Steve Nakamura | Time Out Tokyo

สัมภาษณ์พิเศษกับ Steve Nakamura

มารู้จักกับศิลปินผู้อยู่เบื้องหลังอาร์ตเวิร์กสุดแนวบนปกอัลบั้มของ Kyary Pamyu Pamyu

เขียนโดย
Kunihiro Miki
การโฆษณา
แฟนของเคียรี่ ปามิว ปามิว (Kyary Pamyu Pamyu) น่าจะอิ่มอกอิ่มใจกันไม่น้อยกับ นิทรรศการ บอกเล่าเรื่องราวของเจ้าหญิงแห่งฮาราจูกุ ที่กำลังจัดแสดงที่ Laforet Museum มาตั้งแต่ช่วงคริสมาสต์ที่ผ่านมา โดยนิทรรศการนี้อัดแน่นไปด้วยผลงานอาร์ตเวิร์กปกอัลบั้ม และงานศิลปะอื่นๆ ตั้งแต่เพลงอัลบั้มแรก เรื่อยมาจนถึงผลงานของสาวเคียรี่ในปัจจุบัน
 
นิทรรศการนี้ได้จัดขึ้นพร้อมๆ กับการเปิดตัวหนังสือ "Kyary Pamyu Pamyu Artworks 2011-2016 | Steve Nakamura" บอกเล่าเรื่องราวของการทำงานที่แสนยาวนานโดย สตีฟ นากามูระ (Steve Nakamura) ศิลปินผู้อยู่เบื้องหลังภาพวิช่วลที่ไม่มีใครเหมือนของเคียรี่ และได้สร้างสรรค์ผลงานให้กับเธอมาตั้งแต่อัลบั้มแรก หนังสือเล่มนี้จึงได้บอกเล่าถึงความสัมพันธ์ที่ทั้งคู่สร้างสรรค์งานศิลปะขึ้นมาร่วมกันได้อย่างดีเยี่ยม 
 
เราได้คุยกับสตีฟ ซึ่งยังดำรงตำแหน่งเป็นบรรณาธิการฝ่ายศิลป์ ผู้สร้างสรรค์ปกให้กับ Time Out Tokyo มาตั้งแต่เล่มที่ 2 (ฉบับฤดูใบไม้ผลิ 2014) และเปิดใจกันทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวในชีวิต การทำงาน และแนวคิดแสนสร้างสรรค์ไม่เหมือนใคร
 

หนังสือเล่มนี้มีผลงานกว่า 300 ชิ้นที่คุณทำร่วมกับ เคียรี่ ปามิว ปามิว คุณรู้สึกอย่างไรบ้างเมื่อเห็นงานทั้งหมดมารวมอยู่ในเล่มเดียว? 

ผมแปลกใจกับความหนาของหนังสือ เพราะตอนที่รวบรวมผลงานทั้งหมดนั้น ผมไม่ได้คิดถึงภาพรวมของมันเสียเท่าไหร่ แต่พอได้มองย้อนกลับไป ผมรู้สึกได้ถึงพลังงานและความตั้งใจที่ผมใส่ลงไปในงานทุกชิ้น ตอนนั้นผมอาจจะไม่รู้ตัว เพราะมัวแต่ตั้งใจทำงานที่อยู่ตรงหน้า แต่ตอนนี้ผมเห็นถึงความสอดคล้องของพวกมันทั้งหมดแล้วล่ะ

การทำงานแบบไม่ได้ตระเตรียมมาก่อนมีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานกับเคียรี่ เพราะไอเดียหลายอย่างก็เกิดขึ้นโดยสัญชาตญาณ สำหรับผมแล้วไม่มีงานชิ้นไหนโดดเด่นออกมาเป็นพิเศษ แต่งานทั้งหมดเป็นเหมือนสารคดีบอกเล่าการทำงานที่ยาวนานถึง 5 ปีมากกว่า 

ถึงแม้ตอนนั้นคุณจะไม่รู้ แต่งานทั้งหมดก็มีความเกี่ยวข้องกันใช่ไหม? 

