moreloop
moreloop

moreloop ธุรกิจขายผ้าที่ไม่ได้เอาหน้ารอดแต่จะเอาให้รอดไปทั้งโลกด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน

คุยกับ 2 ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวน 317,001 กิโลกรัมได้ในปีนี้

Suriyan Panomai
เขียนโดย
Suriyan Panomai
การโฆษณา

วันนี้คุณใส่เสื้อสีอะไร? ไม่ได้จะมาทำนายทายทักอะไรหรอกนะ แต่จะมาชวนคุยเรื่องใกล้ตัวอย่างเสื้อผ้าที่อาจจะใกล้เสียจนหลายคนมองข้ามปัญหาที่ซุกอยู่ใต้ผ้ากองโต และไม่ว่าวันนี้คุณจะใส่เสื้อสีอะไร รู้ใช่ไหมว่าเสื้อทุกตัวล้วนเคยเป็นส่วนหนึ่งของผ้าม้วนใหญ่ในโรงงานมาก่อน ซึ่งน่าเสียดายที่ในกระบวนการผลิตไม่สามารถใช้ประโยชน์จากผ้าได้ทุกตารางนิ้ว ทำให้เศษผ้าจำนวนหนึ่งกลายเป็นขยะ

แต่ที่น่าเสียยิ่งกว่าก็คือ ในโรงงานตัดเย็บผ้าแทบทุกแห่งจะมีผ้าสภาพดีหลายม้วนที่ถูกลดทอนคุณค่าไม่ต่างจากขยะเพียงเพราะเป็นผ้าส่วนเกินที่สั่งมาแบบเผื่อเหลือเผื่อขาด มองในมุมผู้ประกอบการ นี่คือต้นทุนที่เสียเปล่า มองในมุมของคนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม นี่คือการสูญเสียทรัพยากรโลกโดยเปล่าประโยชน์ และไม่ว่าจะมองในมุมไหนๆ ก็จะเห็นว่าเรื่องนี้คือ pain point ที่ต้องได้รับการแก้ไข

moreloop แพลตฟอร์มออนไลน์ที่แจ้งเกิดเมื่อปี 2561 โดย ‘พล - อมรพล หุวะนันทน์’ และ ‘แอ๋ม - ธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์’ เข้ามาปิดที่ปวดโดยทำหน้าที่รวบรวมผ้าส่วนเกินที่ตกค้างในโรงงานมาไว้บนแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อขายให้กับลูกค้ากลุ่มใหม่ทั้งในรูปแบบผ้ายกม้วนและผลิตเป็นสินค้าตามสั่ง เป็นการสร้างตลาดและหมุนเวียนทรัพยากร

วันนี้ moreloop เป็นที่รู้จักของคนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ตามความสนใจเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนในไทย และหลังจากช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวน 317,001 กิโลกรัม จากการแปลงสภาพผ้า 60,000 หลาให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ 180,000 ชิ้นในปีนี้ moreloop ก็เพิ่งได้รับรางวัล SEED Low Carbon Awards (SEED Awards) ซึ่งถือเป็นความสำเร็จล่าสุด

moreloop
moreloop

 

เมื่อ Pain มาเจอกับ Passion

แอ๋ม ทายาทรุ่นสองโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออกที่เห็นของเหลือคุณภาพดีจากโรงงานตัวเองแล้วอดเสียดายไม่ได้ทุกครั้ง เล่าให้เราฟังถึงการจัดการของเหลือเหล่านี้ว่า บางโรงงานต้องตัดใจขายให้กับคนที่มาเหมาซื้อในราคาขยะ โดยไม่ได้สนว่าเส้นใยดีขนาดไหนหรือผ้ามีคุณสมบัติอะไร ส่วนโรงงานที่ทำใจขายแบบนั้นไม่ได้ก็จะเลือกที่จะเก็บ แต่ก็มีโอกาสสูญเสียเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นสูญเสียพื้นที่ของโรงงาน หรือการเก็บไว้จนผ้าเสื่อมสภาพในที่สุด

