Thai horror Movies
Narin F Machaiya

ย้อนดู 13 หนังแห่งสิ่งลี้ลับไทยที่จำติดตา เพื่อต้อนรับคืนวันฮาโลวีนนี้

ไม่มีหนังผีชาติไหนจะหลอนไปกว่าหนังไทยอีกแล้ว

เขียนโดย
Wissuta Ploypetch
การโฆษณา

ในช่วงวันเทศกาลปล่อยผีสุดพิเศษของปีที่ใกล้เข้ามานี้ คงไม่มีอะไรที่เหมาะไปกว่าการดูหนังผีมาราธอนติดต่อกันแบบยาวๆ จนทำให้คุณไม่สามารถมองกระจกห้องน้ำโดยไม่ขนหัวลุกได้ง่ายๆ ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่อุตสาหกรรมหนังผีค่อนข้างได้รับการตอบรับอย่างดี มีหนังผีเข้าฉายทุกปี และหนังผีที่หลอนและน่ากลัวตรึงตราตรึงใจที่สุดสำหรับเราก็คือหนังผีไทยเนี่ยแหละ วันนี้เราเลยรวบรวม 13 หนังผีสัญชาติไทยที่คิดว่าน่ากลัวขึ้นหิ้งมาชวนย้อนประสบการณ์หลอนต้อนรับวันฮาโลวีนที่จะถึงนี้ไปด้วยกัน ว่าแต่จะมีเรื่องใดบ้างนั้น…ตามไปชมกันเลย

303 กลัว/กล้า/อาฆาต (2541)
Photo: MonoMaxx

303 กลัว/กล้า/อาฆาต (2541)

ผลงานแจ้งเกิดของนักแสดงที่มีชื่อเสียงหลายคนไม่ว่าจะเป็นอาทิตย์ ตั้งสวัสดิ์รัตน์, อนันดา เอเวอริงแฮม, ปริญญา อินทชัย, ชาตโยดม หิรัญยัษฐิติ, เทย่า โรเจอร์ รวมถึงพระเอกตลอดกาลอย่าง เจษฎาภรณ์ ผลดี โดยบอกเล่าถึงกลุ่มนักเรียนใหม่ของโรงเรียนประจำเซนต์จอร์จที่พยายามตามหาความจริงของการตายของศิษย์เก่าดีเด่นของโรงเรียนเมื่อหลายสิบปีก่อนด้วยการเล่นผีถ้วยแก้ว และมันได้กลายเป็นการเปิดประตูให้วิญญาณของนักเรียนที่ได้ชื่อว่าเป็นฆาตกรในเหตุการณ์ครั้งนั้นกลับมาแก้แค้น ก่อนที่นักเรียนในโรงเรียนจะค่อยๆ ตายไปทีละคน

นางนาก (2542)

นางนาก (2542)

หนังผีระดับตำนานที่ไม่มีใครไม่รู้จัก โดยเป็นหนังผีเรื่องแรกที่ทำรายได้ทะลุ 100 ล้านบาท เรื่องราวความรักระหว่างผีตายทั้งกลมกับสามีผู้กลับมาจากสงคราม ซึ่งดำเนินไปท่ามกลางความสยองขวัญของผู้คนที่อาศัยอยู่ละแวกใกล้เคียง จนกระทั่งวันหนึ่งที่ฝ่ายชายได้รู้ความจริงว่าเมียของตนนั้นเสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งหนังเรื่องนี้ก็ได้ทำให้ ทราย-เจริญปุระ กลายเป็น นางเอกร้อยล้านในทันที ก่อนที่จะได้รับบทนางเอกหนังผีในอีกหลายเรื่องต่อมา

การโฆษณา
ผีสามบาท (2544)
Phra Nakorn Film

ผีสามบาท (2544)

