Pen-Ek Ratanaruang
Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

เป็นเอก รัตนเรือง: "เวลาไปดูหนังเป็นเอกต้องอย่าคิดมาก"

ต้อม-เป็นเอก รัตนเรือง เล่าเรื่อง ผู้หญิง บอล หนังสือปรัชญา และ 20 ปีในวงการหนัง

Sopida Rodsom
เขียนโดย
Sopida Rodsom
การโฆษณา

ต้อม-เป็นเอก รัตนเรือง อาจจะไม่ได้เป็นผู้กำกับที่ขยันส่งหนังลงโรงปีต่อปี เพราะตลอด 20 ปีในวงการภาพยนตร์ไทย นับตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่องแรก ฝัน บ้า คาราโอเกะ ออกฉายครั้งแรกในปีพ.ศ. 2540 เป็นเอกกำกับหนังมาแค่ 8 เรื่อง แต่ความเจ๋งอย่างหนึ่งคือเราจำ "หนังเป็นเอก" ได้ดีทั้ง 8 เรื่อง และทุกเรื่องเปิดตัว ณ เทศกาลหนังชื่อดังในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นที่เบอร์ลิน เวนิซ หรือคานส์ ทั้งยังได้รับคำชื่นชมก่อนเปิดฉายในประเทศแทบทั้งนั้น และแน่นอนว่าภาพยนตร์ลำดับที่ 9 ที่ชื่อว่า Samui Song ไม่มีสมุยสำหรับเธอ ก็ยังเดินตามขนบนี้

หลังจากไม่มีผลงานภายนตร์ลงจอมากว่า 7 ปี Samui Song ไม่มีสมุยสำหรับเธอ ภาพยนตร์ลำดับที่ 9 ของพี่ต้อม-เป็นเอก รัตนเรือง ก็ได้ฤกษ์ลงโรงฉายในประเทศไทย หลังจากที่ฉายรอบพรีเมียร์ไปที่ Venice International Film Festival เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว  

Samui Song เป็นภาพยนตร์ทริลเลอร์/ดราม่า ที่เล่าบอกเล่าเรื่องราว วิยะดา (รับบทโดย พลอย-เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) นักแสดงสาวที่แต่งงานกับสามีต่างชาติที่สนิทสนมกับเจ้าลัทธิ (วิทยา ปานศรีงาม) จนเธอตัดสินใจว่าจ้าง กาย (เดวิด อัศวนนท์) คนแปลกหน้าให้ลงมือฆ่าสามีของเธอ

ทำไมต้องสมุย แล้วสมุยเกี่ยวกับเพลงยังไง แล้วลัทธิประหลาดอีก ใครจะตอบคำถามได้ดีกว่าตัวผู้กำกับเองล่ะ

พี่ต้อมเล่าตอนแถลงข่าวฯ ว่าได้แรงบันดาลใจจากการเห็นคู่รักคู่หนึ่งที่เดินอยู่ด้วยกัน แล้วสุดท้ายกลายมาเป็นหนังเรื่องนี้ได้อย่างไรคะ

หัวสมองเราจะมี default setting อยู่ เวลาเราเห็นภาพอะไร เหตุการณ์อะไร หรือบางทีก็มีภาพมโนขึ้นมาโดยที่ไม่ต้องเห็น สิ่งที่ไปเห็นถ้าเราไม่ลืมมัน มันจะกลับมาเรื่อยๆ สักพักหัวสมองเราจะเริ่มแต่งเรื่องเอง ... ตอนนั้นเราเห็นนักแสดงคนหนึ่งเดินอยู่กับฝรั่งที่เป็นแฟนหรือสามี พอไปว่ายน้ำเราก็เริ่มคิดว่าที่บ้านเขาเป็นยังไง ข้างนอกดูดีแล้วเขาทำอะไรกันที่บ้าน ก็คิดไปเรื่อยๆ ว่ายน้ำไปคิดไป รู้ตัวอีกทีมันก็ดาร์กขึ้นเรื่อยๆ รู้ตัวอีกทีผู้หญิงคนนี้ก็จะฆ่าสามีแล้ว เราเลยลองเขียนเป็นบทดู เริ่มมาจากอะไรง่ายๆ แบบนี้เลยครับ ... คนขี้โกหกแบบเราดียังไงรู้ไหม? เราแต่งเรื่องอะไรก็ได้ เป็นพรสวรรค์จริงๆ (หัวเราะ)

