Photo: Tanisorn Vongsoontorn
Photo: Tanisorn Vongsoontorn

ทำความรู้จัก 3 ศิลปินเจ้าของภาพวาดรางวัล Italthai Portrait Prize 2023

ตัวแทนของคนที่มีความสามารถและความฝันที่ฝึกฝนตัวเองจนเปิดประตูสู่เส้นทางศิลปะได้อีกบาน

Time Out Bangkok in partnership with River City Bangkok
การโฆษณา

ก่อนอื่นต้องขอปรบมือดังๆ แสดงความยินดีกับศิลปินทั้ง 3 คนที่สามารถคว้ารางวัลใหญ่จาก Italthai Portrait Prize 2023 ไปครองได้สำเร็จ และถือเป็นตัวแทนของคนที่มีความสามารถและความฝันที่ฝึกฝนตัวเองจนเปิดประตูสู่เส้นทางศิลปะได้อีกบาน

Photo: Tanisorn Vongsoontorn
Photo: Tanisorn Vongsoontorn
Photo: Tanisorn Vongsoontorn
Photo: Tanisorn Vongsoontorn

Italthai Portrait Prize (หรือก่อนหน้านี้คือ RCB Portrait Prize) คือการประกวดภาพพอร์ตเทรตระดับประเทศ สำหรับเรานี่ถือเป็นเวทีที่ให้กำไรทั้งคนดู คนทั่วไปที่มีฝีมือด้านศิลปะ หรือแม้แต่ศิลปินมืออาชีพ เพราะเปิดโอกาสให้คนทุกเพศทุกวัยทุกอาชีพ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเฟ้นหาศิลปินรุ่นใหม่และสนับสนุนให้มีโอกาสแสดงความสามารถมากขึ้น

ปีนี้เป็นการเปิดเวทีครั้งท่ี 3 ชวนคนมีของมาชิงรางวัลมูลค่ารวมสูงถึง 900,000 บาท ประกอบด้วยรางวัลใหญ่ที่เคยมอบมาทุกปี ได้แก่ รางวัล Portrait Prize, Packing Room Prize ที่มาจากการตัดสินของคณะกรรมการ และรางวัล People’s Choice Prize  ที่มาจากผลโหวตของผู้เข้าชมนิทรรศการและจะประกาศหลังจัดแสดงเสร็จ และความพิเศษในครั้งนี้คือมีการเพิ่มรางวัล Youth Prize เข้ามาสำหรับศิลปินที่มีอายุไม่เกิน 16 ปีด้วย

จากการเปิดรับผลงานระหว่างวันที่ 1 มีนาคม - 21 มิถุนายน ที่ผ่านมา ตอนนี้เราก็ได้เห็นทั้งหน้าตาและผลงานของผู้ชนะทั้ง 3 คนแล้ว ได้แก่

Photo: Tanisorn Vongsoontorn
Photo: Tanisorn Vongsoontorn

เทพพร ปริกเพ็ชร’ ผู้ชนะรางวัล Italthai Portrait Prize 2023 มูลค่า 500,000 บาท จากภาพวาดชื่อ ‘สุขใจ’

Photo: Tanisorn Vongsoontorn
Photo: Tanisorn Vongsoontorn

‘จักรกฤษณ์ ศรีสงคราม’ ผู้ชนะรางวัล Packing Room Prize มูลค่า 200,000 บาท จากภาพวาดชื่อ ‘ป้าผู้เป็นที่รักกับสังขารที่ร่วงโรย’

Photo: Tanisorn Vongsoontorn
Photo: Tanisorn Vongsoontorn

‘ศุภกร ปัญญาสงค์’ ผู้ชนะรางวัล Youth Prize มูลค่า 100,000 บาท จากภาพวาดชื่อ ‘ความทรงจำในวัยเด็ก’

บทสัมภาษณ์นี้เราได้ไปนั่งคุยกับศิลปินทั้ง 3 คนถึงเรื่องราวบนเส้นทางศิลปะของพวกเขา พร้อมทั้งเรื่องราวที่เป็นแรงบันดาลใจของภาพวาดพอร์ตเทรตที่สวยราวกับมีชีวิตจนสามารถคว้ารางวัลไปได้

