Arch Apolar
Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

'Arch Apolar' นักวาดชาวไทยผู้ออกแบบลายเส้นบนหนังสือ แฮร์รี่ พ็อตเตอร์ ฉบับครบรอบ 20 ปี

ปกเวอร์ชั่นนี้มีการใส่องค์ประกอบความเป็นไทยลงไปด้วย อย่างเช่นตัวเลขชานชะลา 9 3/4 ที่เขียนด้วยเลขไทย

Kenika Ruaytanapanich
เขียนโดย
Kenika Ruaytanapanich
การโฆษณา

นับตั้งแต่หนังสือนิยายเรื่อง แฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่มแรกออกวางจำหน่ายในประเทศไทย และทำให้นักอ่านหลายคนถูกดึงเข้าสู่โลกเวทมนตร์ใบนี้ ที่ร่ายคาถาสร้างให้ทั้งจินตนาการ เพื่อนใหม่ และความผูกพันธ์ดีๆ ที่เติมสีสันให้ชีวิตวัยเด็ก เราไม่อยากเชื่อเลยว่าตอนนี้หนังสือเล่มแรกที่ชื่อว่า แฮร์รี่ พ็อตเตอร์ กับ ศิลาอาถรรพ์ จะมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์แล้ว

เมื่อได้รู้ว่าประเทศเราจะมีปกหนังสือ แฮร์รี่ พ็อตเตอร์ เป็นของตัวเองครั้งแรก! ในฐานะพ็อตเตอร์เฮดคนหนึ่งก็อดตั้งตารอชมแทบไม่ไหวเหมือนกัน อีกทั้งผู้ได้รับหน้าที่วาดภาพประกอบในเอดิชั่นพิเศษนี้ยังเป็นศิลปินชาวไทย อาชว์ – อรุษ เอ่งฉ้วน หรือ Apolar ศิลปินคอนเซ็ปต์อาร์ตอิสระ ที่ผสมทั้งความเป็นตัวเองและประสบการณ์จากการเรียนจบด้านสถาปัตยฯ จากมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ลงไปแทบทุกขั้นตอนในการออกแบบปกเวอร์ชั่นพิเศษ

และเราก็มีโอกาสได้นั่งคุยกับเขาแบบเจาะลึก ตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนกระทั่งตีพิมพ์เป็นเล่มออกมาให้พ็อตเตอร์เฮดทุกคนเก็บสะสม ได้อ่านกันในบทสัมภาษณ์นี้ด้วย

Arch Apolar
Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

PART 1

"โปรเจ็กต์เริ่มจาก นานมีบุ๊ก ติดต่อมาว่ากำลังคัดเลือกคนมาทำโปรเจ็กต์ครบรอบ 20 ปี แฮร์รี่ พ็อตเตอร์ เวอร์ชั่นภาษาไทย ถ้าหากสนใจก็ส่งผลงานเข้ามาได้ ซึ่งผมเป็นแฟนหนังสือเรื่องนี้อยู่แล้วก็เลยส่งผลงานไป แต่ก็พยายามไม่คาดหวังอะไรมาก เพราะศิลปินไทยเก่งๆ ก็เยอะ"

คุณอาชว์เล่าว่าเริ่มสนใจการวาดรูปตั้งแต่เด็ก โดยได้รับอิทธิพลมาจากคุณพ่อค่อนข้างเยอะ แถมตอนไปเที่ยวก็จะพกสมุดสเก็ตช์ไปนั่งวาดกันด้วย คุณอาชว์บอกว่าคุณพ่อของเขาเป็นคนชอบศิลปะ แม้จะไม่ได้ต่อยอดความฝันนั้น แต่เมื่อมีครอบครัวก็อยากให้คุณอาชว์มีสิ่งที่รักและผูกพันธ์กับมัน ซึ่งจะกลายเป็นความสามารถติดตัว และหลังจากลองค้นหามาหลายอย่างก็พบว่า ศิลปะคือสิ่งที่เขาอยู่กับมันได้อย่างเพลิดเพลินที่สุด

