เจ๋อ Jerry GMM
Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

เจ๋อ-ภาวิต ซีอีโอบนชั้น 42 ที่ทำให้มิวสิคเฟสติวัลยังคงเป็นจุดนัดฝันของวัยรุ่นทุกสมัย

จากนักอิเล็กโทนสู่ตำแหน่งสูงสุดในวงการโฆษณา ล่าสุดชายยิ้มง่ายคนนี้ปักธงให้แกรมมี่อยู่ยั้งยืนนานกว่าชีวิตของเขา

Top Koaysomboon
เขียนโดย
Top Koaysomboon
การโฆษณา

ในแต่ละวันมีคนนับพันคนเดินเข้าออกตึกจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เพลส บนถนนอโศก สำนักงานใหญ่ของกลุ่มธุรกิจบันเทิงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แต่ในบรรดาลิฟต์นับสิบตัว มีเพียงสองตัวที่จะพาคุณไปถึงชั้น 42 ชั้นของผู้บริหารสูงสุดของเครือ

ห้องทำงานของ เจ๋อ-ภาวิต จิตรกร ซีอีโอสายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค อยู่บนชั้นนี้ ใกล้ห้องไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการและผู้ก่อตั้งบริษัทฯ แบบตะโกนเรียกก็ได้ยิน (แน่นอนว่าเราคิดว่าเป็นความตั้งใจ)

เรามีนัดกับพี่เจ๋อของน้องๆ หนึ่งวันหลัง จีเอ็มเอ็ม มิวสิค แถลงผลประกอบการปี 2561 เติบโตถึง 22% เกือบสามเท่าของตลาดเพลงทั่วโลก ด้วยตัวเลขที่พิสูจน์ได้เราเลยไม่รู้จะชวนพี่เจ๋อคุยเรื่องธุรกิจทำไม บทสนทนาของเราเลยเขยิบไปถึงเรื่องที่พี่เจ๋อไม่ค่อยพูดออกสื่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประสบการณ์ดนตรี เรื่องมิวสิคเฟสติวัล เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม เรื่องตัวตน และอีกหลายเรื่องตลอดการเดินทางจากนักโฆษณาแห่ง Ogilvy สู่การเป็นผู้บริหาร GMM Grammy ของชายที่เรียกตัวเองว่าเป็น "นักฝัน" คนนี้

ดูเหมือนว่าตั้งแต่พี่เจ๋อมาอยู่ GMM Grammy showbiz ก็ดูจะกลายเป็นสินค้าหลักของบริษัท

ผมตอบว่าเป็นสินค้าที่เติบโตสูงที่สุด ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การปรับตัว สองเรื่องที่เติบโตและกลายเป็นหลักขึ้นมา คือหนึ่ง digital business ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลเดียวที่ผมมาอยู่ที่นี่ เพราะถ้าผมไม่ใช่เจเนอเรชั่นที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องดิจิตอล และเคยทำ agency ที่เปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นดิจิตอลได้ คงไม่มีเหตุผลที่เขาจะจ้างผม ฉะนั้นผมต้องทำให้ digital ชนะ physical ซึ่งเราใช้เวลาสองปีจนถึงตอนนี้ผมพูดได้ว่าดิจิตอลเราแข็งแรง สองคือ showbiz ซึ่งแต่เดิมแกรมมี่ทำ แต่ไม่ได้แข็งแรงที่สุด เราก็คิดว่าสิ่งนี้แหละคือ… ผมเรียกว่าไข่แดง ในการทำธุรกิจมีไข่ขาวกับไข่แดง เราต้องมองเห็นไข่แดงให้ได้ก่อน หลายธุรกิจที่แพ้ disruption คือรู้สึกว่าไข่แดงตัวเองเบลอและคิดว่าไข่ขาวคือคำตอบ ซึ่งผมว่าผิด เพราะกลายเป็นว่าเรากำลังทำเรื่องที่เราไม่ได้เชี่ยวชาญที่สุด ไข่แดงของแกรมมี่คือ เพลง ศิลปิน ลิขสิทธิ์ และ showbiz มันอยู่ใกล้ไข่แดง เรามองเห็นโอกาสในการเติบโต

showbiz  มีสองความหมาย หนึ่งคือคอนเสิร์ต ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแสดงเดี่ยว ซึ่งความสำเร็จขึ้นอยู่กับสิ่งเดียวเลยคือเขาต้องมีคนที่รักเขา แต่สองคือเฟสติวัล เฟสติวัลในประเทศเราผมว่ามันโคตรเวอร์จินเลย โคตรของโคตรเวอร์จิน คุยกับใครถามใครแ-่งก็มีแต่ Big Mountain แล้วที่เหลือคืออะไร? ไม่รู้ จำไม่ได้ ถ้าคิดแบบนักการตลาดเราก็มองเห็นโอกาส และเป็นเหตุที่ทำให้เฟสติวัลโตมาก

Big Mountain จัดต่อเนื่องมาหลายปี ผ่านช่วงขาขึ้นและขาลงมามาก อะไรที่ทำให้คนไปยังไป Big Mountain กันอยู่เรื่อยๆ

ผมยอมรับว่า Big Mountain ผ่านมาหลายเหตุการณ์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำให้คนไป ผมว่าข้อแรกผมต้องให้เครดิตพี่เต็ด [ยุทธนา บุญอ้อม] ที่เป็น founder ผมว่าพี่เต็ดได้สร้างเลิฟมาร์คไว้กับ Big Mountain ในทุกๆครั้ง ทำให้คนที่ไปเขามีเหตุผลที่เป็น emotional มากว่าทำไมฉันถึงต้องกลับไปซ้ำ มันเป็นประสบการณ์ Once in a Lifetime ที่คนควรจะไปสักครั้ง และสำหรับคนที่เคยไปแล้วเขาก็จะรู้สึกว่า มันเป็นความรู้สึกที่ควรจะเสพต่อ มันมีโมเมนต์ที่มากกว่าเทศกาลดนตรี

ข้อที่สองก็คือ ผมว่าเรามีหลักในเชิงยุทธศาสตร์ เราเชื่อว่าคนที่ไป รอ commitment ที่จะทำให้มันดีขึ้น เราก็ได้ยินนะครับที่เขาบ่นเรื่องฝุ่น เรื่องห้องน้ำ เรื่องที่จอดรถ ซึ่งเราไม่ได้เพิกเฉย เราเต็มที่ที่สุด ผมใส่เงินลงทุนเพิ่ม ใส่ความตั้งใจ แต่ไม่มีวันนะครับที่จะไม่มีใครไม่บ่นเรื่องห้องน้ำ (หัวเราะ) มันเป็นสิ่งที่เรารับรู้ และเราจะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น

ข้อที่สาม ผมว่าการที่ Big Mountain จะสำเร็จได้ เราต้องเชิดชูอุตสาหกรรมดนตรี Big Mountain ไม่ได้เป็นความดีความชอบที่ตัวเราเองนั้นเป็นคนทำ เป็นศิลปินที่เขายึดมั่นในวิชาชีพและเขาอยากจะทำงานของเขาให้ดีที่สุด เผอิญเราทำให้พวกเขามารวมตัวกันได้ ผมขอบคุณทั้งสองฝ่าย มีพี่เต็ดซึ่งเป็นผู้จัดที่ดี มีศิลปินที่เขามีคุณภาพและถูกเลือกมาอย่างเหมาะสมในแต่ละปี

