Prapt
Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

ปราปต์: “สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่ได้ตั้งคำถามกับอะไรเลย”

นักเขียนหนุ่มที่ใครๆ ก็เรียกเขาว่า แดน บราวน์ แห่งสยามประเทศ

เขียนโดย
Gail Piyanan
การโฆษณา

หากพูดถึงละครที่กำลังโด่งดังและถูกพูดถึงมากที่สุดเรื่องหนึ่งในขณะนี้ คงหนีไม่พ้นละครสืบสวนสอบสวน กาหลมหรทึก (กา-หน-มะ-หอ-ระ-ทึก) ที่กำลังออกอากาศทางช่อง one31

กาหลมหรทึก เป็นละครดัดแปลงมาจากนวนิยายชื่อเดียวกันจากปลายปากกาของปราบต์ หรือ เต็ก-ชัยรัตน์ พิพิธพัฒนาปราปต์ ซึ่งด้วยการเป็นนวนิยายแนวสืบสวน การผูกเรื่องที่แปลกใหม่ การเลือกใช้ฉากฆาตกรรมจากสถานที่สำคัญในกรุงเทพฯ และการใช้กลโคลงเป็นกุญแจสำคัญในการค้นหาตัวฆาตกรต่อเนื่อง ทำให้ กาหลมหรทึก สามารถคว้ารางวัลยอดเยี่ยมนายอินทร์อะวอร์ด ประจำปี พ.ศ. 2557 และกลายเป็นหนังสือขายดี เป็นหนังสือสืบสวนสวนสอบสวนไทยไม่กี่เรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาทำเป็นละคร จนกลายเป็นกระแสในโลกโซเชียลและคนชอบละครได้ในเวลาไม่นานนัก

ปราปต์เล่าถึงชีวิตวัยเด็กที่เป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางการเป็นนักเขียน การก้าวข้ามผ่านการเป็นนักเขียนหน้าใหม่ของเว็บไซด์เด็กดีในยุคแรกๆ ตลอดจนช่วงขาลงที่งานเขียนไม่ได้ตีพิมพ์เป็นเวลาร่วม 8 ปี และการกลับมาของเขาฐานะนักเขียนนวนิยายดาวรุ่งที่น่าจับตามองมากที่สุดคนหนึ่งในขณะนี้

เริ่มเส้นทางนักเขียนได้อย่างไร

ผมเขียนหนังสือตั้งแต่เด็กๆเลย ตอนเด็กๆ แม่ก็จะหลอกล่อให้อ่านนิทานที่มีให้ระบายสี แล้วปรากฎว่าหนังสือมันก็มีคำอยู่นิดเดียว เราก็ไปเขียนต่อเอง จนเป็นเรื่องอ่านต่อไปได้เรื่อยๆ จนพอโตสักระดับนึง เราก็มีพี่เลี้ยงที่อ่านนิยายเล่มเล็กๆ อ่านเรื่องย่อละคร ก็ไปแอบเอามาอ่านแล้วก็รู้สึกว่าเราอยากทำ [งานเขียน] แบบนี้บ้าง แต่เรายังไม่รู้เลยว่ามันเรียกว่านิยาย ก็เลยลองเขียน

        แต่จริงๆแล้วผมเรียนสายวิทย์ แล้วทางบ้านก็ไม่ได้สนับสนุนมาก เค้าก็จะรู้สึกว่าถ้าไปทำงานเขียนจะไส้แห้งไหม เราก็เลย.. งั้นไม่เป็นไร ก็ไปเรียนพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เลือกอันนี้เพราะว่าจะมีเวลาที่เราจะสามารถเขียนหนังสือหรือว่าทำอะไรที่เราอยากจะทำก็ได้ เลยได้เขียนมาเรื่อยๆ