"ผมเริ่มวาดรูปจริงจังอีกครั้ง หลังจากห่างหายไปนานเพราะเข้าเรียนที่คณะสถาปัตฯ จุฬา ซึ่งต้องเรียนหนักมาก ก็ตอนได้รู้จักรุ่นพี่คนหนึ่งที่เรียนจบจากสถาบันชื่อดังในสหรัฐอเมริกา ซึ่งคนที่เรียนจบจากที่นี่ส่วนมากจะเข้าทำงานที่ Disney หรือ Pixar เราเลยได้รู้ว่ามีสถาบันด้านนี้อยู่ด้วย ก็เลยตัดสินใจจะไปเรียนต่อปริญญาโท เพราะอยากสานต่อในสิ่งที่เราทิ้งมันไป ผมเริ่มเตรียมตัวและสร้างพอร์ตโฟลิโอตั้งแต่ปี 4 เพราะต่างประเทศเขาวัดกันที่ผลงาน ซึ่งเป็นช่วงที่ตัดสินใจเปิดเพจ Apolar ขึ้นมา"

คุณอาชว์พูดแนะนำสำหรับคนที่อยากไปเรียนต่างประเทศด้วยว่า ต้องฝึกตัวเองให้เก่งที่สุดเท่าที่จะเก่งได้ เพื่อที่จะสามารถเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ หากเรามีความรู้ติดตัวไปก่อนจะช่วยให้ต่อยอดได้ไว โดยคุณอาชว์เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัย Academy of Art ในซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย จบทางด้านสาขา Visual Development ที่เน้นการออกแบบคอนเซ็ปต์ ซึ่งเป็นขั้นตอนก่อนการผลิตที่คุณอาชว์สามารถใช้ความสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ และเป็นตัวเองมากที่สุด

Arch Apolar
Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

"ผมรู้สึกว่าทุกอย่างที่เข้ามาในชีวิตสามารถใช้เป็นบทเรียนและต่อยอดให้สิ่งต่อไปได้ อย่างกระบวนการคิดที่เป็นระบบก็ได้มาจากการเรียนสถาปัตฯ เช่น การออกแบบอาคารหนึ่ง เราต้องนึกถึงตั้งแต่ผู้ใช้งาน ความเป็นไปได้ และความต้องการของคน ซึ่งมันเป็นตรรกะทางวิทยาศาสตร์ที่ดีมาก และสามารถนำไปใช้ในงานศิลปะได้ทุกอย่าง เพราะมันช่วยให้การคิดของเราไม่ฟุ้งจนไร้กรอบ"

ไม่ใช่แค่การเรียนด้านสถาปัตฯ หรือการออกแบบคอนเซ็ปต์อาร์ตเท่านั้น คุณอาชว์บอกว่า แม้กระทั่งตอนบวชก่อนไปเรียนต่อต่างประเทศ ซึ่งเขามีโอกาสได้ออกแบบหนังสือธรรมะ เขาก็นำประสบการณ์เหล่านั้นมาหลอมรวมและต่อยอดให้เป็นตัวเอง จนพร้อมรับหน้าที่สำคัญในโปรเจ็กต์ แฮร์รี่ พ็อตเตอร์ ครั้งนี้

PART 2

"ตอนเริ่มออกแบบผมต้องศึกษาก่อน เพราะทีมต่างประเทศไม่ได้จำกัดสไตล์งานมาให้ แต่ผมก็เห็นแล้วว่าเวอร์ชั่นออฟฟิศเชียลที่พิมพ์ขายทั่วโลกจะมีกลิ่นอาย stylized ที่ค่อนข้างสมจริง (semi-real) แต่ผมจะเพิ่มความ stylized เข้าไปอีกหน่อย เนื่องจากส่วนตัวชอบผลงานของ คุณมารี กรองเปร (Mary GrandPré) ศิลปินที่วาดปกเวอร์ชั่นออริจินัลของวรรณกรรม แฮรี่ พ็อตเตอร์ เพราะให้ความรู้สึกเป็นหนังสือภาพประกอบที่เป็นมิตรกับเด็ก ไม่สมจริงมาก แต่ก็ยังคงมีความเป็นการ์ตูนอยู่ ผมชอบความสมดุลตรงนั้น"

คุณอาชว์ได้รับหน้าที่ออกแบบภาพปกทั้ง 7 เล่ม รวมถึงภาพประกอบภายใน ภาพหัวบท และภาพประกอบเต็มหน้าที่ค่อนข้างพิเศษขึ้นมาอีกหน่อย เนื่องจากไม่มีเวอร์ชั่นไหนหรือประเทศใดเคยทำมาก่อน ซึ่งทางสำนักพิมพ์เป็นผู้คุยกับทีมต่างประเทศว่าอยากเพิ่มเข้ามา เพื่อฉลองการครบรอบ 20 ปี โดยจะมีเพียงไม่กี่ภาพเท่านั้น เพราะทุกคนต้องการคงความเป็นหนังสืออ่านไว้อยู่