เรื่องลัทธิที่สอดแทรกเข้ามาในเรื่อง อันนี้แทรกเพราะต้องการเสียดสีสังคมหรือเปล่า

ไม่เลย ถ้าเราอยากจะเสียดสี มันจะมีเรื่องเกี่ยวกับลัทธิในหนังเยอะกว่านี้  [ลัทธิ] เป็นเพียงแค่ส่วนประกอบ แต่เป็นส่วนประกอบที่สำคัญนะ เพราะว่าหัวสมองเราคิดไปถึงตอนพลอยฆ่าสามี แต่เราต้องหา mechanic ที่ทำให้พลอยฆ่าสามีให้ได้ สิ่งที่เราคิดออกก็ cliché ทั้งนั้นเลย เช่น สามีมีกิ๊ก หรือพลอยมีกิ๊ก ทำออกไปคนดูหัวเราะแย่ เพราะมันธรรมดาเกินไป เราเลยหยุดเขียนไปเลยเพราะคิดไม่ออก 

        จนวันนึงมีข่าวว่ามีพระรูปหนึ่งโดนจับสึก เพราะทำผิดเกี่ยวกับเรื่องเงินและเรื่องผู้หญิง ปรากฏว่าพอสึกไปแล้วแทนที่จะกลับมาเป็นปุถุชนแบบเรา เขาไปตั้งลัทธิอยู่ที่ต่างประเทศ แล้วคนที่เคยนับถือก็ตามไปทั้งที่รู้ว่าเขาทำผิด เราก็เลยลองเอามาเสียบในสคริปต์ที่ค้างเติ่งอยู่ ก็กลายเป็น mechanic ที่ดีกว่า ถ้าตัวสามีเป็นคนที่ไปคลั่งลัทธินี้ขึ้นมามันจะพาไปถึงจุดนี้ได้ไหม เหมือนไปมีกิ๊กแต่กิ๊กเป็นลัทธิ มีผู้นำลัทธิเป็นพี่ปู [วิทยา ปานศรีงาม] พอเราใส่เข้ามาปั๊บ ก็ต้องเริ่มหาเหตุผลว่าคนเราจะไปเข้าลัทธินี้มันต้องมีเหตุผลเพราะไม่งั้นจู่ๆ คนไปเข้าเลยก็ไม่มีเหตุผล พอได้ข่าวเกี่ยวกับพระรูปนี้มา ทุกอย่างก็ค่อยๆ ลงตัวขึ้น แต่เรื่องลัทธิไม่ได้เป็นส่วนใหญ่ในหนัง ถ้าตอนดูหนังจะรู้สึกว่ามันเสียดสี แต่จริงๆ ไม่ได้ตั้งใจ เพียงแต่ว่าเมื่อมันปรากฏขึ้นมาเป็นส่วนน้อย เลยต้องถูกทำให้ชัดกว่าความเป็นจริงหน่อย

เหมือนกับว่า Samui Song โฟกัสไปที่เรื่องครอบครัวและความสัมพันธ์

จริงๆ มันเป็นเรื่องของการมองว่าผู้หญิงที่อยู่ในสังคมที่ผู้ชายมีสิทธิ์หรืออำนาจมากกว่าเขาอยู่กันยังไง เราเชื่อว่าคนที่ไปดูหนังต่อให้ไม่ได้มีครอบครัวก็จะเชื่อมโยงได้ว่าจริง ... เราทำงานออฟฟิศ เราก็รู้สึกแบบนี้ว่ะ เห็นไหมว่าตอนนี้มีกระแสผู้หญิงออกมากัน เรื่องพวกนี้เป็นมานานมากแล้ว แต่เพิ่งมาปะทุ เราว่าใครดูเรื่องนี้ โดยเฉพาะผู้หญิงก็จะเชื่อมโยงได้

จริงๆ ถ้าย้อนไปดูงานเก่าๆ ของพี่ต้อม ก็รู้สึกว่าหนังพี่ต้อมจะมีผู้หญิงเป็นตัวเดินเรื่อง เป็นเพราะพี่สนใจในประเด็นนี้ด้วยหรือเปล่า

