ดวงฤทธิ์ บุนนาค ตอบชัดทุกประเด็น เรื่องเทอร์มินอล 2 สนามบินสุวรรณภูมิ

Saranyu Nokkaew
เขียนโดย
Saranyu Nokkaew
การโฆษณา

ร้อนแรงไม่แพ้ประเด็นไหนในตอนนี้เห็นจะเป็นข่าวที่การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่ากลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน DBALP-Nikken Sekkei-EMS-MHPM-MSA-ARJ ที่นำโดยสถาปนิกไทยชื่อดัง ดวงฤทธิ์ บุนนาค พลิกมาเป็นผู้ชนะงานออกแบบโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Terminal 2) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในวงเงิน 329 ล้านบาท

ซึ่งเรื่องนี้อาจจะไม่ได้อยู่ในกระแสดราม่าฝุ่นตลบถ้า (1) กลุ่มดวงฤทธิ์ บุนนาค เป็นบริษัทที่ได้คะแนนอันดับหนึ่งจริงๆ แต่เพราะแบบที่ได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งของกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา SA Group โดนปัดตกเนื่องจากยื่นเอกสารไม่ครบ (2) แบบสนามบินที่กลุ่มดวงฤทธิ์ บุนนาค คิดสร้างสรรค์ขึ้นมานั้นไม่ได้บังเอิญไปคลับคล้ายกับพิพิธภัณฑ์สะพานไม้ Yusuhara Wooden Bridge Museum ประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งอาคาร China Pavilion ในงาน World Expo 2010 ที่นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณประชาธิปไตยประชาชนจีน และ (3) ถ้าแบบสนามบินใหม่ได้ถ่ายทอดความเป็นไทยได้ตรงใจอย่างที่หลายคนคาดหวัง

แล้วอะไรล่ะคือบทนิยามงานสถาปัตยกรรมของว่าที่สนามบินแห่งใหม่? ใครจะตอบคำถามนี้ดีไปกว่า ดวงฤทธิ์ บุนนาค 

 

Suvarnabhumi Airport Terminal 2

 

โจทย์หลักในงานออกแบบเทอร์มินอล 2 สนามบินสุวรรณภูมิ คืออะไร

โจทย์ระบุไว้ชัดเจนมากใน TOR ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ทาง ทอท. ได้ระบุไว้ทั้งเรื่องงบประมาณและฟังก์ชั่น แต่สิ่งที่เราใส่ไปคือการตีความหมายของงานดีไซน์ซึ่งในเรื่องของแอร์พอร์ทดีไซน์ เราทำงานร่วมกับบริษัท Nikken Sekkei ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบระบบสนามบิน และโครงสร้างพื้นฐานใหญ่ๆ ระดับประเทศอยู่แล้ว ผมว่าบางครั้งเราก็ให้ความสำคัญกับเรื่องดีไซน์มากเกินไป อย่างสนามบินเราควรจะโฟกัสไปที่ระบบของสนามบินมากกว่า การออกแบบเฟส 2 นี้ผมทำเองเกือบ 100 เปอร์เซนต์ตลอด 2 เดือน Nikken Sekkei จะเข้ามาแนะนำเรื่องระบบ เทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งจะนำเข้ามาช่วยแก้ไขเรื่องระบบการโฟลว์ของผู้โดยสารและเครื่องบิน

 

เวลาออกแบบงานที่เป็นเหมือนตัวแทนของประเทศชาติ หลายคนก็มักจะคาดหวังว่าต้องใส่อัตลักษณ์ของประเทศนั้นๆ ลงไป คุณดวงฤทธิ์ ตีความเป็นไทยเพื่อการออกแบบเทอร์มินอลใหม่อย่างไร

แทนที่เราจะเลือกเอาลักษณะวัฒนธรรมในแง่ของสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นการตีความที่นามธรรมมาก เราก็มองว่าเราควรจะมองประเทศไทย มองความเป็นไทยในมุมมองไหนได้บ้างที่ไม่ใช่เรื่องของรากของวัฒนธรรม เราเลยเลือกเอาหัวข้อเรื่องธรรมชาติ “ป่าเมืองร้อน” มาเป็นแนวความคิดหลัก แล้วพัฒนาสถาปัตยกรรมให้มันสอดคล้องกับแนวความคิดนี้ คือเรื่องรากวัฒนธรรมก็เป็นเรื่องที่ดี เพียงแต่ว่ามันถูกเล่าซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาหลายรอบแล้ว

 