แล้วเริ่มเขียนจริงจังตั้งแต่เมื่อไหร่

เริ่มลงเว็บ Dek-D ช่วงประมาณ ม.ปลาย ตอนนั้น Dek-D ยังไม่ใหญ่แบบทุกวันนี้ จะเป็นสังคมที่ทุกคนรู้จักกันมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน แล้วมันก็เริ่มบูม สำนักพิมพ์ที่เปิดใหม่ตอนนั้นก็มักจะมาเลือกเอาเรื่องจาก Dek-D ไปตีพิมพ์ ของผมก็มียอดวิวสูงพอสมควร เนื้อเรื่องพอไปได้ เทรนด์ก็แบบเป็นวัยรุ่นพอดีในช่วงนั้น ก็เลยได้ออกหนังสือมาประมาณ 4-5 เล่ม จนกระทั่งราวช่วงผมอยู่ปีสี่ สำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์งานของผมปิดตัวลง แล้วเขาย้ายไปทำเรื่องแนว 18+ ซึ่งผมก็ไม่เขียน ก็เลยรู้สึกว่าไม่เป็นไร...เราก็เขียนอย่างที่เราอยากจะเขียนต่อไป ก็เลยเปลี่ยนแนวไปทั่วเลย ปกติเป็นคนอ่านทุกแนวอยู่แล้ว เราก็ไปเขียน ไพรัชนิยาย แฟนตาซีการเมือง สืบสวนแบบเด็กๆ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตั้งแต่จบปี 4 จนอายุ 28 เราก็เลยรู้สึกว่า เออ.. นานมากแล้วทำไมงานเรายังไม่ได้ตีพิมพ์สักที ทั้งๆ ที่เราก็รู้สึกว่าเราเขียนดี ก็เลยตัดสินใจว่า ถ้า[กาหลมหรทึก]ยังไม่ได้ตีพิมพ์อีก ก็คงไปทำอย่างอื่นดีกว่า ก็เลยลองส่งเข้าไปประกวดดู คล้ายๆ เป็นการพิสูจน์เราด้วยว่า จริงๆ แล้วเราเขียนดีจริงๆ ไหม เรารู้สึกไปเองหรือเปล่า

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

คือตัดสินใจแน่วแน่เลย..

ใช่ คือสังคมของคนอายุ 28 คือเพื่อนๆ เขามีหลักมีฐาน มีครอบครัว มีบ้าน มีลูกอะไรกันหมดแล้ว เราก็เลยรู้สึกว่า ทำไมเรานั่งผูกติดอยู่กับโต๊ะเขียน อ่านนิยายอยู่นั่นแหละ ไปเที่ยวก็ไม่ไป คือก็มีเวลาอยู่แค่นั้น เพราะว่าเราทำงานประจำ กลับบ้านมาเราก็เขียน เสาร์อาทิตย์เราก็เขียน ไม่ได้ทำอะไรเลย แทบจะไม่ได้ไปไหนเลยจริงๆ

        ตอนแรกเราก็รู้สึกว่าเราเขียนเพราะว่าเรามีความสุขไม่ใช่เหรอ? คนอื่นอาจจะชอบไปเที่ยว อาจจะชอบซื้อของ แต่เราความสุขของเราอยู่ที่การเขียนและการอ่าน มันก็ไม่เห็นจะผิดเลยที่เราจะเขียนต่อไป แต่พอถึงสักระยะนึง เราเริ่มคิดแล้วไงว่าทำไมความสุขของเรามันไม่ตอบแทนอะไรเราเลย มันเลยเริ่มจะไม่ใช่ความสุขแล้ว

แต่ตอนนั้นก็ทำงานประจำไปด้วย ดังนั้นจะบอกว่าไม่เป็นหลักเป็นฐานก็คงไม่ใช่

ผมรู้สึกตลอดเวลาว่าเกิดมาเพื่อเป็นนักเขียน เราจะเขียนหนังสืออย่างเดียว ตัวงานประจำมันมั่นคงนะ บริษัทมันมั่นคงแต่มันเป็นที่ความรู้สึกของเราเองว่าเราไม่ได้อยากทำแบบนี้ สักวันนึงเราจะต้องลาออกแน่นอน ส่วนนึงด้วยที่ไม่ไปเที่ยว ไม่ซื้ออะไรเลย เก็บเงินๆตลอด เพราะภาพจำของเราคือครอบครัวเราก็จะบอกว่ามันไม่มั่นคง เพราะฉะนั้นเราต้องมีเงินเก็บในระดับนึง สมมุติว่าลาออกมาแล้วมันเขียน แล้วมันเฟล เราก็ยังสามารถเลี้ยงตัวเองได้ในช่วงระยะเวลานึง แล้วค่อยไปหางานอื่นต่อ

อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้รู้สึกว่าดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยอาชีพนักเขียน

มันปะเหมาะพอดีกับที่ละครออก ทำให้มีคนอ่านหน้าใหม่ๆ มารู้จักเรา มาตามหนังสือเรา นอกจากกาหลมหรทึกก็ยังไปตามเก็บเล่มอื่น ...จากหน้ามือเป็นหลังมือเลย 

"ความสุขของเราอยู่ที่การเขียนและการอ่าน มันก็ไม่เห็นจะผิดเลยที่เราจะเขียนต่อไป แต่พอถึงสักระยะนึง เราเริ่มคิดแล้วไงว่าทำไมความสุขของเรามันไม่ตอบแทนอะไรเราเลย มันเลยเริ่มจะไม่ใช่ความสุขแล้ว"

เขียนมาแล้วหลายแนว แล้วแนวไหนเป็นแนวคุณเต็กที่สุดคะ

ตอบไม่ได้ เพราะว่าปกติผมเขียนทุกแนว แต่พอ กาหลมหรทึก ดังขึ้นมา ทุกคนก็มองว่า ปราบต์คือสืบสวนสอบสวน แต่ผมจะไม่รู้สึกแบบนั้น ผมรู้สึกว่าเรายังทำอย่างอื่นได้อีก แล้วเรามีความสุขมากกว่าที่จะสลับไปสลับมาเรื่อยๆ เวลาเราเขียนเราก็จะได้ประสบการณ์ใหม่ ได้รู้ว่า อ๋อ... คำแบบนี้ มันใช้ในเรื่องแบบนี้ไม่ได้ สมมติว่าเล่าเหตุการณ์เดียวกันแต่เป็นเรื่องสืบสวนกับเรื่องตลก คำที่ใช้มันก็จะไม่เหมือนกัน อารมณ์ที่อยู่ในเรื่องก็จะไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราจะได้ฝึกตลอดว่า เวลาเรามาเขียนแนวนี้เราต้องปรับตัวใหม่ ทุกอย่างมันคือการตั้งต้นใหม่หมดเลย ผมเคยนะที่แบบว่า สืบสวนเรื่องที่หนึ่ง ก็มาสืบสวนเรื่องที่สอง แล้วก็มาสืบสวนเรื่องที่สาม มันกลายเป็นเราเริ่มติดกรอบว่าเราจะต้องคิดแบบนี้ เพราะสืบสวนมันจะมีกรอบที่ชัดๆ คือเปิดมาถึงคนตาย วางเงื่อนงำ สืบ แล้วก็เฉลยหักมุม เส้นมันจะเป็นแบบนี้

        ช่วงแรกๆ ก็จะมีคนอ่านเก่าๆ เค้าจะรู้สึกว่าปราปต์ ทำไมไม่เขียนอะไรก็ไม่รู้ แย่ไปแล้ว แต่ตอนนี้พอเราเริ่มออกงานอื่นๆ ออกมา กลายเป็นว่าคนใหม่ๆ ที่มาอ่าน ซึ่งบางทีเขาไม่ได้อ่านกาหลมหรทึก เขาอ่านงานอื่นก่อน แล้วเขารู้สึกว่างานนั้นดีเลยมาอ่านกาหลมหรทึก เลยกลายเป็นว่าเราแฮปปี้ เรารู้สึกว่านี่แหละตอบโจทย์ชีวิตเรามาก 