Big Mountain ไม่ได้เป็นความดีความชอบที่ตัวเราเองนั้นเป็นคนทำ เป็นศิลปินที่เขายึดมั่นในวิชาชีพและเขาอยากจะทำงานของเขาให้ดีที่สุด เผอิญเราทำให้พวกเขามารวมตัวกันได้

แล้วในส่วนของประเด็นสิ่งแวดล้อมที่ Big Mountain โดนวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดทุกปีละครับ 

เอาข้อที่หนึ่งก่อน ผมตอบแบบนี้เลยว่าเราไม่มีเหตุที่จะเรียกว่าบุกรุกสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสิ่งที่เราเข้าไปทำนี่แยกออกได้เป็นสองประเด็น คือประเด็นที่เราควบคุมได้กับประเด็นที่เราควบคุมไม่ได้ และผมก็พูดตรงนี้เลยว่า เราจะทำให้มันดีขึ้นเรื่อยๆ เวลาที่เราไปเช่าที่เราเข้าไปในพื้นที่การเกษตร ไม่ได้เข้าไปในพื้นที่ป่า เราคุยกับคนที่อยู่ในพื้นที่ว่าเป็นไปได้ไหมถ้าเราจะใช้พื้นที่ตรงนี้ เช่นถ้าเป็นแปลงของเกษตรกร เราคุยกันเนิ่นๆ เลย เพื่อจะให้เขาเพาะปลูก เก็บผลผลิต เก็บเกี่ยวแล้วก็ไถหน้าดิน ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ เราไปบุกรุกเขา

ข้อที่สอง เรามีแนวทางในการรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะเรื่องความสะอาด จากที่เห็นภาพข่าวในโซเชียล ผมอยากขอโอกาสในการชี้แจงว่าภายในพื้นที่งาน เรามี staff กว่าหนึ่งหมื่นสองพันคนที่ดูแลเรื่องความสะอาด และเรามีการรณรงค์เสมอ แต่จากปีที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีการแชร์ภาพเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรื่องนี้ผมขอแยกเป็นสองบริเวณ คือภายในงานซึ่งผมมั่นใจและพูดได้เต็มปากว่าเราเก็บสะอาด 100% ในขณะที่รอบนอกงานนั้นผมยอมรับว่าควบคุมไม่ได้ อย่างไรก็ตามเราก็จะมีมาตรการให้ดีขึ้นในปีนี้และรณรงค์เพิ่มขึ้น Big Mountain ครั้งถัดไปคุณจะเห็นทีมเดินเก็บขยะแบบ [เทศกาลดนตรี] ญี่ปุ่นเลย มียุทธศาสตร์คือเดินเก็บให้ดูเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าคุณไม่ควรจะทิ้วสิ่งเหล่านี้ไว้เป็นภาระของสังคม

ข้อที่สาม เรื่องเสียงดัง เราเองก็มีเรื่องของมาตรการการควบคุมเวลา การควบคุมเวที ไม่ใช่ทุกเวทีเล่นสนั่นกันยันตีสี่  ไม่มีนะครับ เท่าที่เข้าใจก็คือว่าจะลดพื้นที่ลงมา แล้วเราก็เริ่มวาง map ของเสียง เพื่อที่จะให้เวทีที่ต้องเลิกตามเวลาต้องหยุด ซึ่งอาจจะไม่ 100% ซึ่งเรามีการคุยกับชาวบ้านในละแวกเพื่อหารือเรื่องนี้  ก็เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าเราก็ทำหน้าที่ในการที่ดูแล และก็ไม่ได้คิดว่าเราจะเพิกเฉยครับ

เฟสติวัลในกรุงเทพฯ ที่ชื่อว่า What the Fest ได้อะไรมาจาก Big Mountain บ้าง

Big Mountain เกิดก่อน บางคนอาจจะไปครั้งเดียวแล้วไม่ไปอีกแล้ว บางคนอาจจะชอบมาก กลับไปสามครั้ง คือถึงผมจะชอบผัดกะเพรามาก ผมก็เคยกินข้าวผัดกะเพราสูงสุดติดต่อกันได้แค่แปดวัน [ในทางเดียวกัน] มันไม่มีทางที่คนจะไป Big Mountain แล้วกลับไปตลอด เรามองว่าต้องมีเฟสติวัลใหม่ที่มาเติมเต็ม

ผมบอกความลับเลยว่า What the Fest เกิดขึ้นมาเพื่อจะส่งคนไป Big Mountain ในอนาคต ซึ่งเป็นความลับที่ผมอยากให้คนรู้ด้วย ผมว่าวันนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก Big Mountain ต่อให้เป็นเด็ก gen ใหม่จะได้ยิน จะไปได้ จะไปไม่ได้ จะเป็นกลุ่มวัยรุ่น เป็นกลุ่มคนทำงาน ซึ่งผมเชื่อว่ากลุ่มที่ไปได้คือได้ไปแล้ว แต่ยังมีกลุ่มที่ไปไม่ได้ เนื่องจากพ่อแม่ไม่ให้  ไม่สะดวกกับเงื่อนไขเวลา เพราะมันจะจัดอยู่ long weekend แรกของเดือนธันวาคม ซึ่งจะติดสอบหรือเปล่าก็ไม่รู้ แล้วไหนจะต้องไปต่างจังหวัด ต้องหาที่พัก ค่าใช้จ่ายอาจจะสูง เพราะสำหรับเฟสติวัล มันไม่ใช่แค่ค่าบัตร มันมีค่าที่พัก ค่ากินอยู่ ค่าเดินทาง What the Fest ถึงกำเนิดมาเพื่อวัยรุ่นโดยเฉพาะ ถ้าพูดภาษา marketing ก็จะเรียกว่าเป็น Door Opener Product สำหรับคนที่จะไป Big Mountain ซึ่งมีจิตวิญญาณของความเป็นเฟสติวัลตัวจริงมากกว่า เป็นจิตวิญญาณของคนที่หลากหลายมาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางดนตรีที่หลากหลาย ซึ่งหมายความว่า เขาอาจจะมาด้วยวง หรือ 16.48 แล้วเขากลับบ้านไปด้วยความประทับใจใหม่ว่า ไม่ได้มีแค่นี้นะที่ฉันชอบ ฉันได้รู้จัก 16.56 รูปแบบอื่น ฉันได้ฟังเพลงของศิลปินคนนี้ หรือฉันอาจจะชอบศิลปินคนนี้ บางคนอาจจะไม่เคยฟังจินตหรา  บางคนอาจจะไม่เคยฟังค็อกเทล บางคนอาจจะเคยฟังแต่บอดี้สแลม บางคนอาจจะไม่เคยฟัง แดเนียล ดิษยะศริน ไม่เคยฟังฮิปฮอปตัวเป็นๆ ว่าโอ้โหสนุกขนาดนี้

