Sopon Sukdapisit

คุยกับ จิม-โสภณ ศักดาพิศิษฏ์

เจ้าพ่อหนังผี กับภาพยนตร์เขย่าขวัญรื่องใหม่ที่ได้แรงบันดาลใจจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เพื่อน..ที่ระลึก

เขียนโดย
Gail Piyanan
การโฆษณา

เล่าจุดเริ่มต้นของการทำหนังเรื่องนี้ให้ฟังหน่อยค่ะ
พี่เก้ง [จิระ มะลิกุล] เป็นคนชวน ทั้งเรื่องการเอาเว็บไซด์เกี่ยวกับตึก Bangkok Ghost Tower [ตึกสาทร ยูนิค] มาให้เราดู บวกกับเรื่อง “ความรัก คำสัญญา ความตาย” ในเว็บไซต์พันทิปที่เราเคยอ่านแล้วชอบ ซึ่งทาง GDH ได้ซื้อไว้แต่ยังไม่ได้เอามาพัฒนาต่อเพราะยังมองไม่เห็นภาพว่าถ้าเป็นหนังมันจะเป็นยังไงดี แล้วพอเราพูดถึงตึก [สาทร ยูนิค] พูดถึงปี 40 แล้ว สิ่งที่เราเห็นภาพเด่นมากในยุคนั้นคือคนฆ่าตัวตาย มันเป็นยุคที่คนล้มละลาย ชีวิตเปลี่ยนเยอะ มันเลยเป็นภาพจำภาพนึงของยุค 40
     สิ่งที่ผมรู้สึกว่าน่าสนใจที่สุดเกี่ยวกับนิยายพันทิปเรื่องนั้นคือ ถ้าเราฆ่าตัวตายหรือสัญญาว่าจะฆ่าตัวตายกับคนๆนึง แต่เราไม่ตาย ต่อให้ไม่มีผี เราคงโคตรกลัว เราเลยรู้สึกว่าประเด็นนี้คือสิ่งที่เราชอบที่สุดในเรื่อง เราก็เลยเอาส่วนนี้มาประกอบเป็นเรื่องของเรา แต่สุดท้ายแล้วเรื่องในพันทิปกับเรื่องของหนังเรา ถือว่าเป็นคนละเรื่องกันเลยนะ

 
เจ้าของตึกสาทร ยูนีค คุณพรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ เคยปฎิเสธข้อเสนอจากฮอลลีวู้ดที่จะขอใช้ตึกฯ ในการถ่ายทำภาพยนตร์มาก่อน แล้วทาง GDH เจรจาอย่างไรถึงได้ถ่ายที่ตึกนี้
มันเป็นความโชคดีตรงที่ว่าเรื่องของเราเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 ในขณะเดียวกันคุณต้นเองมองว่า ตึกของเค้าเป็นสัญลักษณ์บางอย่างของยุคนั้นอยู่แล้ว เพราะตึกเค้าที่หยุดชะงักการก่อสร้างไปอย่างถาวรเกิดจากปัญหาเศรษฐกิจในช่วงนั้น เขาก็เลยสนใจประเด็นนี้ที่เราต้องการทำอยู่แล้วด้วย บวกกับการที่เขาบอกว่า พอเขารู้ว่าเป็น GDH เขารู้ว่าเราไม่ได้คิดจะทำออกมาแค่ตึกผีสิง คงมีสิ่งที่เราอยากจะบอกเล่า อยากจะพูดถึงมากกว่าการมาขอ location เค้าใช้ธรรมดา พอเราได้เล่าเรื่องคร่าวๆให้เขาฟังในวันนั้น เขาก็สนใจ เขาก็รู้นะว่าเป็นหนังผี รู้ว่าผมทำหนังผีมาตลอด แต่ก็อย่างที่บอก เขาเชื่อว่าเราจะทำออกมาได้น่าสนใจ และเป็นมุมมองที่ดีเกี่ยวกับตึกเขา


ถ้าเปรียบเทียบกับหนังผีเรื่องก่อนๆ ที่เคยกำกับ เรื่องนี้ต่างไปจากเรื่องอื่นยังไงคะ
ผมว่าสิ่งที่คนดูจะรู้สึกแตกต่างมากๆเลย มันคือเรื่องของความรู้สึกกับการเผชิญหน้ากับผี คือหนังผีทั่วไป ความน่ากลัวมันเกิดจากภาพที่เห็นที่มันน่ากลัว มีผีที่มันดูหน้าตาสยดสยองโผล่มาทำให้ตกใจ หรือมันมีภาพลักษณ์ที่มันน่ากลัวในตัวมันเอง ในขณะที่พอเป็นเรื่องนี้ เรารู้สึกว่าเราอยากเปลี่ยนแนวให้เป็นความรู้สึกกลัวที่สุดของการเผชิญหน้ากับผี มันคือช่วงเวลาที่เรารู้สึกว่ามันมีผี แต่เรายังไม่เห็นมัน คือมันต้องมาแน่ๆ แต่หนังผีทั่วไป นาทีที่ผีโผล่มา มันจบแล้วเหมือนกันนะ ก็คือ ตกใจ เออ ผ่านไปแล้วหนึ่งมุก