“ต้องนึกภาพแบรนด์ต่างๆ เวลาเขาทำคอลเล็กชั่นสำหรับซีซั่นนี้ แล้วซีซั่นหน้าเขาไม่สามารถกลับมาใช้สีเดิม ผ้าเนื้อเดิมได้แล้ว ไม่งั้นลูกค้าก็ไม่ซื้อ เพราะฉะนั้นในสายแฟชั่นเขาจะต้องเปลี่ยนตลอด พวกผ้าที่เหลือเหล่านี้มันมีโอกาสน้อยมากเลยที่จะถูกนำกลับมาใช้ด้วยลูกค้าเจ้าเดิม เราก็เลยมีไอเดียว่าแล้วจะทำยังไงให้ผ้าพวกนี้ได้เวียนกลับมาใช้ได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด”

moreloop
moreloop

นั่นคือฝั่งของ Pain ซึ่งมาจากแอ๋ม ส่วน Passion มาจากพล อดีตนักวิเคราะห์การเงินที่สนใจธุรกิจสตาร์ตอัปพอๆ กับการแก้ปัญหาขยะ

“ผมเคยเป็นนักวิเคราะห์การเงินแล้วก็ดูโรงงานมาเยอะ แล้วก็เห็นว่าโรงงานก็มีของเหลือเหมือนกัน ซึ่งเยอะกว่าขยะมูลฝอยทั่วไปถึง 1 เท่าตัว ปกติประเทศไทย มีขยะมูลฝอยทั่วไปประมาณ 27 ล้านตันต่อปี แต่ขยะที่อยู่ในอุตสาหกรรมมีตั้ง 50 ล้านตันต่อปี เพราะฉะนั้นโอกาสนี้มหาศาลมากๆ”

เมื่อเห็นโอกาสแล้ว คำถามต่อมาสำหรับพลคือ แล้วเราจะมาหมุนเวียนอะไรในอุตสาหกรรมไหนดีล่ะ? ที่สามารถใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นเครื่องมือได้ จนบังเอิญได้คุยกับแอ๋มซึ่งรู้จักกันมานานแล้ว ทั้งสองคนจึงรู้ว่าโจทย์ที่ต่างคนต่างเจออยู่นั้น สามารถแก้ได้ด้วยการทำอะไรสักอย่างร่วมกัน และสิ่งนั้นคือ moreloop

moreloop
moreloop

 

ขายผ้า - เอาหน้า - รอด

ผ้าแต่ละชนิดมีคุณสมบัติและฟังก์ชั่นที่แตกต่างกัน เช่น คุณสมบัติการยืดหยุ่น คลายตัว ผ้าระบายอากาศ แห้งเร็ว กันไรฝุ่น กันรังสียูวี ฯลฯ ซึ่งแอ๋มบอกว่าสิ่งเหล่านี้คนเหมาซื้อผ้าในราคาถูกไม่ได้ให้ความสำคัญ เพราะมาถึงโรงงานปุ๊บก็ชั่งกิโลฯ แล้วขนขึ้นรถไปเลยทำให้ผ้าเกรดดีถูกขายไปแบบด้อยค่าตั้งแต่แรก

“ผ้าบางม้วนอาจจะเอาไปทำอะไรได้มากกว่านั้นแต่ว่าคนซื้อและคนขายในลักษณะนั้นเขาอาจจะไม่มีความรู้พอ คนขายเองเขาอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าของที่อยู่ในโกดังเขามีอะไรบ้าง กลายเป็นว่าทุกอย่างจะตาดีได้ตาร้ายเสีย” แอ๋ม เล่าจากประสบการณ์ตรง

moreloop
moreloop

แต่ถ้าขายผ้าให้ moreloop ความแตกต่างที่ moreloop กล้าเอาหน้าเอาตาเป็นประกันกับทุกโรงงานก็คือเรื่องของข้อมูลสินค้าที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ทำให้ลูกค้าสามารถใช้คุณสมบัติพิเศษของผ้าได้อย่างเต็มที่ รวมถึงเรื่องราคาที่สมเหตุสมผล ไม่กดราคา เพราะมองว่านั่นคือวัตถุดิบ ไม่ใช่ขยะ 

