Anocha Suwichakornpong
Sureechai Puttes/Time Out Bangkok

Q&A: อโนชา สุวิชากรพงศ์

ผู้หญิงคนแรกที่คว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเวทีภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 26

Top Koaysomboon
เขียนโดย
Top Koaysomboon
การโฆษณา

ปี 2560 ดูจะเป็นปีทองของภาพยนตร์นอกกระแส นับจาก Moonlight ภาพยนตร์เกี่ยวกับการเติบโตในสามช่วงชีวิตของเกย์หนุ่มผิวสีชาวอเมริกัน ได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปครอง (เราข้ามเรื่องวุ่นวายบนเวทีไปแล้วกันนะ) ล่าสุด ดาวคะนอง (หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า By The Time It Gets Dark) ภาพยนตร์นอกกระแสของผู้กำกับสาว อโนชา สุวิชากรพงศ์ ก็คว้าสามรางวัลจากเวทีสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 26 จากการเข้าชิง 11 รางวัล ได้แก่ รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม ซึ่งคุณใหม่ - อโนชา ถือเป็นผู้กำกับหญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ และรางวัลลำดับภาพยอดเยี่ยม

     ดาวคะนอง เล่าถึงเหตุการณ์โศกนาฏกรรม 6 ตุลาคม พ.ศ 2519 ผ่าน 3 เส้นเรื่องที่มีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างหลวมๆ ได้แก่ ผู้กำกับภาพยนตร์หญิงและอดีตผู้นำนักศึกษาหญิงในช่วง 6 ตุลาฯ นักแสดงชายหญิงในวงการบันเทิงคู่หนึ่ง และเด็กสาวชาวบ้านที่เปลี่ยนงานหลากหลายไม่มีเป้าหมายแน่ชัด 

     วันรุ่งขึ้นถัดจากคืนประกาศรางวัล เราวิ่งแจ้นไปดู ดาวคะนอง แล้วออกมาพร้อมกับคำถามในหัวมากมายที่จะถามใครก็คงจะให้คำตอบได้ไม่ดีไปกว่าตัวผู้กำกับเอง เลยขอถือโอกาสไปแสดงความยินดีแล้วจับเข้าคุยกับผู้กำกับสาวร่างเล็กแต่ชื่อเสียงไม่เล็ก เพราะเคยคว้ารางวัลมาจากหลายเวทีทั่วโลก ถามสิ่งที่ค้างในใจตามสไตล์คนแมสๆไม่ชินหนังอินดี้

     แน่นอนว่า คำถามเริ่มต้นของบทสนทนาของเราคือ "ผมดูไม่รู้เรื่องเลยครับ"

พี่ใหม่อยากสื่ออะไรในดาวคะนองครับ

หนังพูดเกี่ยวกับความทรงจำกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แล้วก็การตีความ ซึ่งพอเหตุการณ์หนึ่งมันเกิดขึ้นแล้ว และเรียกว่าเป็นเหตุการณ์ที่ร้ายแรงมากในประวัติศาสตร์บ้านเรา แต่พอเวลามันผ่านมาแล้วมันมีการลืมเลือน มันมีการผลิตซ้ำ การถูกเล่าซึ่งก็คือการผลิตซ้ำในรูปแบบหนึ่ง คือเป็น narrative ที่ถูกสร้างขึ้น ซึ่งมันห่างไกลจากความจริงไปขนาดไหน แล้วทำยังไงเราถึงจะเข้าไปสู่ความจริงอันนั้นได้

            คือหนังไม่ได้มีคำตอบ หนังตั้งคำถามในสิ่งนี้ อีกอย่างหนึ่งก็คือเราอยากจะเตือนความจำให้คนในสังคมว่ามันไม่ควรถูกลืม มันเป็นสิ่งที่ยังอยู่

            เราเป็นคนที่เกิดปีนั้นเลย ตั้งแต่เด็กเราก็ไม่ได้เรียนเกี่ยวกับสิ่งนั้น โรงเรียนไม่ได้สอน เรารู้เองจากการอ่านหนังสือนอกโรงเรียน แล้วเวลาอ่านเห็นปี 2519 ปี 2519 ก็รู้สึกว่าเออ... มันเป็นปีที่เราเกิด ก็รู้สุกว่ามันมีอะไรเชื่อมโยงบางอย่างกับเรา ทั้งๆที่จริงๆแล้วเราผ่านเหตุการณ์นั้นมาไหม เราก็ไม่ได้ผ่าน เรียกว่าเป็นช่วงที่มีความสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์หรือสภาพสังคมในประเทศไทยตั้งแต่วัยรุ่นมาจนถึงปัจจุบันเราก็รู้สึกว่าเรามีความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์นั้นยังไง? หรือว่าจริงๆเราไม่ได้มี? แต่ว่าเราไม่ได้มีจริงหรือ? ช่วงหลังของหนังเราก็พูดถึงประเด็นนี้ ที่เห็นไม่มีความเชื่อมโยงกันเลยระหว่างนักแสดงที่รับบทโดยเป้ ซึ่งก็คือคนในยุคปัจจุบันเหมือนพวกเราทุกคน ก็ถามว่าเรามีความเชื่อมโยงกับ 6 ตุลาไหม ก็ต้องให้คนดูคิดเองค่ะ

