เรียนรู้สุนทรียศาสตร์ของความงดงามและความอัปลักษณ์ จากปลายพู่กันของหม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร

Saranyu Nokkaew
เขียนโดย
Saranyu Nokkaew
การโฆษณา

ราวศตวรรษที่ 19-20 ขณะที่โลกแห่งศิลปะกำลังก้าวเข้าสู่ความเป็นโมเดิร์น ไม่ว่าจะเป็นป๊อบอาร์ต แอ๊บสแตรก วิดีโออาร์ต มีเดียอาร์ต ทว่าสิ่งหนึ่งที่แวดวงศิลปะยังก้าวไม่พ้นคือการจำกัดขอบเขตของคำว่าศิลปะไว้เฉพาะศิลปินเพศชาย น้อยมากที่จะได้พบเจอศิลปินผู้หญิง โดยเฉพาะในเมืองไทยนั้นวิชาศิลปะซึ่งไม่ได้ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในวิชาชีพสำหรับหาเลี้ยงชีพ ย่อมเป็นสิ่งไกลตัวสำหรับผู้หญิงอย่างมาก และนั่นจึงทำให้ศิลปินหญิงผู้มีความเซอร์เรียลลิสต์และแฟนตาสติกเป็นดั่งลายเซ็นต์ หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ทรงต้องเริ่มต้นศึกษาวิชาศิลปะด้วยพระองค์เองขณะพระชนมายุได้ 30 ปี ท่ามกลางสตูดิโอริมลำธารที่เต็มไปด้วยฝูงนกนับร้อย และสุนัข ณ พระตำหนัก Vellara เมือง Annot ประเทศฝรั่งเศส

Beauty and Ugliness : Aesthetic of Marsi (ความงามและความน่าเกลียด : สุนทรียศิลป์แห่งมารศี) คือนิทรรศการครั้งที่ 3 ของท่านหญิงที่จัดแสดงในเมืองไทย และเป็นนิทรรศการครั้งแรกหลังจากพระองค์สิ้นชีพิตักษัยเมื่อ พ.ศ. 2556 แน่นอนว่าการจัดแสดงงานศิลปะในวันที่ศิลปินเจ้าของผลงานไม่ได้อยู่ร่วมในวงประชุมย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย อารีรุ่งเรือง ผู้รับหน้าที่ภัณฑารักษ์จึงได้ใช้แนวทางการทำวิจัยด้านศิลปะมาศึกษาผลงานเพื่อไขสู่ปรัชญาที่ซ่อนไว้ในงานศิลปะของหม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือความหมายของ "สุนทรียศาสตร์" ที่ไม่ได้ถูกตีกรอบเพียงความงามทว่ายังรวมความน่าเกลียด หรือความไม่งามอันเป็นหนึ่งในองค์ประกอบทางศิลปะด้วย

 

หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร
มูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร
ดร.ศุภชัย อารีรุ่งเรือง ภัณฑารักษ์ของ Beauty and Ugliness : Aesthetic of Marsi (ความงามและความน่าเกลียด : สุนทรียศิลป์แห่งมารศี)
Saranyu Nokkaew / Time Out Bangkok

 

"สุนทรียศาสตร์คือการรับรู้ แต่ที่ผ่านมาสังคมไทยพูดถึงสุนทรียศาสตร์เพียงด้านเดียวคือมุมของความงาม แต่การรับรู้ในแง่มุมของศิลปะมันจะมีทั้งความงามและความไม่งามอยู่คู่กัน ความน่าเกลียดก็เป็นศิลปะเช่นกัน ซึ่งในงานของท่านหญิงพูดถึงตรงนี้ได้ชีดเจนมากและเป็นคีย์ที่เราดึงออกมาจัดแสดง ท่านผู้หญิงได้เรียนรู้งานศิลปะที่ตะวันตกซึ่งมีทั้งศิลปะเพื่อชีวิต เพื่อสังคม เพื่อศิลปะ งานเซอร์เรียลของตะวันตกจึงเจาะลึกไปถึงแก่นของปรัชญา ไม่ใช่เซอร์เรียลที่หมายถึงความฝันอย่างศิลปินไทยในยุคนั้น ซึ่งนั่นทำให้งานของท่านหญิงแตกต่างออกไป" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ชี้ให้เห็นความน่าสนใจในงานของศิลปินหญิงหม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ซึ่งโดดเด่นอย่างมากในแง่ของสัจจะชีวิตและความตาย