และจิตวิญญาณจะยังมีเรื่องของความไปลำบากลำบนต่างจังหวัด ได้มิตรภาพที่แตกต่าง ซึ่ง What the Fest ถูกออกแบบมาเพื่อทำลายกำแพงเหล่านี้ทั้งหมด จัดกลางกรุงเลย จัดกลางปี นั่งรถไฟฟ้ามาไม่ต้องกลัวรถติด ไม่ต้องกลัวร้อนเพราะแอร์เย็น ไม่ต้องกลัวฝุ่น ไม่ต้องห่วงห้องน้ำไม่ดีเพราะคือห้องน้ำพารากอน ไม่ต้องห่วงว่าต้องหาที่พักค้างแรมก็เต็มที่ได้สองวัน โคตรคุ้มเลย ซึ่งถึงจะมีจิตวิญญาณไม่เท่าเฟสติวัส 100% แต่ก็เอา head liner ที่ดังที่สุดในอุตสาหกรรมดนตรี ฮิตที่สุดสำหรับวัยรุ่นมาเล่น เพราะกลุ่มเป้าหมายเราเป็นวัยรุ่น ซึ่งได้ตั้งแต่ระดับนักเรียนจนถึงระดับมหาวิทยาลัย หรือแม้กระทั่งคนทำงานที่มีหัวใจวัยรุ่น หรืออยากจะเจอวัยรุ่น (หัวเราะ) ก็สามารถมา What the Fest อ่อ… ตั๋วก็ถูกกว่า Big Mountain (หัวเราะ)

การทำเฟสติวัลที่อยู่มานานหลายปีให้คนยังอยากไป กับการสร้างเฟสติวัลใหม่อะไรยากกว่ากัน

มีความยากคนละมิติ  ไม่ได้ตอบแบบนักการเมืองนะครับ (หัวเราะ) ผมตอบแบบนี้ครับ... ความยากอันดับแรก ไม่ว่าจะเป็นเฟสติวัลเก่าหรือเฟสติวัลใหม่ คือต้องสร้าง branding ให้สำเร็จ การได้เงินแต่สร้างแบรนด์ไม่เกิดคือความพ่ายแพ้แห่งอนาคต อันนี้ซีเรียส เพราะผมเห็นในปัจจุบันมีเยอะมากที่คนอยากจะจัดเฟสติวัล ทีเดียวไป ปีหน้าไม่ดีแล้ว การสร้างแบรนด์สำคัญ คือ challenge ข้อที่หนึ่ง ซึ่งสำหรับข้อนี้ การจัดเฟสติวัลใหม่ยากกว่าเฟสติวัลเก่า  โคตรยากเลย ถึงแม้จะบัตร sold out แต่ผม classify ตัวเองว่ายังไม่สำเร็จนะครับ เพราะเดินมาสิบคนรู้จัก What the Fest หนึ่งคน แปลว่ายังบกพร่องเรื่อง awareness ยังบกพร่องเรื่อง positioning มันด่วนสรุปมากถ้าเราจะบอกว่าเราสำเร็จเพราะ sold out

ข้อที่สองก็คือธุรกิจ ซึ่งพอเป็นธุรกิจก็แปลว่าไม่มีใครบ้าจัดแสนคนตั้งแต่ครั้งแรก เพราะฉะนั้นการสร้างเฟสติวัลใหม่เราต้องมองสเกลที่เหมาะสม ที่เราคิดว่าเดินครั้งแรกแล้วจะไม่เจ๊งแล้วค่อยทำ แต่ความยากด้านธุรกิจกลับไปอยู่ที่เฟสติวัลเก่า ขอถามกลับ ผู้บริโภคในประเทศไทยมีใครให้เราขึ้นค่าตั๋วปีละ 20% ได้ไหม แล้วห้องน้ำจะได้ดีขึ้น 20% ตามด้วย ไม่มีนะครับ ทุกวันนี้ energy drink ประเทศเรายังขายสิบบาททั้งที่ค่าน้ำมันเมื่อยี่สิบปีที่แล้วกับทุกวันนี้ต่างกันมหาศาล เฟสติวัลก็เหมือนกันครับ ผมว่าราคามีเพดาน ซึ่งแปลว่าคุณต้องหาคนเพิ่มทุกปี การเติบโตเลยยาก อย่าง Big Mountain นี่ให้โต 10% ต่อปีคือ โอ้โห... เข็นครกขึ้นภูเขา

ผมว่าเราทุกคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมดนตรี ไม่ใช่แค่แกรมมี่คนเดียว มีหน้าที่รับผิดชอบที่จะสร้างสรรค์ศิลปินใหม่ๆ

ภาพจำสำหรับเราเด็กยุค 90 คือแกรมมี่จะมีศิลปินใหม่ๆ นักร้องใหม่ๆ ออกมาบ่อยมาก แต่เหมือนสิ่งนี้ขาดหายไปอยู่พักใหญ่ ต่อเนื่องไปถึง headliners ในมิวสิคเฟสติวัลก็กลายเป็นคนเดิมๆ ซ้ำๆกัน มันเกิดอะไรขึ้น

เป็นฉบับแรกที่ถามผม  ซึ่งผม appreciate มากและผมจะตอบคำถามนี้ ผมว่าเราทุกคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมดนตรี ไม่ใช่แกรมมี่คนเดียวนะครับ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ที่จะสร้างสรรค์ศิลปินใหม่ๆ เฟสติวัลที่จัดขึ้น มีแต่ศิลปินแกรมมี่หรือเปล่าครับ [หลากหลาย—ผู้สัมภาษณ์] ถูกไหมครับ อันนั้นแฟคเตอร์ที่หนึ่ง เพราะฉะนั้นไม่ว่าใครจะจัด เฟสติวัลคือตัวแทนของ industry เสมอ เพียงแต่ว่าเรามีเงินทุนที่จะจัด ผมตอบคำถามนี้แทน industry ไม่ได้  ทุกคนพยายามทำ มีถอดใจเลิกทำไปบางค่าย บางค่ายก็ทำ แต่ว่าทำดังบ้างไม่ดังบ้าง บางค่ายทำดังได้ ทำได้วงเดียวนะ ดังทะลุฟ้าเลย ที่เหลือก็ยังไม่ดัง แกรมมี่เองก็เช่นกัน เราเชื่อว่า เรา commit ที่จะสร้างศิลปินใหม่ สิ่งที่เป็นก็คือว่า ตอนนี้ศิลปินใหม่เกิดตามไม่ทัน headliner ถึงซ้ำ ซึ่งผมจะแยกเรื่องนี้ออกเป็นการแก้ปัญหาสองแบบ

การแก้ปัญหาแบบที่หนึ่ง ก็คือเราต้อง commit ที่จะสร้างศิลปินใหม่ ซึ่งเรามี roadmap ที่จะทำอยู่  [แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น] สิ่งที่ต้องแก้ก่อนคือทำให้ธุรกิจให้ stable ผมไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบว่าผมยังสร้างศิลปินใหม่ที่ดีขึ้นมาดังเท่าเดิมไม่ได้ แต่ผมมีแผนระยะสั้นที่ผมต้องทำให้รอดก่อน เพราะถ้าบริษัทเดินไม่ได้ก็อย่าไปพูดถึงศิลปินใหม่ ใครจะมาอยากอยู่บริษัทที่ไม่สำเร็จ ผมขอถามกลับ ในเมื่อวันนี้ทุกคนสามารถเป็น YouTuber ได้ทุกคน ไม่มีศิลปินคนไหนหรอกคิดว่าจะต้องอยู่แกรมมี่ในเมื่อมันไม่มีความสำเร็จที่จะจับต้องได้ แต่เดิมในยุคอดีตมันมีความสำเร็จที่จับต้องได้เยอะมากซึ่งเขาก็คงอยากมาอยู่กัน แล้วเป็นยุคที่เพลงเฟื่องฟูมาก

ผมไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบว่าผมยังสร้างศิลปินใหม่ที่ดีขึ้นมาดังเท่าเดิมไม่ได้ แต่ผมมีแผนระยะสั้นที่ผมต้องทำให้รอดก่อน เพราะถ้าบริษัทเดินไม่ได้ก็อย่าไปพูดถึงศิลปินใหม่ ใครจะอยากมาอยู่บริษัทที่ไม่สำเร็จ

การแก้ที่สองคือ ผมต้องมียุทธศาสตร์ในการทำ mixture ของศิลปินที่มีเท่าเดิมให้ industry แต่ทำให้มันเวิร์ค ในหน้าหนังเฟสติวัลหลายรูปแบบ ก็แปลว่า creative concept ต้องใหญ่กว่า  อันนี้คือหลักคิด เพราะฉะนั้นถึงผมจะมี 6 เฟสติวัล ที่ต่อให้ศิลปินเหมือนกันหมด experience ที่คนไปจะได้รับก็จะไม่เหมือนกัน แต่ว่ามี คอนเซปต์ที่ครอบเพื่อให้ mixture ฉะนั้นจะเห็นว่าผมแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ  และผมแก้ปัญหาระหว่างเหตุ

ในเรื่องของศิลปินใหม่ที่เราจะต้องสร้าง ก็ถูกแยก segment ออกมาให้มีผู้รับผิดชอบ ทั้งป๊อบ ร็อค ลูกทุ่ง  ร็อคนี่ชัดมาก ศิลปินที่มีอยู่โคตรแข็งเลย แล้วโอกาสการเกิดศิลปินใหม่จะมาจากไหน เราก็เติมพี่อ๊อฟ บิ๊กแอสเข้ามาอยู่ในค่าย รับผิดชอบเรื่องศิลปินหลักที่มีอยู่สักครึ่งหนึ่ง ให้ดูสายร็อค บอดี้สแลม บิ๊กแอส Retrospect แล้วก็มีโปรเจกต์ที่ชื่อว่า New Folder เป็นเรื่องของการเลือกศิลปินใหม่ พี่อาร์มก็ลงไปช่วยดู 25.45 เพื่อสร้างค่ายที่มีศิลปินใหม่

ลูกทุ่งก็มีทีมที่ไปสร้างศิลปินใหม่ และเริ่มเกิดขึ้นมาแล้ว อย่างเช่น ลำเพลิน วงศกร คนนี้เป็นศิลปินลูกทุ่งที่ดังที่สุดในปีที่แล้ว มีร้อยล้านวิวมากที่สุดในกลุ่มศิลปินลูกทุ่ง ยังเด็กมากแล้วก็เป็นคนที่ทำลายสถิติ YouTube ว่าเป็นศิลปินคนแรกที่สามารถทำเพลงได้ร้อยล้านวิว ภายใน 41 วัน ไม่มีศิลปิน segment อื่น หรือค่ายอื่นทำได้ ฉะนั้นตอนนี้ลูกทุ่งเริ่มมีหน้าใหม่แล้ว หน้าใหม่ที่บิ้วท์ขึ้นมา

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับความจริงข้อหนึ่งว่าวันนี้คนอยากเป็นศิลปินน้อยลงนะ  คนอยากเป็นดารา เพราะอาชีพดารา มันก็มี commercial base ที่เป็น return สูง ในคณะที่ศิลปินจำเป็นต้องมี journey ที่ยาวนาน ต้องยึดมั่นจริงๆว่า เกิดมาเพื่อเป็นศิลปิน แน่วแน่ ผมขอยกตัวอย่าง น้องอะตอม โอ๊ต ปราโมทย์ ลุลา พวกเขานี้อยู่ [ในวงการเพลง] เกือบสิบปีนะ ใช่ว่าโผล่ขึ้นมาตั้งแต่วันแรกซะที่ไหนล่ะ

ผมให้เครดิตค่าย What the Duck เสมอที่เขาสร้าง The Toys ให้เกิดในเวลาอันสั้น แต่ตัว The Toys เองก็อยู่ในวงการ,kยาวนานระดับหนึ่งนะกว่าจะมาอยู่เบื้องหน้า ฉะนั้นศิลปินในวันนี้ ผมว่ามันไม่ได้แค่เรื่องของความดัง แบบ one hit wonder… จริงๆ ในอดีตในแกรมมี่ก็เยอะนะ มีเพียบที่ดังเพลงเดียว แต่คุณจะเป็นศิลปินจริงๆ คุณต้องสะสมทั้งเพลงฮิตและแฟนคลับสะสมคนที่รักคุณ ถึงจะทำให้คุณเป็นศิลปินตัวจริงที่อยู่อย่างยั่งยืน

ในเมื่อทุกวันนี้ทุกคนสามารถเป็น YouTuber ได้ทุกคน ไม่มีศิลปินคนไหนหรอกคิดว่าจะต้องอยู่แกรมมี่ในเมืองมันไม่มีความสำเร็จที่จะจับต้องได้

คุณดูพี่เบิร์ดสิ ทุกวันนี้ ผมดู แบบเบิร์ดเบิร์ด เมื่อวาน รอบที่สี่จากหกรอบ ผมนั่งดูพี่เบิร์ด คนอะไร พูดสี่รอบเหมือนกันหมด เป๊ะมาก เชื่อไหมว่าพี่เบิร์ดเดินลงบันไดก้าวขั้นลงมาเท่าเดิมเลย บันไดมีอยู่ยี่สิบแปดขั้น พี่เบิร์ดเดินลงมาสิบสองขั้น แล้วหยุด พลิกตัวกลับหันไปร้องเพลงต่อ ทำเหมือนเดิมทุกรอบ ร้องเพลงไหนคนก็ร้องตามได้ คุณคิดว่าแบบนี้ต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ผมออกให้ก็ได้นะ 12 ซิงเกิ้ลต่อปี ร้องไปเลย 12 ซิงเกิ้ล แต่ผมไม่เชื่อว่าดังทั้ง 12 ซิงเกิ้ล

เพราะนอกจากคนอยากเป็นศิลปินน้อยลง โอกาสสำเร็จน้อยลง ดันมาอยู่ในยุคที่สื่อ fragment อีก จากแต่เดิมที่เหมือนมีการบังคับดู บังคับชมสื่อ แล้วแทบจะเป็นช่องทางที่บอกได้ว่า เกิดหรือดับเพราะไม่มีอะไรเลือก ก็ฟังไปทั้งวันทั้งคืน ทีวี วิทยุคุณก็ฟังไปทั้งวันทั้งคืน ทุกวันนี้เป็นอย่างนั้นซะทีไหนล่ะครับ  เอาแค่ว่าการรับฟัง รับชม ยังต้องแยกเลยนะ ว่ามีแบบหนึ่งเป็น video base อีกแบบหนึ่งเป็น audio base แล้วมีแพลตฟอร์มละเท่าไหร่ นี่ยังไม่นับว่าคุณต้องไปเทียบกับว่า ทำไมต้องเพลง ไปดูอย่างอื่นอีกสิ ถึงได้บอกอุตสาหกรรมตรงนี้ เป็นอุตสาหกรรมแย่งเวลาคน เป็นอุตสาหกรรม content ที่แย่งเวลาคน ผมไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็น music company มาตั้งแต่แรกที่ผมเป็น CEO ผมคิดว่าเราเป็น content company ที่ต้องทำงานให้เข้ากับยุคสมัยของ แพลตฟอร์มที่เปลี่ยน media landscape ที่เปลี่ยน

