Bangkok Art Biennale 2022

  • Art, ศิลปะร่วมสมัย
  • แนะนำ
  1. Bangkok Art Biennale 2022
    Tanisorn Vongsoontorn / Time Out BangkokCONTAIN (2022)
  2. Bangkok Art Biennale 2022
    Tanisorn Vongsoontorn / Time Out BangkokCONNECT (2022)
  3. Bangkok Art Biennale 2022
    Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok
  4. Bangkok Art Biennale 2022
    Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok
  5. Bangkok Art Biennale 2022
    Tanisorn Vongsoontorn / Time Out BangkokTemporary Insanity (2004)
  6. Bangkok Art Biennale 2022
    Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok
  7. Bangkok Art Biennale 2022
    Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok
  8. Bangkok Art Biennale 2022
    Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok
การโฆษณา

Time Out พูดว่า

เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 (Bangkok Art Biennale 2022) กลับมาเป็นครั้งที่ 3 จัดเต็มผลงานศิลปะ 200 ชิ้นจาก 73 ศิลปิน

Bangkok Art Biennale 2022 กำลังจะเริ่มขึ้นแล้ว โดยธีมปีนี้คือ ‘CHAOS : CALM  โกลาหล : สงบสุข’ นำเสนองานศิลปะที่สะท้อนอุปสรรคต่างๆ ที่มนุษยชาติต้องเผชิญทั้งจากผลกระทบของโรคระบาด สงคราม สภาพอากาศ การเมือง อาชญากรรม และอื่นๆ ที่ล้วนสร้างความโกลาหลในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็แฝงไว้ซึ่งความหวังและความมุ่งมั่นที่จะกลับคืนสู่สภาพเดิม

 

ภาพรวมของงานครั้งนี้มีศิลปินจาก 31 ประเทศเข้าร่วมแสดงงาน รวม 73 คน ในจำนวนนี้เป็นศิลปินไทย 23 คน มีงานศิลปะกว่า 200 ชิ้น จัดแสดงใน 11 โลเคชั่นทั่วกรุงเทพฯ รวมถึง 1 Virtual Venue ให้เสพงานศิลป์ผ่านโลกเสมือนจริงได้ด้วย

 

ก่อนออกไปเดินทอดน่องดูผลงานในพื้นที่จริง เราขออุ่นเครื่องด้วยการพาไปส่องผลงานไฮไลต์ใน 4 จุดแสดง ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์), มิวเซียมสยาม, หอศิลป์ กรุงเทพฯ (BACC) และศูนย์ฯ สิริกิติ์ (QSNCC)

 

เริ่มที่วัดโพธิ์ ปีนี้มีงานจัดแสดงทั้งหมด 4 ชิ้น โดย 2 ชิ้นเป็นผลงานของ ‘มณเฑียร บุญมา’ (เสียชีวิต) ศิลปินไทยที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้บุกเบิกศิลปะร่วมสมัยเอเชีย ชิ้นที่น่าสนใจคือ ‘อโรคยาศาลา’ (2537) เป็นผลงานที่สร้างขึ้นหลังจากภรรยาเขาเสียชีวิตจากโรคมะเร็งทรวงอก ลักษณะคือเป็นกล่องโลหะใส่สมุนไพรวางซ้อนกันเป็นรูปปอด ถูกนำออกมาจัดแสดงต่อสาธารณะชนเป็นครั้งแรก และอีก 2 ชิ้นคืองานของ Antony Gormley ศิลปินจากลอนดอน สหราชอาณาจักร เป็นประติมากรรมเหล็กที่เขาใช้ตัวเองเป็นแบบ แสดงถึงประสบการณ์และความสัมพันธ์ที่เรามีต่อที่ว่าง มวล และพลังงาน

 

