แซ่บข้ามโลก! รู้จัก 2 คนไทยที่โดดเด่นจนกลายเป็นดาวในพาเหรด Pride March ที่นิวยอร์ก

Sopida Rodsom
เขียนโดย
Sopida Rodsom
การโฆษณา

ช่วง Pride Month ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่ละเมืองทั่วโลกก็ได้จัดกิจกรรมเกี่ยวกับ LGBT ที่น่าสนใจมากมาย แต่ไฮไลต์ที่หลายๆ คนรอคอยก็คืองาน NYC Pride March งานพาเหรดเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศที่จัดขึ้นทุกปีในมหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีผู้เข้าชมหลายล้านคนทุกปี แต่ใครที่ติดตามงานในปีนี้เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา ก็น่าจะสะดุดตากับชาวไทย 2 คนในคอสตูมสีสันสดใสที่ได้รับแรงบันดาลใจจากชุดนักมวยไทย เรียกเสียงฮือฮาให้ผู้มาเข้าร่วมงานแถมยังเรียกเสียงแฟลชจากตากล้องตลอดทั้งการเดินพาเหรด จนมีภาพลงตามเว็บไซต์และสื่อต่างๆ Time Out สายตรงถึงหนึ่งในสองคนไทยสุดฮอต เขตต์-ธศร ทักษิณาพันธ์ ผู้ร่วมขบวนในชุดนักมวยไทยสีชมพู เพื่อสัมภาษณ์เกี่ยวกับประสบการณ์สุดพิเศษในครั้งนี้

 

(ซ้าย) เขตต์-ธศร ทักษิณาพันธ์ วัย 36 ปี อาชีพพนักงานสายการบิน และ (ขวา) เติ้ล-กันต์ภูชิสส์ ประดิษฐ์แท่น วัย 32 ปี ฟรีแลนซ์เมกอัพอาร์ทิสต์
Yongyuth Saislang

 

เคยไป Pride March มาก่อนไหม ทำไมตัดสินใจไปร่วมเดินขบวนในครั้งนี้

เคยไปร่วมงาน NYC Pride March เมื่อปีที่แล้วแต่ในฐานะคนดู สำหรับเหตุผลที่ตัดสินใจมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพาเหรดในครั้งนี้ เพราะว่าเราอยากจะรู้ว่า การร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงาน pride ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกเป็นอย่างไร และอีกเหตุผลคือเราทั้งสองคนอยากแสดงความเป็นไทยให้กับคนทั่วโลกได้เห็นและชื่นชม

การเตรียมตัวก่อนไปเดินต้องทำยังไงบ้าง

ก่อนเดินทางมาร่วมงาน เราสองคนก็มีการเตรียมตัวในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ร่างกาย การเดินทาง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเตรียมพร้อมเรื่องของชุดและคอนเซ็ปต์ที่เราและเติ้ล (กันต์ภูชิสส์ ประดิษฐ์แท่น ผู้ร่วมเดินขบวนในชุดนักมวยไทยสีเขียว) ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เราคุยกันมาตั้งแต่เดือนมีนาคม แต่เพิ่งมาตัดสินใจเลือกชุดมวยไทยเมื่อหนึ่งอาทิตย์ก่อนเดินทางนี่เอง เพราะเราทั้งสองคนอยากมั่นใจว่าสิ่งที่พวกเรานำมาแสดงนั้นสามารถ represent ความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน

 

Yongyuth Saislang

 

ใครสามารถไปร่วมพาเหรดได้บ้าง คนที่สนใจต้องทำอย่างไร

จริงๆ แล้วทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในครั้งนี้ได้ในฐานะผู้ชม แต่ถ้าอยากเป็นผู้ร่วมเดินขบวนด้วยอาจจะต้องติดต่อกับผู้จัดการขบวนนั้นๆ โดยในปีนี้เราได้ร่วมเดินกับกลุ่ม API (Asian-Pacific Islander) Rainbow Parents ซึ่งเป็นกลุ่มครอบครัวเอเชีย และกลุ่มประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิค ที่มีลูกเป็นเกย์ เลสเบี้ยน ทรานส์เจนเดอร์ และไบเซ็กชวล ซึ่งทางเติ้ลรู้จักเป็นการส่วนตัวกับคุณอาร์มแชร์ (ปรัชญ์ ศรีนาค) คนไทยที่อาศัยอยู่ที่นิวยอร์คอยู่แล้ว และแต่งชุดไทยร่วมเดินในขบวนนี้มาทุกปี โดยเติ้ลได้แจ้งกับคุณอาร์มแชร์ว่าต้องการร่วมเดินขบวนในปีนี้ พร้อมทั้งแจ้งเรื่องคอนเซ็ปต์ที่จะนำไปแสดง ทางคุณอาร์มแชร์ก็ได้นำเรื่องไปปรึกษากับผู้จัดการขบวน แพทริก ลินน์ (IG: Mahjong.Butterfly) และทางแพทริกก็เป็นคนลงทะเบียนให้พวกเรา