ดาวคะนองสำคัญยังไงครับ

ชื่อไม่ได้มีความสำคัญอะไรเลย อันนี้พูดจริงๆ เราไม่ได้อยากตั้งชื่อหนังให้มันตรงตัวเป๊ะกับหนัง เชื่อมโยงได้ ตอบโจทย์ทุกอย่าง เรารู้สึกว่าคำว่าดาวคะนองมันเป็นคำที่สวย มันแปลก ทำไม ดาว-คะนอง มันถึงมาอยู่ด้วยกัน แล้วมันเป็นชื่อย่านที่เวลาขับรถบนทางด่วนแล้วจะเห็นป้ายไปดาวคะนองเยอะมากเลย แต่ถ้าไม่ได้อยู่แถวนั้นเราก็ไม่ได้ไปหรอกนะดาวคะนอง มันเป็นอะไรที่ดูห่างไกล ชื่อมันก็มีความเป็น abstract นิดนึง

ซึ่งก็เหมือน 6 ตุลาฯ ที่ได้ยินมา แต่ก็ดูห่างไกล อย่างนี้หรือเปล่าครับ

คิดเอาเองดีกว่าค่ะ (หัวเราะ)

แล้วกลางคืนมีความหมายยังไงครับ เพราะชื่อภาษาอังกฤษคือ By the time it gets dark

จริงๆมันเป็นชื่อเพลงที่เราได้ฟังบ่อยๆตอนช่วงเขียนบท คือตอนแรกคิดว่าจะใช้เป็นแค่ working title ด้วยซ้ำ แต่พอใช้มาสักระยะหนึ่งก็รู้สึกว่าเออ... มันก็โอเค แต่ที่แปลกอย่างหนึ่งก็คือ ตอนที่เราได้ฟังเพลงนี้ครั้งแรกมันเป็น cover version โดยที่เราไม่รู้ว่ามันเป็น cover version โดยวง Yo La Tengo เราก็ชอบ ก็ฟังบ่อยๆ จนมารู้ทีหลังว่าเพลง original เป็นเพลงสมัย 80s เราก็รู้สึกว่า เออ.. ด้วยตัวของมันเองมันก็มีความหมายว่าถูกผลิตซ้ำ เรารับสารที่ถูกผลิตซ้ำออกมาแล้ว จริงๆมันไม่ได้มีความหมายตรงตัว เป็นบริบทมากกว่าที่เราเอามันมาใช้ เรารู้สึกว่า title ทั้งไทยและอังกฤษ ที่เราเลือกเอามาใช้ไม่ใช่เพราะความหมาย แต่เพราะบริบทที่เกิดขึ้นกับเรา อย่างดาวคะนอง เราเห็นเวลาขับรถบ่อยๆ ให้ sense ว่าเราเดินทาง ไม่ใช่จุดหมาย แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างทาง by the time it gets dark ก็จะให้ sense ที่เกี่ยวกับ passage of time การเปลี่ยนของเวลา การเปลี่ยนของเวลากับการเปลี่ยนของระยะทาง ไม่ใช่จุดหมาย ไม่ใช่ destination

ทำไมต้องเลือกเล่าผ่านสามเส้นเรื่องครับ

จริงๆตอนแรกเราเริ่มพัฒนาบทจากน้องที่เปลี่ยนงานบ่อยๆเป็นคนแรก เราอยากพูดถึงคนธรรมดาในสังคมที่ไม่ว่าสภาพบ้านเมืองหรืออะไรจะเปลี่ยนไปก็ตามก็รู้สึกว่าไม่ได้มีผลกระทบกับชีวิตเขาโดยตรง คือไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนถ่ายเทอำนาจจากกลุ่มคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง เขาก็ยังเป็นอย่างนี้ คือเป็นคนธรรมดาสามัญมากๆที่เขามีชีวิตของเขาไปโดยที่เขาไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่จริงๆคนเหล่านี้เป็นจำนวนมหาศาลนะ เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เราก็เลยอยากจะชูคนๆนี้ขึ้นมาเพราะจริงๆแล้วนี่คือธาตุแท้ของประเทศเรา