การคิดว่าตัวเองเป็น content provider, content company เกี่ยวไหมครับกับการที่หลังๆ เฟซบุ๊คของ GMM Grammy ทำคอนเทนต์ที่ไม่เกี่ยวกับเพลงเยอะมาก

จริงๆ ไม่ใช่แค่เฟซบุ๊คนะครับ ทุกแพลตฟอร์ม ไลน์ ยูทูบ เพราะผมคิดว่าเทรนด์ของมนุษย์ในปัจจุบันนี้เขาไม่ได้เสพแค่เพลง only เขาก็ไม่ได้ชอบคุณแค่เรื่องร้อง เขาชอบที่คุณมี DNA แบบนี้ เพราะฉะนั้นการที่คุณจะมี DNA หลากหลายรูปแบบจึงไม่ใช่เรื่องจำกัดของศิลปิน ศิลปินจะมี content ที่เป็นชีวิตส่วนตัว ถ้าเขาอยากทำผมจะไปห้ามเขาทำไม ถ้าเขาสามารถไปอยู่ในรายการวาไรตี้ออนไลน์ที่แกรมมี่ผลิตแล้วคิดว่า เออ… ดีนะ ฉันไม่ได้รู้จัก เป๊ก ผลิตโชค จากมุมเดียว คุณโอ๊ต ปราโมทย์ ก็ไม่ต้องมิติเดียวนี่ เขาร้อง backup มาสิบกว่าปีแล้วคุณโอ๊ตก็พิสูจน์ตัวเองว่าเขาอยู่ได้ทุกรายการโดยที่ไม่ต้องเป็นเพลงอย่างเดียว แล้วไม่ต้องอยู่แต่ในแกรมมี่ด้วย ผมว่ามันเป็นความใจกว้างในการเข้าใจธุรกิจในอนาคตว่าคอนเทนต์ไม่ได้มีแนวทาง เรายังไม่อยากดูละคร 31.25 ใครจะไปดูหนังเศร้าตลอดเวลา

พี่เจ๋อเคยให้สัมภาษณ์ว่า คนไป มิวสิค เฟสติวัล มีสามแบบ คือคนที่เคยไปแล้วไม่ไปอีก คนที่เคยไปแล้วก็กลับไปทุกครั้ง และคนที่ไม่เคยไปเลย ถ้าจะต้องสื่อสารกับคนที่เคยไปแล้วแล้วไม่อยากกลับไปอีก และไม่เคยไปเลยต้องสื่อสารยังไงครับ ให้เขาจะไป What the Fest หรือ Big Mountain

ผมชอบคำถามนี้มาก ข้อแรกก่อน ต้องถามผมว่าผมอยากคุยกับคนไหน อันนี้เป็นหลัก marketing basics เลยครับ คนที่เป็น rejecter หมายความว่าเราเคยรักกัน แล้วไม่รักเราแล้ว มันต้องมีผลแห่งความที่ทำให้ไม่รัก คนกลุ่มนี้ผมอยากได้เขากลับมานะ แต่ผมไม่คิดจะไปง้อเขา เพราะผมคิดว่าผมคงทำไม่ดีและเขาก็คงไม่มีวันที่จะกลับมาหาผม แล้วผมต้องใช้แรงเยอะมาก ผมก็คงต้องปล่อยเขาไปพราะผมบังคับประสบการณ์ไม่ได้ เฟสติวัลมันไม่ได้เป็นแบบนั้น ฉะนั้นกลุ่มที่ไปแล้วไม่ชอบเราก็ต้อง respect ความไม่ชอบของเขา

ผมสนใจคนที่ไม่เคยมามากกว่าเพราะว่าคนที่ไม่เคยมาเยอะมาก ซึ่งถามว่ายากกว่าไหม ผมว่ายาก นึกออกไหมครับ เพราะว่าเราต้องเปิดซิงเขาน่ะ ให้เขามา (หัวเราะ) การที่จะให้เขาเปิดซิงมาได้นี่มันต้องแวดล้อมด้วยอะไร ผมว่าข้อแรกเนี่ย สิ่งสำคัญที่สุด ผมเชื่อว่า top tier ที่ปฏิเสธไม่ได้คือ  เขาต้องสนใจในดนตรีอยู่แล้ว ต้องสนใจใน category ของศิลปิน มันเป็น door opener ที่ใหญ่ที่สุดที่ผมไม่คิดว่าจะมีเรื่องอื่นมาทดแทน คือถ้าเขาไม่เคยชอบ บอดี้สแลมเลย หรือเขาไม่เคยชอบเป๊ก ผลิตโชค เขาไม่เคยชอบ เดอะทอยส์ เขาไม่เคยชอบลุลา หรือเขาไม่เคยชอบ โอ๊ต ปราโมทย์ ป๊อป ปองกูล หรือไม่ได้ชอบ Jet’seter มันไม่มีวันจะมาไง

ข้อแรกมันต้องเป็นความเกี่ยวพันกับ music นะครับ ข้อที่สองคือ เราต้องพลัสคอนเซปต์ที่น่าสนใจ สิ่งที่ผมพูดกับทีมปากจะถึงพื้นทุกวันนี้คือ คุณต้องทำให้เฟสติวัลโมเมนต์นั้นจับต้องได้ นั่นคือหัวใจที่สำคัญที่สุด Big Mountain จะไม่มีวันเหมือน What the Fest และ What the Fest จะไม่มีวันเหมือน Big Mountain

เฟสติวัลโมเมนต์ของ What the Fest นี่ผมบอกได้เลยว่ามันเป็น festival of friendship ของวัยรุ่นยุคนี้ที่เชื่อว่าเพื่อนสำคัญว่าทุกสิ่ง moment นั้นต้องถูกดีไซน์ออกมา ที่เหลือมันเป็นจุดขายเบสิกทางการตลาด เรามีวงดังมากกวาสามสิบวง มี art display ที่วัยรุ่นถ่ายได้ทุกจุด คุณจะเห็นเพลงฮิตกลายเป็นอาหาร คุณจะเห็นเพลงฮิตกลายเป็น LED คุณจะเห็นเพลงฮิต กลายเป็นเหมือน museum หรือเป็น display ขนาดยักษ์ที่คุณทุกคนถ่ายรูปกับเพื่อนได้หมด  แต่นั่นคือเปลือก หัวใจหลักก็คือมันเป็นโมเมนต์ของความเป็นวัยรุ่น นั่นคือสิ่งที่สำคัญ

