พ.ร.บ. คู่ชีวิตไทยผ่านแล้วเป็นประเทศแรกในเอเชีย ...แต่เราควรจะดีใจหรือยัง?

เขียนโดย
Wissuta Ploypetch
การโฆษณา

ปีนี้ คณะรัฐมนตรีให้ของขวัญคริสต์มาสกลุ่มคนหลากหลายทางเพศด้วยการผ่านความเห็นชอบ "ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต" (หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า พ.ร.บ. คู่ชีวิต) ไปเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ 2561 หลังจากมีการแก้ไขปรับปรุงมาจนถึงฉบับที่ 3 ถือเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีการผ่านร่างฯ ชนิดนี้ 

เอาจริงๆ ข่าวนี้ควรเป็นข่าวใหญ่ที่ทุกคนดีใจ แต่ความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะ พ.ร.บ. คู่ชีวิต ฉบับปี พ.ศ. 2561 ตัดสิ่งที่ควรจะมีออกไปหลายอย่างจาก 70 มาตราในร่างฯ แรกเมื่อปี พ.ศ. 2556 เหลือเพียง 44 มาตราในร่างฯ ปัจจุบัน ตัดออกแบบที่แทบจะไม่เหลือพื้นที่ให้กับความยินดีของชาวเรา ตัวอย่างเช่นถึงแม้จะมอบสิทธิในการให้และรับมรดก ทำนิติกรรม และจัดการทรัพย์สินร่วมกันระหว่างคู่รักเพศเดียวกันได้ แต่สิทธิสำคัญของคู่ชีวิตก็ขาดไปหลายประการ เช่น

  • สิทธิในการตัดสินใจในการรักษาพยาบาลและจัดการศพคู่ชีวิต
  • สิทธิการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน การปกครองบุตรร่วมกัน เพราะการรับบุตรบุญธรรมร่วมกันนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) และ พ.ร.บ.การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม บัญญัติว่า "คู่สมรส" ตามปพพ.เท่านั้นที่จะรับบุตรบุญธรรมร่วมกันและปกครองบุตรบุญธรรมร่วมกันได้
  • สิทธิการมีบุตรด้วยวิธีการอุ้มบุญ
LGBT พ.ร.บ.คู่ชีวิต Gay เพศทางเลือก

นอกจากนี้ร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิตนั้นฉบับนี้เป็นกฎหมายที่แยกออกมาจากกฎหมายครอบครัวหลักของประเทศไทย ซึ่งนักสิทธิฯ มองว่าขัดต่อหลักความเสมอภาคสากล และมองว่าควรจะแก้ไขกฎหมายสมรสปัจจุบันให้ครอบคลุมทุกคนมากกว่า เพราะตอนนี้เหมือนแบ่งแยกให้กลุ่มคนหลากหลายทางเพศต้องใช้กฎหมายแยกอีกฉบับต่างหาก รวมทั้งมีผลต่อสิทธิอื่นๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ยึดโยงคำว่า "คู่สมรส" จะไม่สามารถมอบสิทธิให้กับ "คู่ชีวิต" ได้จนกว่าจะถูกแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิให้กับพ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิตในอนาคต อาทิ

  • การลดหย่อนภาษีจากการมีคู่สมรส
  • สิทธิในกองทุนประกันสังคมของคู่สมรส
  • การใช้ชื่อสกุลร่วมกับคู่สมรส
  • การเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแทนคู่สมรส
  • การรับสวัสดิการจากภาครัฐร่วมกับคู่สมรส
  • การตรวจลงตรา (วีซ่า) ในฐานะคู่สมรส ฯลฯ

ส่วนการยุติความสัมพันธ์ในฐานะคู่ชีวิตนั้นยังคงใช้หลักการเดียวกับกฎหมายเช่นนี้ในต่างประเทศ การเป็นคู่ชีวิตสามารถสิ้นสุดลงได้ด้วยความตาย การจดทะเบียนคู่ชีวิตกับบุคคลอื่น และกระบวนการฟ้องร้องทางศาล 

ขั้นตอนถัดจากนี้คือรอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณารายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเมื่อผ่านการเห็นชอบจึงจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจะมีผลบังคับใช้ 120 วันหลังจากนั้่น ...ส่วนจะพิจารณาได้เสร็จก่อนเลือกตั้งหรือไม่ อันนี้ต้องลุ้น

แชร์เนื้อหา

บทความล่าสุด

    การโฆษณา