นัยระนาบนอก อินซิทู: สำรวจวังหน้าผ่านการทับซ้อนของเวลาและประวัติศาสตร์ที่ไม่หยุดแค่อดีต

Saranyu Nokkaew
เขียนโดย
Saranyu Nokkaew
การโฆษณา

สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้ผ่านการเก็บหน่วยกิตในชั่วโมงประวัติศาสตร์อย่างจริงจัง นิทรรศการวังน่านิมิต ที่จัดขึ้นเมื่อกลางปี 2561 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ถือเป็นการเปิดตัว “วังหน้า” อย่างเป็นทางการอีกครั้งหลังที่จากที่ตำแหน่งวังหน้า หรือ “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล”  ถูกยุติบทบาทลงไปในสมัยรัชกาลที่ 5 อีกทั้ง “วังหน้า” อันหมายถึงพระราชวังที่ประทับของผู้อยู่ในตำแหน่งวังหน้าก็ถูกลดทอนลงจนหลายอาคารแทบไม่เหลือเค้าโครงเดิม นั่นจึงไม่แปลกที่จะทำให้คำว่า วังหน้า หายไปในห้วงความทรงจำ หลายคนไม่เคยรู้เลยด้วยซ้ำว่าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือแม้แต่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ล้วนเคยเป็นส่วนหนึ่งของความยิ่งใหญ่ในพื้นที่วังหน้ามาก่อน

Saranyu Nokkaew/Time Out Bangkok

จากภาคที่ 1 ของนิทรรศการวังน่านิมิต เข้าสู่ภาค 2 ของการนำข้อมูลประวัติศาสตร์ทั้งหมดของวังหน้าเข้าสู่คลังความรู้ออนไลน์ ก่อนจะต่อยอดสู่ภาค 3 วังหน้านฤมิตในมิติแห่งกาลเวลา” ซึ่งจัดแสดงผ่านนิทรรศการร่วมสมัย นัยระนาบนอก อินซิทู : แปลงร่างอดีตในหลืบแห่งปัจจุบัน ที่พิเศษด้วยการเลือกจัดแสดงงานในสถานที่ประวัติศาสตร์จริง สมดังความหมาย อินซิทู (In Situ : In the original place) นั่นก็คือ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นท้องพระโรงวังหน้า และใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีต่างๆ ต่อเมื่อเวลาผ่านจึงใช้เป็นที่ประดิษฐานพระศพของสมเด็จพระบวรราชเจ้า และพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

Saranyu Nokkaew/Time Out Bangkok

ปัจจุบันพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยได้รับการปรับปรุงใช้เป็นสถานที่จัดแสดงงานนิทรรศการหมุนเวียนต่างๆ รวมทั้งงานนิทรรศการ นัยระนาบนอก อินซิทู : แปลงร่างอดีตในหลืบแห่งปัจจุบัน ที่การันตีได้ถึงความโมเดิร์นล้ำสมัยที่สุดเท่าที่เคยจัดมาในห้องแห่งนี้โดยมี คุณใหม่-สิริกิติยา เจนเซน เป็นทั้งผู้จัดการโครงการและหนึ่งในทีมภัณฑารักษ์ร่วมกับนาตาลี บูแตง และแมรี่ ปานสง่า

Saranyu Nokkaew/Time Out Bangkok

เมื่อ นัยระนาบนอก อินซิทู: แปลงร่างอดีตในหลืบแห่งปัจจุบัน มีความโมเดิร์นแหวกขนบของการจัดแสดงงานที่เคยเกิดขึ้นมา แน่นอนว่าผู้ชมจะไม่ได้เห็นวังหน้าผ่านโบราณวัตถุจัดใส่ตู้กระจก ตรงกันข้ามนิทรรศการครั้งนี้ได้เชิญศิลปินร่วมสมัย 7 คน พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ในอีก 13 สาขาอาชีพมาร่วมมองวังหน้าจากสายตาคนนอกรั้ววัง ไม่ว่าจะเป็นนักร้อง นักดนตรี เชฟ นักผังเมือง นักพฤกษศาสตร์ แฟชั่นดีไซเนอร์ หรือแม้แต่นักภาษาศาสตร์