นอกจากนี้ คุณอาชว์ก็ออกแบบส่วนอื่นๆ อีก อาทิ บ็อกซ์เซ็ต ภาพโปรโมท โปสการ์ด และที่คั่นหนังสือ โดยทุกๆ ขั้นตอนตั้งแต่การคัดเลือกศิลปินจนกระทั่งตีพิมพ์ คุณอาชว์บอกว่าฝ่ายต่างประเทศต้องรับรู้ตลอด เพื่อให้งานออกมาตรงกับมาตรฐานที่กำหนดไว้

View this post on Instagram

A post shared by APOLAR (@apolar.arch) on

"ตอนแรกที่ผมส่งภาพสเก็ตช์ไปก็ยังมีความสับสนอยู่บ้าง ผมวาดแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ ไว้หลายเวอร์ชั่นมาก แต่บางทีก็สมจริงเกินไปหรือบางทีก็น่าเบื่อ ซึ่งความตั้งใจของผมคือ อยากให้เวอร์ชั่นนี้เด็กอ่านแล้วรู้สึกเป็นมิตร ในขณะที่ผู้ใหญ่ก็อ่านได้ไม่รู้สึกว่าเป็นการ์ตูนจนเกินไป แล้วพอได้คุยกับทีมต่างประเทศเรื่อยๆ ก็เริ่มเห็นตรงกัน อย่างบางทีเขาจะส่งฟีดแบ็กกลับมาว่าแบบร่างนี้อาจดู stylized เกินไป เราก็ต้องดึงกลับมาให้อยู่ในจุดที่บาลานซ์กันอย่างที่ตั้งใจไว้"

โดยคุณอาชว์ตั้งใจออกแบบลายเส้นบนปกมีคาร์แร็กเตอร์เหมือนกับหนังสือที่ผ่านการตีพิมพ์มาอย่างยาวนาน ให้สมกับที่นิยายมีอายุในตัวเอง ซึ่งการออกแบบก็ได้แรงบันดาลใจมาจากการรีเสิร์ชผลงานศิลปะในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นยุคทองของศิลปะสไตล์อิลลัสเตชั่น ที่มีศิลปินชื่อดังอย่าง J. C. Leyendecker กับ Norman Rockwell โลดแล่นอยู่ในวงการ

PART 3

ในฐานะเด็กสถาปัตฯ คุณอาชว์ได้นำความรู้มาใช้ในการสร้างคอนเซ็ปต์ด้วย โดยออกแบบให้เวอร์ชั่นไทยแตกต่างจากเวอร์ชั่นอื่นๆ ที่ปกค่อนข้างเป็นอิสระจากกันหรือเป็นเพียงซีนใดซีนหนึ่งจากในเรื่อง คุณอาชว์จึงสร้างแพทเทิร์นขึ้นโดยนำลักษณะของ วงกบประตูหรือหน้าต่าง ที่มีลักษณะเป็นช่องเปิดมาใช้ เพราะอยากให้ทุกคนมองหนังสือเซ็ตนี้แล้วรู้สึกเหมือนกำลังอ่านหนังสือพิมพ์ Daily Prophet จากโลกเวทมนตร์อยู่

คุณอาชว์อธิบายการดีไซน์ปกให้เราฟังว่า เขาใช้วิธีแบ่งพื้นที่ในการออกแบบเป็นช่องตาราง เหมือนกับการแบ่งสเปซในการออกแบบ ซึ่งการแบ่งพื้นที่แบบนี้ทำให้สามารถใส่ลูกเล่นลงไปได้เยอะ ทั้งซีนเล็กๆ ในเนื้อเรื่อง หรือไข่อีสเตอร์ที่ซ่อนไว้ให้คนที่ได้หนังสือไปค่อยๆ ค้นเจอทีละจุดเหมือนเป็นเกม