Photo: Tanisorn Vongsoontorn
Photo: Tanisorn Vongsoontorn

‘สุขใจ’ โดย เทพพร ปริกเพ็ชร

เทพพร ปริกเพชร ศิลปินวัยกลางคนที่มีรังสีความสุขแผ่ออกมาจากตัวเอง ผ่านทางสีหน้า แววตา น้ำเสียง และแน่นอนผลงานที่ชนะรางวัลใหญ่ของเขา เทพพรเรียนจบด้านออกแบบแต่ปัจจุบันยึดศิลปินเป็นอาชีพหลักมานานกว่า 15 ปีแล้ว รับวาดภาพพอร์เทรตให้ลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรู้จักที่เขาเรียกว่า “ผู้มีพระคุณ”

ถึงจะอยู่ในวงการมานาน ฝีมือก็ไม่ธรรมดา แต่เขาบอกว่าตั้งแต่เป็นศิลปินยังไม่เคยส่งผลงานไปประกวดที่ไหนมาก่อน มีแค่รายการนี้ที่ส่งประกวด 2 ปีแล้ว เพราะรู้สึกว่าเข้าทางและมั่นใจว่าผลงานของตัวเองน่าจะผ่านเข้ารอบลึกๆ ได้ หรืออย่างน้อยได้เอางานไปโชว์ให้คนรู้จักก็ยังดี

ตอนนี้เราก็ได้รู้จักผลงานของเขาแล้วจริงๆ และถึงเวลาแล้วที่เราจะพาทุกคนไปทำความรู้ศิลปินคนนี้ให้มากขึ้นผ่านบทสนทนาต่อไปนี้

Photo: Tanisorn Vongsoontorn
Photo: Tanisorn Vongsoontorn

เริ่มทำงานศิลปะตั้งแต่เมื่อไหร่?

“เริ่มตั้งแต่เด็กๆ ตอนนั้นก็จะประกวดในระดับมัธยมแล้วก็หยุดไป ระหว่างนั้นก็วาดรูปไปเรื่อยๆ แต่วาดพอร์เทรตอย่างเดียว มันเป็นอะไรที่เราคิดว่าในอนาคตมันจะเป็นอาชีพเราได้ เคยไปทำงานบริษัทได้ประมาณ 2-3 ปีก็ไม่ไหวแล้ว เราหันมาวาดรูปดีกว่า ก็เลยผันอาชีพมาวาดรูปอย่างเดียว”

“แรกเริ่มก็ไม่ค่อยจะดีหรอก แต่ก็ทำไปเรื่อยๆ พอคนเริ่มรู้จักผลงาน มันก็เริ่มมีงานเข้ามาเรื่อยๆ ตอนนี้ก็อยากจะเก็บงานไปแสดงกับเขาบ้าง แต่ก็เริ่มต้นไม่ได้สักที เพราะเขามีออร์เดอร์มาเราก็ทำ ต้องวาดรูปให้เขา แต่ตอนนี้เรามีแรงสนับสนุนจากทางนี้แล้วก็น่าจะสร้างผลงานออกมาโชว์ทั่วไปได้ คิดว่าอย่างนั้นนะ”

ทำไมถึงชอบวาดภาพพอร์เทรต?

ผมชอบตั้งแต่แรกเริ่มเลยนะ ครั้งแรกนี่คือภาพรัชกาลที่ 9 ที่ติดอยู่ตามบ้าน แล้วก็ฝึกเองเรื่อยๆ ตั้งแต่เด็กๆ ไม่เคยลองวาดแนวอื่นเลย จะมีภาพวิวบ้างเล็กน้อยก็ทำได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะเราไม่ได้เรียนสายตรงมา เราไม่รู้เทคนิคสี ไม่รู้อะไรเลย เรารู้แต่พอร์เทรตอย่างเดียว เทคนิคต่างๆ ส่วนใหญ่จะฝึกเองแล้วก็ถามจากศิลปินผู้ใหญ่ที่เรารู้จักแล้วเอาไปฝึก”

ฝึกด้วยตัวเองนานไหมกว่าฝีมือจะพัฒนามาถึงระดับนี้?

“นานอยู่เหมือนกัน ผมเริ่มทำอาชีพศิลปินตอนอายุ 30 ทุกวันนี้ 45 แล้ว ประมาณ 15 ปี ก็ศึกษาอย่างเดียว เอาอย่างจริงจัง ไม่ไปไหนเลย เพราะถ้าเราจะเอาดีบนเส้นทางนี้บอกเลยว่ามันยาก กว่าจะมีอาชีพกว่าจะมีรายได้มามันยาก” 

เป็นศิลปินที่วาดภาพตามออเดอร์เครียดหรือกดดันไหม?