ผมตั้งใจทำงานทุกชิ้นให้ออกมาให้ดีที่สุดในระยะเวลาที่สั้นที่สุด ดังนั้นงานทุกชิ้นจึงไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ความสมบูรณ์แบบ ผมแค่อยากจะออกไอเดียขณะที่มันกำลังสดใหม่ ไม่ว่าในตอนนั้นผมจะเป็นอย่างไร มันจะถูกแสดงออกมาในผลงานเสมอ ผมเลยไม่มีเวลามองย้อนกลับไปที่งานเก่าๆ เลยแม้แต่น้อย ถึงแม้งานอื่นๆ ต้องการความสมบูรณ์แบบ คำนี้ใช้ไม่ได้กับงานของเคียรี่ เพราะผลงานพวกนี้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาแบบสบายๆ แต่ก็เข้มข้นในเวลาเดียวกัน

ช่วยเล่าความประทับใจแรกที่คุณมีต่อเคียรี่ให้เราฟังหน่อยได้ไหม?

ก่อนที่จะได้พบเคียรี่จริงๆ ผมมีโอกาสได้อ่านบล็อกของเธอ และผมก็รู้ว่าเธอมองโลกแตกต่างจากคนอื่นๆ ... การมองโลกอย่างเปิดกว้าง ผมเลยรู้ว่าเรามีโอกาสสร้างสรรค์ผลงานที่น่าสนใจและแปลกใหม่อย่างแน่นอน  

ถ้าอย่างนั้นพวกคุณก็เข้ากันได้อย่างดีใช่ไหม?

แน่นอนครับ การที่เธอไม่คิดมากจนเกินไป หรือโฟกัสไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเดียว คือส่วนสำคัญในการทำงานของเรา ผมไม่ชอบการทำงานที่กดดันมากจนเกินไป

คุณคาดหวังที่จะได้สร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ ที่ไม่เหมือนใครเมื่อทำงานกับเคียรี่ใช่ไหม? 

ผมพยายามหาไอเดียที่จะเซอร์ไพรซ์เธอให้ได้ แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่อยากทำอะไรที่ไม่ดูเป็นตัวของเธอเอง เพราะนั่นจะไม่สนุก และคนดูก็จะรู้สึกได้ ในแง่จิตวิทยาแล้ว มันสำคัญมากที่จะทำงานเมื่อคุณมีอารมณ์และแรงบันดาลใจที่ดีและเหมาะสมกับงานนั้นๆ ผมหลีกเลี่ยงที่จะทำอะไรซ้ำซาก ไม่ใช่แค่สำหรับเธอ แต่สำหรับผมด้วยเช่นกัน ผมเชื่อว่าถ้าคุณไม่อยากทำงานนี้แล้ว คุณจะไม่มีวันสร้างสรรค์งานดีๆ ออกมาได้

การทำงานกับเคียรี่ต่างจากการทำงานโฆษณาอื่นๆ อย่างไรบ้าง? 

โลกโฆษณาเกี่ยวข้องกับการตลาด พวกเขาพยายามวิเคราะห์ว่าอะไรที่ "เจ๋ง" ในเวลานั้น และคำนวนว่าทำอย่างไรถึงจะเข้าถึงผู้คนให้ได้มากที่สุด ผมไม่เคยทำแบบนั้นกับงานของเคียรี่ ผมแค่สร้างสรรค์สิ่งที่ผมมองว่าอะไรน่าสนใจในเวลานั้น ... สัญชาตญาณต้องมาเหนือข้อมูลเสมอ

ผลงานเพลงอัลบั้มแรก Moshi Moshi Harajuku ของเคียรี่กลายเป็นสัญลักษณ์ของป๊อปคัลเจอร์ญี่ปุ่น ผ่านมา 5 ปี การทำงานของคุณเปลี่ยนแปลงไปบ้างไหม?