ในเรื่องกาหลมหรทึก ทำไมเลือกใช้กลโคลงเป็นกุญแจไขปริศนา

ผมเคยไปต่างจังหวัดแล้วก็ได้ยินสกูปวิทยุเรื่องกลโคลง แล้วรู้สึกเหมือนนี่เป็นสิ่งมหัศจรรย์ รู้สึกว่าประเทศไทยมีอะไรอย่างนี้ด้วยหรอ กลโคลง คือการเอาคำในโคลงสี่สุภาพไปเรียงใหม่เป็นรูปภาพ แล้วก็แกะความออกมาว่าอ่านว่าอะไรแล้วแปลว่าอะไร มันเหมือนเป็นรหัสลับ แล้วยิ่งพอเอาไปผูกกับสถานที่สำคัญ คือวัดโพธิ์ ฟังแล้วผมรู้สึกว่า... เฮ้ย... อันนี้มันคือ แดน บราวน์ มันเหมือนรหัสลับดาวินชี่ ที่มันเป็นรูปภาพแล้วก็แกะรหัสแล้วก็ไปตามสถานที่จริงอีก ก็เลยรู้สึกว่าเราน่าจะเอาอันนี้แล้วมาทำ

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

เป้าหมายสูงสุดของอาชีพนักเขียนคืออะไร แล้วคิดว่าตัวเองอยู่ตรงจุดนั้นหรือยัง

สำหรับผม คือการเลี้ยงตัวเองต่อไปได้โดยที่ไม่เดือดร้อนใคร หมายถึงว่าไม่ต้องไปเดือดร้อนพ่อแม่ หรือว่าในกรณีที่สมมติมีคนเจ็บป่วยเราสามารถ cover ตัวเองได้ cover ครอบครัวได้

        คือตอนนี้ ถ้าปัจจุบันนะ มันอยู่ได้ แต่ผมไม่รู้ว่าหลังจากที่ละครจบ หลังจากที่งานชิ้นใหม่ๆ ออกมา กระแสจะยังอยู่ต่อไปไหม เพราะว่างานเขียนคืองานโปรเจค ทุกเล่มไม่เหมือนกัน แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผมคือเปลี่ยนแนวไปเรื่อยๆ ผมไม่รู้ว่าคนอ่านจะตามไปขนาดนั้นไหม และประเทศไทยไม่ใช่รัฐสวัสดิการ ทุกอย่างเราต้องจ่ายเอง เราก็ไม่รู้ว่าพอไปถึงจุดนั้นเราจะยังสามารถดูแลตัวเองได้ขนาดไหน

องค์ประกอบของนักเขียนที่ดีในมุมมองของคุณคืออะไร

ถ้าสำหรับทุกวันนี้ ผมรู้สึกว่าต้องเป็นคนที่คิดเยอะ ต้องตั้งคำถามกับสังคม ผมรู้สึกว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่ได้ตั้งคำถามกับอะไรเลย เพราะฉะนั้นถ้าเราตั้งคำถามแล้วเราเอามาใส่เพื่อที่จะให้คนอ่านตั้งคำถามไปด้วยกันได้ มันน่าเป็นประโยชน์มากกว่า

อัพเดตผลงานในอนาคตหน่อย

เรื่องที่กำลังเขียนอยู่ตอนนี้มีชื่อว่า ลิงพาดกลอน ก็จะเป็นงานที่ต่อจาก กาหลมหรทึก นี่แหละ ไม่ใช่เป็นภาคต่อนะครับ เป็นการเอาคาแรคเตอร์ แชน กับ กบี่ ไปเขียนแบบ alternate universe นิสัยเหมือนเดิม ความสัมพันธ์เหมือนเดิมแต่เราแอบเอาบางส่วนจากกาหลมหรทึก ไปจัดเรียบเรียงใหม่ แล้วก็ตั้งเป็นคดีใหม่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ตอนนี้มันลงอยู่ในเว็บไซด์ www.anowl.co

        มีอีกเรื่องนึงที่เขียนเสร็จแล้ว เป็นโปรเจคของทาง Sofa Publishing คือเค้าเปิดเป็นเว็ปไซด์สำหรับ community เรื่องหลอนๆ เรื่องลงนิยาย บทความผี ขึ้นมาใหม่ ชื่อ Horrorism โจทย์คือให้คนเอาสัตว์ประหลาดของไทยมาตีความใหม่ แล้วก็เขียนเป็นเรื่องแนว โรแมนติกแฟนตาซี แล้วก็อาจจะมี horror นิดนึงครับ

ขอขอบคุณ โรงแรม ดุสิต ธานี กรุงเทพฯ

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

เรื่องเด่น
    เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ
      การโฆษณา