้หญิงให้อยู่ในกรอบระเบียบได้ดีที่สุด นอกจากนี้ในภาพยนตร์ยังมีตัวละครที่เป็นนักสื่อสารมวลชน ซึ่งเราจะได้เห็นความยากลำบากที่เขาต้องเผชิญอีกด้วย

อีกสิ่งหนึ่งที่ภาพยนตร์ทำให้เราได้เห็นก็คือ ผู้หญิงจะสามารถทำสิ่งที่คิดให้เกิดขึ้นจริงได้มากแค่ไหน หากได้รับการสนับสนุนด้วยกันเอง ผ่านตัวละครผู้หญิงที่มีความเชื่อและความต้องการของตัวเองที่หลากหลายซึ่งได้มาอยู่ในสังคมเดียวกันอย่างมหาวิทยาลัย 

“วงการภาพยนตร์มีผู้กำกับผู้หญิงน้อยมากในปัจจุบัน และฉันก็คิดว่ามันเป็นเรื่องสำคัญมากหากจะมีภาพยนตร์ที่พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นผ่านมุมมองของผู้กำกับผู้หญิงบ้าง ฉันอยากให้คนดูได้เห็นถึงความยากลำบากของผู้หญิงในสังคมที่แตกต่างจากเขา ซึ่งมันจะทำให้พวกเขาตระหนักถึงพลังที่จะทำตามความฝันของตัวเองเมื่อมีโอกาสอย่างดีที่สุด และหวังว่ามันอาจเป็นกำลังใจให้กับหลายคนไม่ยอมแพ้ต่อบางสิ่งบางอย่างที่จำกัดเสรีภาพของเราไว้ ฉันคิดว่าประเด็นนี้ก็น่าจะคล้ายกับสถานการณ์ประเทศไทยในตอนนี้อยู่เหมือนกัน”

Papicha เข้าฉายแล้ววันนี้

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

  • Movies
  • ละคร

เรื่องราวในช่วงปี 1990 ของ ’เนดจ์ม่า’ เด็กสาววัย 18 ปี ผู้หลงใหลในการออกแบบเสื้อผ้าและใฝ่ฝันที่จะเป็นดีไซน์เนอร์ แต่ถูกกีดกันเรื่องการแต่งกายและการใช้ชีวิตของผู้หญิงด้วยวัฒนธรรมในบ้านเกิดของตัวเองที่บังคับให้ผู้หญิงทุกคนอยู่ในบ้านและต้องปกปิดร่างกายมิดชิด และเมื่อสภาพแวดล้อมทางสังคมบีบบังคับเธอมากขึ้น เธอจึงตัดสินใจที่จะต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ออกแบบงานสไตล์อิสระในแฟชั่นโชว์ของเธอเอง โดยไม่สนใจกฎเดิมๆ และไม่รู้เลยว่าในที่สุดแล้วมันจะนำไปสู่อะไร

เรื่องเด่น
    เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ
      การโฆษณา