BACC
Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

หอศิลป์ กทม. ได้ไปต่ออีก 10 ปี เตรียมคุยสัญญาใหม่เร็วๆ นี้ เน้นหาทางออกเรื่องงบอุดหนุน

Suriyan Panomai
เขียนโดย
Suriyan Panomai
การโฆษณา

เดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ มูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ที่ทำหน้าที่ดูแลและบริหารหอศิลป์ กทม. จะหมดสัญญากับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เจ้าของอาคาร เรื่องนี้มีทีท่าว่าอาจจะทำให้พื้นที่ศิลปะกลางเมืองของคนกรุงเทพฯ หายไป เนื่องจากที่ผ่านมาทางมูลนิธิฯ กับ กทม. มีประเด็นติดขัดกันในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณอุดหนุนที่ทาง กทม. ต้องสนับสนุนมูลนิธิฯ ซึ่งไม่ใช่หน่วยงานสังกัด กทม. 

BACC
Saranyu Nokkaew

ล่าสุด มีสัญญาณที่ดีจากทั้งสองฝ่าย หลังจากคณะกรรมการมูลนิธิฯ ได้เข้าพบ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. และตัวแทน กทม. ที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ที่ผ่านมา เพื่อหารือในประเด็นการต่อสัญญาให้มูลนิธิฯ ดูแลหอศิลป์ต่อ และเบื้องต้นทางผู้ว่าฯ กทม. ได้ให้แนวทางมาว่าจะต่อไปอีก 10 ปี แต่ระหว่างนี้ก็ยังมีหลายขั้นตอนที่ต้องดำเนินการ

ลักขณา คุณาวิชยานนท์ กรรมการบริหารและปฏิบัติการผู้อำนวยการหอศิลป์ กทม. เปิดเผยว่า ขั้นตอนแรกเพื่อให้การต่อสัญญาเป็นไปอย่างราบรื่น คือการคัดเลือกคณะกรรมการมูลนิธิฯ ชุดใหม่ มาทำงานแทนคณะกรรมการชุดเดิมที่จะหมดวาระปลายเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งทางมูลนิธิฯ อยู่ระหว่างการสรรหา และมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีคณะกรรมการที่มาจากฝั่งผู้บริหาร กทม. เพื่อให้การประสานงานต่างๆ มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้มีข้อสรุปในประเด็นนี้

“ในระหว่างการสรรหาคณะกรรมการชุดใหม่ ก็จะมีการหารือกับทีมกฎหมายของทั้งสองฝ่ายเกี่ยวกับเรื่องสัญญาด้วย เนื่องจากสัญญาเก่าที่ใช้มาสิบปีไม่ทันสมัยและทำให้เกิดประเด็นติดขัดในบางข้อที่ทำให้ กทม. ไม่สามารถใช้งบอุดหนุนได้ ไปถึงขั้นกันตีความในเชิงกฎหมายต่างๆ พอได้กรรมการชุดใหม่ก็คงจะมาสรุปกันอีกทีว่าจะแก้ไขปัญหาตามนี้หรือเปล่า หรือจะมีอะไรเพิ่มเติมหรือเปล่า แล้วก็ดำเนินการต่อสัญญา ซึ่งผู้ว่า กทม. ก็ให้แนวทางว่าจะต่อไปอีก 10 ปี”

“ประเด็นหลักที่ต้องพูดคุยกันในการต่อสัญญาครั้งนี้ คือเรื่องงบประมาณอุดหนุนหรือการสนับสนุนจากฝ่าย กทม. ว่าจะมาในรูปแบบไหนได้บ้างที่จะทำให้หอศิลป์ยังอยู่ได้อย่างยั่งยืน เพราะถ้าไม่มีการสนับสนุนเลยก็อาจจะทำให้เราไม่สามารถคงสถานะการเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรได้ และถ้าต้องเป็นในเชิงพาณิชย์มากกว่านี้ ผลเสียก็จะไปตกอยู่กับส่วนรวม แทนที่จะได้เข้าถึงบริการที่เป็นของสาธารณะจริงๆ” 

BACC
BACC

ปัจจุบันหอศิลป์ กทม. เปิดให้เข้าชมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่การต่อสัญญาครั้งนี้ เรื่องการจัดเก็บค่าเข้าชมหรือค่าสมาชิก จะเป็นหนึ่งในหัวข้อที่ถูกยกขึ้นมาหารือ แต่ทางมูลนิธิฯ ระบุว่า จะพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อที่จะไม่ต้องเก็บค่าเข้าชม ขณะเดียวกันก็มองว่าการเก็บค่าเข้าชมหรือค่าสมาชิกอาจจะไม่ใช่แค่เรื่องของการหารายได้  แต่เป็นการสร้างทัศนคติบางอย่างให้กับผู้เข้าชมด้วย โดยอยากให้ทุกคนเห็นคุณค่าของพื้นที่ตรงนี้และมีส่วนในการดูแลรักษา

การที่มูลนิธิฯ มีหน้าที่ในการดูแลหอศิลป์ โดยมี กทม. สนับสนุน ยังคงเป็นโมเดลที่มูลนิธิฯ มองว่าเป็นผลดีต่อทั้งสองฝ่ายมากกว่าการนำระบบบริการแบบราชการมาใช้กับหอศิลป์ เนื่องจากมองว่าจะทำให้ขาดความคล่องตัว

“จริงๆ มูลนิธิฯ ก็มีระบบบริหารในลักษณะเอกชน เพราะเราเป็นนิติบุคคล เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ไม่มีผู้ถือหุ้น จึงปลอดผลประโยชน์ประมาณหนึ่ง แล้วทุกอย่างที่ทำมันก็กลับไปที่สังคม แล้วรูปแบบมูลนิธิแบบนี้ ก็ยังเปิดโอกาสให้หน่วยงานอื่นเข้ามามีส่วนสนับสนุนเราได้ด้วย ช่วยลดภาระของภาครัฐด้วย ไม่ใช่ว่า กทม. ต้องลงเองทั้งหมด เพราะที่ผ่านมาเราก็พยายามจะทำให้สัดส่วนของการที่จะมีคนเข้ามาสนับสนุนเยอะเพิ่มขึ้นด้วย” ลักขณา กล่าว

เรื่องของสัญญาใหม่จะออกมาเป็นยังไง การสนับสนุนหอศิลป์จาก กทม. จะเป็นไปในรูปแบบไหน ต่อจากนี้เราต้องเสียค่าเข้าชมงานศิลปะหรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่ต้องรอการสรุปอย่างเป็นทางการอีกที แต่อย่างน้อยๆ ตอนนี้ก็ถือว่าเป็นสัญญาณอันดีที่เราจะงยังได้เห็นหอศิลป์ กทม. ทำหน้าที่ของมันในฐานะพื้นที่ศิลปะของคนเมืองต่อไปอีก 10 ปี 

แชร์เนื้อหา

บทความล่าสุด

    การโฆษณา