"ปกเวอร์ชั่นนี้ผมตั้งใจทำให้เป็นเหมือนของขวัญจากแฟนหนังสือแฮร์รี่ฯ คนหนึ่ง มอบสู่แฟนอีกคนหนึ่ง เพราะผมทำหนังสือในฐานะผู้อ่านที่ชอบนิยายเรื่องนี้มากๆ ผมเลยอยากถ่ายทอดความรักที่มีต่อหนังสือเล่มนี้ออกไปให้ผู้อ่าน ซึ่งมันจะมีอะไรดีไปกว่าการได้ใส่สิ่งที่เรารักลงไปในปกให้มากที่สุด เพราะแต่ละคนมีความทรงจำจากนิยายเรื่องนี้ไม่เหมือนกัน ผมเลยตั้งใจแบ่งปกเป็นหลายสัดส่วน เพื่อให้ใส่ตัวละครและไข่อีสเตอร์ลงไปได้มากขึ้น"

View this post on Instagram

A post shared by APOLAR (@apolar.arch) on

View this post on Instagram

A post shared by APOLAR (@apolar.arch) on

อีกหนึ่งความพิเศษที่ทำให้ปกเวอร์ชั่นไทยนี้ควรค่าแก่การครอบครองมากขึ้นก็คือ มีการใส่องค์ประกอบความเป็นไทยลงไปด้วย อย่างเช่น ตัวเลขชานชะลา 9 3/4 บนปกหนังสือแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ กับ ศิลาอาถรรภ์ จะใช้เป็นเลขไทยคือ  /๔ หรือบ้านเลขที่ 12 ก็มีการเปลี่ยนมาใช้เลขไทยด้วยเหมือนกัน

"ผมพยายามแทรกองค์ประกอบไทยๆ ลงไป เพราะเรารู้สึกว่าในเมื่อเป็นเวอร์ชั่นของประเทศไทย ก็อยากให้มีอะไรที่เราภูมิใจอยู่ในนั้น ทางต่างประเทศก็ให้เกียรติด้วยที่ให้เราแทรกสิ่งเหล่านี้ลงไป และผมรู้สึกขอบคุณนานมีบุ๊กด้วยที่เปิดโอกาสให้ได้ทำ แต่ผมก็พยายามออกแบบให้เป็นแพทเทิร์นลายมากกว่า เพื่อให้มดูกลมกลืนไปกับดีไซน์ปก หรืออย่างบนบ็อกเซ็ตก็มีตัวอักษรและเลขไทยแทรกอยู่เหมือนกัน"

(เห็นกันรึเปล่า?)

View this post on Instagram

A post shared by APOLAR (@apolar.arch) on

View this post on Instagram

A post shared by APOLAR (@apolar.arch) on

หากใครได้ลองชมภาพปกดูบ้างแล้ว หรือบางคนอาจนำมานอนกอดที่บ้านแล้วเรียบร้อย เชื่อว่าต้องมีดีเทลสักจุดที่ประทับใจเป็นพิเศษอย่างแน่นอน ซึ่งสำหรับคุณอาชว์ที่เป็นคนวาดเอง จุดที่เขาชอบเป็นพิเศษจะอยู่ในเล่มสุดท้าย ที่มีความตั้งใจบางอย่างซ่อนเอาไว้ เพื่อมอบให้พ็อตเตอร์เฮดโดยเฉพาะ

"บนปกเล่มสุดท้ายจะมีสัตว์ประจำบ้านครบทั้ง 4 ตัว ซึ่งผมอยากให้เล่มสุดท้ายนี้สะท้อนบางอย่างจากหนังสือเล่มแรก โดยผมตั้งใจใช้คอมโพสิชั่นที่คล้ายกันมากๆ เพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวละครที่โตขึ้น และผมใส่เฮอร์ไมโอนี่กับรอนเข้าไปด้วย เพื่อให้รู้สึกว่าแฮร์รี่จะไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไปแล้ว ซึ่งในขณะเดียวกันตอนจบก็เป็นสงครามของฮอกวอตส์ และคนที่สู้ในศึกนี้ก็ไม่ใช่แค่คน 3 คน แต่รวมถึงเด็กทุกคนในโรงเรียนด้วย ผมเลยใช้สัตว์ประจำบ้านทั้ง 4 ตัวนี้ลงไปแทนผู้คนมากมายในฮอกวอตส์ แล้วสัตว์ทุกตัวยังถือไอเท็มพิเศษของแต่ละบ้านไว้ด้วย"

เรื่องเด่น
    เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ
      การโฆษณา