มีคนไทยไปร่วมงานเยอะไหม

อาร์มแชร์บอกว่าปกติก็จะมีกลุ่มคนไทยที่อาศัยอยู่ที่นิวยอร์คร่วมเดินด้วยทุกปี แต่ปีนี้หลายๆ คนติดภารกิจจึงมาร่วมขบวนไม่ได้ เลยเห็นแค่เรา 3 คนในขบวน API Rainbow Parents ในปีนี้ และเรากับเติ้ลเป็นเพียงคนไทย 2 คนที่บินจากประเทศไทยไปร่วมเดินงานนี้โดยเฉพาะ

ธีมการแต่งตัวในงานครั้งนี้คืออะไร และทำไมเลือกธีมนี้

ธีมการแต่งตัวคือ Siamese Revellers! จริงๆ เราสองคนอยากให้พอคนเห็นปุ๊บก็ร้องอ๋อปั๊บว่า... That’s Thailand! ตอนแรกเราสองคนคิดว่าจะแต่งเป็นแฝดสยามอิน-จัน แต่คิดไปคิดมาการทำตัวติดกันเหมือนแฝดอิน-จัน คงเดินลำบากมากๆ เพราะระยะทางการเดินเกือบ 5 กิโลเมตร เราจึงตัดสินใจเลือกชุดนี้แทน ที่เราสองคนเลือกชุดนี้เพราะหลายๆ เหตุผล ไม่ว่าจะเป็น (1) Message ชัดเจน คือการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันของเพศ (2) ภาพชัดเจน คือมวยไทย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ที่คนทั่วโลกรู้จักประเทศไทย (3) อุปกรณ์น้อยสามารถเดินทางจากประเทศไทยไปได้สะดวก และ (4) ยังคงคอนเซ็ปต์ของความเป็น siamese twins ได้อยู่บ้าง

 

Yongyuth Saislang

 

ช่วยเล่าถึงวันงานหน่อยว่าต้องทำอะไรกันบ้าง

ก่อนวันงาน 1 วัน เราได้มีการลองชุดกัน เตรียมวิก เพื่อที่จะได้ประหยัดเวลาในวันจริง ซึ่งวันงานเราตื่นกันตั้งแต่ 6.30 น. เติ้ลเป็นคนแต่งหน้าทั้งให้ตัวเองและแต่งให้เรา ใช้เวลาแต่งหน้าคนละประมาณ 1.5 ชั่วโมง เราโชคดีที่ได้เพื่อนอีกคน โต้งร์-ยงยุทธ สายสล้าง มาช่วยติด tattoos ให้พวกเรา รอบสักเราซื้อ tattoo stickers มาจากตลาดพาหุรัดที่กรุงเทพฯ มีทั้งแผ่นใหญ่แผ่นเล็กหลายร้อยลาย เชื่อหรือไม่ว่าไม่มีใครดูออกเลยว่าเป็นสติ๊กเกอร์ เพราะมันเนียนมากๆ มีแต่คนเข้ามาชมและถามว่าสักที่ไหน ... พอเราบอกไปว่า "they are not real" ทุกคนต่างตกใจ และถามว่าหาซื้อได้ที่ไหนบ้าง (หัวเราะ)

สิ่งที่ยากที่สุดในการแต่งตัวคืออะไร

สิ่งที่ยากที่สุดในการแต่งตัวก็น่าจะเป็นเรื่องการแต่งหน้าเพราะเราต้องมั่นใจว่าเครื่องสำอางจะสามารถทนความร้อนและเหงื่อให้ได้ เพราะเราต้องใช้เวลาตั้งแต่ช่วง registration ถึงช่วงเดินจบเกือบ 4 ชั่วโมง เติ้ลเก่งมากจริงๆ เครื่องสำอางไม่หลุดเลย หน้ายังฉ่ำอยู่จนถึงตอนเลิกเลย

รู้สึกอย่างไรบ้างที่ได้ลงข่าวหลายสำนัก

รู้สึกดีใจมากกกกกก เราทั้งสองคนไม่คิดเลยว่าจะได้รับความสนใจจากสื่อมากมายขนาดนี้ อย่างที่บอกว่านี่เป็นครั้งแรกของเราทั้งสองคน เราไม่ได้คาดหวังอะไรเลย แค่อยากเป็นส่วนหนึ่งของงานนี้เท่านั้น ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ สำหรับเราทั้งสองคน

อ่านเพิ่มเติม | ฉลอง Pride Month ไปกับหลากอีเว้นต์ LGBT+ ทั่วกรุงเทพฯ

 

 

แชร์เนื้อหา

บทความล่าสุด

    การโฆษณา