"แทนที่เราจะเลือกเอาลักษณะวัฒนธรรมในแง่ของสถาปัตยกรรม เราก็มองว่าเราควรจะมองความเป็นไทยในมุมมองไหนได้บ้างที่ไม่ใช่เรื่องของรากของวัฒนธรรม เราเลยเลือกเอาหัวข้อเรื่องธรรมชาติ “ป่าเมืองร้อน” มาเป็นแนวความคิดหลัก"

 

หลายครั้งที่เราเอารูปทรงของวัดไปขยายตามตึกใหญ่ๆ ซึ่งบางทีมันก็ไม่ค่อยเข้า เราเลยไม่ได้ไปแนวทางนั้น จริงๆ แล้วสนามบินมันไม่ใช่แค่คนไทยที่ใช้ แต่สนามบินรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมาก เพราะฉะนั้นมันจึงต้องหามุมมองของความเป็นไทยที่สามารถอธิบายให้ชาวต่างชาติเข้าใจได้ และดูดีในสายตาเขาด้วย ผมคิดว่านัยยะเรื่องธรรมชาติ เรื่องของระบบนิเวศ คือเรื่องที่เราควรเริ่มพูดถึงมันอย่างจริงจัง ในโปรเจ็กต์นี้เราภูมิใจที่จะพูดว่า พอมาถึงเมืองไทยแล้วคุณจะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น ซึ่งเราก็ได้นำการเดินเข้าสู่ผืนป่าคือความอบอุ่นที่เราอยากจะให้ และสามารถให้ความหมายที่แตกต่างไปจากสนามบินทั่วโลก 

 

Suvarnabhumi Airport Terminal 2

 

ความหมายของ “ป่าเมืองร้อน” แบบฉบับคุณดวงฤทธิ์

ผมก็ไม่ได้อยากที่จะทำป่าในเชิงสัญลักษณ์ แตกกิ่งก้านมาเป็นต้นไม้ แต่เราอยากนำเสนอมุมมองเอฟเฟคของป่าจริงๆ ที่ให้ความรู้สึกว่าเรากำลังเดินเข้าไปในป่า มีแสงลอดรำไรเข้ามาตามช่องแสง มีลักษณะของทรวดทรงที่มีความเหมือนเดินเข้าไปในป่า ทำให้พื้นที่เกือบ 3 แสนตารางเมตรของสนามบินเป็นเหมือนเดินเข้าไป [ในป่า] อย่างเสาก็มีการบุด้วยวัสดุที่เป็นไม้ เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับป่าให้มากที่สุด มีการทำสวนขนาดใหญ่ ให้เป็นระบบนิเวศระบบปิดที่ไม่ต้องใช้งบประมาณในการดูแลรักษามาก เป็นระบบนิเวศที่ทำให้ต้นไม้เติบโตเองได้จริงๆ ซึ่งเราได้นำคาแรกเตอร์ของป่าเมืองร้อนที่ต่างๆ ของเมืองไทยเข้ามาออกแบบ นอกจากนี้เรายังทำงานร่วมกับบริษัทออกแบบแสง APLD คิดเรื่องแสงสำหรับสนามบินโดยเฉพาะ

 

การออกแบบแสงสำหรับสนามบินมีความพิเศษอย่างไร

เราใช้ระบบแสงแบบ circadian lighting มาออกแบบแสงในสนามบินแห่งใหม่ ซึ่งเวลาคนเดินทางไกลข้ามซีกโลกมันจะทำให้ biological clock หรือ นาฬิกาชีวิตรวน ทำให้เกิดอาการเจ็ทแล็ก circadian lighting จะเป็นการออกแบบแสงที่ปรับสภาพแสง [ภายใน] ให้สอดคล้องกับสภาพภายนอก ทำให้การปรับตัวของคนที่อยู่ในสนามบินสอดคล้องกับสภาพของเวลาในแต่ละวันได้ดีขึ้น พูดง่ายๆ คือถ้าสมมุติว่าเราเปิดไฟมันก็สว่างอยู่อย่างนั้น มาถึงสนามบินกี่โมงไฟก็จะสว่างเท่ากันหมด แต่ circadian lighting จะทำให้ระดับของแสงแปรเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม เช่น คุณมาถึงตอนหัวค่ำ เที่ยงคืน แสงก็จะไม่เหมือนกัน ช่วยทำให้นักเดินทางที่เพิ่งมาถึงสนามบินสามารถปรับตัวได้ง่ายขึ้น และลดอาการเจ็ทแล็กได้ดีขึ้น

 

Suvarnabhumi Airport Terminal 2

 