     เนื้อหาพัฒนาจากตัวละครนี้ แล้วพอถึงจุดหนึ่งระหว่างเขียนบท เราก็รู้สึกว่าถ้าเราอยากพูดถึง... จะเรียกว่าชนชั้นแรงงานก็ได้นะ คือคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องยอมรับว่าเราไม่ได้อยู่ในชนชั้นนั้น แล้วเราจะทำยังไงให้หนังเรื่องนี้ที่เรียกว่าเป็นหนังส่วนตัวแต่สามารถ communicate กับคนจำนวนมาก เราอยากมีความจริงใจในการนำเสนอ เราไม่อยากรู้สึกว่าไป exploit คนกลุ่มนี้โดยที่เราไม่ได้เป็น part ของกลุ่มนั้น ใช้เขาเป็นเครื่องมือ เราอยากจะเสนอด้วยความจริงใจด้วยความซื่อตรงกับตัวเอง เราเลยมา reassess ความสัมพันธ์ของตัวเราเองกับตัวละครนี้กับหนังเรื่องนี้ เลยทำให้เริ่ม develop ตัวละครผู้กำกับขึ้นมา เพราะว่ามันอาจจะใกล้เคียงกับตัวเรามากกว่า แต่ตัวผู้กำกับผู้หญิงก็ไม่ใช่เราร้อยเปอร์เซ็นต์นะ บางคนบอกว่านี่คือร่างทรงของอโนชา ส่วนหนึ่งน่ะใช่ แต่เราก็ใส่ตัวเราลงไปในตัวละครอื่นที่ไม่ใช่ผู้กำกับด้วย แล้วนักแสดงที่มารับบทผู้กำกับผู้หญิงเขาก็เป็นผู้กำกับในชีวิตจริง เพราะฉะนั้นมันก็จะมี element จากชีวิตจริงๆของเขาด้วย มันก็เป็นตัวละคร มันไม่ใช่เรื่องจริง ก็เลยมี narrative ส่วนที่เป็นผู้กำกับกับนักเขียน

     ทีนี้หนังเกี่ยวกับความทรงจำ การผลิตซ้ำ การถอยห่างจากความจริง แล้วเราจะเข้ากลับไปสู่ความจริงนั้นได้ยังไง เพราะฉะนั้นมันเลยมีการผลิตเส้นเรื่องเป็นนักแสดง ที่เล่นโดยสายป่าน เป้ ขึ้นมาอีก

Reaction แบบไหนจากคนดูที่พี่ใหม่อยากได้ครับ

เราอยากให้คนดูออกมาแล้วคิดทบทวนกับสิ่งที่ได้ดูไป แล้วก็ท้ายที่สุดอาจจะไม่ได้คิดจนทะลุว่ามันเชื่อมโยงกันยังไง ซึ่งอันนั้นไม่ใช่เป้าหมายหลักของเรานะ เราไม่ได้อยากให้คนดูมานั่งวิเคราะห์ว่า character นั้นมาเชื่อมโยงกับตรงนี้ยังไง ท้ายที่สุดแล้วมันไม่ได้มีอะไรที่เป็นคำตอบตายตัว อยากให้คนดูดูแล้วคิดสะท้อนถึงตัวเองว่า หนังเรื่องนี้พูดเกี่ยวกับอะไร แล้วก็ตัวเราเองในสังคมน่ะ.. มันเหมือนกับว่าครึ่งหลังใจหนึ่งก็อยากให้เหมือนกับสะท้อน ให้เหมือนยกกระจกขึ้นมาแล้วให้คนดูสะท้อนกลับมาที่ตัวเอง

พี่ใหม่จะหงุดหงิดไหมครับ ถ้ามีคนมาบอกว่าดูไม่รู้เรื่องเลย

ไม่หงุดหงิดนะ เพราะเรารู้สึกว่าคนที่บอกว่าดูไม่รู้เรื่องก็เพราะมันจะมีความคิดอยากจะเข้าใจ ซึ่งสำหรับเรานี่ก็คือดีแล้ว อย่างหนึ่งสำหรับหนังเรื่องนี้คือเราอยากจะ push boundaries แล้วเราก็รู้สึกว่ามันเป็นประสบการณ์อีกแบบหนึ่งที่คนอาจจะเข้าไปดูแล้วบอก “เฮ้ย ดูไม่รู้เรื่องเลย อะไรวะ” แต่ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนเหล่านั้นออกมาก็ต้องนั่งคิดแหละ ว่า “ฉันเพิ่งดูอะไรไปวะ” ซึ่งเราว่ามันเป็นสิ่งดีนะ ดีกว่าเข้าไปดูหนังเรื่องหนึ่งแล้วไม่คิดอะไรเลย แล้วหนังเรื่องนี้นอกจะเป็นหนังการเมืองหรือการพูดถึงสภาพสังคมเมืองไทยแล้ว มันเป็นจดหมายรักของเรากับภาพยนตร์ กับการทำหนัง กับการเห็นภาพยนตร์ในฐานะที่เป็นสื่อศิลปะ แล้วเราก็อยากให้คน ถึงแม้จะบอกว่าดูไม่รู้เรื่อง แต่อย่างน้อย คุณก็ได้ดูแล้วและก็น่าจะมีอะไรติดอยู่ในหัวบ้าง มันก็อาจจะเป็นอารมณ์หงุดหงิดก็ได้นะ แต่เราว่าหงุดหงิดก็ดีเพราะว่าแสดงว่าคุณก็ต้องคิดอะไรอยู่

การได้รับรางวัลที่เมืองนอกกับการได้รับรางวัลที่เมืองไทย รู้สึกแตกต่างกันอย่างไรครับ

