Stamp Apiwat
Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

การเดินทางตามความฝันครั้งใหม่ กับอัลบั้มเพลงภาษาอังกฤษ ของ แสตมป์ อภิวัชร์

คุยกับศิลปินหนุ่มสายฮาเกี่ยวกับความหวัง ความฝัน และความจริง กับ STAMPSTH อัลบั้มเพลงภาษาอังกฤษแรกในชีวิต

การโฆษณา

เวลา 12 ปีในวงการเพลงไทย มีงานเพลงต่อเนื่อง แถมเพลงฮิตอีกเป็นกะตัก ไม่แปลกที่ แสตมป์ อภิวัชร์ จะเป็นหนึ่งในศิลปินที่เราคุ้นเคยกันดีกับมุกสุดฮา เพลงสนุกๆ ไปจนถึงเพลงรักเรียกน้ำตา ดังนั้น ตอนที่แสตมป์ปล่อยซิงเกิลสุดซึ้ง “สักวินาที” ในเดือนมีนาคม เราก็สบายใจได้ว่า นักร้อง/นักแต่งเพลงหนุ่มหน้าทะเล้นยังคงเส้นคงวาในการผลิตผลงาน  แต่หนึ่งเดือนถัดมา แสตมป์เซอร์ไพรซ์ซะเอาเราเกือบตกเก้าอี้ กับการเปิดตัวอัลบั้มใหม่ล่าสุด STAMPSTH (Stamp Something) ที่ประเทศญี่ปุ่น ไม่ใช่ในบ้านเรา ตามมาด้วยเซอร์ไพรซ์ที่สองคือ ทุกเพลงในอัลบั้มเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด และเป็นท่วงทำนองที่เราไม่เคยได้รับฟังจากแสตมป์มาก่อน ที่เซอร์ไพรซ์ขึ้นไปอีกคือเขาแต่งเพลงภาษาอังกฤษทั้งหมดใหม่ด้วยตัวเอง ไม่ได้แปลจากเพลงฮิตเก่าๆ! ฉะนั้นก่อนที่จะมีเซอร์ไพรซ์ไปมากกว่านี้ Time Out Bangkok ขอลากตัว แสตมป์ อภิวัชร์ มาจับเข่าคุยกันที่สตูดิโอใหม่เอี่ยมของเรา ถึงเรื่องราวก่อนที่จะเป็นอัลบั้มนี้ การเดินตามความฝันใหม่ๆ ไปจนถึงประสบการณ์ทางดนตรีในต่างแดน

กระแสตอบรับ single ใหม่ที่ชื่อ The Devil เป็นอย่างไรบ้าง กระแสตอบรับเป็นอย่างไร
เป็นไงบ้าง... ก็ดีมากครับ ดีมาก เราได้มาสัมภาษณ์ Time Out เลยนะครับ (หัวเราะ) เป็นการตอบรับสูงสุดของเพลงนี้เลย