คุณต้องทำให้เฟสติวัลโมเมนต์นั้นจับต้องได้ นั่นคือกหัวใจที่สำคัญที่สุด

แล้วเด็กชายเจ๋อเป็นคนยังไงครับ

เด็กๆ เนี่ยผมเป็นเด็กกลางห้อง ก็คือผมกระเดียดไปทางด้านเด็กตั้งใจเรียน สมัยประถมผมจำความได้ว่าผมเป็นเด็กเรียน ไม่ได้ท็อปของห้องแต่อยู่กลางๆ ค่อนไปทางดี พอเข้ามัธยมผมก็เริ่มเตะฟุตบอลตามสไตล์วัยรุ่นมัธยม ผมก็เป็นเด็กกลางห้องอีก ก็คือเรียนไม่ตก พอผมเข้ายุคเด็ก ม.ปลาย ผมมีความมุ่งมั่นที่จะเรียนในสิ่งที่ผมฝัน แต่ครอบครัวผมไม่ให้ผมเรียน เพราะฉะนั้นผมก็ไม่ได้เลือกคณะที่ผมอยากจะได้เรียน ผมอยากเป็นสถาปนิก แต่บ้านพ่อผมเป็นสถาปนิกเจ็ดคน เขาไม่อยากให้ผมเรียนสถาปัตยกรรม เขาบอกว่ามันจะโตขึ้นมาลำบาก ซึ่งถ้าย้อนเวลากลับไป พ่อพูดถูกแต่ผมเป็นวัยรุ่น ผมก็รั้น ผมอยากเรียนมัณฑศิลป์ ศิลปากร ซึ่งพ่อแม่ผมจุฬาฯ ทุนคิงฯ ทั้งคู่ เรียกว่าน้ำคนละเนื้อ เรียกว่าไม่เข้ากันเลย  ก็เลยเจอกันตรงกลางก็คือ ผมไปเรียน business ที่ ABAC เอาเป็นว่าแหกสุดโค้ง ยุคนั้นผมยังคิดว่าผมเป็นเด็กกลาง ไม่ได้คิดว่าตัวเองโคตรเรียน และไม่ได้คิดว่าตัวเองโคตรแย่ เอาผ่าน ถ้าเป็นเกรดก็คือสองกลาง จนถึงสามต้น

พอเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ชีวิตก็แบ่งอีกเป็นสองฟาก สองปีแรกผมก็คิดว่าผมเป็นกลางอีกแหละ  เป็นคนกลางมาตลอดแหละ ง่ายๆ อะไรก็ได้ สนุกสนาน แต่ก็ไม่ได้แย่เสียจนไม่เรียน neutral มากเลยครับ ชีวิตเปลี่ยนตอนปีสาม ปีสี่ คือผมใกล้ชิดกับคุณยาย แกเคยฝากฝังว่าอยากให้เรียนให้จบ เรียนให้สำเร็จ ซึ่งทำให้ผมตั้งใจมากที่จะต้องมีชีวิตที่ทำให้ได้ตามที่คุณยายขอ จากเด็กกลางๆ ผมก็กลายเป็นเด็กเรียนดีแบบ 3.8-4.0 แบบข้ามคืน

พอทำงานนี่เริ่มติสท์แล้ว เริ่มรู้แล้วว่า อ๋อ -ูไม่ใช่คนธรรมดาว่ะ ค้นพบตัวเองว่าเราไม่ใช่คนธรรมดา เราน่าจะเป็นเลิศได้ในสิ่งที่เราทำ ผมค้นพบตัวเองตอนอายุยี่สิบ เพราะผมทำงานอายุสิบเก้า ค้นพบตัวเองว่าผมอยากเป็นครีเอทีฟ แต่เขาไม่รับครีเอทีฟ เขารับ AE ผมก็ฝืนใจทำ AE ไปนั่นแหละไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะเราคิดว่ายังเด็กจะเปลี่ยนงานจะเปลี่ยนแค่ไหนก็ได้ แล้วผมพบว่า AE ในยุคผมเกิน 80% ไม่ครีเอทีฟ AE ที่ครีเอทีฟมีพื้นที่น้อยมาอยู่ดีๆ ก็นิมิตขึ้นมา เห็น Gap ของตลาด ผมก็เลยคิดว่า ผมจะเป็น AE ที่ครีเอทีฟที่สุดในประเทศให้ได้ คือจุดพลิกของผมเลยที่เปลี่ยมผมจากเด็กกลางๆ มาเป็นเด็กที่ต้องเอาที่หนึ่งน่ะ ดีที่สุดในประเทศก็คือ เลือกบริษัทที่ไม่ดีที่สุดในประเทศ  ไม่ได้ดังที่สุดในประเทศ เลือกบริษัทกลางๆ แล้วมีเป้าหมายว่าวันหนึ่งบริษัทที่ดีที่สุดในประเทศจะต้องมาชวน ผมใช้เวลาอยู่แปดปีจน Ogilvy มาชวน ก็เหมือนฝันเป็นจริง อยู่ยาวสิบสามปี จนเป็น MD เป็นกรรมการผู้จัดการที่เด็กที่สุดในโลก ผมถึงบอกว่ามันไม่แปลกที่ผมอายุสี่สิบ แล้วผมจะตื่นขึ้นมาแล้วบอกตัวเองว่า กูผ่านมายี่สิบปีที่แล้วนะนี่ กูแม่งสุดแล้วของชีวิตกู ผมทำงาน เข้าโรงพยาบาลนี่ผมว่าเกิน ยี่สิบ สามสิบครั้งตลอดชั่วชีวิตผมน่ะ คือไม่หลับ ไม่นอน ทำงานเต็มที่ 20 พิชต่อปี ไม่แพ้เลย สองปีติด มันอยู่ใน resume ผมหมด ผมเคยเขียนประวัติศาสตร์ผมไว้ ผมเคยไปรับรางวัล แบบกวาดทั้งงาน ใบมันหนาประมาณนี้ ผมเอากลับบ้านหนาเท่านี้ ได้มาทุกรางวัลแล้ว มันก็เลยเหมือนกับว่า ผมใช้ชีวิตจนสุดเลยน่ะ คือผมอยากเป็น ad mass ที่สุดมาก แต่ผมไม่ได้บอกว่าผมเก่งที่สุดในวงการนะ แต่ผมจะเป็น AE ที่ครีเอทีฟที่สุดในตลาดให้ได้ เป้าหมายผมมีแค่นั้นเลยตอนเด็ก

ผมเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง เขาบอกว่า ถ้าบริษัทมีคนคนเดียว ในทุกธุรกิจ บริษัทนั้นต้องมีใคร ถามตัวเองว่า บริษัทโฆษณา มีใครวะ คนเดียว เชื่อไหมว่าไม่คิดว่าตัวเอง คิดว่าครีเอทีฟ  บริษัทโฆษณาต้องเหลือคน พนักงานแค่คนเดียว เป็นใครวะ ครีเอทีฟ ไม่ใช่ AE ตอนนั้นเป็น AE โอ้โห กูตกงานแน่เลย นี่เคยคิดเล่นๆ นะ เพราะความสำคัญที่สุดคือ เขามาซื้ออะไร ลูกค้าเอาเงินมาจ่ายบริษัท ซื้อครีเอทีฟ ผมเลย... โอ้โห... ถ้าเรามองเห็นนี่ตั้งแต่อายุยี่สิบตอนต้นเนี่ยเห็นแสงสว่างเลยล่ะ ถ้าคุณเป็น AE ที่ครีเอทีฟ นี่คุณยังจะรอดนะ เพราะเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการนะ  ไม่เกี่ยวกับดื้อไม่ดื้อ ดื้อไม่ดื้อเป็น feeling creativity that sales คือสิ่งที่ลูกค้าทุกคนต้องการ

