บุกหลังเวที PlayStation Experience คุยกับ Bryan Dechart และ Amelia Rose Blaire จาก Detroit: Become Human

Sopida Rodsom
เขียนโดย
Sopida Rodsom
การโฆษณา

ถึงแม้งาน PlayStation Experience มหกรรมเกมยิ่งใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกจะผ่านไปได้หนึ่งสัปดาห์แล้ว แต่เราเชื่อว่าหลายๆ คนยังน่าจะประทับใจ และยังรอคอยเกมที่ทางงานได้เอาตัวอย่างมาให้รอเล่นกันอย่างใจจดใจจ่อ หนึ่งในไฮไลต์จากงานที่ผ่านมาคือการปรากฏตัวของ Bryan Dechart และ Amelia Rose Blaire นักแสดงโมชั่นแคปเจอร์ (Motion Capture) เจ้าของบท Connor และ Traci จากเกม Detroit: Become Human หนึ่งในเกมสุดฮิตของปี ค.ศ. 2018 ซึ่งบินตรงมาพบปะแฟนๆ ที่เมืองไทยอย่างอบอุ่นเป็นครั้งแรก ก่อนที่ทั้งสองจะได้พบปะกับแฟนๆ ภายในงาน สื่อมวลชนชาวไทยก็ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ซึ่งเราได้นำเรื่องราวที่น่าสนใจมากฝากทุกคนกันด้วย

อ่านเพิ่มเติม | เปิดประสบการณ์ PlayStation Experience 2018 ครั้งแรกในประเทศไทย

 

 

เส้นทางสู่ Detroit: Become Human

เกม Detroit: Become Human พัฒนาโดย Quantic Dream ผู้ผลิตเกมแอ็กชั่น/ผจญภัยสนุกๆ อย่าง Heavy Rain และ Beyond: Two Souls และออกจำหน่ายผ่าน Sony Interactive Entertainment สำหรับเครื่อง PlayStation 4 เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยจำลองเรื่องราวให้เกิด ณ เมืองดีทรอยต์ในยุคอนาคต ซึ่งประชาชนมีหุ่นแอนดรอยด์คอยให้ความสะดวกต่างๆ ผู้เล่นจะสามารถเล่นเป็นตัวละครแอนดรอยด์ 3 ตัวได้แก่ Marcus ผู้ต้องการปลดปล่อยแอนดรอยด์ให้มีอิสรภาพ, Kara แอนดรอยด์แม่บ้านที่ปกป้องเด็กจากพ่ออารมณ์ร้าย และ Connor นักสืบแอนดรอยด์ที่มีหน้าที่ไล่ล่าหุ่นยนต์ที่บกพร่อง

"แฟนคลับชาวไทยคือกุญแจสำคัญทำให้เกมนี้ประสบความสำเร็จครับ" Bryan หยอดคำหวาน "ผมว่าการที่เราสามารถเล่นเกมได้หลากหลายแบบ และนำประสบการณ์ที่ได้ไปเปรียบเทียบกับเพื่อนๆ ทำให้ผู้เล่นสามารถควบคุมเกมทั้งในแง่การกำกับ การแสดง และการเขียนเรื่องราว ถึงจะไม่ใช่รูปแบบเกมใหม่ แต่ก็มีเอกลักษณ์ เหมือนเวลาคุณกล่องของเล่นลงบนพื้น แล้วคุณจะเล่นของเล่นแบบไหนหรืออย่างไรก็ได้ตามใจคุณ" Bryan กล่าวถึงจุดเด่นของเกมซึ่งอยู่ที่ผู้เล่นสามารถเลือกคำพูดและสิ่งที่ทำ จนส่งผลให้เนื้อเรื่องที่แต่ละคนเล่นไม่เหมือนกัน (ว่ากันว่ามีตอนจบหลายร้อยแบบ)

 

 

ความแตกต่างของโลกภาพยนตร์และเกม

ก่อนจะมารับบทในเกม Bryan เคยมีผลงานการแสดงในซีรีส์ Jane by Design และภาพยนตร์เรื่อง The Remaining ส่วนคุณภรรยา Amelia ก็ร่วมแสดงในซีรีส์ดังอย่าง True Blood และ Scream ก่อนมีโอกาสมาร่วมงานกับ Detroit: Become Human "สิ่งที่แตกต่างที่สุดระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์ กับการทำโมชั่นแคปเจอร์สำหรับเกมคือการที่กองถ่ายไม่มีเซ็ต ไม่มีการแต่งหน้า ไม่มีการแต่งตัว ทุกอย่างล้วนอยู่ในจินตนาการของคุณเอง พอไม่มีฉากหรือการแต่งตัว วันหนึ่งคุณสามารถถ่ายได้หลายฉากมากๆ มันเป็นงานที่หนักมากเลยล่ะ" " Amelia หัวเราะ