ที่มาที่ไปของอัลบั้มใหม่มีที่มาที่ไปยังไงคะ?
ก็เกิดจากว่าช่วงหลังๆ ผมมาสนิทกับ นิค Part-Time Musician ซึ่งเพลงเขาเป็นภาษาอังกฤษ แล้วเราจะมีกรุ๊ปไลน์ซึ่ง มีนิค กับ นะ Polycat ที่เราชอบช่วยกันแต่งเพลง ผมก็จะแบบแต่งเพลงแล้วก็พิมพ์ไปก็จะช่วยกันเช็ค แล้วเวลานิคส่งเพลงมาจะส่งเป็นภาษาอังกฤษ[รู้สึก]แบบ...เจ๋งหวะ เราก็เลยรู้สึกว่าอยากทำบ้าง เลยลองเขียนเพลงนี้ดู
     [ส่วนหนึ่งก็เป็น]เพราะผมไปเที่ยวญี่ปุ่นบ่อย เลยเป็นจุดที่ทำให้อยากทำเพลงภาษาอังกฤษ เพราะเวลาไปทัวร์ที่นั่นจะได้เล่นเพลงภาษาอังกฤษ... แต่เขาก็ไม่ได้เข้าใจอยู่ดี (หัวเราะ) เพื่อนญี่ปุ่นบอกผมว่า คนญี่ปุ่นเขาฟังเพลงญี่ปุ่นเว้ย เขาไม่ฟังเพลงภาษาอังกฤษ แต่ว่ายังไงผมก็ชอบร้องเพลงที่เขียนเอง ซึ่งการเขียนเพลงเป็นภาษาญี่ปุ่นมันคงเป็นไปไม่ได้
     พอได้ไปทัวร์ช่วงสงกรานต์ผมได้มีโอกาส cover เพลงญี่ปุ่นเพลงหนึ่งโอ้โห คนดูเขามีความสุขมากอ่ะ เหมือนกับว่าได้ปลดปล่อยว่าแบบ กูได้ฟังเพลงที่กูเข้าใจแล้วร้องตามได้แล้วอะไรอย่างนี้ ผมก็เลยคิดว่า... หรือเราจะต้องมี[เพลงภาษาญี่ปุ่น]อาจจะไม่ได้เขียนเอง ให้คนอื่นเขียนบ้าง แต่ผมยังเชื่อว่าเราก็ต้องเข้าใจมันนิดนึง ก็ต้องใช้เวลาให้รู้ว่าเราร้องอะไรออกไป เพราะว่าถ้าเราท่องๆ มันก็คง มันจะแข็งๆ รึเปล่า ก็เลยอยากใช้เวลานิดนึง
     ที่จริง The Devil เป็นเพลงแรกที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษเลยนะครับ บังเอิญว่าได้ประโยค Does every devil look like you? มา มันเท่ดี มันดูเป็นเพลงร็อกดี แล้วผมก็สนใจเรื่องปีศาจซาตาน ชอบอ่านการ์ตูนแล้วชอบตอนที่ปีศาจมันแปลงร่างเป็นคน (หัวเราะ) เลยลองเขียนดูแล้วก็ส่งให้พวกนิค ให้เขาดูว่าไวยากรณ์ถูกไหม พอแต่งออกมาปรากฏว่า เออ.. เฮ้ย เราทำได้นิหว่า เขียนเป็นภาษาอังกฤษ แต่ว่าเป็นศัพท์ง่ายๆ อย่างนี้ก็ได้ ครับก็เลยคิดว่าอยากลองทำอัลบั้มเป็นภาษาอังกฤษดู

ดังนั้นจริงๆ เพลง "Don't You Go" ที่ปล่อยออกมาเป็นเพลงแรก จริงๆคือเป็นเพลงที่สอง?
เพลงที่สอง [Don't You Go] นี่ได้มาจากการได้มาเจอกับคุณ Christopher Chu ก่อนครับ คือผมไปดูคอนเสิร์ตเขาที่ญี่ปุ่น เขาเล่นงาน Summer Sonic แล้วผมได้ไปยืนดูเขาแล้วผมก็ชอบมากเลย ร้องเพราะมาก ซึ่งวันนั้นผมก็ถ่ายรูปเขา แล้วก็ลง IG เย็นวันนั้นผมนั่งรถไฟกลับที่พักเขาก็ทักมาใน message IG ว่า thank you ที่มาดู I นะ you เป็น musician หรอ เขาคงเข้าไปดู ส่องๆ IG เรา เราก็เลยแบบว่า เออใช่ๆ เราชอบ you มากเลยก็เลยได้คุยกัน แล้วไปๆ มาๆ ดันพักโรงแรมเดียวกัน ก็เลยมีโอกาสได้รู้จักกัน ปรากฏว่าพอได้มีโอกาสคุยด้วยกันเรื่อยๆ เขาก็เสนอว่าเราน่าจะทำอะไรด้วยกันนะ ผมก็เออ...เราก็คิดอยู่นานแล้วแหละ (หัวเราะ) เราก็เลยบอกว่ากำลังทำอัลบั้มเป็นภาษาอังกฤษอยู่ แล้วส่ง demo ที่มีทั้งหมดที่ทำมาให้เขาฟัง แล้วก็บอกว่า I ยังขาดเพลงแรกอยู่ [อยากให้เป็น]เพลงที่เร็วและสดใส เขาก็เสนอว่าอย่างนั้นเราก็มาทำเพลงนั้นกันครับ ผมทำเพลงกับนะ [Polycat] แล้วก็ส่งให้เขาไปตัดต่อ ไปเปลี่ยนทำนองนิดนึงแล้วมันก็เพราะเลย 