ถ้าไม่นับงานอื่นๆ ของเคียรี่ในโฆษณา มิวสิควิดีโอ คอนเสิร์ต หรือนิตยสารแล้ว ผมเชื่อว่าปกซีดีคืองานที่เป็นตัวของเธอเองมากที่สุด และเธอก็เชื่ออย่างนั้น เวลาถ่ายปก เราจะใช้ทีมงานเล็กๆ จึงได้ความรู้สึกที่เป็นส่วนตัว ซึ่งเป็นสภาวะที่ทุกคนสามารถทำตัวเป็นธรรมชาติ ซึ่งดีต่อการทำงานเป็นอย่างมาก

การทำงานต่อหน้าคนดูจำนวนมากหรือลูกค้าแตกต่างออกไป แต่ก็ช่วยให้คุณได้ทำอะไรใหม่ๆ ตลอดเวลามานี้เราไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมาก เพราะเมื่อคุณเริ่มนึกถึงสิ่งที่คนอื่นต้องการ คุณจะไม่สามารถสร้างสรรค์งานที่น่าสนใจได้อีกต่อไป เราไม่เคยสร้างงานที่สร้างความลำบากใจให้กับผู้อื่น เราแค่นำป๊อปคัลเจอร์มาปรับใหม่ให้ดูสนุกสนาน และดูแตกต่างไปจากเดิมก็เท่านั้นเอง

เมื่อพูดถึงป๊อปคัลเจอร์ญี่ปุ่น มันแตกต่างจากของอเมริกาซึ่งเป็นบ้านเกิดของคุณมากไหม?

แน่นอนว่ามันมีข้อแตกต่างอยู่บ้าง แต่เมื่อคุณผสมผสานวัฒนธรรม 2 อย่างที่แตกต่างเข้าด้วยกัน คุณจะพบว่ามันมีอะไรที่เหมือนๆ กัน วัฒนธรรมตะวันตกหลายอย่างถูกสั่งสมอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของคนญี่ปุ่น สิ่งที่สำคัญคือการไม่ทำตามสิ่งที่คนอื่นกำลังสนใจ แต่เป็นการหาไอเดียจากประสบการณ์ส่วนตัวของคุณเองมากกว่า

คุณกำลังพยายามสร้างสรรค์ผลงานที่ไร้กาลเวลาหรอ?

ผมพยายามสร้างสรรค์สิ่งที่ไม่ทำให้ผมเบื่อ ดังนั้นจึงต้องทำอะไรที่ไม่นำแฟชั่นในช่วงเวลานั้นๆ ถึงแม้เราจะได้แรงบันดาลใจจากเทรนด์บางอย่าง แต่การได้แรงบันดาลใจกับการก๊อปปี้นั้นแตกต่างกัน หากคุณเข้าใจจุดนี้แล้วล่ะก็ งานของคุณจะมีความหมายลึกซึ้งขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน ... ถ้าตอนนี้ทุกคนกำลังใช้สีแดง การใช้สีอื่นจะทำให้คุณดูแตกต่าง ผมจึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับเทรนด์มากนัก แต่พยายามมองว่างานจะสอดคล้องกับอนาคตได้อย่างไรนั้นสำคัญกว่า ดังนั้นสิ่งที่ผมชอบตอนนี้และตอนที่เป็นเด็กจึงไม่ได้แตกต่างกันมากนัก

คุณหมายถึง ศิลปะ ดนตรี ... ?

สมัยผมเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น ผมชอบฟังเพลงของ Steely Dan ซึ่งตอนนี้ผมก็ยังฟังอยู่ ในส่วนงานศิลปะ ผมชอบภาพแบบเด็กวาด เพราะมันเต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้สึก นิตยสารหลายเล่มพยายามทำตัวให้เจ๋ง ผมว่ามันน่าอายออก เพราะ "ความเจ๋ง" ไมไ่ด้อยู่ที่การกระทำ หลักการเดียวกันใช้ได้กับคนที่คิดว่าตัวเอง "น่ารัก" ความจริงแล้วเด็กนี่แหละน่ารักที่สุด (หัวเราะ)

อย่างนี้นี่เอง (หัวเราะ) แสดงว่าคุณบอกได้ว่าอะไรเสแสร้ง?

ใช่ครับ ผมมองค่อนข้างจะออกนะ คุณบอกได้ทันทีเลยล่ะเวลาเห็นคนที่พยายามมากเกินไป เพราะอย่างนั้นผมเลยพยายามทำงานในบรรยากาศสบายๆ และหลีกเลี่ยงคนที่เครียดจนเกินไป 

งานสร้างสรรค์ของคุณได้แรงบันดาลใจมาจากไหนบ้าง?