ก็ด้วย แล้วเรารู้สึกว่าเวลาเขียนตัวละครผู้หญิงแล้วเขียนดีกว่าตัวละครผู้ชาย (หัวเราะ) เรามีความสนใจในเพศหญิง มีความชื่นชมอยู่ด้วย เวลาเขียนเรื่องผู้หญิงเลยเขียนง่าย เขียนเรื่องผู้ชายจะค่อนข้างตัน ชีวิตนี้ไม่ค่อยได้เรียนรู้จากผู้ชายเท่าไหร่ เรื่องสำคัญในชีวิตจะเรียนรู้จากผู้หญิง เช่น จากพี่สาว จากแม่ จากแฟน เพื่อนผู้ชายเหมือนมีไว้กินเหล้ากับเตะบอล (หัวเราะ)

        ถ้าถามว่าเรียนรู้อะไร ก็ต้องเป็นเรื่องความรัก ความสัมพันธ์ ความซื่อสัตย์ อย่างพี่สาวก็เป็นคนที่จุดประกายให้เราเป็นคนชอบอ่านหนังสือ เราไม่เคยอ่านหนังสืออะไรมาก่อน เตะบอลอย่างเดียว พอเราอ่านแล้วเราก็รู้สึกว่าการอ่านหนังสือมันสนุกอย่างนี้นี่เอง ... ตอนนั้นเราเรียนอยู่เมืองนอก พี่สาวก็เรียนเมืองนอก เป็นหนังสือภาษาอังกฤษของของ กฤษณมูรติ ที่เป็นนักคิด นักปรัชญา ชื่อว่า Think on These Things พูดอย่างนี้แล้วฟังดูเหมือนจะน่าเบื่อ แต่จริงๆ แล้วสนุกมาก มันเป็นการถามตอบระหว่างเขากับนักเรียนที่ไปเล็กเชอร์ด้วย แล้วก็อ่านง่าย เป็นครั้งแรกที่อ่านหนังสือแล้วรู้สึกว่าทำไมมันดูดเราเข้าไปในโลกนั้นได้จริงๆ เขาตอบทุกคำถามได้อย่างอ่อนโยน ทุกวันนี้ก็อ่านแต่หนังสือ ทีวีไม่ดูเลยนะ โซเชียลก็ไม่เล่น แต่ฟังวิทยุอยู่

กลับมาที่ Samui Song — ทำไมต้องเป็นสมุย และสมุยในความรู้สึกพี่เป็นอย่างไร

จริงๆ เป็นเกาะอะไรก็ได้ แต่คำว่าสมุยเวลาอยู่บนโปสเตอร์มันสวย เลยเลือกให้เป็นแบบนั้น ที่เลือกสมุยเป็นสถานที่เกิดเหตุในเรื่องจริงๆ ก็ไม่ค่อย practical เท่าไหร่เพราะว่าสมุยในปัจจุบันก็ไม่เป็นอย่างที่เราคิดเท่าไหร่ ฟู่ฟ่ามากเลย มีรีสอร์ท มีโรงแรมหรู มีตึก สมุยที่เราคิดยังเป็นเหมือนตอนที่เราไป อาจจะซักประมาณ 20 ปีที่แล้ว ไม่มีอะไร เป็นทุ่งๆ ยังขี่รถมอเตอร์ไซค์เข้าไปกินขนมจีนได้ เป็นร้านเพิงๆ สมุยไม่ได้ถึงกับ virgin แต่ก็ innocent กว่าปัจจุบันเยอะ

พี่เคยเล่าว่าความจริงแล้ว Samui Song ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ​ "เพลง" เลยใช่ไหม

ตอนเขา [ทีมงานชาวต่างชาติ - ผู้เขียน] เขียนมาว่าได้รับสคริปต์ของ "Samui Song" แล้วก็เพราะดีนะ เราเลยเอาปากกาเขียนดูคำว่า Samui และ Song เป็นโปสเตอร์ก็สวยด้วย ก็เอาเลย แต่จริงๆ มันคือ "Samui Draft Song (สมุย ดราฟต์ สอง)" เวลาเราพูดแบบนี้กับสื่อ คนส่วนมากไม่ค่อยเชื่อนะ นึกว่าเราปล่อยมุก คนชอบคิดว่าเราลึก (หัวเราะ)