หนังผีเรื่องแรกที่แบ่งการเล่าเรื่องออกเป็นหลายเรื่องโดยไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกัน และได้รับกระแสตอบรับที่ดีมากกวาดรายได้ไปกว่า 90 ล้านบาท ทำให้เกิดกลวิธีการนำเสนอหนังในรูปแบบนี้ต่อมาอีกหลายเรื่อง หนังแบ่งออกเป็น ‘ท่อนแขนนางรำ’ ที่ว่าด้วยแนวคิดเกี่ยวกับการกลับชาติมาเกิด ‘น้ำมันพราย’ ภัยร้ายที่มากับการใช้ไสยศาสตร์มนต์ดำ และ ‘จองเวร’ ที่หักมุมอย่างคาดไม่ถึง นอกจากนั้นหนังเรื่องนี้ยังเป็นที่มาของมุขถาม-ตอบสุดกวนในสมัยที่ค่าโดยสารรถเมล์ยังราคา 3 บาท 50 สตางค์อยู่ว่า “ผีอะไรขึ้นรถเมล์ไม่ได้?” ซึ่งคำตอบก็คือผีสามบาท เพราะขาดไป 50 สตางค์นั่นเอง

ปอบ หวีด สยอง (2544)

ปอบ หวีด สยอง (2544)

การตีความใหม่ของหนังเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องผีปอปที่ถือว่าทันสมัยมากๆ สำหรับยุคนั้น เมื่อถึงคราวที่ผีปอปได้มาในลุคสาวสวยสุดเซ็กซี่ เพื่อหลอกล่อผู้ชายให้ตกเป็นเหยื่อได้ง่ายดายยิ่งขึ้น โดยมี ‘เจน ชมพูนุช’ นักแสดงสาวหมวยหวานปนซ่า เป็นผู้สวมบทบาทผีปอปสาวในเรื่อง แถมเนื้อเรื่องยังล้ำไปด้วยฉากต่อสู้ไล่ล่าจับผีปอปตัวนี้ในบรรยากาศของหนังแอ็คชั่น-ไซไฟ ทำให้นอกจากจะได้อารมณ์ขนหัวลุกจากการกลัวปอปกิน แล้วยังได้ความมันสะใจไปในคราวเดียวกัน หนังเรื่องนี้จึงเป็นที่จดจำได้เป็นอย่างดี

การโฆษณา
999-9999 ต่อติดตาย(2545)

999-9999 ต่อติดตาย(2545)

เรื่องนี้น่าจะเป็นสุดยอดหนังที่สร้างปรากฎการณ์ความหลอนทำให้หลายคนพยายามโทรไปที่เบอร์ 999-9999 เพื่อท้าทายว่าจะมีสิ่งลี้ลับรออยู่ที่ปลายสายอย่างในหนังบ้างหรือไม่ ส่วนตัวหนังนั้นก็นับว่ามีความน่าสนใจด้วยวิธีการเล่าที่แปลกใหม่แบบหนังสยองขวัญตะวันตก ด้วยความลี้ลับที่เกิดจากความปรารถนาและความโลภของเราเอง ปริศนาเบอร์โทรศัพท์ที่หากโทรเข้าไปหลังเที่ยงคืนจะสามารถขอได้ทุกสิ่งที่ต้องการ ดึงดูดให้ทั้งตัวละครต่างๆ และคนดูอยากรู้อยากเห็นตามไปด้วยถึงขนาดทดลองโทรไปตามหมายเลขนั้นจริงๆ นับเป็นจุดที่ทำให้หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จมากทีเดียว

อารมณ์ อาถรรพ์ อาฆาต (2545)

อารมณ์ อาถรรพ์ อาฆาต (2545)

หนังผีขนาดสั้น 3 เรื่องจากผู้กำกับสามชาติได้แก่ เกาหลี ไทยและฮ่องกงที่ต่างถ่ายทอดเรื่องราวเขย่าขวัญในมุมมองของตัวเองออกมา แบ่งออกเป็น ‘Memories’ เรื่องของหญิงสาวที่สูญเสียความจำไปพร้อมกับเหตุการณ์ร้ายและสะท้อนชีวิตหลังความตายกับการเดินทางของดวงวิญญาณภายใต้แรงอาฆาต ‘The Wheel’ อาถรรพ์และอำนาจลึกลับของหุ่น ซึ่งนำความตายมาสู่ทุกชีวิตที่เกี่ยวข้องโดยไม่อาจหลีกเลี่ยง และ ‘Going Home’ อารมณ์รักระคนหวั่นวิตกของชายที่พยายามและเฝ้ารอให้ภรรยาของเขาฟื้นขึ้นมาอีกครั้งแม้ว่าทุกคืนวันที่ผ่านไปจะไม่ต่างกับฝันร้าย ซึ่งทั้ง 3 เรื่องเชื่อมโยงความเชื่อและแง่คิดเข้าด้วยกันได้อย่างน่าฉงน โดยในตอน The Wheel หรือ มิติกรรม ที่เป็นของไทยนั้นได้ นนทรีย์ นิมิบุตร ผู้กำกับ 2499 อันธพาลครองเมือง นางนาก และจันดารา มาเป็นผู้กำกับ 