“งานของผมคือ The Ghost of Wang Na ซึ่งเวลาคนทั่วไปเห็นสถานที่เก่าๆ เห็นของเก่า เขาก็มักจะนึกไปถึงผี แต่ Ghost ของผมไม่ใช่ผี แต่เป็นจิตวิญญาณของสถานที่แม้เวลามันจะผ่านไปแล้ว แต่ก็ยังมีเรื่องราวของสถานที่นั้นซ้อนทับอยู่ ด้านงานดนตรีชิ้นนี้ผมได้บันทึกเสียงของระนาดซึ่งอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มานานมาสร้างเป็นท่วงทำนองดนตรีใหม่ มีเสียงอ่านบทเพลงยาว บทพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระปิ่นเกล้า ประกอบดนตรีอิเล็คทรอนิคส์ลงไป ซึ่งแม้ระนาดหรือบทเพลงยาวจะเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ แต่ก็ยังกลับมาให้เราได้ยิน ได้ฟัง ไม่ได้หายไปไหน” คุณตุล ไวฑุรเกียรติ แห่งวง Apartment Khunpa เล่าถึงการแปลงร่างอดีตในหลืบแห่งปัจจุบันจนกลายมาเป็นชิ้นงานจัดแสดงที่มีหูฟังให้ได้ฟังเสียงระนาดแห่งวังหน้า โดยการทับซ้อนของสถานที่และเวลาคือสิ่งที่นิทรรศการครั้งนี้ต้องการจะหยิบยกมาสื่อความเพื่อให้คำว่าประวัติศาสตร์ไม่ได้จบอยู่เพียงอดีต

Saranyu Nokkaew/Time Out Bangkok

นอกจากเสียงเพลงแล้ว ในนิทรรศการครั้งนี้เราจะได้เห็นรูปแบบการสื่อสารที่ค่อนข้างโมเดิร์นอีกหลายชิ้นอย่างผลงาน One Million Years การอ่านหนังสือ 2 เล่มของออน คาราวา ที่เขียนอุทิศแด่ผู้ที่ล่วงลับเมื่อล้านปีก่อน และผู้ที่จะมีชีวิตอยู่เป็นคนสุดท้ายในอีกล้านปีข้างหน้า                 หรือการเล่นกับรหัสของคุณ ปรัชญา พิณทอง ที่ให้ผู้เข้าชมเป็นส่วนหนึ่งของชิ้นงาน แต่กระนั้นก็ยังมีการนำวัตถุโบราณที่อยู่ในวังหน้ามาใช้ร่วมจัดแสดงทั้งหมด 3 ชิ้น คือ “ลูกแก้วปรอท” และ “ลับแล” 2 บาน

สำหรับลูกแก้วปรอทนั้นเดิมทีตั้งอยู่ในพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ พระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า เจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ  สร้างเพื่อเป็นที่ประทับแบบชาวตะวันตก แต่ดั้งเดิมไปกว่านั้นลูกแก้วปรอทเคยใช้ประทับ ณ ท้องพระโรงแห่งนี้ คุณนิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ ศิลปินต้องการสื่อให้เห็นการทับซ้อนของเวลาที่พาดลงไปบนวัตถุซึ่งทำให้หน้าที่ ความหมายของสิ่งของนั้นๆ รวมทั้งวังหน้าแห่งนี้เปลี่ยนไป จากลูกแก้วปรอทที่ประชาชนไม่เคยได้มองอย่างใกล้ชิดก็ได้เปลี่ยนมาเชื้อเชิญให้ทุกคนเข้าไป โดยคุณนิพันธ์ยังได้เชื่อมต่อทรงกลมของลูกแก้วเข้ากับห่วงโลหะซึ่งมีเนื้อเพลงลาวแพนทั้งภาษาไทยและลาวสลักไว้ด้านใน

Saranyu Nokkaew/Time Out Bangkok

โบราณวัตถุอีชิ้นคือ “ลับแล” ที่เปลี่ยนหน้าที่จากกระจกกั้นฉาก มาตั้งขนานเข้าหากัน 2 บาน ผู้ชมสามารถโหลดแอพพลิเคชั่นพิเศษเฉพาะนิทรรศการแล้วส่องไปที่กระจกเพื่อที่จะร่วมตอบคำถามกับตัวละครหญิงสาวที่จะชวนเราค้นหาตัวตน

นอกจากชิ้นงานที่จัดแสดงในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่วันนี้ถึง 28 เมษายน พ.ศ. 2562 วังหน้านฤมิตในมิติแห่งกาลเวลายังจะมีกิจกรรมต่างๆ ตลอดนิทรรศการ ไม่ว่าจะเป็นเสวนา การร้องเพลงประสานเสียงจากคณะสวนพลู รวมทั้งเชฟส์เทเบิ้ลโดยเชฟตาม ชุดารี เป็นต้น

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.wangnaproject.com

               

แชร์เนื้อหา

บทความล่าสุด

    การโฆษณา