 

อยู่ในวงการมา 20 ปีแล้ว พี่ต้อมมองว่าวงการหนังไทยเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้างคะ

เปลี่ยนแปลงไปในทางทางที่ดีขึ้นและแย่ลง แต่รวมๆ แล้วมันดีขึ้นเยอะ เราเริ่มเข้ามาทำหนังเมื่อปี 1997 ปีที่เราทำ ฝัน บ้า คาราโอเกะ ทั้งปีมีหนังไทยออกมา 9 เรื่อง เดี๋ยวนี้เราทำกัน 60 เรื่อง เพราะฉะนั้นอุตสาหกรรมเติบโตและเบ่งบานไปเยอะมาก ตอนที่เราเริ่มทำหนังการที่หนังไทยจะไปเทศกาลระดับโลกไม่มีเลยนะ 

        สำหรับเราสิ่งที่รู้สึกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงวงการหนังไทยและเป็นข่าวดีสำหรับเรามากๆ คือการมีบริษัท GTH เขาทำให้หนังไทยเป็นธุรกิจและมีคุณภาพ ตอนนี้คนไปดูหนัง ไม่ต้องดูผู้กำกับ ไม่ดูชื่อเรื่อง ไม่ต้องดูนักแสดง มีคำว่า GTH [หมายถึง GDH 559 - ผู้เขียน] ปุ๊บ ไปดูเลย เขาทำได้ถึงขนาดนี้  เราว่าเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะเขาทำให้หนังได้เงินโดยไม่ใช่เพราะความฟลุ๊ก ไม่ใช่เพราะชื่อดารา เขาทำให้หนังประสบความสำเร็จตั้งแต่ระบบบริหารจัดการที่ดี การเลือกเรื่อง เลือกบท กลุ่มคนที่บริหารหนังเป็นเรื่องๆ เป็นคล้ายระบบสตูดิโอแบบฮอลลีวู้ด

        อีกอย่างก็คือหนังอินดี้เยอะ พวกอินดี้ในที่สุดก็ลืมตาอ้าปากได้ หาเงินเมืองนอกได้มากขึ้น นักธุรกิจไทยเริ่มสนใจ กระทรวงวัฒนธรรมเริ่มสนับสนุน รางวัลสุพรรณหงส์เมื่อก่อนไม่มีทางเห็นหัวหนังอินดี้ แต่ตอนนี้หนังอินดี้กวาด [รางวัล] ทุกปี และที่สำคัญคือทำเสร็จแล้วมีโรงให้ฉาย มีลิโด้ มีเฮ้าส์ ... เวลาคนบอกหนังไทยแย่ลง เราไม่เห็นเชื่อเลย เทียบกับตอนที่เราเริ่มทำมา แต่ก่อนยากกว่านี้เยอะ

        ส่วนสิ่งที่ไม่ดีก็คือเดี๋ยวนี้ผลิตหนังจำนวนเยอะมาก เยอะเกินกว่าความสามารถของอุตสาหกรรม บุคลากรที่เรามีทำหนัง 60 เรื่องไม่ได้หรอก เราพูดถึงบุคลากรคุณภาพนะ อย่างมากก็ผลิตได้แค่ 20 เรื่อง ปีนี้อาจจะให้ทุกคนยุ่งหน่อยสัก 30 เรื่อง มันก็เลยเต็มไปด้วยขยะเยอะมาก แต่เราไม่โทษใครเพราะมันมาเป็นแพ็คเก็จ การพัฒนาความเจริญก็ต้องมาพร้อมขยะบางอย่าง ดูอย่างกรุงเทพฯ ตอนนี้สิ เจริญมากแต่อยู่กันได้ที่ไหน ห้างเยอะมาก แต่ก็แพงมาก จะอยู่ไม่ได้อยู่แล้ว ขยะก็เยอะ เพราะฉะนั้นเราจะไม่บ่นถึงสิ่งไม่ดี เราจะพูดเรื่องดีว่ามันดีขึ้นเยอะ