การโฆษณา
เฮี้ยน (2546)

เฮี้ยน (2546)

หนังที่ ปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้เป็นผู้อำนวยการสร้างได้แรงบันดาลใจมาจากข่าวหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ เกี่ยวกับความเชื่อของคนในสังคมที่มีต่อผู้หญิงตายทั้งกลม มาสู่หนังที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับหญิงสาวที่ต้องมาเผชิญกับความหลอกหลอนในโรงพยาบาล ในขณะที่กำลังตั้งครรภ์และคิดว่าจะไม่เก็บเด็กคนนี้เอาไว้ จึงทำให้เธอได้เห็นสิ่งต่างๆ ที่ชวนสยองแบบ ‘เฮี้ยน’ สุดๆ โดยในแง่การแสดงของ ทราย-เจริญปุระ ในฐานะนางเอกก็ทำได้ดีจนได้รับฉายาว่านางเอกหนังผีของวงการบันเทิงไทย

บุปผาราตรี (2546)

บุปผาราตรี (2546)

เรื่องนี้มีความแตกต่างจากหนังผีเรื่องอื่นด้วยประเด็นเสียดสีสังคมผ่านตัวละครผีสาว ซึ่งถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจในสภาพสังคมแบบชายเป็นใหญ่ สะท้อนสังคมช่วงนั้นได้อย่างถึงแก่น โดยผู้กำกับมากฝีมืออย่าง ต้อม-ยุทธเลิศ สิปปภาค ที่สามารถใส่ทั้งมุขตลกร้ายและฉากสยองขวัญลงไปในหนังเรื่องนี้ได้อย่างลงตัวมากๆ (แม้ว่าภาคหลังๆ ที่ตามมาจะเริ่มหลุดไปไกลสักนิด) ส่วนบทบาทผีสาว ก็ได้ พลอย-ไลลา บุญยศักดิ์ มารับหน้าที่ถ่ายทอดปูมหลังเรื่องความรักและความแค้นได้อย่างน่าติดตาม

การโฆษณา
คน ผี ปีศาจ (2547)

คน ผี ปีศาจ (2547)

เรื่องราว 4 วันที่เกิดขึ้นในโรงพิมพ์ขนาด 4 คูหาผ่านมุมมองของ อุ้ย (แอร์-ภัทราริน) เด็กสาวต่างจังหวัดที่หนีตายมาขออาศัยอยู่กับญาติห่างๆ ในกรุงเทพฯ แต่ทันทีที่ก้าวเท้าเข้าสู่บ้านที่เป็นโรงพิมพ์ ทั้งเธอและเราที่เป็นคนดูก็สัมผัสได้ถึงบรรยากาศผิดปกติที่เริ่มตั้งแต่ ‘คน’ แปลกๆ ตั้งแต่ ป้าบัว (อมรา อัศวนนท์) ที่มีอีกอาชีพหนึ่งที่ไม่ธรรมดาคือคนทรงเจ้า และ อาร์ม (อเล็กซ์ เรนเดล) เด็กชายวัย 12 ปี หลานของป้าบัวที่เอาแต่พูดถึง ‘ผี’ ในโรงพิมพ์ จนกระทั่งวันที่ป้าของอุ้ยออกไปทำงานและเผลอล็อกกุญแจจากด้านนอก ขังอุ้ยกับอาร์มเอาไว้กับบางสิ่งบางอย่างที่อยู่ในบ้าน ทำให้ทั้งสองคนได้เผชิญหน้ากับรูปแบบของสิ่งที่ถูกเรียกขานว่า ‘ปีศาจ’ เข้าอย่างจัง

ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (2547)

ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (2547)