ต่อด้วยมิวเซียมสยาม จาก 3 ผลงานที่จัดแสดงปีนี้ เรายกให้ ‘Wall of Change’ (2018) ของ Tatsuo Miyajima ศิลปินญี่ปุ่นที่มักสร้างสรรค์ผลงานจากตัวเลขติจิทัลเป็นไฮไลต์ ผลงานนี้เป็นการเจาะกำแพงเป็นตัวเลขดิจิทัลขนาดใหญ่ 5 ตัว ตัวเลขจะเปลี่ยนไปทุกวันตามการทอยลูกเต๋าของ 5 คนแรกที่เข้าชมผลงานในแต่ละวัน เมื่อตัวเลขเปลี่ยนสิ่งที่เรามองเห็นผ่านช่องตัวเลขในแต่ละวันก็จะเปลี่ยนไปด้วยซึ่งศิลปินเปรียบกับความไม่แน่นอนของชีวิต

 

ถัดมาที่หอศิลป์ กรุงเทพฯ ปีนี้ใช้พื้นที่ชั้น 7-9 ในการจัดแสดงผลงานโดยที่ชั้น 9 เป็นผลงานของกลุ่มศิลปินจากเชียงใหม่ที่รวมตัวกันสร้างผลงานที่สะท้อนปัญหามลพิษทางอากาศในภาคเหนือ ส่วนที่ชั้น 8 และชั้น 7 มีทั้งงานจิตรกรรม งานศิลปะจัดวาง งานประติมากรรม และที่เล่าเรื่องในรูแปบบวิดีโอ ที่เราสนใจเป็นพิเศษคืองานของ Uninspired by Current Events ศิลปินคอมพิวเตอร์กราฟิกที่มักหยิบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบันมาล้อเลียน ปกติเราจะเห็นผลงานของเขาตามโซเชียลมีเดีย แต่นี่ถือเป็นครั้งแรกที่เขามาจัดแสดงงานในเทศกาลศิลปะกับผลงานในรูปแบบวิดีโอเกมอินเทอร์แอ็กทีฟที่ยังคงคอนเซ็ปต์เดิม

 

และสุดท้ายที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ นอกจากประติมากรรมควายสีชมพูลวดลายสวยงามที่ชื่อ ‘ไม่รู้อะไรเลย’ (2020) ที่บริเวณชั้น G แล้ว ผลงานไฮไลต์จะรวมกันอยู่ชั้น B2 มากกว่า 50 ผลงาน แต่ที่เราชื่นชอบเป็นพิเศษคืองานของ ‘พินรี สัณฑ์พิทักษ์’ ที่มักพาคนดูไปสำรวจร่างกายและสรีระของมนุษย์ในฐานะเครื่องสั่งสมประสบการณ์และการรับรู้ ครั้งนี้เราชอบผลงาน Anything can break (2021) งานศิลปะจัดวางที่นำกล่องลูกบาศก์กระดาษและแก้วเป่ารูปเต้านมจำนวนมากไปติดไว้บนเพดาน และมีเซนเซอร์จับการเคลื่อนไหวเพื่อเปิดเสียงประกอบมี่สร้างขึ้นเพื่องานนี้โดยเฉพาะ

 

อีกหนึ่งผลงานคือ ‘The eye of the storm’ (2022) ของ Chiharu Shiota ศิลปินชาวญี่ปุ่นที่พำนักและทำงานอยู่ที่เบอร์ลิน เยอรมันนี ผลงานนี้เธอกระดาษสีขาวจำนวนเชื่อมต่อกับเชือกสีแดงแล้วร้อยเรียงให้เป็นลักษณะหมุนวนเหมือนกระดาษกำลังลอยคว้างแต่จุดศูนย์กลางยังคงสงบนิ่ง เปรียบกับตาของพายุไต้ฝุ่นที่ลมมักสงบ ฝนอาจตกเล็กน้อยหรือไม่ตกเลย แต่ลมจะแรงที่สุดในเขตพายุโซนร้อนที่อยู่รอบๆ และศิลปินก็มองว่าปรากฏการณ์นี้ก็อาจเกิดขึ้นในสังคมและจิตใจมนุษย์ได้เช่นกัน

 

Bangkok Art Biennale 2022 จะเปิดฉากอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 ตุลาคม 2565 (พรุ่งนี้แล้ว) และจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.bkkartbiennale.com



Suriyan Panomai
เขียนโดย
Suriyan Panomai

รายละเอียด

เว็บไซต์
bkkartbiennale.com/
ที่อยู่
ราคา
Free entry
การโฆษณา
เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