แล้วตัวพี่ต้อมเองล่ะคะ

แรงน้อยลง เพราะแก่ขึ้น (หัวเราะ) ความกระตือรือร้นในการทำหนังน้อยลง แต่ความสุขเท่าเดิม 20 ปีผ่านไปก็ยังมีความสุขในการเปิดกล้องเท่าเรื่องแรก ความกลัวเท่าเดิม กลัวมันจะออกมาเ-ี้ยเท่าเดิม ตื่นเต้นเท่าเดิม นอนไม่หลับเหมือนเดิม ทุกอย่างเหมือนเดิมหมดเลย แต่อาจจะประสบการณ์มากขึ้นและใจเย็นหน่อย สมมุติออกไปทำหนังแล้วไม่เป็นไปตามแผน เมื่อก่อนจะตกใจมาก แต่ตอนนี้ไม่ค่อยตกใจแล้ว

โมเมนต์ไหนที่พี่ต้อมว่าพีคที่สุดตลอดระยะเวลา 20 ปี

เวลาเราได้ทำหนังมันพีคทุกครั้ง น้องอาจไม่เข้าใจว่าทุกครั้งที่โปรดิวเซอร์บอกว่าทำได้แล้ว เรียกมาอ่านบท ใจเราระทึกทุกครั้ง หลังเสร็จออกมาไปเทศกาลหนังมันพีคทุกครั้ง สิ่งเหล่านี้เกี่ยวกับการทำหนังไม่เคยหายไปเลย อยู่ยังไงก็อยู่ยังงั้น เหมือนยาเสพติด ทุกโมเมนต์พิเศษหมดสำหรับเรา เราไม่ได้อยากมาเป็นผู้กำกับ เราอยากจะทำอย่างอื่นในชีวิต เพียงแต่มันไม่ได้ไปในทางนั้น เราเดินทางมาทางนี้ด้วยอุบัติเหตุ ได้ทำสิ่งนี้เลยพีคมาก เราได้ทำโดยไม่มีใครบังคับว่าต้องทำแบบนั้นแบบนี้ ไม่มีอะไรพีคกว่านี้แล้ว

ถ้าไม่ได้เป็นผู้กำกับ พี่ต้อมอยากจะเป็นอะไร

นักบอลครับ เป็นความฝันสูงสุดในชีวิต บ้าบอลมาก ตอนนี้ก็ยังเตะแบบคนแก่ๆ ไม่ค่อยขยับร่างกายเท่าไหร่ (หัวเราะ) เราชอบทีมอาร์เซนอล เจ็บปวดตลอดเวลา จนกระทั่งเดี๋ยวนี้เขาแข่ง เราไม่ดู เพราะดูแล้วมวนท้อง ทำไมเล่นแบบนี้วะ แต่พอไม่ดู เช็คผล แล้วปรากฏชนะ เพราะฉะนั้นเราจะดูทีมอื่นที่เราไม่ค่อยแคร์ เรามักจะโทษตัวเองว่าเป็นตัวซวย สองอาทิตย์ที่เราไม่ได้ดู ชนะสองนัดรวด แต่พอเราดู แพ้ ยอมไม่ดูแล้วเช็คผลเอา … ดูอาร์เซนอลเครียดกว่าทำหนังอีกนะ (หัวเราะ)

พี่ต้อมมองว่าหนังไทยที่สามารถเข้าชิงรางวัลเวทีระดับโลกหรือไปเทศกาลหนังต่างประเทศได้ ต้องมีลักษณะหรือองค์ประกอบอะไรบ้าง

รางวัลออสการ์ เราไม่รู้หรอก เราจับพลัดจับผลูก็ไป แต่ถ้าหนังที่ไปถึงเทศกาลดีๆ ระดับท็อปๆ ส่วนมากเป็นหนังที่มีความออริจินัล คุณทำหนังรักก็ได้ ฟีลกู้ดก็ได้ โรแมนติกก็ได้ comedyก็ได้ เขาไม่ได้สนใจตรงนั้นเลย ส่วนมากจะสนใจเสียงของผู้กำกับที่เป็นเอกลักษณ์มาก เช่น เป็นหนังตลกก็ต้องเป็นหนังตลกที่ไม่เคยเห็น ความออริจินัลเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเทศกาล เพราะหนังทุกประเภท คนเป็นเอดส์ ความลำบากของชนชั้นล่าง การเสียดสีคนชั้นสูง ทั้งหมดถูกทำไปหมดแล้ว เพราะฉะนั้นอยู่ที่ว่าจะต้องหาเสียงที่มันเป็นเอกลักษณ์จริงๆ 