มันก็มีความเครียดนะ บางครั้งงานนี้เราไม่อยากทำแต่ด้วยอาชีพเราก็ต้องทำต้องวาด ก็เสริมอารมณ์ด้วยกาแฟ ถ้าไม่ได้กาแฟนี่ไปไม่รอด แต่ถ้าภาพไหนที่เราอยากทำเราเต็มที่เลย”

Photo: Tanisorn Vongsoontorn
Photo: Tanisorn Vongsoontorn

อยากทำกับไม่อยากทำ ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของงานไหม?

“ไม่เกี่ยว เพราะบางงานที่เราชอบ วาดยากก็มี บางภาพเราเห็นแล้วเรารู้สึกว่าเราอยากทำ แต่งานที่มันไม่อยากทำก็ทำๆ ให้เสร็จแค่นั้นเอง แต่ผลงานที่อยากทำกับไม่อยากทำ มันจะต่างกันนิดหน่อย ถ้าอยากทำก็จะดูละเอียดยิบ งานที่ไม่อยากทำก็จะมีข้ามๆ ไป”

พูดถึงผลงานที่ชนะ

“ภาพนี้เป็นของคุณแม่ผมเอง เพราะผมอยากวาดแม่มานานแล้ว แกเป็นคนเซอๆ ไม่ได้ตบแต่งอะไรมากมาย ผมเล็งไว้นานแล้วนะมุมนี้สี่ปีแล้ว คือมุมต้นกล้วยใบกล้วยแห้งๆ แล้วก็มีเถาวัลย์พัน มันก็สวยดีนะ ผมชอบใบมันที่ดูดีๆ มันจะเหมือนลูกศรชี้มาที่แม่ผมพอดี”

“แม่มีลูกชายอีกคนเป็นคนโตแต่เสียไปแล้ว แล้วเสื้อตัวนี้ก็เป็นเสื้อของพี่ชายที่แม่เอาใส่นอน นี่คือชุดนอนแม่ผม แล้ววันนั้นแกก็ไปทำแปลงผักพอดี ผมก็เรียก แม่มาเดี๋ยววาดรูปให้ เพราะเราอยากวาดรูปแม่ว่างั้นเถอะ งานนี้ถ้ามันไม่ได้รางวัลเราก็ยังได้รูปแม่เก็บไว้ แค่นี้เองไม่ได้คิดอะไรมาก”

จากนี้ก็คงจะเก็บการแสดงที่มันไม่ใช่พอร์ตเทรดแล้วหลังหลัง Portrait ไม่รู้จะว่าอะไรอาจจะเป็นงานแนวสร้างสรรค์บ้างที่เรายังยังไม่เคยทำคิดว่างั้นนะในอนาคตก็พยายามคิดคิดอยู่แต่ตอนนี้คิดออก

Photo: Tanisorn Vongsoontorn
Photo: Tanisorn Vongsoontorn

‘ป้าผู้เป็นที่รักกับสังขารที่ร่วงโรย’ โดย จักรกฤษณ์ ศรีสงคราม

เคยได้ยินคนพูดว่า “อารมณ์ศิลปิน” อยู่บ่อยๆ แต่เพิ่งได้มานั่งคุยกับคนที่ทำให้เรารู้สึกว่า นี่สิ! คนมีอารมณ์ศิลปินของแท้ และเขาคนนั้นก็คือ จักรกฤษณ์ ศรีสงคราม เจ้าของรางวัล Packing Room Prize ประจำปีนี้

เขาเรียนด้านศิลปะมาโดยตรง เคยเป็นจิตรกรอยู่ที่สวนจิตรลดาและเคยสอนศิลปะอยู่ที่ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด อยุธยา ประสบการณ์ด้านศิลปะเรียกว่าสูงลิ่ว แต่ปัจจุบันเขาเพิ่งออกมาเป็นศิลปินอิสระเต็มตัว หลังจากคุณป้าคนหนึ่งเสีย เพื่อมาอยู่ดูแลคุณป้าอีกคนที่อายุมากแล้ว ทำให้พอมีเวลาว่างสำหรับการส่งวาดภาพพอร์เทรตมาชิงเงินแสน โดยมีคุณป้าเป็นแบบในภาพที่นอกจากจะสวยสะกดสายตาและให้แง่คิดดีๆ แล้ว ยังเป็นภาพที่ถ่ายทอดความผูกพันระหว่างเขากับคุณป้าทั้งสองได้อย่างทรงพลัง

Photo: Tanisorn Vongsoontorn
Photo: Tanisorn Vongsoontorn

เริ่มทำงานศิลปะตั้งแต่เมื่อไหร่?