สุดยอดหนังผีไทยระดับตำนานที่ได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลามจากคอหนังทั่วโลก จนมีหลายๆ ชาติขอซื้อลิขสิทธิ์ไปรีเมก โดยเฉพาะฉากซิกเนเจอร์ของผีสาวขี่คอที่ถูกนำไปล้อเลียนในอีกหลายต่อหลายเรื่อง จุดเริ่มต้นของหนังได้บอกเล่าถึงช่างภาพหนุ่มที่ออกตามหาความจริงเกี่ยวกับผีที่คอยมาติดอยู่ในรูปถ่ายของเขาว่าเป็นใคร ทว่ายิ่งสืบสาวราวเรื่องต่อไปเท่าไร เขากับแฟนก็ยิ่งเจอเหตุการณ์ประหลาดกับชีวิตมากมาย และไม่แน่ใจว่ามันต้องการเอาชีวิตหรือต้องการอยู่กับเขาไปตลอดกาล

การโฆษณา
ผีคนเป็น (2549)

ผีคนเป็น (2549)

หนังสยองขวัญที่มีแรงบันดาลใจจากอาชีพนักแสดงประกอบสำนวนคดีฆาตกรรมที่เคยเกิดขึ้นจริงและถ่ายทำในสถานที่จริง โดยเล่าผ่านตัวละครที่มีอาชีพนักแสดงประกอบแผนรับสารภาพที่ได้กลายเป็นนักแสดงมืออาชีพ แต่หนังเรื่องแรกที่เธอได้เล่นก็ยังไม่วายต้องรับบทนักแสดงประกอบแผนรับสารภาพอีกครั้ง จนได้ประสบเรื่องราวแปลกๆ ที่ไม่อาจคาดถึง ซึ่งหนังเรื่องนี้เป็นที่จดจำได้จากเรื่องราวหักมุมที่จับทางไม่ได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ถ้าใครอยากรู้ว่าหนังจะหักมุมได้แค่ไหนต้องไปหาเรื่องนี้มาดู

5 แพร่ง (2552)

5 แพร่ง (2552)

หนังผีแบ่งตอนภาคต่อจาก 4 แพร่ง (2551) ที่ยังไม่ทิ้งลายความฮาในตอนสุดท้ายของหนังเช่นเดียวกับภาคก่อนหน้า ด้วยการนำเอา 4 นักแสดงสายฮากลุ่มเดิมจากตอน คนกลาง ใน 4 แพร่ง มาสร้างความบันเทิงอีกครั้ง ในขณะที่สี่ตอนก่อนหน้านั้นให้ความหลอนได้แบบสุดยอดไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็น ‘หลาวชะโอน’ เรื่องราวสยองจากการทำบาปหนัก ‘ห้องเตียงรวม’ เหตุการณ์ระทึกขวัญที่ทำให้ไม่กล้านอนโรงพยาบาลห้องรวม ‘Backpackers’ ความโชคร้ายของคนแปลกหน้าสองคู่ที่ต้องมาเจอกันด้วยอุบัติเหตุแสนน่ากลัว ‘รถมือสอง’ ของแถมที่อาจจะมากับรถเต๊นท์ และ ‘คนกอง’ ความวุ่นวายที่เกิดจากอาการหลอนของคนด้วยกันเอง

การโฆษณา
ลัดดาแลนด์ (2554)

ลัดดาแลนด์ (2554)

หนังที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องเล่ามาจากหมู่บ้านที่ถูกทิ้งร้างในจังหวัดเชียงใหม่ และเป็นผลงานแจ้งเกิดให้กับนักแสดงวัยใสอย่าง ปันปัน-สุทัตตา ถึงขนาดได้รางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจากเวทีสุพรรณหงส์ โดยความสนุกที่ทำให้หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากก็น่าจะเป็นประเด็นจากหนังที่มีมากกว่าความน่ากลัวของผีหลอกวิญญาณหลอน คือปัญหาภายในครอบครัวที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับปัญหาจากหมู่บ้านผีสิง เป็นที่มาของประโยคคลาสสิกที่คนยังหยิบมาใช้จนถึงวันนี้คือ "กูไม่ออก ออกไปแล้วกูจะเอาอะไรแดก!"

เรื่องเด่น
    เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ
      การโฆษณา