ถ้าต้องอธิบาย "หนังเป็นเอก" ให้คนที่ไม่เคยดูเลย พี่จะอธิบายว่าหนังของพี่เป็นยังไง

คือหนังที่เกี่ยวกับมนุษย์ หนังเราเกี่ยวกับชีวิตคนทุกเรื่อง แต่เลือกมองชีวิตในด้านที่บกพร่อง เพราะมีความสนุกและมีมิติกว่าชีวิตที่สมบูรณ์แบบ หวังว่าพอทำเสร็จจะเรียนรู้อะไรบางอย่าง แต่ส่วนตัวแล้วแค่เป็นคนที่มีความสนใจเรื่องความบกพร่องของชีวิต มีความสนใจตรงนั้นเพราะชีวิตตัวเองก็วุ่นวิ่นเต็มไปหมด เรามองตัวเองและคนรอบข้าง 

อย่างที่พี่เคยบอกว่าพล็อตเว่อร์ได้ แต่ตัวละครต้องเรียลใช่ไหม

ใช่... ยกตัวอย่าง เช่น Batman เรื่องเว่อร์มาก ยิงเท่าไหร่ก็ไม่ตาย ขับรถชนก็ไม่ตาย คนนี้แม่งจะไม่รู้จริงๆ เหรอว่าเป็นคนที่ใส่หน้ากาก มีอะไรที่ไม่น่าเชื่อเต็มไปหมด แต่แบทแมนของ [Christopher] Nolan ดีตรงที่แบทแมนก็มีจุดบกพร่องและความอ่อนแอพอๆ กับโจ๊กเกอร์ กลายเป็นตัวแทนของมนุษย์ทำให้ Dark Knight เป็นหนังที่คลาสสิคมาก เพราะเล่าเรื่องของการ์ตูน แต่มองมิติแบบคนจริง เรียลมาก

พี่ต้อมรู้สึกอย่างไรกับคำพูดที่ว่า "หนังเป็นเอกดูยาก"

มันก็มีส่วนจริงนะ เราปฏิเสธไม่ได้ แต่ถ้าถามก็คิดว่าเป็นการเหมารวมเกินไปหน่อย อย่าง เรื่องตลก 69 ใครดูก็หัวเราะกันก๊าก จะกลัวก็กลัวฉิบหาย คนที่ดู มนต์รักทรานซิสเตอร์ ก็ประทับใจน้ำตาไหล มันไม่ได้เป็นอย่างนั้นทุกเรื่อง มีหนังบางเรื่องที่เราทดลองสุดโต่งไปหน่อย แล้วมันไม่ให้ผลที่ควรจะได้รับ เช่น Invisible Waves (คำพิพากษาของมหาสมุทร) บางทีการที่เราไม่ดำเนินเรื่องตามขนบ มันเลยทำให้คนบอกว่าดูยาก จริงๆ มันไม่ได้ยาก แค่หนังไม่ได้สรุปให้คุณเท่านั้นเอง คนอาจจะชินกับการดูหนังสำเร็จรูปที่เปิดเรื่องต้องแนะนำตัวละครแบบนี้ เข้าสู่องก์สองเป็นแบบนี้ แล้วตอนจบต้องมีบทสรุปที่ทุกคนเข้าใจได้ว่าตัวเอกของเรื่องเรียนรู้อะไร แต่ของเราไม่เป็นแบบนั้น ยิ่งการจบหนังของเราแต่ละเรื่องไม่เคยจบแบบสวยงามสักครั้ง นึกจะจบก็จบเลย ไม่เคยจบจริงๆ สักที เพราะชีวิตเราก็แค่นี้ เราเจอกันแค่นี้ เดี๋ยวคุยกันเสร็จก็สรุปชีวิตเราไม่ได้ ก็ไปคิดกันเอาเอง 