“ตั้งแต่ประถมเลย เขียนรูปตั้งแต่เด็กแล้วก็เป็นตัวแทนโรงเรียนเขียนรูปไปประกวด แล้วมันก็พาผมเข้าสู่สถาบันศึกษาด้านนี้มาเรื่อยๆ แล้วก็เรียนจบมาทำงานเป็นศิลปิน”

ถนัดผลงานแนวไหนมากที่สุด?

“ผมจะถนัดวาดแนวเหมือนจริง ก็คือเขียนสิ่งที่เรารู้ว่ามันคืออะไร ก็จะเป็นเรื่องคนบ้าง ธรรมชาติบ้าง สิ่งของบ้าง ชอบวาดทุกอย่างที่เราเห็นแล้วรู้สึกว่ามันงาม เราก็จะวาดมันออกมาได้หมดเลย ขอให้มันเหมือนจริงเพราะเราชอบความเหมือนจริง”

ก่อนหน้านี้ทำงานอะไร?

เป็นจิตรกรอยู่ที่สวนจิตรลดาแล้วก็สอนศิลปะด้วยที่ศูนย์ศิลปาชีพ เกาะเกิด อยุธยา แต่ลาออกมาแล้วก็พักได้ประมาณห้าหกเดือนแล้ว ช่วงว่างก็เลยส่งงานเข้าประกวด”

ทำไมถึงลาออกจากงานประจำ?

ด้วยความที่ว่าผมอยู่กับป้าสามคน ป้าก็อายุมากแล้ว แล้วป้าคนนึงมาเสียตอนประมาณเดือนตุลาฯ ปีที่ผ่านมา ถ้าผมจะไปทำงานแล้วทิ้งป้าอยู่อีกคน ผมก็เลยไม่รู้ว่าผมจะรู้สึกยังไง แล้วก็อิ่มงานด้วยก็เลยคิดว่ามาทำงานอยู่บ้านดีกว่า แล้วก็มีเวลาอยู่กับป้าด้วย มีเวลาให้ตัวเองมากขึ้นด้วยครับ”

Photo: Tanisorn Vongsoontorn
Photo: Tanisorn Vongsoontorn

คนในภาพวาดคือใคร?

เป็นรูปป้าครับ ผมเขียนรูปป้าเป็นครั้งแรก ปกติคนเขียนพอร์เทรตเขาก็จะเขียนขาย เขียนให้คนโน้นคนนี้ แต่ผมไม่ค่อยเขียน เพราะผมยังไม่รู้สึกก็เลยไม่อยากจะเขียน ถ้าผมรู้สึกผมก็จะเขียน แล้วเราจะเป็นคนทำงานออกมาเต็มที่”

ความรู้สึกในการทำงานสำคัญกับคุณมาก?

ก็สำคัญครับ แต่มันก็เป็นเรื่องเฉพาะคน บางคนอาจจะบอกว่าไม่เขียนอาจจะขี้เกียจหรือเปล่า ผมตอบไม่ได้ มันเป็นเรื่องความรู้สึก ถ้าทำก็คือทำ แล้วก็เต็มที่” 

ตอนทำงานประจำมีงานที่ไม่รู้สึกว่าอยากทำไหม?

มีสิครับ เป็นเรื่องปกติ เราก็ไม่ใช้ความรู้สึก ใช้ทักษะ ใช้ความชำนาญ ความคุ้นเคย บางอย่างมันก็ใช้ความรู้สึก บางอย่างมันก็ไม่ต้องใช้ งานศิลปะบางทีมันเป็นเรื่องอุปโลกน์ขึ้นมา พูดยาก บางคนอาจจะบอกว่ารู้สึกมากเลย แต่ผมไม่รู้สึกอะไรเลย เอาง่ายๆ ครับตอนที่ป้าผมเสีย ผมร้องไห้ แต่คนข้างบ้านก็ไม่ร้องไห้ เพราะมันก็คืออย่างนั้นล่ะครับ เรารู้สึกแต่เขาไม่รู้สึกมันเหมือนงานศิลปะ”

ผลงานจะออกมาต่างกันไหม?