แบบนี้โรงงานก็รอด แพลตฟอร์มคนกลางอย่าง moreloop ก็รอด และที่สำคัญผ้าก็รอดจากการเป็นขยะด้วย

เราไม่ได้มองผ้าค้างสต็อกเป็นขยะเหมือนกัน แต่สิ่งที่มันถูกเก็บไว้ ถ้ามันยังไม่ได้เป็นขยะวันนี้ เมื่อถึงวันที่มันเสื่อมการใช้งาน นั่นแหละมันก็จะเป็นขยะ

 

ทุกอย่างอยู่ที่ Mindset

สิ่งเล็กๆ (แต่เราว่าทรงพลัง) ที่ moreloop ทำคือการปรับมุมมองบางอย่าง เช่น การใช้คำว่า ของเหลือ ของส่วนเกิน แทนคำว่า ขยะ ซึ่งพลให้ความเห็นเกี่ยวกับ 2 คำนี้ว่า มีผลกระทบที่ต่างกันเยอะ เพราะถ้าใช้คำว่าขยะแล้วในสามัญสำนึกของคนทั่วไป ของสิ่งนั้นจะโดนด้อยค่าลงไปทันที เช่น ขวดน้ำ ตอนที่ยังมีน้ำอยู่ถือเป็นบรรจุภัณฑ์ชั้นดี ทั้งน้ำหนักเบา ขนาดกะทัดรัด รูปทรงก็ถูกออกแบบมาให้ถนัดมือ พกพาง่าย แต่พอเป็นขวดเปล่าๆ ก็จะถูกมองเป็นขยะที่ไม่มีใครอยากถือต้องหาที่ทิ้งให้พ้นมือ

“แอ๋มอยากเสริมในมุมของผู้ประกอบการ เราไม่ได้มองผ้าค้างสต็อกเป็นขยะเหมือนกัน แต่สิ่งที่มันถูกเก็บไว้ ถ้ามันยังไม่ได้เป็นขยะวันนี้ เมื่อถึงวันที่มันเสื่อมการใช้งาน นั่นแหละมันก็จะเป็นขยะ ดังนั้นสิ่งที่ moreloop ทำก็คือ ทำยังไงให้มันไปสู่จุดนั้นได้ช้าที่สุดหรือว่าได้ใช้ประโยชน์จากมันมากที่สุดก่อนที่จะเป็นขยะ” แอ๋มเสริม

moreloop
moreloop

พูดถึง mindset หรือชุดความคิดที่มีผลต่อพฤติกรรมของเรา แอ๋มบอกว่านี่คืออุปสรรคอย่างหนึ่งในการทำธุรกิจของ moreloop ในช่วงแรกๆ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจคำว่า เศรษฐกิจหมุนเวียน

“พอเราพูดถึงเรื่องความยั่งยืนหรือว่าพูดถึงเศรษฐกิจหมุนเวียนบางคนคิดแค่ว่า มันคือการรีไซเคิล แต่ขั้นตอนของ moreloop เราเรียกว่าอัปไซเคิล คือการเพิ่มมูลค่าบวกกับการไม่ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ มากกว่าเดิม ความยากคือการสื่อสารว่าเรา แตกต่างจากกลุ่มรีไซเคิล เราไม่ได้ไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผ้า หรือไม่ได้ไปเปลี่ยนแปลงรูปแบบของผ้าเลย เราขายแบบโต้งๆ เลย ซึ่งจุดนี้บางคนไม่เข้าใจว่าแบบนี้จะเรียกหมุนเวียนได้ยังไง แบบนี้จะลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ยังไง”

แอ๋ม อธิบายเพิ่มว่า การหมุนเวียนทรัพยากรของ moreloop ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ เพราะลดขั้นตอนการผลิตผ้าไปถึง 5 ขั้นตอน จากปลูก ปั่น ทอ ฟอก ย้อม เย็บ ย้าย เหลือแค่เย็บกับย้ายหรือบางทีก็เหลือแค่ย้ายอย่างเดียว