มีคนบอกว่าประสบการณ์ในวัยเด็ก จริงๆ ก็ benefit ปัจจุบัน ช่วงไหนของชีวิตที่ทำให้เรามาถึงตรงนี้

ตรงนั้นผมอยากให้เครดิต โอกีวี 100% ผมแยกออกเป็นสองเรื่องนะครับ  วันนี้ผมไม่ได้คิดว่าในฐานะ CEO grammy สำเร็จอะไรนักหนา แต่ผมว่าผมก็ ไม่ได้ทำให้มันแย่  คือผมทำให้มันดีขึ้น อันนั้นคือสิ่งที่ผมบอกตัวเอง หลังจากเป็น CEO ไปสองปี เดินเข้าสู่ปีที่สาม  ผมว่าผมทำให้มันดีขึ้น ถ้าจะให้เครดิต อยากจะแบ่งแยกประสบการณ์ มีสองช่วง ประสบการณ์ช่วงที่หนึ่ง  ผมให้เครดิตคุณพ่อผม คุณแม่ผมที่บังคับ ผมใช้คำว่าบังคับ ให้ผมไปเรียนอิเล็กโทน ทั้งที่ผมไม่ได้ชอบเลย  ผมได้แชมป์ประเทศนะครับ ตอนนั้นผมได้แชมป์สยามกลการ แล้วต้องไปชิงแชมป์ประเทศ แต่ว่าผมต้องเอ็นทรานส์ ผมก็เลยหยุด ไม่ได้ไปชิงแชมป์ประเทศ แต่ผมได้แชมป์สยามกลการ พูดใหม่ ผมว่าอันนั้นเป็นสิ่งเดียวเลยนะ ที่ทำให้ผมมีความเป็นมนุษย์ดนตรี คืออันนี้ต้องให้เครดิตจริงๆ เพลงที่ผมใช้ชิงแชมป์ตอนเด็ก แล้วได้แชมป์ที่หนึ่ง คือเพลง “หมอกและควัน” ของพี่เบิร์ด จำแม่นเลยล่ะ เล่นไปด้วย ร้องไปด้วย -ูบ้าหรือเปล่า มันเลยทำให้ตัวเองอยู่กับดนตรีมาตลอด

ผมลูกข้าราชการ ชีวิตไม่ได้สวยหรูหรือมีต้นทุน ผมได้ค่าขนมน้อยมาก ในหนึ่งอาทิตย์นี่ผมใช้คำว่าอดมื้อกินมื้อได้ ไม่สุรุ่ยสุร่าย เพื่อนผมมีลูกชิ้นทุกคนนะตอนเลิกเรียน ถ้าคนมีสตางค์จะไม่มีวันเข้าใจว่าการที่ไม่ได้กินลูกชิ้นเนี่ยแ-่งทรมาน ทุกคนเลิก เฮ้! ไปเตะบอล ซื้อลูกชิ้น -ูขึ้นรถเมล์กลับบ้าน บ้านอยู่นนท์ฯ เรียนเซนต์คาเบียล รถเมล์สาย 66 นั่งทุกวัน วันละสามชั่วโมง นั่งอยู่ในรถเมล์ ผ่านโรงเรียนช่างกลต้องแกล้งหลับไปเดี๋ยวโดนตบ ผมผ่านมาหมด

สองอย่างที่ผมเก็บเงินค่าขนมซื้อคือ การ์ตูน กับเทป ทุกวันพุธ-พฤหัสที่เทปออกใหม่ผมจะรอซื้อทุกอาทิตย์ เพราะเป็นสิ่งเดียวที่มีคุณค่าสำหรับผม ผมมีเทปเยอะมากแต่ตอนนี้ไม่รู้หายไปไหนหมด แต่ซีดีอยู่หมดนะ นั่นคือจุดที่ผมว่าวัยเด็กทำให้ผมมีอะไรบางอย่าง ดังนั้นเมื่อผมไปตรงนั้น [หน้างาน] หนึ่ง ผมเข้าใจโน้ต เข้าใจดนตรี ผมชอบเครื่องเสียง ชอบศิลปิน ชอบทุกอย่างเกี่ยวกับดนตรี เพียงแต่ว่าผมเข้ามหาวิทยาลัย ผมก็แค่คิดว่าเล่นอิเล็กโทนไม่เท่ห์ เล่นกีตาร์แล้วกัน ก็เล่นกีตาร์จนทุกวันนี้

สิ่งเดียวที่ผมเก็บเงินค่าขนมซื้อ สองอย่าง การ์ตูนกับเทป ทุกวันพุธ-พฤหัสที่ออกเทปใหม่ ผมจะรอซื้อทุกอาทิตย์ เพราะเป็นสิ่งเดียวที่มีคุณค่าสำหรับผม

อีกเครดิตหนึ่ง ผมขอบคุณ Ogilvy กับพี่จุ๋ม ที่ทำให้ผมเป็นคนดี มีจริยธรรมในการทำธุรกิจ ผมว่าผมได้ดีทุกวันนี้เพราะ Ogilvy สอน  ไม่มีเรื่องอื่นเลยครับ 47.52 ไลฟ์ที่เกี่ยวกับมิวสิค กับ career ที่เป็น professional business ผมว่าผมเห็นมิติ สองมิตินี้ ที่ประกอบให้ผมมีโอกาสดีในชีวิตวันนี้  

เพื่อนในเฟซบุ๊คจะเห็นว่าผมเขียนอยู่ใต้รูปผมเสมอว่า “I’m a lucky man” ผมไม่เคยคิดว่าความเก่งคือความจริง ความจริงคือความโชคดี ถ้าไม่ได้เล่นอิเล็กโทนวันนั้น วันนี้ก็ไม่น่าจะฟังเพลงรู้เรื่อง ไม่ได้เคว้งคว้างเหมือนไม่มีเบสิกน่ะ คนนี้ร้องเพลงเพี้ยนเรารู้ คนนี้เล่นคอนเสิร์ตมีปัญหาเรื่องนี้ เราฟังออก ทำไมวันนี้มิกซ์แล้วมันไม่ดีเลย เรารู้น่ะ เราฟีดแบ็คทีมได้ ไม่ใช่เป็น CEO แล้วนั่นกอดอกรอดูโชว์อย่างเดียว

ผมเขียนอยู่ใต้รูปผมเสมอว่า 'I'm a lucky man' ผมไม่เคยคิดว่าความเก่งคือความจริง ความจริงคือความโชคดี

เพราะว่ามีแบ็คกราวน์ดนตรี ทำให้ตอบรับตกลงมาทำงานแกรมมี่ตอนนู้นหรือเปล่าครับ

ไม่ใช่ครับ ต้องเข้าใจว่า ตอนที่ผมมานี่ผมไม่ได้เป็น CEO ตอนนั้นที่มา เขาหลอกผมมาพรีเซนต์งานดิจิตอล แล้วสุดท้าย ตัดภาพมาอีกทีคือเขาชวน (หัวเราะ)