เล่าถึงอัลบั้มภาษาอังกฤษ STAMPSTH หน่อยค่ะ?
คิดว่าอยากจะให้ [STAMPSTH] เป็น [โปรเจคของ] อีกวงนึง เป็น side project [ของ Stamp] เป็นชื่อวงใหม่ที่ทำเพลงสากล ไม่ให้ซ้ำกัน ไม่ให้งง ก็ไอ้กรุ๊ปนี่อีกละครับ กรุ๊ปไลน์ที่มีนะกับนิค ผมก็เปรยว่าอยากตั้งชื่อวงใหม่ เป็นแสตมป์ something อะไรสักอย่าง พวกเขาบอกเออ! ชื่อนี้เลยดิพี่ ผมก็นี่แหละ เอาชื่อนี้เลยปรากฏว่า ปรากฏว่าก่อนหน้าที่เพลงจะออก เราก็ดันออกมาทำค่ายเอง เราก็เลยใช้ชื่อนี่เป็นอัลบั้มละกัน แล้วก็ใช้ชื่อศิลปินแสตมป์เหมือนเดิม
     อัลบัมนี้สำหรับผม[การทำงานในอัลบั้มนี้]มันนานมาก เพราะว่าผมไม่ได้เก่งภาษาอังกฤษมาก จากที่เคยร้องเองได้ก็ต้องให้เพื่อนมาช่วย ดูว่าเราออกเสียงเป็นอย่างไรบ้าง ก็ได้มาเรียม B5 มาช่วย ได้คุณคริส Shining Star  ปกป้อง จิตดี ก็มาดูแลเรื่อง accent คือเราก็รู้ตัวนะว่าด้วยเวลาแค่นี้เราคงจะไม่ได้เท่าฝรั่งหรอก แต่ก็อยากให้มันน่าเกลียดน้อยที่สุดอ่ะ ก็บอกเพื่อน คือผมมีความสุขมากนะ มีความสุขมากที่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ และก็เป็นข้ออ้างด้วยที่จะได้ดูซีรี่ย์เรื่อยๆ ก็ได้มีโอกาสบินไป New York ด้วย เป็นข้ออ้างว่าจะอยากไปเรียนภาษา (หัวเราะ) ตอนที่ทำเสร็จนี่แบบสิ้นสุดแรงทั้งหมดที่มี 7 เพลง 6 เดือน

ตั้งใจทำให้ทั้งอัลบั้มมีแต่เพลงภาษาอังกฤษเลยหรือเปล่าคะ
คิดว่าจะเป็นภาษาอังกฤษหมดเลยตั้งแต่แรกครับ แต่ว่าความตั้งใจตอนแรกคือจะประสมด้วยเพลง ที่เป็นของเราอยู่แล้ว เพลง “ความคิด” อะไรอย่างงี้ทำออกมาเป็นภาษาอังกฤษ แต่ปรากฏว่าคือคุณ Chu ทำให้ผมพบว่ามันมีมีแนวทางใหม่ที่มัน minimal ที่มันดูแบบสากล ก็เลยทำใหม่หมดเลย

ถ้าอย่างนั้น คิดว่าอัลบั้มภาษาอังกฤษนี้ถือเป็นความฝันสูงสุดในฐานะศิลปินเลยไหมคะ
เป็นความฝันครับ แต่ว่าสูงสุดเลยไหม ไม่รู้นะ STAMPSTH สำหรับผมคือการเปลี่ยนเรื่องสไตล์เพลง และก็การเรียบเรียง ความฝันของผมคือทำเพลงไทยที่มีการเรียบเรียงแบบสากลให้ได้ เหมือนคุณ Chu ซึ่งเขาเป็นสายอัลเทอร์นีฟแบบอเมริกา ซึ่งเป็นความฝันอันสูงสุดต่อไป ผมว่ามันเปลี่ยนความคิดผมทั้งหมดเลยครับ


แล้วทำไมถึงเลือกวางขายอัลบั้มที่ญี่ปุ่นแทนที่จะเป็นเมืองไทยล่ะคะ
มีโอกาสได้เจอกับ distributor ที่เขามีความสนใจอยากจะเอาศิลปินไทยไปขายที่ญี่ปุ่น ประจวบกับเราทำอัลบั้มนี้พอดี ก็เลย อ่ะ เอาอันนี้ไปเลยละกัน