ป่าเมืองร้อนของคุณดวงฤทธิ์ใช้ไม้จริงในการก่อสร้างรึเปล่า

จริงๆ หลายคนก็รีแอคเรื่องนี้นะ ว่าเป็นไม้จริงแล้วจะดีไหม ผมเองก็ศึกษาเรื่องของระบบนิเวศมาเยอะ ค้นพบว่าไม้เป็นวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ต้องเป็นไม้มาจากป่าปลูก เป็นป่าที่ปลูกเพื่อการตัดไม้มาใช้งานโดยเฉพาะ ซึ่งไม้เป็นวัสดุสามารถปลูกทดแทนได้ ถ้าพูดถึงหินหรือวัสดุสังเคราะห์ทั้งหมดมันเกิดจากทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป หินมันไม่เกิดมาอีกแล้วนะ คอนกรีตก็มาจากหินส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้นการใช้ไม้เป็นวัสดุ ผมมองว่าทำให้ระบบนิเวศมันสมดุลมากขึ้น ไม้เป็นวัสดุซึ่งเราเรียกว่า Embedded energy คือค่าพลังงานในการแปรรูปต่ำ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาก ในต่างประเทศเราจะเห็นว่ามีความเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่นำมาพัฒนาโครงสร้างไม้เยอะมาก ทั้งการกันไฟ ป้องกันมด แมลง ปลวก เทคโนโลยีการก่อสร้างมันพัฒนาตามมาสนับสนุนไม้เยอะมาก

 

"ไม้เป็นวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ต้องเป็นไม้มาจากป่าปลูก เป็นป่าที่ปลูกเพื่อการตัดไม้มาใช้งานโดยเฉพาะ ซึ่งไม้เป็นวัสดุสามารถปลูกทดแทนได้ ถ้าพูดถึงหินหรือวัสดุสังเคราะห์ทั้งหมดมันเกิดจากทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป"

 

สำหรับโครงสร้างสนามบินเฟส 2 นี้ ผมวางไว้ว่าเป็นโครงสร้างโลหะด้านในและกรุไม้ด้านนอก แต่ไม่ใช่ไม้สักนะ แพงไป ที่วางไว้เป็นไม้ตระกูลซีดาร์ หรือ สน ซึ่งมีทั้งที่ญี่ปุ่น อเมริกา สวีเดน หรือแม้กระทั่งออสเตรีย เหตุผลเพราะเราไม่ได้ใช้ไม้ในเชิงสัญลักษณ์จึงไม่จำเป็นต้องเป็นไม้สัก เราใช้ไม้เพื่อให้มันเป็นวัสดุที่คงทน แล้วก็เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และให้ความอบอุ่น ลองนึกภาพเราเดินเข้าไปในสนามบินแล้วเสาเป็นไม้ มันเป็นบรรยากาศที่ร่มรื่น มันมีความวอร์ม ไม่แข็งกระด้างแบบสนามบินทั่วไป

เราคิดเยอะมากเกี่ยวกับโปรเจ็คต์นี้เพราะสนามมันเหมือนประตูที่ชาวต่างประเทศเข้ามา ซึ่งเราอยากให้เขามีประสบการณ์ว่า เขามาที่สนามบินนี้แล้วเขารู้ว่าเขากำลังมาเมืองไทยนะ เมืองไทยมีความอบอุ่น เป็นมิตร มิตรภาพ เขาไม่ได้กำลังไปสิงคโปร์ เยอรมัน อังกฤษ หรือประเทศอื่นๆ

 

คิดเห็นอย่างไรกับคำวิจารณ์ว่าออกแบบไม่เชื่อมโยงกับ Terminal 1

ในสนามบินทั่วโลก แต่ละเทอร์มินอลก็มีคาแรกเตอร์ต่างกัน ดีเสียอีกคนจะได้จำได้ มาไม่ผิดเทอร์มินอล จริงๆ เราก็กังวลแหละ แต่ถ้าเราจะทำให้เหมือนกันมันก็คือการตีกรอบสร้างข้อจำกัดในการออกแบบเกินไป มันอาจจะเป็นช่วงเวลาที่เราควรจะมองไปข้างหน้า หามุมมองใหม่ๆ เราอาจจะมีประเทศไทยแบบใหม่ มีแบรนดิ้งแบบใหม่ เราเองก็ต้องต้อนรับ เจเนอร์เรชั่นต่อไปที่เขากำลังจะมาถึง สำหรับผมความต่อเนื่องกับเทอร์มินอลเก่าอาจไม่จำเป็นเท่ากับก้าวไปข้างหน้า