สำหรับเนื้อหาของนิทรรศการครั้งนี้ไม่ได้เน้นบอกเล่าว่าหม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร คือใคร เพราะนั่นได้นำเสนอไปแล้วเมื่อนิทรรศการ 2 ครั้งที่ผ่านมา ทว่านิทรรศการครั้งที่ 3 จะเป็นการรวบรวมผลงานที่สะท้อนปรัชญาชีวิตและความตายซึ่งเป็นผลงานอันโดดเด่นในช่วงพระชนมายุ 50-60 ปี แตกต่างอย่างมากกับผลงานในช่วงเริ่มต้นชีวิตศิลปินของท่านหญิงที่ทรงวาดก้อนหิน สไตล์พู่กันจีน ธรรมชาติ และสถาปัตยกรรมที่ได้อิทธิพลมาจากความรุ่งเรืองแห่งยุคเรเนซองส์

 

มูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร

มูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร

 

นอกจากภาพเขียนสีน้ำมันทั้ง 39 ภาพแล้ว ในนิทรรศการครั้งนี้ยังได้จัดแสดงของใช้ส่วนพระองค์ที่มีอิทธิพลต่องานของศิลปิน รวมทั้งภาพต้นแบบที่ทรงร่างลงกระดาษไขก่อนเขียนภาพจริง ซึ่งไม่เคยจัดแสดงที่ไหนมาก่อน และเป็นภาพร่างที่สะท้อนความละเอียดของศิลปินได้เป็นอย่างดี "สิ่งที่ผู้ชมจะได้เห็นคือสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่มีอิทธิพลต่อการทำงานของศิลปินไม่ว่าจะเป็นเปียโน พิพม์ดีด อุปกรณ์ กล่องสี พู่กัน แม้แต่แจกันล้างพู่กันก็ยังมีก้นบุหรี่ทิ้งอยู่ โดยแต่ละห้องจัดแสดงจะมีการดีไซน์แสง เพลง และอารมณ์ของแต่ละห้องให้แตกต่างกันเพื่อที่ผู้เข้าชมจะได้รับรู้อารมณ์ ณ ตอนนั้นของศิลปินได้จริง อย่างเรื่องเพลง ท่านหญิงชอบฟังเพลงขณะทำงาน บางภาพท่านตั้งตามชื่อเพลงของ Chopin เลยด้วยซ้ำ ดังนั้นในวันสุดสัปดาห์ท่แสดงงานก็อาจจะมีคนถือแคริแน็ตเขามาเล่นในห้องนิทรรศการ หรืออาจจะมีวงดนตรียุคบาโรกเข้ามาเล่นสดก็ได้”

นิทรรศการทั้ง 4 ห้อง ประกอบด้วย ความงาม (Beauty) ซึ่งถูกตีความผ่านสัตว์เลี้ยง ดอกไม้ และงานวรรณกรรม ความน่าเกลียด (Ugliness) คล้ายกับปรัชญาในพุทธศาสนาเรื่องการปลงอสุภะโดยนำความน่าเกลียดของร่างกายมนุษย์มาเปลี่ยนเป็นความงาม เส้นทางศิลปะของหม่อมเจ้ามารศีฯ (Chronology of Marsi and Art History) ห้องนี้เป็นการเทียบเคียงไทม์ไลน์ของพระองค์กับศิลปินไทย ศิลปินเอเชีย และศิลปินโลกในยุคเดียวกัน ใครสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะห้ามพลาดห้องนิทรรศการนี้ และสุดท้ายคือ สัจจะ (Truth) เป็นห้องที่นำคำว่าสัจจะมาตีความใน 2 ความหมาย หนึ่งคือสัจจะในการเลือกเดินทางสายศิลปินจนถึงวาระสุดท้าย ซึ่งการก้าวขึ้นมาเป็นศิลปินในประเทศฝรั่งเศสยุคนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย สองคือการสะท้อนสัจจธรรมของชีวิตผ่านงานศิลปะที่มีทั้งความสุขและความตายดังที่
ท่านหญิงทรงเคยกล่าวไว้ว่า "ศิลปะสะท้อนชีวิตและความตาย ฉันจะใช้ความสามารถของฉันถ่ายทอดออกมา" 

นอกจากศิลปะจากศิลปินหญิงที่จะเปลี่ยนมุมมองของคำว่าสุนทรียศาสตร์แล้ว งานนี้ยังมีแฟชั่นโชว์และของที่ระลึกคอลเล็คชั่นพิเศษจาก Flynow III ซึ่งเป็นแบรนด์แฟชั่นที่ได้รับแรงบันดาลใจจากโลกแฟนตาสติกของหม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ด้วยเช่นกัน

Beauty and Ugliness : Aesthetic of Marsi (ความงามและความน่าเกลียด : สุนทรียศิลป์แห่งมารศี) จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน - 23 ธันวาคม ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหอศิลปถนนเจ้าฟ้า ถนนเจ้าฟ้า พระนคร กรุงเทพฯ เปิดให้บริการวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 09.00-18.30 น.

 

มูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร

มูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร

แชร์เนื้อหา

บทความล่าสุด

    การโฆษณา