“สำหรับผมผมไม่รู้สึกต่าง เพราะผมรู้สึกมีความสุขทั้งสองอย่าง เพราะมันเป็นการยอมรับของผมแล้วว่าสถานการณ์นี้ผมต้องทำอะไร เพราะงานบางอย่างผมทำเพื่อเป็นงานจ้าง งานบางอย่างเป็นงานที่ทำขึ้นมาเอง จัดแสดงออกไปใครสนใจก็ซื้อ ไม่สนใจก็ไม่เป็นไรเราก็ได้ถ่ายทอดออกไปจากตัวเรา อย่างที่เราผมพูดเสมอว่าต้องออกจากผมก่อน แล้วคนอื่นจะรู้สึกยังไงก็ว่ากันอีกเรื่อง ชอบไม่ชอบเราบังคับความรู้สึกใครไม่ได้”

แล้วภาพนี้วาดด้วยความรู้สึกอะไร?

“ภาพนี้ความรู้สึกมันเริ่มตั้งแต่กระบวนการที่เรารู้อยู่แล้วว่าป้าเราคนนี้วันวันนึงทำอะไรบ้าง อิริยาบถเป็นแบบไหนแล้วเราก็รู้สึกว่าถ้าเราจะวาดภาพป้าออกมาเราจะวาดมุมไหนดี ก่อนหน้านี้เคยคิดมาแล้วว่าจะเขียนเป็นเงยหน้าแล้วข้างบนไม่มีอะไร เขากำลังคิดอะไรอยู่หรือมองอะไรอยู่ อาจจะเป็นเรื่องของการร่วงโรยที่ผมเปรียบเปรย”

“ผมอยากให้คนอื่นรู้สึกว่าป้าเขาคิดอะไรอยู่ อาจจะไม่ถึงกับจงใจสังเกตที่ตาว่าก็ไม่ได้มองใบไม้ขนาดนั้น แต่เหมือนแค่มองขึ้นข้างบน ถ้าตัวผมอยากให้รู้สึกว่าป้ากำลังคิดอะไรอยู่แต่ส่วนคนอื่นอยากให้คนอื่นรู้สึกว่ามันไม่ยั่งยืนนะ มันร่วงโรย ทุกอย่างมันต้องเปลี่ยนแปลงนะ”

Photo: Tanisorn Vongsoontorn
Photo: Tanisorn Vongsoontorn

‘ความทรงจำในวัยเด็ก’ โดย ศุภกร ปัญญาสงค์

ศิลปินคนสุดท้ายคือ ศุภกร ปัญญาสงค์ ศิลปินจากลพบุรีที่เพิ่งอายุครบ 16 ปี ก่อนหน้าวันประกาศรางวัลเพียง 1 วัน และเป็นคนแรกที่ได้รับ Youth Prize รางวัลใหม่ที่เพิ่มเข้ามาในปีนี้ จากผลงานภาพวาดที่ชื่อ ความทรงจำในวัยเด็ก

ครอบครัวของศุภกร ช่วยยืนยันได้อย่างดีว่า การซัปพอร์ตเด็กๆ ตามความสนใจของเขา (ในกรณีที่เด็กรู้ตัวว่าชอบอะไร) จะช่วยพัฒนาความสามารถของเขาให้โดดเด่นได้ตั้งแต่ยังเด็ก เหมือนกับที่ศุภกรพัฒนาฝีมือจากการวาดก้างไส้เดือน ตะขาบ จนพบว่าตัวเองถนัดวาดภาพพอร์เทรตและลายไทยร่วมสมัยและขึ้นมายืนบนเวทีประกวดภาพวาดระดับประเทศได้

Photo: Tanisorn Vongsoontorn
Photo: Tanisorn Vongsoontorn

จำได้ไหมว่าตัวเองชอบวาดรูปตั้งตอนไหน?

“เริ่มวาดรูปตั้งแต่อนุบาลสามแต่ว่าจริงจังตอน ป.4 ชอบมาตั้งแต่เด็ก เริ่มจากวาดพวกการ์ตูนก่อน พอสักพักเราไปเห็นจิตกรรมฝาผนังตามวัดที่เกี่ยวกับพุทธชาดกก็เลยเกิดความชอบในลายไทย”

ทำไมถึงชอบเรื่องศิลปะตั้งแต่เด็ก?