 

Suvarnabhumi Airport Terminal 2

 

แล้วในส่วนคำวิจารณ์ที่ว่าเทอร์มินอล 2 มีส่วนคล้ายคลึงกับงานออกแบบสถาปัตยกรรมแบบจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี

บางคนมองรูป บางมุมมันอาจจะคล้ายๆ กัน แต่ว่าดูสเกล ดูวิธีคิด มันต่างกันเยอะ เราก็เข้าใจว่าดูจากรูป บางมุมมองมันอาจจะคล้ายกัน แต่ผมอยากให้ดูว่าประวัติศาสตร์การทำงานของผมมากกว่าว่าผมศึกษางานไม้ ทำงานไม้ หมกมุ่นกับงานไม้มานานมาก ไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบโรงแรม The Naka ที่ภูเก็ต หรือโปรเจ็กต์ที่ผมทำที่ศรีลังกา คือผมจะหมกมุ่นกับลักษณะของไม้ที่ใช้การสับไปสับมาแบบนี้อยู่แล้ว ผมหมกมุ่นเรื่องนี้มาพอสมควร แน่นอนผมปฏิเสธว่าไม่ได้ลอก แต่จริงๆ งานไม้แบบนี้มันเป็นรากของวัฒนธรรมตะวันออกอยู่แล้ว ที่ผมสนใจลักษณะคาแรกเตอร์ของงานไม้ตัวนี้เพราะว่านมีลักษณะที่บ่งบอกถึงความเป็นตะวันออก ซึ่งมีส่วนร่วมกันทั้ง จีน ญี่ปุ่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปถึงอินเดีย และแอฟริกาเลย ชอบเพราะมันมีรากวัฒนธรรมที่ฝังอยู่ แต่ว่าก็ยังให้ความโมเดิร์นที่ไม่ได้ดูแล้วเป็นลวดลายประดับ  และมีวิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ  การวิจารณ์บอกว่าเราลอก ก็อาจจะไม่ค่อยยุติธรรมสักเท่าไหร่ เพราะสามารถพิสูจน์ได้ว่ามันมีรากความคิดที่ชัดเจน

 

"งานไม้แบบนี้มันเป็นรากของวัฒนธรรมตะวันออกอยู่แล้ว ที่ผมสนใจลักษณะคาแรกเตอร์ของงานไม้ตัวนี้เพราะว่ามันมีลักษณะที่บ่งบอกถึงความเป็นตะวันออก ซึ่งมีส่วนร่วมกันทั้ง จีน ญี่ปุ่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปถึงอินเดียและแอฟริกาเลย มันมีรากวัฒนธรรมที่ฝังอยู่"

 

การออกแบบสนามบินถือเป็นความภูมิใจสูงสุดในอาชีพสถาปนิกไหม

วินาทีนี้ดีใจไหม...มันก็ดีใจนะครับ แต่ว่ามันก็ไม่ได้ดีใจจนกระทั่งตึกเสร็จ เพราะตรงนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้น ภารกิจของเราคือเรามีเวลาแค่ 10 เดือน ต้องทำแบบให้เสร็จ อันที่จริงเราได้โปรเจคต์นี้มาแบบฟลุกมากครับ เราได้ที่ 2 เราก็ทำใจไว้แล้ว แต่เผอิญว่าที่ 1 เขาผิดพลาดเรื่องเอกสาร ถ้าเค้าไม่พลาด ผมก็ไม่ได้หรอก ซึ่งหลายคนก็พูดถึงประเด็นนี้ เราก็บอกว่าจริงๆ แล้วเอกสารมันชัดเจนว่าต้องทำอะไรบ้าง ถ้าเราไม่สามารถรักษาเอกสารในการทำงานได้ ถึงจะเวิร์คแค่ไหนก็อาจจะไม่สามารถทำงานในระดับชาติแบบนี้ได้ มันก็ต้องมีความพร้อมทั้งเรื่องของดีไซน์และความสามารถในเรื่องเอกสารก็สำคัญ

 

จากแบบที่เห็นกัน หลายคนสังเกตว่าการวางไม้แบบมีช่องว่างจะมีปัญหาเรื่องการทำความสะอาดและบำรุงรักษา