อะไรทำให้ชอบทำหนังผีขนาดนี้คะ
ส่วนตัวผมเป็นคนที่กลัวผีอยู่แล้ว มันรู้สึกว่าเวลาไปไหน หรือไปเจออะไร ได้ยินเสียงแปลกๆ มันจะรู้สึกกลัว แล้วก็จะมีจินตนาการที่คิดไปไกลกว่าเรื่องจริงแน่ๆ ถามว่ากลัวไหม ณ ตอนนั้นเราก็กลัวนะ แต่พอเราไม่ได้ อยู่ในเหตุการณ์จริง เราออกมานั่งทำงาน มันกลายเป็นความสนุก เพราะหนังผีมันเป็นหนังที่เล่นกับคนดู มันเหมือนกับเราสร้างบ้านผีสิงเหมือนกันนะ เหมือนสวนสนุก ที่เราต้อง design ว่าถึงจุดนี้คนดูรู้สึกกลัวอะไร มันเลยเป็นความสนุกระหว่างคนทำกะคนดู ที่จะมีลูกล่อลูกชนหรือมี จังหวะระหว่างกัน

 
จุดสูงสุดของการเป็นผู้กำกับหนังคืออะไร
พูดยากมากเลย มันแล้วแต่คนเลยครับ สำหรับผม รู้สึกว่าการทำหนังมาหนึ่งเรื่องมันคือการทำให้ คนมีอารมณ์ร่วมกับหนังเรา หรือว่าสุดท้ายแล้วเค้าได้อะไรบางอย่างกับหนังเราไม่มากก็น้อย บางคนมาดูแค่รู้สึกกลัวแล้วสนุก เราก็รู้สึกว่าเราได้แล้ว หรือบางคนดูแล้วอาจได้ข้อคิดบางอย่างกลับไป ก็ได้เหมือนกัน อย่างลัดดาแลนด์ ผมเคยได้อ่าน twitter อันนึง tweet มาหาผม บอกว่า “พี่จิม เนี่ยหนูดูแล้วกลับไปบ้านกอดพ่อเลย เพราะเข้าใจแล้วว่าพ่อกว่าจะหาเงินซื้อบ้านหนึ่งหลังมันยากแค่ไหน”
     สุดท้ายแล้วการทำหนังเรื่องนึง จะเป็นแนวไหนก็แล้วแต่ มันมีสิ่งสำคัญอย่างนึงคือ สิ่งที่ผู้กำกับกับและ คนเขียนบทอยากสื่อสารกับคนดู ซึ่งผมรู้สึกว่าเค้าจะได้หรือไม่ได้ไม่รู้ แต่ถ้าเค้าได้หรือ แค่ดูแล้วสนุกกับมัน เราถือว่าเราโอเคแล้ว ทำหน้าที่ของเราครบแล้ว

 
แสดงว่าไม่ได้วัดความสำเร็จจากรายได้ หรือรางวัล?
ผมว่านั่นมันคือปลายทาง ที่เมืองไทยเหมือนกับว่าเราจะวัดความสำเร็จด้วยการที่บอกว่า หนังเรื่องนี้ได้ร้อยล้านนะ แต่สิ่งที่คนทำหนังเองมองเห็นจากการได้รายได้ร้อยล้านมันคือคนดูหลายแสนคน เราวัดที่คนดูมากกว่า รายได้หนังคือสิ่งที่สะท้อนมาจากคนดูเยอะ ยิ่งคนดูยิ่งเยอะ จะมี feedback จะดีไม่ดี ชอบไม่ชอบก็แล้วแต่ แต่เราก็อยากให้คนไปดู ผมรู้สึกว่านั่นคือสิ่งที่เราคาดหวังสูงสุดในการทำงาน