ที่เมืองไทยดีใจกว่านะ เพราะเรารู้สึกว่าท้ายที่สุดหนังเรืองนี้คนไทยจะมีความเชื่อมโยงมากกว่า พอเวลาฉายที่เมืองนอกเขาก็อาจจะสนใจเรื่องการเมืองแต่เขาไม่ได้มีความลึกซึ้ง ไม่เข้าใจบริบทเมืองไทยขนาดนั้น แล้วส่วนมากก็จะดูไปในด้านสุนทรียะ ในความเป็นภาพยนตร์ ในฟอร์มของมัน แต่ที่เมืองไทยคนที่อินเขาจะ connect กับหนัง เพราะมันเป็นบริบทไทยมากๆ

     แล้วพอได้รางวัลที่เมืองไทย ผลที่ตามมาก็คืออาจจะมีคนสนใจหนังเพิ่มมากขึ้น อันนี้มันเป็นหนังเล็กๆ เข้าโรงก็น้อย รอบก็น้อย พอมีคนพูดถึงมันก็อาจจะได้มีคนดูเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจริงๆ เราอยากให้เป็นอย่างนั้นในเมืองไทย เพราะว่าเราทำหนังเรื่องนี้มาเพราะไม่อยากให้คนลืม แล้วการที่พอได้รางวัลแล้วคนจะดูหนังนี่มันก็จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว เพราะว่าคนก็จะได้ไม่ลืม คนที่สนใจการเมืองอยู่แล้วอาจจะรู้สึกว่าเราไม่ได้พูดถึงลึกซึ้งอะไรมาก แต่ว่ามีคนบางคนจริงๆนะที่แทบไม่รู้เรื่องเลยเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ เราก็มีเพื่อนที่อายุเท่ากันนะ แต่ไม่เคยรู้เรื่อง 6 ตุลาฯมาก่อน เขาดูหนังแล้วเขาก็กลับไปกูเกิล ซึ่งอันนี้มันมีความหมายกับตัวเรา

     สุพรรณหงส์นี่แปลกใจมากเลยที่เราได้ เพราะไม่ได้คาดคิด ก่อนวันที่ไปประกาศผล ทุกคนก็จะพูดๆกันว่าเรื่องไหนน่าจะได้ ส่วนมากเขาก็พูดกันว่า พรจากฟ้า น่าจะได้ เราก็คิดว่าคงจะเป็น พรจากฟ้า มั้ง เพราะเห็นเขาพูดกันเยอะ แต่ถ้าเกิดพรจากฟ้าไม่ได้ เราก็อยากให้เป็นหนังพี่นุช มหาสมุทรและสุสาน Island Funeral

หนังของพี่ใหม่ภาพสวยมาก ทำไมเน้นเรื่องภาพมากครับ

จริงเป็นตากล้องที่เรียนมาด้วยกันตั้งแต่อยู่นิวยอร์ก เป็นคนฮ่องกง เราทำงานด้วยกันมาสิบกว่าปี เราเข้าใจกันดีโดยไม่ต้องสื่อสารกันมาก sync กันแล้ว เริ่มมาด้วยกัน เขาจะรู้ว่าเราอยากได้แบบไหน เราก็ชื่นชอบในฝีมือการถ่ายของเขา เราเห็นการพัฒนาของเขา เขาก็เห็นการพัฒนาของเรา จริงๆเราไว้ใจเขามากเลยนะ เราไม่เคยทำ storyboard นะ เราไม่เชื่อในการทำ storyboard เพราะว่ามันจะจำกัดอะไรหลายอย่างๆ storyboard คือการคำนวณ คือการวางแผนล่วงหน้า ซึ่งพอเราไปออกกองตรงนั้นจริงๆ มันจะมีสิ่งที่เราแพลนล่วงหน้าไม่ได้ แล้วเราจะต้องพยายาม capture ตรงนั้น เราให้อิสระเขาเยอะ เขาถ่ายหนังเราเกือบทุกเรื่อง เขาไม่ได้อยู่เมืองไทย บางช่วงก็อยู่ฮ่องกง บางช่วงก็อยู่นิวยอร์ก

ทำไมพี่เลือกจะแช่กล้องนานๆในการถ่ายทำ

ถ้าถามเราเราต้องถามกลับไปก่อนว่า ทำไมถึงจะไม่แช่ล่ะ คือเรารู้สึกอย่างนั้นจริงๆนะ คือมันคือจังหวะของเรา มันคือจังหวะของหนัง การแช่มันทำให้เราเห็นรายละเอียด แล้วจังหวะแต่ละคนไม่เท่ากัน อย่างเราดูหนังที่ตัดเร็วๆเราก็จะรู้สึกว่าทำไมมันเร็วจังวะ เราว่ามันคือเรื่องรสนิยมแล้วล่ะ