        พอทำหนังแบบไม่เป็นไปตามขนบ วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือบอกว่า "แม่งดูยาก" ป้ายนี้แปะแล้วสบายใจทุกฝ่าย อีกอย่างหนึ่งคือแปะว่า "พี่เขาติสท์ พี่เค้าเซอร์" ทุกคนสบายใจหมด ไม่ต้องทำความเข้าใจ จริงๆ ไม่ค่อยแฟร์ มันไม่ได้ยากอะไรหรอก แต่เราไม่ค่อยรู้สึกอะไรเวลาที่คนบอกว่าหนังเราดูแล้วงง เราจะกลัวมากเวลาทำหนังแล้วคนบอกเบื่อ ทุกเรื่องต้องไม่ให้เบื่อ ต้องไม่ให้หยิบมือถือมาเล่น การทำหนังของเราทุกเรื่องต้องต่อสู้มาก โดยเฉพาะหนังแบบเราที่ไม่ได้จูงมือคนดูไปตลอดทาง ... หนังที่เบื่อทำปั๊บแล้วเบื่อจริงๆ มันไม่แฟร์กับคนที่มาดูหนังเรา เพราะฉะนั้นทุกเรื่อจะพยามใส่ใจตรงนี้มากๆ


Samui Song เลยเป็นความตั้งใจที่อยากจะเอ็นเตอร์เทนคนดู?

ใช่แล้ว มันมาถึงจังหวะชีวิตเราที่ไม่อยากทำหนังจังหวะช้าๆ แบบนั้นแล้ว เราเองยังไม่อยากดูเลย เหมือนเป็น chapter ใหม่ของการทำหนัง จากนี้ไปคงจะทำหนังแบบนี้ เมื่อก่อนหมกมุ่นกับตัวเองเยอะมาก อยากให้โลกรู้ว่าเราคิดยังไง เรามีปัญหาอะไรก็ถามไปในหนัง

     มันมีอยู่ช่วงหนึ่งเป็นเวลา 10 ปีเลยมั้งที่บางคนเรียกว่า "ยุคหนังงง" ช่วงนั้นเหมือนเรามีปัญหาในชีวิตเยอะ มีคำถามกับโลกนี้เยอะ มีความรู้สึกอะไรเยอะ ช่วงนั้นมีโอกาสใช้หนังบำบัดเหมือนเป็น therapy สงสัยอะไรในชีวิตก็ถามไปในหนัง ไม่ได้แคร์คนดูมาก เราจะบำบัดตัวเรา ตอนนี้เหมือนบำบัดเสร็จแล้ว แต่ก็ไม่ได้คำตอบอะไรหรอกที่บำบัดมา 10 ปีนะ เหมือนตอนนี้ชีวิตมันเปลี่ยนไป คุณภาพชีวิตดีขึ้น พอเราทำหนังโดยที่ไม่มีคำถามอะไรมาก ก็เหลืออย่างเดียวคือต้องเอ็นเตอร์เทนแล้ว ก็เลยมาถึงยุคนี้ที่คิดว่าจะทำหนังให้คนดูดู

แล้วหนังเรื่องไหนที่มีถามคำถามจากคนดูเยอะบ้างคะ

เกือบทุกเรื่องครับอย่าง Last Life in the Universe (เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล) ทำหนังเรื่องนี้เพราะตอนนั้นคิดแต่เรื่องความตายเยอะมาก  แต่ไม่ได้อยากตายนะ เราคิดว่ามันคืออะไร เราเป็นคนพุทธ ตายแล้วเกิดใหม่ เพราะฉะนั้นตายก็ไม่แย่สิ ตายก็ดีเหมือนกัน เหมือนได้พัก ได้นอนกลางวัน ตื่นมาชาติหน้าก็ได้ refresh ส่วนตอนทำ Invisible Waves (คำพิพากษาของมหาสมุทร) ก็อยากทำฟิล์มนัวร์ ช่วงนั้นคิดถึงเรื่องความซื่อสัตย์ระหว่างเพื่อนและคนรัก ส่วนตอนนั้นทำเรื่อง พลอย ก็เพราะคนรอบตัวมีชู้กันหมดเลย แล้วก็ชอบมาเล่าให้เราฟัง เหมือนเราเป็นที่เก็บความลับ เราไม่ได้แต่งงาน แต่งงานแล้วดียังไง ไม่เห็นมีใครแฮปปี้เลย เลยเขียนสคริปต์เรื่องนี้ขึ้นมา 