 
กำกับหนังเขย่าขวัญเรื่องแรกก็ประมาณ 10 ปีที่แล้ว คิดว่าการกำกับหนังผีสิบปีที่แล้วกับตอนนี้ต่างกันยังไง
ผมว่ามันยากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการเขียนบท เพราะเราไม่อยากทำบนพื้นฐานของสิ่งที่เราเคยทำมาแล้ว เราตั้งเป้าทุกครั้งว่าเราอยากทำอะไรที่มันใหม่กว่าเดิม โดยเฉพาะเรื่องของ scene ผี  อย่างที่บอก คนดูจะเริ่มคุ้นเคย คนที่เป็นแฟนเราตั้งแต่สิบปีที่แล้ว อ๋อ... เดี๋ยวมาทางนี้ ต้องโผล่มาอย่างนี้ คนดูจะเริ่มรู้ทันเรา หน้าที่เราคือทำยังไงก็ได้ให้ก้าวไปมากกว่าคนดู คิดให้นำคนดูไปหนึ่งก้าว มันเลยยากขึ้นทุกครั้ง


มีหนังแนวอื่นที่อยากทำไหมคะ
ผมก็ชอบหนังทางตื่นเต้นนะ พวก thriller หรือ action ที่มันดูตื่นเต้น ผมชอบมาทางนี้มากกว่า แล้วส่วนตัวเป็นคนที่แบบชอบดูหรือสนใจ หรือชอบคิดอะไรที่มันดูแล้วรู้สึกตื่นเต้น  ต่อให้ไม่ใช่หนังผี ก็อาจจะเป็นพวกระทึกขวัญ trailer ที่ไม่มีผี

 
คิดว่าอะไรคือองค์ประกอบที่ทำให้หนังเรื่องหนึ่งประสบความสำเร็จ
คิดให้เยอะ ที่นี่ พี่เก้ง (จิระ มะลิกุล) จะพูดเสมอว่าการลงทุนด้วยการให้เวลาในการเขียนบท เป็นการลงทุนที่ถูกที่สุด แต่ยากที่สุด การที่ภาพยนตร์หนึ่งเรื่องออกมาที่ดีได้ มันต้องเริ่มต้นจากบทที่ดีก่อน คือถ้าบทไม่ดี ทำมาให้ตายยังไงหนังก็ไม่ดี แต่เริ่มต้นถ้าเรามั่นใจ ถ้าเราคิดว่าว่ามันดี ผมว่ามันเป็นต้นทุนในความสำเร็จไปได้ครึ่งนึงแล้ว ที่เหลือไปต่อยอดในเรื่องของการถ่ายทำ ในเรื่องของนักแสดง การโปรโมท มันคือปลายทาง เพราะยิ่งการที่เราคิดเยอะเท่าไหร่ โอกาสที่มันจะผิดพลาดน้อยก็ตามมา ยิ่งเราทำบทนานเท่าไหร่ เรายิ่งเห็นภาพมันชัดมากเท่านั้น

5 หนังผีในดวงใจ จิม-โสภณ ศักดาพิศิษฏ์

A Nightmare on Elm Street

A Nightmare on Elm Street

ตอนเด็กๆจะชอบ A Nightmare on Elm Street ของ Freddy Krueger

The Sixth Sense

The Sixth Sense

The Sixth Sense นี่เราดูแล้วเราร้องไห้ไปกับมันตอนท้าย

การโฆษณา

นางนาก

ครั้งแรกที่ดู นางนาก ของพี่อุ๋ย นนทรีย์ นิมิบุตร คือตอนช่วงมหาลัยปี 1 แล้วค้นพบว่านี่มันคือหนังรักนะ เค้าเปลี่ยนมุมมองมา focus เรื่องความรักของนางนาก ที่มีให้พี่มาก จนรู้สึกเหมือนไม่ได้ดูหนังผีอยู่  แต่ดูความรักของผีที่มีต่อคน รู้สึกว่าหนังผีเล่าอะไรได้มากกว่าความน่ากลัว

The Others

The Others

มันเป็นหนังผีที่ไม่มีผีให้เห็น มันเล่นกับความรู้สึกคน100% มันเป็นเรื่องของบรรยากาศล้วนๆ เลยรู้สึกว่าชอบมาก ตอบโจทย์มากว่าทำไมผียังไม่ยอมไปจากที่ๆเค้าตาย

การโฆษณา
Let the Right One In
Idil Sukan

Let the Right One In

มันเป็นหนังที่เล่าด้วยเรื่องของ vampire แต่มันเล่าในมุมดราม่ามากเหมือนกัน มันไปพูดถึงเรื่องของ เด็กแวมไพร์ว่าใช้ชีวิตอยู่ยังไง ไปเล่าเรื่องดราม่าของ vampire ซึ่งสุดท้ายแล้วมันนำไปสู่ตอนจบที่ถกเถียงกันมากเลยนะ ว่าระหว่างความสัมพันธ์ของเด็กที่เป็นคนกับแวมไพร์ที่เป็นเด็ก ว่าความสัมพันธ์มันคืออะไรกันแน่

เรื่องเด่น
    เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ
      การโฆษณา