     อีกอย่างหนึ่งคือหนังเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับความเป็นภาพยนตร์เยอะ เพราะฉะนั้นอยากให้ดูในโรง มันจะเห็นรายละเอียด ถ้าเกิดว่าเราดูในจอคอมหรือจอเล็กๆ จังหวะมันก็จะต่างกันนะ คือยิ่งถ้าเราดูในจอคอมเล็กๆจะรู้สึกว่ามันช้ามากกว่านี้อีก เพราะเวลาดูอะไรที่จอเล็กๆ สมาธิคนเรามันจะสั้นมาก เราจะรู้สึกว่าทำไมมันนานจัง แล้วพอมันขึ้นเรารู้สึกว่าคนเราจะมองอะไรได้นานขึ้น มองตรงโน้นตรงนี้ซึ่งในจอเล็กๆจะไม่เห็นแล้วจะทำให้เราอยากเปลี่ยนละ แต่อย่างที่บอก แต่ละคนจังหวะไม่เท่ากัน

มันจะมีพวกช่วงที่รู้สึกว่านานจนเราจะเริ่มหายใจไม่ออก

ตรงไหนๆ

เช่น ตอนที่ผู้กำกับถามนักเขียนเรื่องความรักครับ คือ มันเงียบนานมาก

ช็อตนั้นเป็นช็อตที่ยาว คือเราอยากให้เห็นจังหวะ จังหวะการพูด จังหวะการหยุดคิด หนังที่ผ่านการตัดต่อเยอะๆ ส่วนมากเขาก็จะดึงตรงที่เป็น dead air นี้ออก แต่เราว่า dead air สำคัญ เพราะมันแสดงให้เห็นว่า ในขณะที่เรากำลังพูดคุยอันอย่างนี้ แล้วคนที่ตอบไม่ตอบ ไอ้ความนิ่งของเขานี่คือสิ่งสำคัญที่เราจะไปตัดทิ้งไม่ได้ เพราะเขาไม่อยากตอบ แล้วเขาก็นิ่งไป อีกคนหนึ่งก็.. อ่าว แล้วเจอแบบนี้แล้วจะยังไง แต่นี่คือประเด็นของซีนนี้เลยนะ เพราะมันคือการลองเชิงกันระหว่างอำนาจของสองฝ่าย ฝ่ายนี้เป็นผู้กำกับอยากจะได้ข้อมูลจากอีกคนนึงก็ถามคำถาม อีกคนไม่ตอบ แล้วเขาจะรับมือกับมันยังไง

ทำไมพี่ใหม่เลือกสอดแทรกประเด็นของความรักเข้าไปไหนหนังด้วยครับ

หนังพูดถึงสภาวะความเป็นมนุษย์ คนเราเป็นมนุษย์การเมืองเป็นสัตว์การเมืองแต่ว่าทุกคนก็มีครอบครัวมีอารมณ์รัก เราก็เป็นแบบนั้น คนไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง activist หรืออะไรก็ตามก็ต้องมีความรัก เราไม่ได้อยากจะนำเสนอในด้านเชิงเดี่ยว แบน พูดถึงความเป็นการเมืองอย่างเดียวโดยที่ไม่ได้พูดถึงความเป็นมนุษย์ในมิติอื่น

สำหรับพี่หนังอินดี้คืออะไรครับ

หนังอินดี้คือการผลิตภาพยนตร์โดยที่ไม่ได้ทำกับสตูดิโอหรือค่ายใหญ่ๆโดยที่เรามีสิทธิ์ในการตัดสินใจว่า final cut เราเป็นคนตัดสินใจ คือถ้าเราทำหนังกับค่ายสตูดิโอใหญ่ๆ ท้ายที่สุดคนที่ตัดสินใจว่าจะล็อกภาพว่าอันนี้จะเป็น final cut เพื่อที่จะให้คนดูชมนี่จะต้องมาจากผู้บริหารค่าย แต่ว่าการทำหนังอินดี้ ส่วนใหญ่ก็จะขึ้นอยู่กับผู้กำกับ ว่าท้ายที่สุดแล้ว final cut ของหนังเรื่องนี้ที่ให้คนดุได้ดูจะเป็นเวอร์ชั่นไหน แล้วก็ถึงแม้เรื่องนี้ทุนไม่ได้น้อย และใช้เวลาทำ 6 ปี ส่วนหนึ่งคือหาทุน เพราะเราอยากจะมีอำนาจในการตัดสินใจตรงนั้น หนังเรื่องนี้มันเกิดจากบทของเราที่เราใช้เวลา 3 ปี แล้วเรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ที่จะให้ใครมาบอกว่า cut แบบนั้นนะ cut แบบนี้นะ เพื่อเอาใจคนดู หรือกลไกทางตลาด หรือเรียกคนดูเข้ามา เราหาแหล่งทุนมาเยอะมากเลย แหล่งทุนมาจากหลากหลายมาก แล้วถึงแม้ว่าจะมีสปอนเซอร์ แต่ก็ไม่ได้มีสปอนเซอร์เจ้าไหนเข้ามาเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของเราเลย

พอบอกได้ไหมครับว่าใช้ทุนไปเท่าไหร่

เกือบสิบล้านนะ

งั้นที่คนคิดว่าหนังอินดีั้ต้องทุนต่ำก็ไม่ใช่

อินดี้คือวิธีการผลิต ไม่ใช่บัดเจ็ด อย่างหนัง Bangkok to Mandalay ที่เป็นหนังร่วมทุนไทยพม่าและเข้าชิงเหมือนกัน อันนั้นบัดเจ็ด 20 กว่าล้านนะ หนังเราเกือบสิบล้านอาจจะฟังดูสูง แต่มันคือค่าตัวของทีมงานทุกคน ค่าตัวของเราในฐานะผู้กำกับ เพราะเรารู้ว่าท้ายที่สุดหนังมันจะไม่ได้สตางค์พอเข้าโรงแล้ว ซึ่งจะต่างกันกับหนังสตูดิโอที่เขาจะใช้เงินเยอะมากในการทำตลาดแล้วก็จะหวังผล box office แต่เรารู้อยู่แล้วว่าหนังเรา box office ไม่สามารถจะคืนทุนมาได้ เราหาทุนครึ่งหนึ่งจากต่างประเทศครึ่งหนึ่งจากเมืองไทย แล้วก็ส่วนมากเป็นทุนได้เปล่ามาจากกองทุนศิลปะ และก็จากสปอนเซอร์

ในฐานะผู้กำกับอินดี้ มันเลี้ยงตัวได้จริงๆหรือเปล่าครับ

คือค่าตัวเราก็อยู่ในบัดเจ็ด แต่ใน 6 ปีเราก็ทำอย่างอื่นด้วย เราก็สอนหนังสือ เราก็เป็นโปรดิวเซอร์ ถ้าเป็นผู้กำกับหนังในระบบสตูดิโอ เขาก็จะอยู่ได้เพราะจะมีการป้อนงาน ให้กำกับโฆษณา กำกับซีรีส์ ในช่วงที่ไม่ได้ทำหนัง แต่ถ้าเป็นผู้กำกับอินดี้ ทุกคนก็ทำอย่างอื่นด้วยทั้งนั้นแหละ

ในฐานะที่เป็นผู้กำกับอินดี้ ดูหนังแมสไหมครับ

ดูค่ะ แฟนเดย์ ก็ดู ก็โอเคนะ เพราะว่าเราต้องโหวต ในสุพรรณหงส์เราต้องโหวตเหมือนทุกคนในอุตสาหกรรมฯ นำชายเรายังโหวตให้แฟนเดย์เลย

คิดยังไงกับคนที่บอกว่าตัวเองชอบดูหนังอาร์ตแล้วอี๋คนที่ดูหนังแมส

เราว่าทั้งสองฝ่ายควรเปิดกว้าง เราอยากให้คนดูหนังแมสดูหนังอาร์ต และก็อยากให้คนดูหนังอาร์ตดูหนังแมสด้วย จริงๆแล้วความหลากหลายมันดีที่สุด ไม่อยากให้มีเฉพาะอะไร จริงๆตอนนี้ปัญหามันอาจจะเกิดขึ้นจากเพราะว่ามีการแยกเป็นกลุ่ม เราว่าไม่ใช่ประเด็น

สื่อไทยให้ความสนใจ และนำเสนอหนังอาร์ตน้อยเกินไปไหมครับ โดยเฉพาะสื่อภาษาไทย

อืม… ก็มีสิทธิ์นะ น้อยเกินไปไหม… ตอบยากนะ คือก็ต้องยอมรับว่ากลุ่มคนดูมันน้อย สื่อเขาก็ต้องสื่อสารกับคนหมู่มาก เขาจะมาพูดกับคนหมู่น้อยได้ยังไง แต่ว่าถ้ามองในด้านว่านี่เป็นงานวัฒนธรรมหรือว่างานศิลปะเราว่าสื่อก็ต้องมีความรับผิดชอบที่จะขยายพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรม ถ้าไม่ได้มองว่าเป็นโจทย์ทางด้านการตลาดอย่างเดียวนะ

     มันก็กลับไปที่เรื่องโรงนะ คือบางคนก็บอกว่า หนังอาร์ตหนังอินดี้เข้าโรงน้อยมากเลย แต่ว่าคุณจะไปโทษนายทุนเจ้าของโรงก็ไม่ได้เพราะเขาก็ต้องมองทางด้านธุรกิจเป็นหลักเพราะมันคือรายได้เขา ซึ่งถ้าพูดอย่างนั้นก็ถูก แต่ในขณะเดียวกันโรงก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเยอะเรื่อยๆ คือเขามีกำไรมหาศาลอยู่แล้ว คือถ้าจะกันแค่ส่วนหนึ่งเรารู้สึกว่ามันไม่ได้ทำให้รายได้เขาหดหายขนาดนั้น เขารวยจนไม่รู้จะรวยยังไงแล้ว จริงๆทางโรงก็ควรจะสำนึกเหมือนกันนะ ในแง่ของหน้าที่และความรับผิดชอบทางด้านการสร้างวัฒนธรรมการดูหนังให้คนดู เราว่ามันเป็นเหตุผลทางด้านจริยธรรมเหมือนกันนะ ในเมื่อคุณทำการค้า หารายได้จากคนดู ซึ่งโอเคเงินก็เป็นโจทย์ใหญ่ แต่คุณก็มีหน้าที่รับปิดชอบต่อสังคมด้วย คุณจะทำยังไงที่จะให้กลุ่มคนดูหนังคุณแข็งแรงขึ้น