พี่ต้อมอยากให้คนดูได้อะไรจาก Samui Song

อยากให้เอ็นเตอร์เทนอย่างเดียวเลย ไม่ได้มีเมสเซจอะไรจะสื่อ แต่เราว่าไม่ต้องไปบอกคนดูเขาหรอกว่าจะได้อะไรจากการดูหนัง เพราะเวลาดูหนัง คนดูเขาจะใช้ประสบการณ์ตัวเขาเองไปตัก [สิ่งที่ได้จากการดูหนัง] ออกมาเอง ว่าอยากจะให้มันเกี่ยวกับชีวิตเขาในเรื่องอะไร สิ่งที่อยากให้ได้คือความบันเทิง เพราะฉะนั้นเวลาไปดูหนังเป็นเอกต้องอย่าคิดมาก มันเป็นอุปสรรคมาก เพราะพอมีชื่อเราปั๊บ จะมีคำถามแบบ "พี่เขาซ่อนอะไรไว้ มีสัญลักษณ์อะไรหรือเปล่า เขาจะสื่ออะไรหรือเปล่า" เพราะฉะนั้นมันก็เลยไม่สนุก ต้องมานั่งตีความ คนทำยังไม่ได้คิดเลย เพียงแต่ว่า subject ที่เราเลือกมันอาจจะพาให้คนคิดไปได้ แต่ดูให้เอ็นเตอร์เทน ดูจบแล้วค่อยไปคิดที่บ้าน อย่าคิดตอนดู ไม่งั้นจะงง ไม่สนุก

ในฐานะที่เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ ตอนนี้มีข่าวว่าลิโด้กับสกาล่าจะปิด พี่ต้อมมีความคิดเห็นเรื่องนี้ยังไงบ้าง

เศร้ามากเลย คำถามเราคือสกาล่าปิดแล้วคือทำอะไร เขาจะคงโครงสร้างไว้ไหม ไม่รู้สิ ... ประเทศที่เจริญแล้ว ถ้ามีสิ่งก่อสร้างที่คลาสสิกแบบนี้ ถ้าจะทุบนี่คือมีเรื่องนะ ต่อให้สุดท้ายมันจะกลายเป็น McDonald's ก็ต้องเป็น McDonald's ที่มีตึกหน้าตาแบบนี้โดยซ่อนโลโก้ไว้ด้านหลังอะไรก็ว่าไป ไม่ใช่เอะอะทุบแล้วสร้างตึกกระจก [อาคารแบบโรงภาพยนตร์สกาล่า] มีเรื่องราว มีประวัติศาสตร์เต็มไปหมด เราไม่รู้ว่าเขาจะทำอะไร ถ้าทุบทิ้งก็เสียดายมาก แต่ค่าบำรุงรักษาโรงหนัง เบาะ เก้าอี้ พรม แอร์ กับโรงหนังที่เก่าขนาดนั้นใช้เงินเยอะมากเหมือนกันนะ เวลาไปดูหนังสกาล่ากลับมาแล้วไอไหม ถ้าจะรีโนเวทก็ใช้เงินมหาศาล แต่เรารู้สึกว่าใช้เงินแค่ไหนก็คุ้ม เพราะมันไม่มีแล้ว อย่างลิโด้ก็ยังเฉยๆ สิ่งก่อสร้างก็ไม่ได้น่าสนใจขนาดนั้น เพราะมันก็หมดยุคจริงๆ อ่ะนะ

Samui Song ไม่มีสมุยสำหรับเธอ เข้าฉาย 1 กุมภาพันธ์ 

ไม่มีสมุยสำหรับเธอ (Samui Song)
  • 3 จาก 5 ดาว
  • Movies

หนังสไตล์นีโอนัวร์ของคู่แต่งงาน ลัทธิประหลาด มือปืนลูกกตัญญู และจินตนาการดาร์กๆ ของเป็นเอก รัตนเรือง ที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเกาะสมุย

เรื่องเด่น
    เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ
      การโฆษณา