“เหมือนมันชอบวาดก็วาดแต่รูป เวลาไม่มีอะไรทำก็หากระดาษซักแผ่นมาวาดรูปมั่วๆ มันชอบจนเป็นชีวิตประจำวัน หัดวาดมาเรื่อยๆ คุณพ่อคุณแม่เห็นแล้วเขาก็สนับสนุนเราเรื่องอุปกรณ์ สี อยากได้อะไรก็ซื้อให้ พาไปประกวดให้เรามีรายได้ด้วย”

เคยเรียนวาดรูปจริงจังไหม?

“เคยไปเรียนวิชาที่เขาสอนวาดรูปทรงกลม แรเงา แสง อะไรแบบนี้ เขาก็สอนพวกขั้นพื้นฐาน ส่วนเรื่องโรงสีก็ฝึกเองแล้วก็ตกผลึกจากการทำทุกวัน ทำจนเราเข้าใจว่าสีไหนควรใส่ให้มันเข้ากัน”

ตอนนี้กับตอนเด็กกว่านี้ ความชอบเปลี่ยนแปลงไหม?

เปลี่ยนนะครับ ตอนแรกไปเห็นงานศิลปะบนกำแพงวัด พวกลายไทยเราก็ชอบแล้วก็ฝึก พอได้ไปเจออาจารย์เฉลิมชัยท่านก็แนะนำให้วาดรูปพอร์เทรตบ้าง เราก็ลองฝึกจนเริ่มเข้าใจ เพราะว่าผมอยากไปเรียนศิลปากรมันจำเป็นต้องใช้ กลับมาจากโรงเรียนก็ฝึกวาดวันละห้าแผ่นบ้างสิบแผ่นบ้าง?

Photo: Tanisorn Vongsoontorn
Photo: Tanisorn Vongsoontorn

มีศิลปินในดวงใจไหม?

“อาจารย์ถวัลย์ อาจารย์เฉลิมชัย”

เคยทำโครงการจิตอาสาด้วยใช่ไหม?

เป็นโครงการเกี่ยวกับไปสอนเด็กตามจังหวัดต่างๆ ผมเอาภาพที่เราวาดไปประมูลแล้วก็เอาเงินที่ได้ไปบริจาคให้กับโครงการ เริ่มทำมาตั้งแต่ตอน ป. 5 - ป. 6 เพราะเราไปเห็นคนป่วยติดเตียงที่โรงบาลแม่ (คุณแม่เป็นพยาบาล) แล้วก็สงสารเขา ตอนนั้นก็เลยเริ่มทำโครงการซื้อที่นอนลมให้ผู้ป่วยติดเตียงโดยการเอาภาพไปประมูลแล้วก็เอาเงินมาซื้อที่นอนลมให้ผู้ป่วยติดเตียงแล้วก็ก็เลยเริ่มทำมาเรื่อยๆ”

ผลงานที่ส่งเข้าประกวดเป็นภาพใคร?

ภาพนี้เป็นภาพลูกพี่ลูกน้องผมชื่อน้ององศาแล้วก็มีหมาคู่ใจของเขา ที่วาดภาพนี้เพราะว่าไปเห็นน้องเค้านั่งอยู่ตรงที่เรานั่งประจำตอนเด็ก ก็เลยนึกถึงวัยเด็กที่เราไปนั่งบ้านยาย เลยลองวาดส่งประกวด ในภาพนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมต้นไม้ถึงเป็นสีม่วง ก็คือมันเหมือนเป็นความสุขของน้องเขาที่เบ่งบานออกมาแทนสีเขียวหมด ผมอยากใส่ความคิดสร้างสรรค์ อยากเอาสีม่วงมาใส่ในงานให้มันแปลกกว่าคนอื่น”

Photo: Tanisorn Vongsoontorn
Photo: Tanisorn Vongsoontorn

Italthai Portrait Prize 2023 Exhibition & People’s Choice Prize

ตอนนี้ทุกคนสามารถดูผลงานของศิลปินผู้ชนะทั้ง 3 คน รวมถึงผลงานของศิลปินคนอื่นๆ ที่เข้ารอบสุดท้ายทั้ง 70 คนได้ที่ห้อง RCB Photographers’ Gallery และ RCB Galleria 4 ที่ชั้น 2 ของ River City Bangkok จนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2566 และยังสามารถติดตามการประกาศรางวัล People’s Choice Prize ที่มาจากผลโหวตของผู้เข้าชมนิทรรศการ หลังจากนิทรรศการสิ้นสุดลง

แชร์เนื้อหา

บทความล่าสุด

    การโฆษณา