จากที่ได้สัมผัสมา วงการเพลงที่ญี่ปุ่นแตกต่างกับบ้านเรามากไหม
ต่างเยอะมากเลย ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่ยังมี CD ขายอยู่เป็นล่ำเป็นสันผมแปลกใจมากตอนที่ distributor ของผมไม่ยอมให้ขายเพลง digital ให้ขาย CD เพราะว่าคนญี่ปุ่นชอบซื้อ ซึ่ง[พอวางขาย]ก็จริงอย่างที่เขาว่า คนก็ซื้อแหลก นอกจากนั้นผมยังได้เล่นดนตรีใน live house มันเป็นวัฒนธรรมที่บ้านเรายังไม่มี ในไทยเวทีหลักของเราจะเป็นร้านเหล้า เป็นลานเบียร์ เป็นอีเว็นต์ ซึ่งถ้าเราถอยออกมามองภาพรวมมันคือ เอา event นำและมีวงดนตรีมาเล่น ดนตรีเป็นองค์ประกอบ ที่ญี่ปุ่นเขาจะกลับกัน เขาจะมี space ให้วงดนตรีเล่น จัดมาเลย 3-4 วง เก็บ 500 เยน เก็บค่า drinkคนที่มาดูก็ได้ มาฟังเพลง ที่ live house เหล้าคือองค์ประกอบ คนแ_่งมาดูเราอ่ะ คนมาเสพเพลงใหม่ มันก็เลย ผมว่ามันเป็นโอกาสทำให้วงมีแตกต่างได้เยอะมาก เขาสามารถแตกต่างแล้วก็มีที่เล่นด้วย อย่างในประเทศเรามีวงที่แตกต่างเยอะแต่ก็อาจจะไม่ค่อยมีที่เล่น ต้องรอให้มีงาน Cat ที่นึง รอให้ Fungjai จัดถึงจะมี space ไว้เล่น

การที่ไปเล่นที่คนไม่รู้จักมันมีผลต่อการเล่นของเราไหม
อยู่ที่ไทยคนก็อาจจะรู้จักเราจากทีวี ก็มีความขาดหวังให้เราขำฮา พอไปญี่ปุ่นมันแบบ มาดุ้นๆ เลยเป็นโอกาสที่ให้เราทำเพลง เราจะเอาฮาคงไม่ได้แหละ ก็ไม่รู้จะฮากับเขายังไง คือคนเขาตั้งใจมาดูว่าเราเล่นดีไหมไม่ดีไหม สำหรับคนดูญี่ปุ่น ผมว่าเขาเอาใจช่วยเราอยู่ สำหรับผมนะ ผมว่ามันเป็นข้อได้เปรียบด้วยซ้ำที่เราไม่ใช่คนญี่ปุ่นอะเขาจะมีแบบว่า เอ้ยมันเป็นต่างชาติหวะ มันน่าดู ชีวิตนี้มัน ปกติไม่ได้ดูอ่ะ คนไทยเล่นมันเป็นไงหวะ อะไรแบบนี้ สำหรับผมนะตอนเล่นมันก็จะมีความเอื้อเฟือเรา แค่เราพูดภาษาญี่ปุ่นไม่ชัด เขาก็ฮาแล้ว คนไทยด้วยกัน คนที่นี้หรอ เขาก็ไม่ค่อยสนนะครับ เขาก็ใช้ชีวิตของเขา แต่อย่างว่าแหละ ไม่ว่าเขาจะสนหรือไม่ เราก็ต้องทำให้ดี เราก็ต้องเล่นให้ดี

ไป Music Festival มาหลายที่ คิดว่า Music Festival เมืองไทยขาดอะไรไป
ผมว่าวงมันน้อย ไม่ได้หมายถึงว่าวงที่มาเล่นน้อยนะ หมายถึงว่าวงทั้งหมด เราขาดความหลากหลาย ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงได้ยังไง ก็ยาก มันต้องใจกล้า กล้าเอาวงใหม่ๆ มาเล่น ซึ่งยาก มันเป็นธรรมชาติของแต่ละงาน งานเบียร์ก็จะต้องเป็นวงแบบนี้ งานอินดี้ก็จะเป็นวงใหม่ มันก็จะคล้ายๆ กันหมด ทำให้เอกลักษณ์ของแต่ละเทศกาลมันไม่โปร่ง เพราะว่าเราชูคนๆ เดียวกันหมด