ในฐานะที่เป็นผู้กำกับหญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ พี่ใหม่คิดว่าในแวดวงภาพยนตร์ในประเทศไทยมีความเท่าเทียมกันในเรื่องเพศหรือยังครับ

ไม่มีแน่นอนตอนนี้ ก็ดูจากภาพที่ออกมาตามสื่อนะ ผู้กำกับหญิงก็ยังน้อยอยู่ น้อยอยู่มาก คือถ้าสุพรรณหงส์จัดมา 26 ปีแล้วเป็นครั้งแรกเนี่ย... มันก็นับว่าช้านะ

น้อยเพราะไม่ได้รับโอกาสหรือน้อยเพราะอะไรครับ

เราว่าน้อยเพราะไม่ได้โอกาส เพราะจริงๆแล้วนักเรียนนักศึกษาฟิล์มผู้หญิงเยอะมาก อย่างที่นิเทศฯ จุฬาฯ ผู้หญิงเยอะกว่าผู้ชายด้วยซ้ำ แต่พอจบออกมาแล้วไม่ไปทำอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับฟิล์มเลยก็ถ้าเข้าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ก็ไปทำงานด้านบริหารจัดการ ซึ่งก็ไม่ได้ผิดนะ แต่ก็น่าจะมีส่วนหนึ่งที่เข้ามาด้านกำกับบ้างหรือเปล่า เราว่าอาจจะเป็นอคติส่วนหนึ่งที่บางคนอาจจะมองว่าผู้หญิงทำไม่ได้เพราะมันดูงานหนัก เราไม่รู้นะ ไม่ได้มีคำตอบชัดเจน แต่ถ้ามองจากสภาพที่มันเป็นอยู่น่ะใช่ เพราะว่าไม่อย่างนั้นมันก็ต้องมีมากกว่านี้สิ มันน้อยอยู่เยอะนะ

สิ่งสำคัญของการเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ที่ดีคืออะไรครับ

อดทนแล้วก็ดื้อ จะบอกว่าโดยเฉพาะเป็นผู้กำกับผู้หญิง ผู้กำกับผู้ชายก็ดื้อแหละ แต่จะไม่โดนด่าว่าดื้อ แต่ผู้กำกับผู้หญิงถ้าดื้อปุ๊บ คือภาพจะอีกแบบหนึ่ง หัวรุนแรง bitch อะไรอย่างนี้ แต่ก็ช่างมันเถอะ

แปลว่าเคยโดนมาก่อน

ก็ต้องโดนอยู่แล้ว..

พี่ใหม่อยากถูกจดจำในฐานะอะไรแบบไหนครับ แล้วอยู่ในสภานะนั้นหรือยัง

ไม่เคยคิดเลย เราว่าเราไม่ค่อยได้คิดถึงตัวเองแต่คิดถึงผลงานมากกว่า

ถ้าเขาจะจำผลงานแล้วลืมพี่ก็ไม่เป็นไรหรอครับ

ไม่เป็นไรเลย อยากให้่จำผลงาน ตัวเราไม่ได้สำคัญเท่าตัวงานเรา เพราะการเป็นผู้กำกับจริงๆมันคืองานเบื้องหลังนะ แต่ด้วยยุคสมัยที่มันเปลี่ยนไป เทรนด์ที่มันเปลี่ยนไปทำให้ผู้กำกับจะต้องออกมาเบื้องหน้า แต่มันไม่ใช่งานหลักของการเป็นผู้กำกับ แต่ก็โอเคเรามาถึงจุดๆนี้เราก็ต้องยอมรับการที่ต้องออกมานำเสนอผลงานของเรา หรือเวลาขึ้นรับรางวัล มันก็จะมีเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นความรับผิดชอบส่วนหนึ่ง แต่ถามว่าอยากได้คนจดจำเรารอย่างไร เราตอบไม่ได้เราอยากให้จดจำผลงานของเรามากกว่า