ผมเรียนดนตรีแจ๊ซสมัยอยู่มัธยม ตอนนั้นผมมอ่านคำขอบคุณบนปกแผ่นเสียง และค้นพบชื่อนักดนตรีแจ๊ซมากมายที่มีส่วนช่วยเล่นคีย์บอร์ดและกีต้าร์ ผมค่อยๆ เปลี่ยนมาฟังเพลงแจ๊ซซึ่งให้แรงบันดาลใจกับผมในการทำงานแบบไม่ได้ตระเตรียมมาก่อน เพราะคุณสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้ตามอารมณ์ของคุณ

ในช่วงปี 1960's Bill Evans ให้สัมภาษณ์ว่า "ทำไมดนตรีแจ๊ซถึงสดใหม่ นั่นก็เพราะแจ๊ซคือการนำดนตรีคลาสสิคกลับมาทำใหม่ เพลงคลาสสิคแต่เดิมนั้นคือการด้นสด แต่เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่มีอุปกรณ์บันทึกเสียง นักดนตรีจึงต้องบันทึกลงบนแผ่นกระดาษ เมื่อเวลาผ่านไป คนเล่นตามโน๊ตบนกระดาษมากขึ้น จึงทำให้การด้นสดค่อยๆ จางหายไป และดนตรีคลาสสิคจึงกลายมาเป็น เพลงที่สมบูรณ์แบบ ที่เราเห็นกันในปัจจุบัน"

คุณโตมาในอเมริกา และเรียนที่อังกฤษ แต่ทำไมคุณไม่อยากทำงานนอกประเทศญี่ปุ่นบ้างล่ะ?

ผมเคยคิดนะ แต่ผมย้ายมาอยู่ที่นี่ตั้งแต่ปี 2011 แล้ว ความจริงแล้วที่อเมริกาอาจจะจ่ายเงินให้ผมมากกว่า แต่ผมชอบไลฟ์สไตล์ของคนญี่ปุ่น สิ่งเดียวที่ผมไม่ชอบเกี่ยวกับโตเกียวก็คือที่นี่ไม่ค่อยมีธรรมชาติมากสักเท่าไหร่ มันเลยผ่อนคลายได้ยาก แต่ถ้าผมไปอยู่ที่ไกลๆ ผมก็ไม่สามารถเข้าถึงของแปลกๆ ที่ต้องใช้สำหรับทำงานได้อยู่ดี (หัวเราะ)

แล้วคุณชอบที่ไหนในโตเกียวบ้างล่ะ? 

ผมชอบย่านจินโบโช บางครั้งเวลาว่าง ผมชอบแวะไปซื้อหนังสือ กินข้าวราดแกงกะหรี่หรือเกี๊ยวซ่าตอนเที่ยง แล้วกลับมาเดินเล่นอีกรอบ อาหารในโตเกียวอร่อยเสมอ ไม่ว่าจะอาหารญี่ปุ่น เรื่อยไปจนถึงอาหารอิตาเลียน เมื่อมีเวลาว่าง ผมจะออกไปหาอะไรอร่อยๆ กินเสมอ

ถ้าเงินและเวลาไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ คุณอยากทำอะไรต่อไป? 

ผมอยากทำหนังสืออีกสักเล่ม และไม่แน่ในอนาคต ผมอาจจะสร้างหนัง แต่คุณต้องใช้พลังงานมากเลยล่ะ

ในอนาคต คุณอยากทำงานอะไรให้กับเคียรี่อีกไหม?

อะไรที่แตกต่างจากหนังสือเล่มนี้ เมื่อถึงเวลานั้น ผมคงจะนึกออกเอง

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับนิทรรศการ 'Kyary Pamyu Pamyu Artwork Exhibition 2011-2016' ได้ที่นี่

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหนังสือ 'Kyary Pamyu Pamyu Artworks 2011-2016 | Steve Nakamura' ได้ที่นี่

บทสัมภาษณ์นี้ได้รับการแปล ย่อ และแก้ไขเพื่อความเข้าใจในการอ่าน

ภาพโดย Daiki Suzuki

แปลและเรียบเรียงโดย Sopida Rodsom

เรื่องเด่น
    เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ
      การโฆษณา