เราคุยเรื่องนี้ตั้งแต่เริ่มทำงานกับ Nikken Sekkei ซึ่งเขาก็บอกชัดเจนถึงระบบการทำความสะอาดตรงนี้ เพราะเรื่องฝุ่น ความสะอาดเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการออกแบบสนามบินเช่นกัน เมืองไทยฝุ่นเยอะ แต่สนามบินจะฝุ่นเยอะไม่ได้นะครับ ระบบการโฟลว์ของอากาศมีการออกแบบไว้อยู่แล้ว ส่วนช่องระหว่างไม้จะมีกระจกชิ้นเล็กๆ อุดไว้ ฝุ่นไม่เข้าไปสะสมด้านในอย่างแน่นอน จริงๆ การทำความสะอาดสนามบินเฟส 2 ที่ออกแบบไว้ สามารถทำได้สะดวกกว่าเทอร์มินอลปัจจุบันด้วยซ้ำ

 

Suvarnabhumi Airport Terminal 2

 

มีสิ่งใหม่ๆ อะไรอีกบ้างที่เราจะได้เห็นในเทอร์มินอล 2

อย่างแรกเลยคือจำนวนห้องน้ำและการกระจายตัวให้มีห้องน้ำอย่างสม่ำเสมอในหลายจุด ต่อมาคือระบบ Swing Gate ซึ่งช่วยลดความแออัดของผู้โดยสารเวลาที่มีเครื่องบินเข้ามาพร้อมกัน และลดปัญหาการดีเลย์ได้ เพราะทุกเกตสามารถรองรับเครื่องบินได้ทุกประเภท ไม่ว่าเครื่องลำเล็ก หรือใหญ่ก็สามารถเข้าเกตได้หมด ซึ่งนี่เป็นระบบสนามบินที่ทาง Nikken Sekkei แนะนำให้กับเรา ซึ่งเทอร์มินอล 1 ไม่ได้ใช้ระบบนี้ ต่อมาคือการออกแบบสนามบินให้สามารถใช้พื้นที่เชิงพาณิชย์ได้ย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งตรงนี้ผมนำประสบการณ์การออกแบบห้างสรรพสินค้าของผมเข้ามาใส่ว่าทำอย่างไรจะทำให้ผู้ที่เข้ามาใช้บริการสนามบินสนุกกับการจับจ่าย ไม่ใช่แค่พอมีแต่ต้องสนุก ซึ่งการจับจ่ายทั้งหมดก็เป็นรายได้ของประเทศด้วย

 

"ระบบ Swing Gate ซึ่งช่วยลดความแออัดของผู้โดยสารเวลาที่มีเครื่องบินเข้ามาพร้อมกัน และลดปัญหาการดีเลย์ได้ เพราะทุกเกตสามารถรองรับเครื่องบินได้ทุกประเภท"

 

อีกโครงสร้างที่สำคัญคือ โครงสร้างของรถไฟที่จะเชื่อมระหว่างเทอร์มินอล 1 และ 2 ซึ่งจะต้องเชื่อมได้ 100 เปอร์เซนต์สำหรับทั้งคนที่เตรียมขึ้นเครื่อง กำลังเปลี่ยนไฟลท์ และคนที่ไม่ได้เข้าไปด้านในแต่ต้องการเดินทางระหว่าง 2 เทอร์มินอล อีกเทคโนโลยีที่น่าตื่นเต้นคือ Passenger Flow Management (PFM) ซึ่งจะเป็นระบบที่ทำงานร่วมกับ Big Data ในการจับมูฟเมนต์ของคนในสนามบิน เพื่อคาดการณ์ความแออัดของผู้ใช้บริการในแต่ละจุด เพื่อที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานจะได้เพิ่มคน หรือเตรียมแก้ปัญหาในจุดต่างๆ ได้ทัน

 

กดดันไหมที่สนามบินเพื่อนบ้านสิงคโปร์ ซึ่งเพิ่งเปิดตัวเทอร์มินอลใหม่เช่นกัน เพิ่งคว้ารางวัลสนามบินระดับโลกไป

ไม่หรอกครับ ผมว่าจริงๆ วิธีคิดเราไปคนละทิศทางกันเลย สิงคโปร์เขาทำแบบที่มีความอลังการ ของเราจะเป็นแนวทางที่ค่อนข้างถ่อมตัวมากๆ เราเน้นทัศนคติที่ถ่อมตัว นอบน้อม แล้วก็ไม่ได้สร้างความอลังการ เราคงไม่ไปเทียบตัวเองกับสิงคโปร์ เรามองแง่ประสบการณ์ ซึ่งเราเชื่อว่า หลังจากสร้างเสร็จ ทุกคนจะรักสนามบินที่เราออกแบบ

 

Suvarnabhumi Airport Terminal 2

แชร์เนื้อหา

บทความล่าสุด

    การโฆษณา