เนื่องจากผู้เล่นสามารถกดเลือกปฏิกิริยาที่แตกต่างกันไปใน 1 ฉาก ดังนั้นแทนที่จะพูดแบบปกติต่อบทกันไปเรื่อยๆ นักแสดงโมชั่นแคปเจอร์จำเป็นต้องพูดหนึ่งประโยคสำหรับตัวเลือกแรกแล้วหยุดพัก จากนั้นพูดประโยคสำหรับตัวเลือกถัดไปแล้วก็หยุดพัก จากนั้นก็พูดประโยคสำหรับตัวเลือกต่อไป เมื่อครบเหมือนถึงจะเปลี่ยนเป็นคำพูดต่อไปได้ "สำหรับการเล่าเรื่องแบบแตกแขนงอย่างนี้ เราจะเล่นตัวเลือกหลายๆ อย่างต่อกัน เราจะพักแแล้วเริ่มคิดเนื้อเรื่องใหม่ อ่ะ... ตอนนี้โกรธ พักอีกครั้ง อ่ะ... ตอนนี้ต้องตอบแบบใจดีนะ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยปกตอสำหรับนักแสดงเท่าไหร่ครับ" Bryan เสริมพร้อมเล่าถึงฉากโปรดของหลายๆ คนอย่างฉากที่ Connor ตบ Hank ซึ่งเขาเสนอผู้กำกับ David Cage ว่าต้องเล่นใหญ่ฟาดหน้าแรงๆ เพราะนั่นคือสิ่งที่หุ่นยนต์น่าจะทำ

 

via Gfycat

 

การเตรียมตัวกับบทยาวเหยียดกว่า 2,000 หน้า

Bryan ยังเผยว่าเขาต้องผ่านการออดิชั่นมากกว่า 5-6 รอบ ซึ่งภาพยนตร์ปกติจะทำเพียง 2-3 รอบเท่านั้น โดยการออดิชั่นครั้งแรกของเขาเป็นฉากใน demo ของ Detroit: Become Human ช่วงปี ค.ศ. 2012 ซึ่งเป็นการเปิดตัวระบบเกมครั้งแรก โดยเขาต้องพูดบทของ Kara ตอนเธอแสดงความรู้สึกว่าอยากมีชีวิตอยู่เมื่อคนจะปิดระบบของเธอ "จริงๆ ผมไม่รู้ว่าสคริปต์เยอะขนาดไหน เพราะผมเห็นแต่ส่วนของ Conner อย่างเดียว ซึ่งเป็นตัวละครที่มีบทพูดแตกแขนง [branching narrative หรือเนื้อเรื่องที่แตกแขนงออกเหมือนกิ่งไม้เมื่อเลือกคำตอบที่ไม่เหมือนกัน] ออกมาเยอะที่สุดในเรื่อง ผมเลยต้องจดบทว่าแต่ละประโยคตามปุ่มบนจอยสติ๊ก วงกลม กากบาท สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม รวมไปถึงการใช้สี เพราะบางครั้งแขนงนี้คำตอบของเขาจะฟังดูเหมือนมนุษย์ที่สุด ส่วนแขนงนี้จะฟังเหมือนหุ่นยนต์ที่สุดครับ" Bryan อธิบายขั้นตอนการทำงานที่ช่วยให้เขาสามารถแสดงไป และกลับไปดูที่บทเพื่อน้ำเสียงและท่าทางที่เหมาะสมในแต่ละประโยค 

สำหรับใครที่สนใจเรื่องการแสดงโมชั่นแคปเจอร์ ทั้งสองได้แนะนำว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเรียนรู้อยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของเสียง และท่าทางของร่างกาย เพราะต่างจากภาพยนตร์หรือโทรทัศน์ที่มีเฟรมว่าถ่ายตรงไหนบ้าง การทำโมชั่นแคปเจอร์คือการตั้งกล้อง 360 องศา ไม่ว่าตา มือ หรือเท้าของคุณจะทำอะไรก็จะสามารถจับภาพได้ทั้งหมด ดังนั้นการแสดงโมชั่นแคปเจอร์จึงมีความยากกว่าการถ่ายทำภาพยนตร์ และมีลักษณะการแสดงที่คล้ายละครเวทีเสียมากกว่า

 

 

โลกหุ่นยนต์ในอนาคต

หากใครที่ได้ลองเล่นเกมแล้ว ก็จะพบว่าเนื้อเรื่องของ Detroit: Become Human เน้นไปที่สิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมกันของมนุษย์และหุ่นยนต์ ดังนั้นท้ายที่สุดแล้วเราก็อดถามไม่ได้ว่าหลังจากเล่นเกม Detroit: Become Human ทั้งคู่ยังอยากมีหุ่นยนต์แอนดรอยด์เป็นของตัวเองหรือไม่ ซึ่ง Bryan ได้แต่หัวเราะและรีบโบ้ยให้ Amelia ตอบในทันที "จริงๆ มันเป็นคำถามที่ตอบยากนะ เพราะหลังจากร่วมเล่นในเกมนี้แล้ว ฉันก็ไม่อยากมีแล้วค่ะ แต่มันคงจะดีถ้ามีคนช่วยล้างจาน ซักผ้า ทำงานบ้านน่าเบื่อ แต่ฉันคงรู้สึกแย่มาก และต้องปล่อยให้เขาเป็นอิสระอยู่ดี" นักแสดงสาวตอบ

... "ตอนนี้ผมพยายามพูดจาดีๆ กับโทรศัพท์ตลอด 'สิริครับ สิริช่วยตั้งนาฬิกาปลุกให้ผมหน่อยได้ไหมครับ' ต้องเผื่อไว้ก่อนนะครับ" Bryan ปิดท้ายการสัมภาษณ์ที่เรียกเสียงหัวเราะได้จากคนในห้องได้อย่างครื้นเครง

แชร์เนื้อหา

บทความล่าสุด

    การโฆษณา