พอมีครอบครัวแล้วทัศนคติในการเขียนเพลงเปลี่ยนไหม
ผมว่าไม่เกี่ยวกับการมีครอบครัวนะ ผมว่าเราโตด้วยแหละ เราโตกว่าคนฟังค่อนข้างเยอะ... มาก (หัวเราะ) คือเมื่อก่อนอ่ะเราอายุ 20 ต้นๆ คนฟังก็อายุเท่าเรา เขาพูดอะไรเราก็เข้าใจ เราพูดอะไรเขาก็เข้าใจ ตอนนี้คือแบบ.. มุกนี้ เขาจะเข้าในไหมหวะ ตอนนี้ก็ยังไม่ได้พยายามมาก(หัวเราะ)  คือมันก็ต้องพยายามมากขึ้นครับ แต่เราก็เห็นแบบพี่ฟองเบียร์ พี่ดี้อะไรอย่างเนี่ยแต่งเพลงแบบวัยรุ่นได้ตลอดเวลา เราก็มีความรู้สึกว่า เขาทำได้เราก็ต้องทำได้ซิวะ  

อยู่ในวงการมานาน ชอบให้คนเห็นว่าเป็นนักร้องหรือนักแต่งเพลงมากกว่ากัน
ผมไม่ค่อยได้คิดถึงว่าชอบให้เขามองเห็นเราในด้านไหน ถ้าถามตอนนี้ คือชอบเล่นดนตรีบนเวที ถ้าถามเมื่อ 5 ปีก่อนก็อาจจะตอบว่าชอบอยู่ห้องอัดก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้ไม่ชอบนะ แต่อาจจะไม่ค่อยมั่นใจ เรารู้สึกว่ารายังเขินๆ อยู่ ตอนนี้ไม่ค่อยเขิน อยากทำบ้าๆ บอๆ แล้วที่ไปทำชุดนี้ที่ญี่ปุ่นยิ่งมันไปอีก คนที่มาดูเราก็ไม่เคยรู้จักเรามาก่อน เท่ากับว่ามีแค่เราเล่นดนตรีอย่างเดียวแหละ ก็รู้สึกว่ามันสนุกมากเลยการเล่นให้พร้อมกันแล้วหยุดพร้อมกับแล้วคนเฮเพราะว่าเราเล่นดี

สมมติว่าทำเพลงภาษาอังกฤษแล้วมันรู้สึกว่าเหนื่อยที่จะไปถึงจุดที่เรียกว่าความสำเร็จจะหันหลังกลับไหมคะ
ผมว่าผมคงไม่เลิกหรอก แต่ว่าก็คงทำย่างอื่นไปด้วย ก็คงทำเพลงไทยไปด้วย หรือว่าทำอย่างอื่นไปด้วย คืออย่างที่พี่ตั้ม [วิศุทธ์ จากนิทรรศการ LR] ว่ามันก็จะเจอทางอื่น รอดไม่รอดอาจจะไม่ใช่คำตอบ แต่ว่าถ้าไม่รอดแล้วมันยังไม่สนุกด้วย ก็คงจะต้องเลิกแล้วละ แต่ว่าถ้าไม่รอดแต่ว่ายังสนุกอยู่ทำ ซึ่งมันก็ไม่รู้เหมือนกันว่าอะไรมันคือปัจจัยที่ทำให้แยกระหว่างการไม่รอดแล้วสนุกกับไม่รอดแล้วไม่สนุก ก็ยังมีความท้ทายอยู่ ยังอยากจะทำเพลงไทยมาตรฐานนี้ ก็เป็นความสนุกอีกแบบนึง ซึ่งไม่รู้จะรอดไหม

พอเห็นยอดวิว[ของเพลงภาษาอังกฤษ]แล้วมันจะน้อยกว่าเพลงไทย นอยด์ไหม
ไม่เลย คือที่มีอยู่นี่เยอะกว่าที่ผมคิดไว้อีกแต่ว่าก็ไม่ได้ซีเรียสมาก คือบอกเลยว่าที่เป็นอยู่มันก็สุดยอดแล้ว ถ้าพูดตรงๆ ก็คือว่าถ้ายิ่งคนรู้จักมากมันก็จะยิ่งดี แต่ว่ามันวัดความรักไม่ได้ มันวัดไม่ได้ว่าเขาชอบเพลงนี้ขนาดไหน เขาอาจจะเป็นเพลงแค่เปิดเอาบรรยากาศ อย่างศิลปินที่ผมชอบอ่ะ มันก็ไม่ได้ยอดวิวเยอะขนาดนั้น แต่ผมก็รักเขามาก ผมก็ไปดูคอนเสิร์ตเขาที่ต่างประเทศได้ ผมไปดูมิวลิคที่มียอดวิวน้อยกว่าผมอีกอ่ะ ผมก็น้ำตาไหลที่ได้เจอเขา เออ มันก็ มันก็เกิดขึ้น