ตอนนี้เริ่มทำเรื่องใหม่หรือยังครับ

ตอนนี้ก็เริ่มพัฒนาโปรเจ็ค แต่เป็นบทที่เขียนขึ้นเมื่อ 12 ปีที่แล้ว แต่ว่าตอนนั้นเรารู้สึกว่า production สเกลใหญ่เลยพักมาทำเรืองอื่นก่อน ตอนนี้รู้สึกว่า 12 ปีเราก็เริ่มตกผลึก เราก็เริ่มอายุมากขึ้น ตอนนั้นเราอาจจะขาดประสบการณ์และขาดอำนาจต่อรางที่จะทำให้มันออกมาได้ดังใจ แต่ตอนนี้่เรารู้สึกว่าน่าจะได้แล้วแต่เราต้องมาอัพเดทบทเยอะมากเลย มันตั้ง 12 มาแล้วแล้วสถานการณ์ทางสังคมก็เปลี่ยนไปเยอะ บทมันต้องเกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน แล้วปัจจุบันเมื่อ 12 ปีที่แล้วกับปัจจุบันตอนนี้มันต่างกันเยอะมาก ตอนนั้นยังไม่มีสมาร์ทโฟนด้วยซ้ำ อย่างเราเขียนเมื่อ 12 ปีที่แล้วพระเอกเป็นคนประหลาดนิดนึง ก็เลยตัดสินใจที่จะไม่ใช้มือถือ แต่คนรอบตัวมีมือถือก็จะมองพระเอกว่าเป็นคนนอกนิดๆ แต่ไม่เยอะนะ แต่ปัจจุบันนี้ ถ้าใครไม่มีมือถือนี่คือ outsider แบบสุดๆ แต่ว่าเราก็อยากมาปรับว่าให้เขาใช้มือถือแบบธรรมดา แต่คนอื่นใช้สมาร์ทโฟนอะไรแบบนี้ มันก็จะเป็นรายละเอียดอะไรแบบนี้

     แล้วหนังเรื่องนี้มันจะมีองค์ประกอบความเป็นญี่ปุ่นเยอะ ตัวละครหลักเป็นคนญี่ปุ่นที่อยู่เมืองไทย เป็นความสัมพันธ์พ่อลูก ตัวพ่อนี่อยากได้นักแสดงญี่ปุ่น ก็มีคนในใจแต่ไม่รู้เขาจะมาเล่นไหม เขาก็ดังอยู่ แต่เป็นคนอายุเยอะนะ

กำหนดไหมครับว่าอยากให้มันออกสองปีข้างหน้าหรือประมาณไหนครับ

มันก็มีสิ่งที่เราตั้งใจไว้… กับความเป็นจริง (หัวเราะ) สิ่งที่ตั้งใจไว้ก็คือถ้าได้สักสองปีมันก็ดี แต่ความเป็นจริงมันจะเป็นแบบไหนเราก็ไม่รู้ คือตอนนี้มาถึงอายุที่รู้สึกว่าเราหวังได้แต่ก็เป็นไปได้แหละที่จะไม่ได้ภายในสองปี อย่างดาวคะนองเราไม่คิดว่าจะ 6 ปีนะ แต่มันก็ลากมา 6 ปี เราก็เรียนรู้จากตรงนั้นแล้ว  

ปีนี้อยากดูหนังเรื่องอะไรอีกครับ

อยากดูหนังของประเทศอาร์เจนติน่า ของผู้กำกับผู้หญิงชื่อ Lucrecia Martel คนนี้คือเก่งมาก เจ๋งมาก เป็นผู้กำกับที่เราซูฮกมาก แต่เขาทำหนังช้ามาก ช้ากว่าเราเยอะ เขาทำงานมาตั้งนานแล้วนะแต่เพิ่งทำหนังยาวไปแค่สองเรื่อง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สาม ซึ่งห่างจากเรื่องที่แล้วน่าจะเกือบ 10 ปี แต่เขาเป็นผู้กำกับที่ได้รับการยอมรับนับถือมากเลยนะ แล้วเรื่องนี้น่าจะออกปีนี้ ตอนนี้คนก็ predict กันว่าน่าจะไป Cannes เดือนพฤษภาคม อยากดูมากเพราะเรื่องที่แล้วเราชอบมากๆ ส่วนผู้กำกับไทย หนังนุชชี่ [อนุชา บุญยวรรธนะ] ก็อยากดู ซึ่งก็น่าจะใกล้แล้ว หนังเต๋อ [นวพล ธํารงรัตนฤทธิ์] ก็อยากดู เต๋อก็เก่ง เราชอบดูหนังเต๋อ

ในสัมภาษณ์เก่าๆพี่ใหม่บอกว่าถ้าไม่ทำหนังก็นึกภาพไม่ออกว่าตัวเองทำอะไรอยู่ ตอนนี้ยังรู้สึกแบบเดิมไหมครับ

ก็ยังเป็นนะ คือจริงๆก็อยากทำอย่างอื่นบ้างเหมือนกัน แต่ในช่วงนี้ของชีวิตยุ่งมาก เลยจะคิดอะไรไปไกลจากสิ่งที่ทำอยู่ไม่ค่อยได้ แต่ว่าพอเริ่มยุ่งน้อยกว่านี้ เราก็มีความคาดหวังว่าอยากทำอย่างอื่นดูบ้าง แต่อย่างที่บอกชีวิตเราตอนนี้ถูกพันธนาการไปด้วยสิ่งที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นชีวิตทำงานหรือชีวิตส่วนตัว อยากทำอะไร.. อยากทำรีสอร์ตต่างจังหวัด? ก็ไม่แน่นะ แต่คงต้องเลิกทำหนังไปเลยมัง ไม่แน่นะ อาจจะทำก็ได้ในอนาคต

ดาวคะนอง ฉายอยู่ที่ House RCA 

เรื่องเด่น
    เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ
      การโฆษณา