ผมก็คิดว่าผมปัญญาอ่อนนะตอนนั้นน่ะ เพราะว่ามันไม่มีเหตุผลที่ผมจะทิ้งบริษัทที่ดีที่สุดในโลก ตำแหน่งที่ผมก็อยู่ดีอยู่ไม่เดือดร้อน ผมก็ไม่ได้ตกต่ำทำบริษัทเขาเจ๊งอยู่แล้วกูหนีตายมาหรือจะถูก lay off ผมก็มีชื่อเสียงอยู่ในวงการโฆษณาแบบที่ได้รับความเคารพนับถือ ผมมาเพราะบริษัทมันไม่ดีอยู่และเป็นบริษัทคนไทย มีแค่สองเรื่อง ผมก็พูดตรงๆ สองเรื่องนี้มันทำให้ผมนอนไม่หลับไปสามเดือนหลังจากคุยกับคุณไพบูลย์ ไม่ใช่รับปุ๊บมาปั๊บ แล้วก็มาไม่เป็น CEO ด้วย มาเป็น CMO ก็คือมาเปลี่ยนผ่านให้แกรมมี่กรุ๊ปเป็นดิจิตอลขึ้น แล้วผมเป็นคนที่ถ้าผมคิดว่ามันไม่ดีอยู่แล้วผมเปลี่ยนให้มันดีได้ผมก็มีความสุข แล้วผมทำคนเดียวที่ไหนล่ะ ผมก็ต้องทำกับทีม

ทุกคนที่รู้จักผมจะชอบพูดว่าผมมีฝันใหญ่ ทั้งคนที่ผมรัก และคนที่ถูกผมกดดัน เขาก็จะชอบพูดว่าพี่เจ๋อมีฝันที่ใหญ่มากกว่าคนปกติ  ซึ่งผมก็รู้สึกว่า มันก็ง่ายดี เอาคำคนอื่นมาบอกตัวเอง ผมคิดว่าเป็นคนแบบนั้น ผมเชื่อว่าผมฝันที่จะทำในสิ่งที่คนปกติเขาไม่ได้ฝันจะทำ เมื่อเป็นสิ่งนั้น ผมไม่รู้มันถูกหรือผิด แต่ถ้าผมสำเร็จแปลว่าถูก ถ้าผมไม่สำเร็จแปลว่าผิด ชีวิตมีแค่นี้

ทุกคนที่รู้จักผมจะชอบพูดว่าผมมีฝันใหญ่ ผมเชื่อว่าผมฝันที่จะทำในสิ่งที่คนปกติเขาไม่ได้ฝันจะทำ/span>

พี่เจ๋อฝันให้แกรมมี่เป็นอะไรครับ

อยู่ในวิชาชีพดนตรีอย่างยั่งยืนตลอดไป นี่คือหัวใจสำคัญ

หัวใจที่ผมยึดอันนี้ผมไม่ได้คิดเอง คือต้องเข้าใจว่าผมฝันเข้ามาเป็น CMO ผมไม่ได้เป็น CEO ให้ตายเถอะโรบิ้น คือไม่ได้เคยคิดเลยว่าต้องเป็น CEO ผมเหมือนอยู่ดีๆ ถูกถีบตกจากคอปเตอร์ลงกลางมหาสมุทร ให้ว่ายน้ำไปโดยมีโจทย์คือฝั่ง คุณรู้เหรอฝั่งอยู่ไหน? ไม่มีทางรู้หรอก ผมให้เวลาตัวเอง 6 เดือนว่าต้องรู้ให้หมด กลับดึกทุกวันศึกษาประวัติบริษัท 36 ปี เมื่อรู้จึงจะหาแนวทางได้ 

มีใครไม่รู้เล่าให้ผมฟังว่าเดิมดนตรีไม่ได้เป็นวิชาชีพ จนกระทั่งวันที่พี่ไพบูลย์กับพี่เต๋อเปิดแกรมมี่ มีคำหนึ่งที่ผมชอบมากคือพี่เต๋อกับพี่บูลย์พูดว่า "เราจะทำให้คนที่เดินมาวิชาชีพนี้เป็นอาชีพ" ผมฟังครั้งแรกผมขนลุกเลย คนที่คิดอย่างนี้ได้ เกือบจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแล้วนะ การทำให้คนอยู่ในอาชีพได้มันไม่ใช่เรื่องเล็กๆ มันต้องคิดว่าผลตอบแทนจะเป็นยังไง จ่ายเงินคืนเขาทั้งชีวิตไหม ระบบลิขสิทธิ์เป็นอย่างไร ประเทศเรามันไม่มีน่ะ อยู่ดีๆ เหมือนเซตกระทรวงเพลงขึ้นมา ก่อนจะพัฒนาสู่อุตสาหกรรมดนตรีที่เกิดจากกลุ่มคนหลายกลุ่ม ไม่ใช่แค่พี่บูลย์พี่เต๋อ

พอมาถึงยุคผม โจทย์กลายเป็นว่าเพลงจะตาย บริษัทแย่ ผมเจอนักข่าวกี่ทีก็ถามผมแบบนี้ มันเลยมาพร้อมความรู้สึกว่าผมต้องทำให้อุตสาหกรรมดนตรีอยู่ได้อย่างยั่งยืนตลอดไป

มีคนให้ผมคิดงาน 36 ปีแกรมมี่ ผมบอกว่าไม่ทำได้ไหม สำหรับผมมันไม่มีความหมายเลย คือไม่มีใครไม่รู้จักแกรมมี่ในวันนี้ เราไม่ได้ celebrate วันที่เราใหญ่เท่ามาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก วันนี้อุตสาหกรรมอื่นมันเซ็กซี่กว่า การ celebrate บริษัทเป็นเรื่องดีใจกันเอง ...แต่วันที่แกรมมี่แ-่งร้อยปียังอยู่แต่ค่ายเพลงในโลกแม่งปิดตัวไป ผมตายอยู่ในหลุมแล้วลูกผมที่เขายืนอยู่ในวันนั้นคงภูมิใจมากที่ผมเป็นพ่อ ภูมิใจว่าเออ...เฮ้ย...คุณพามันรอดว่ะ คุณพาให้มันยั่งยืน

ผมไม่มีโจทย์อื่น ผมมีโจทย์อย่างเดียวคือยั่งยืน ศิลปินมีอายุขัย เขาหมดแรง สภาพร่างกายไม่ได้ เขาไม่ได้ร้อง เพลงของเขายังอยู่กับคนชั่วชีวิต เพลงของเขายังทำรายได้คืนกลับไปให้ตัวเขาและนักแต่งเพลงชั่วชีวิต พนักงานยังอยู่ในอุตสาหกรรมนี้โดยไม่ต้องกลัวหนีไปกันหมด

ผมมองตาพี่บูลย์และพูดวันที่ผมเซ็นสัญญาว่า ผมเอาชีวิตผมและลูกเมียผมมาเสี่ยงกับพี่ทั้งชีวิต เพราะฉะนั้นผมไม่มีทางยอมแพ้ ผมสู้กับพี่ด้วยชีวิตผมทั้งชีวิต นี่ไม่เคยเล่าให้เคยฟังเลยนะ ส่วนตัวมาก แต่จริงๆครับ ผมหลังชนฝา ผมแพ้ไม่ได้ครับ ผมทิ้งสิ่งที่ผมรักที่สุด ถนัดที่สุด อยู่ในองค์กรที่ดีที่สุด เขาบอก มึงต้องบ้าที่มึงมาที่นี่ ผมว่ากูบ้าแน่นอน แล้วไม่รู้ด้วยว่าจะสำเร็จหรือเปล่า แต่ต้องทำให้สำเร็จ ไม่มีประตูไม่สำเร็จ

เรื่องเด่น
    เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ
      การโฆษณา