เราไม่ได้ต้องการคนที่ทำ perfect solution ไม่กี่คน แต่เราต้องการคนที่ทำ imperfect solution หลายๆ คน พร้อมๆ กัน

เธอเองก็เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจหมุนเวียนได้นะ

“ดีจังเลย มีธุรกิจแบบนี้ (ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม) อยู่ด้วย” ถ้าคุณหาธุรกิจที่ทำให้รู้สึกแบบนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็น moreloop หรือธุรกิจอื่นๆ สิ่งที่ทำได้ในฐานะผู้บริโภคก็คือการสนับสนุนในรูปแบบที่สามารถทำได้ เช่น การอุดหนุนสินค้า หรือแม้แต่สร้างการรับรู้ให้คนอื่นๆ ด้วยการบอกต่อว่ามีธุรกิจนี้อยู่นะ ก็ถือว่าได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนแล้ว

“ถ้าไม่มีผู้บริโภคซัปพอร์ต ธุรกิจก็ไม่สามารถดำเนินไปได้ อย่างของ moreloop คติของเราคือจะทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นจริงได้ แต่เราทำเป็นธุรกิจนะ เราไม่ใช่ NGO ที่ทำบริจาคทุกอย่าง แต่สินค้าเราต้องขายได้จริง ลูกค้าต้องซื้อเพราะของมันใช่ สมมุติจะทำเสื้อยืดผ้าที่เขาได้ไปก็ต้องเป็นผ้าที่เหมาะกับการทำเสื้อยืด เราจะไม่ได้ขายในลักษณะของ emotional buyer ที่ซื้อแล้วไม่เอาไปใช้” แอ๋ม ย้ำว่า moreloop คือธุรกิจ

moreloop
moreloop

พล เสริมด้วยการชวนผู้บริโภคตั้งคำถามง่ายๆ 2 คำถาม ที่เขาเชื่อว่าถ้าได้ลองหาคำตอบแล้ว อาจจะทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคไปเลยก็ได้

“คำถามแรกก็คือของที่ฉันใช้มีที่มายังไง? และสอง—ใช้เสร็จแล้วหรือไม่อยากใช้แล้วที่ไปเป็นยังไง? ผมเชื่อว่าถ้า (ผู้บริโภค) เริ่มหาคำตอบได้แล้วจะได้รู้อะไรหลายๆ อย่างที่ไม่เคยรู้ แล้วก็น่าจะช่วยเปลี่ยนวิธีการที่เขาบริโภคไปเลย แอ๋มเขาชอบพูดว่าเราไม่ได้ต้องการคนที่ทำ perfect solution ไม่กี่คน แต่เราต้องการคนที่ทำ imperfect solution หลายๆ คน พร้อมๆ กัน ก็อยากให้ทุกคนมาเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองง่ายๆ”

moreloop and many more

คำถามสุดท้ายของการคุยกันครั้งนี้ เราให้แอ๋มและพลพูดถึงเป้าหมายสูงสุดหรือภาพใหญ่ที่สุดที่คิดไว้สำหรับ moreloop ซึ่งแอ๋มบอกว่า นอกจากเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว ก็อยากเป็นบริษัทที่ทุกคนนึกถึงเมื่อพูดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงอยากให้กำลังใจคนรุ่นใหม่ที่อยากทำธุรกิจที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียนว่า moreloop ทำได้ ทุกคนก็ทำได้ ส่วนพลมีภาพใหญ่กว่านั้นคือการเป็นหนึ่งในผู้นำของการพาให้โลกนี้ไปสู่โลกเศรษฐกิจหมุนเวียน

สำหรับเราทั้งหมดไม่มีอะไรเกินจริง เพราะเราว่าวันนี้ moreloop มาถูกทางแล้ว

moreloop
moreloop
เรื่องเด่น
    เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ
      การโฆษณา