เคยรู้สึกว่าการเล่นดนตรีมันเป็นงานประจำที่น่าเบื่อบ้างไหมคะ
มีช่วงนึงครับ ช่วงที่ มีช่วงที่แบบเล่นเยอะจริงๆ แต่ตอนหยุดมันทรมานกว่าตอนไม่เล่นอีก ผมว่ามันเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่จำเจด้วยแหละ ไปเล่นเพลงเดิมๆแต่พอเราได้ไปทำหลายอย่างได้ไป มันเกิดขึ้นหลังช่วงที่มีเพลงฮิต จริงๆ แล้วมันเป็น circle ของศิลปินเหมือนกันนะ ผมว่ามันเบื่อก็เพราะเราคิดแบบทำเพลงออกมาต้องฮิตอีก แทนที่เราจะทำแบบสิ่งที่เราสนุก เราก็เลยไปทำสิ่งที่เราคิดว่าจะติดตลาด มันมีความแข่งขันอยู่สูง แล้วมันดันไม่ได้ไปแข่งขันกับคนอื่น แต่แข่งขันกับตัวเรา ก็เลยไม่สนุก ชุดอังกฤษนี่ล้างบาปมากเลยนะ เพราะคิดว่าไม่มีใครฟังแน่ๆ ก็คือปล่อยเลย ก็รู้สึกสนุกที่สุดที่เคยทำในช่วงนี้ 

ซิงเกิ้ลล่าสุดชื่อ The Devil แสตมป์คิดว่าตัวเองมีความ Devil ในตัวเองไหม
มีอยู่แล้วครับผมว่าคนเราก็มีความเห็นแกตัว มีความอิจฉา มีความเกลียดชัง ก็มีถ้าไม่มีก็ไม่ใช่คน แล้วถ้าถามว่าเป็นเหมือนที่คุณเห็นผมไหม ก็อยู่ที่ว่าคุณเห็นผมตอนไหน คุณเห็นผมในรายการผมก็ไม่ได้อิจฉาให้เห็น ผมอาจจะไม่ได้เกลียดใครให้เห็น แต่ว่าผมก็เป็นอย่างนั้นแหละ เพียงแต่ว่ามันยังไม่มีใครมายั้วโมโหผมไง อะไรอย่างนั้น ณ เวลานั้น แต่นะเวลาที่ผมมีความสุข ผมก็มีความสุขแบบนั้น 

กว่าสิบปีที่โลดแล่นในวงการเพลงไทย แสตมป์คิดว่าพออายุมากขึ้นแล้วความฝันใหญ่ขึ้นตามไหมคะ
ผมว่าเล็กลงมันปัจเจกขึ้น ตอนเด็กจะฝันแบบคนอื่นๆ จะฝันเหมือนคนทุกคนอ่ะ เราจะฝันแบบที่เขาเขียนมาให้เราฝัน พอเราโตเราก็จะรู้สึกว่าเราฝันเพาะตัวมากขึ้น ไม่ได้แปลว่าเราฝันอินดี้นะ สมมติว่าเราฝันตอนเด็ก ถ้าถามนางงาม เขาจะว่า “หนูอยากให้โลกสงบสุข” แต่ว่าถ้าถามนางงามที่อายุ 40 เขาก็จะบอก “หนูอยากแก้ปัญหาเรื่องเด็กที่ลี้ภายจากสงคราม” อะไรอย่างนี้มันจะเฉพาะตัวขึ้นถูกไหมครับ ตอนเด็กผมก็จะแบบ เราฝันว่าเราอยากเป็นนักดนตรี มีดนตรีที่ประสบความสำเร็จ มีอัลบั้มขายได้หมดทุกคนเลย พออายุ 35 นี่ก็ผมก็อยากเป็นนักดนตรี ที่ได้เล่นดนตรี แล้วก็ได้เล่นเพลงที่เราชอบ หรืออะไรแบบนี้ มันก็จะเฉพาะตัวมากขึ้น เราจะรู้ว่า ว่าไอ้ความใหญ่มันไม่ได้เหมาะกับเรา แต่เป็นฝันเล็กๆ ที่เราไปถึงนั่นแหละ  

เรื่องเด่น
    เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ
      การโฆษณา