ปัณฑิตา มีบุญสบาย
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok

‘ปัณฑิตา มีบุญสบาย’ ศิลปินอิสระวัย 23 ที่แจ้งเกิดจากระดับตำบลกับฝีมือที่ไปสู่สากลได้สบายๆ

จากลูกสาวชาวสวนจังหวัดระยอง สู่การเป็นศิลปินอิสระที่กำลังมาแรงกับการสร้างสรรค์ผลงานแนวแฟนตาซี

Suriyan Panomai
เขียนโดย
Suriyan Panomai
การโฆษณา

ถ้าใครชอบเดินดูงานศิลปะตามแกลเลอรีต่างๆ เราเชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ในช่วงหลังๆ คืออายุของศิลปินเจ้าของผลงานนั้นเด็กขึ้นเรื่อยๆ แถมฝีมือของเขาและเธอเหล่านั้นก็ดูไม่ธรรมดาเสียด้วย และศิลปินรุ่นใหม่ที่มีความสามารถโดดเด่นที่สุดคนหนึ่งก็คือ ‘โบว์ - ปัณฑิตา มีบุญสบาย’ นักศึกษาปริญญาโท คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และศิลปินอิสระเจ้าของผลงานภาพวาดสุดแฟนตาซีที่ถูกนำไปจัดแสดงตามแกลเลอรีอย่างต่อเนื่อง

ด้วยฝีแปรงและการเล่าเรื่องอันโดดเด่นของโบว์ ทำให้เราต้องนัดคุยกับเธอด้วยความสนใจทั้งในผลงานและตัวศิลปิน โบว์นั่งคุยกับเราแบบสบายๆ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) ที่ซึ่งโบว์ใช้ฝึกฝนวิชาจนประสบความสำเร็จและก้าวสู่การเป็นศิลปินเต็มตัวในวัย 23 ปี

ปัณฑิตา มีบุญสบาย
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok

“หนูเริ่มทำงานศิลปะมาตั้งแต่เด็ก อายุ 3 - 4 ขวบเลย มันเป็นอะไรที่เราทำได้ดีและโดดเด่นกว่าเพื่อนร่วมชั้นด้วย ตอนนั้นก็เลยชอบที่ได้ทำ เหมือนเป็นงานอดิเรกของเรา” โบว์ เกริ่นถึงจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์งานศิลปะที่เริ่มต้นจากความชอบในวัยเด็ก พร้อมเล่าความทรงจำเกี่ยวกับ ‘ภาพแรก’ ที่วาดแล้วรู้สึกว่าตัวเองทำได้ดีให้ฟังว่า

“ตอนประมาณ 8 ขวบ ก็ให้คุณตามานั่งเป็นแบบแล้วหนูก็สเก็ตช์สด ตอนนั้นรู้สึกว่าทำได้ไงวะ แล้วทุกวันนี้ก็ดีมากที่ที่บ้านยังเก็บภาพนั้นใส่กรอบไว้อยู่ พอกลับไปดูก็ยังรู้สึกว่า เออ 8 ขวบทำได้ไงวะ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนภาพนั้นมันก็ยังสวยสำหรับเราอยู่ดี”

ถึงจะมีแววศิลปินมาตั้งแต่เด็กแต่ตอนนั้นโบว์ยังไม่คิดจะเรียนและเอามาเป็นอาชีพ จนกระทั่งถึงช่วงสอบเข้ามหาวิทยาลัย ครูที่โรงเรียนแนะนำให้ลองสอบคณะจิตรกรรม (ตอนนั้นสอบติดสถาปัตย์ไปแล้ว) ปรากฏว่าโบว์สอบติดจึงลองคุยกับที่บ้านว่ามีความสนใจด้านนี้ โชคดีที่พ่อแม่ไม่เคยห้ามอะไรเลย เส้นทางการเป็นศิลปินตัวจริงของโบว์จึงเริ่มขึ้นตั้งแต่ตอนนั้น

Puntita Meeboonsabai
ผลงานภาพวาดของโบว์จากเฟซบุ๊ก Puntita Meeboonsabai
Puntita Meeboonsabai
ผลงานภาพวาดของโบว์จากเฟซบุ๊ก Puntita Meeboonsabai

จากระดับตำบลไปสู่ระดับสากล

โบว์เติบโตมาจากครอบครัวชาวสวนผลไม้ ในจังหวัดระยอง ซึ่งในตำบลของเธอทุกบ้านเป็นญาติพี่น้องกันหมด และด้วยพรสวรรค์ด้านการวาดภาพที่เกินวัยของโบว์จึงไม่แปลกที่โบว์จะเป็นที่รู้จักในระดับตำบลมาตั้งแต่เด็ก

“หนูขายงานได้ตั้งแต่เด็กเลย จำได้ว่าชิ้นแรกราคา 3 บาท ขายให้คนในตำบล แล้วมันก็ขยับมาเป็น 10 บาท 50 บาท แต่ที่มาขายจริงๆ จังๆ เป็นอาชีพเลยก็คือช่วงปี 4 เทอม 1 ที่เริ่มมีนักสะสมงานศิลปะมาซื้อเอาไว้เก็งกำไร หนูว่ามันเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นมานานแล้วเพราะปกติเขาก็จะไม่ค่อยซื้องานจากเด็กที่กำลังเรียนอยู่ แต่พอเขามาลงทุนกับเราแล้วเห็นว่าเราไปต่อได้ ต่อไปเขาก็กล้าที่จะลงทุนกับศิลปินรุ่นใหม่คนอื่นๆ ทำให้เด็กได้รับโอกาสที่ดี มันปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาผลงาน” โบว์เล่า

ปัณฑิตา มีบุญสบาย
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok

A Woman Powers ผลงานวิทยานิพนธ์ (ธีสิส) ของโบว์ คือผลงานที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด จากการจัดแสดงในนิทรรศการ Phenomena ร่วมกับศิลปินรุ่นใหม่อีก 2 คนที่ Joyman Gallery เมื่อปี 2019 ก่อนที่เธอจะได้ไปแสดงความสามารถในรายการ ‘Super 100 อัจฉริยะเกินร้อย’ เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กับผลงานที่มีชื่อว่า ‘กลียุค’ ที่โบว์ได้นำเหตุการณ์ในปัจจุบันไปใส่ความแฟนตาซีอย่างที่ตัวเองถนัด จนออกมาเป็นภาพวาดสุดตื่นตา เหนือจินตนาการ

“จริงๆ ผลงานของหนูมันเป็นงานแฟนตาซี แต่บางคนจะเรียกว่า เซอร์เรียลลิสม์ หรือแนวเหนือจริง แต่เซอเรียลลิสม์มันจะมีความหมายในทุกองค์ประกอบ ซึ่งงานเราอาจจะไม่ได้ไปถึงขั้นนั้นก็เลยเรียกว่าเป็นแนวแฟนตาซีมากกว่า” โบว์พูดถึงผลงานของตัวเองที่มีความแฟนตาซีเป็นจุดเด่นในทุกรายละเอียด

เมื่อเราถามถึงเป้าหมายในอีก 5 ปีข้างหน้า ศิลปินที่เติบโตมาจากระดับตำบลคนนี้ก็ตอบแบบไม่ลังเลเหมือนคนที่วางแผนไว้หมดแล้วว่า

“ตอนนี้คิวงานที่ลงไว้ชัดๆ ก็ประมาณ 5 นี่แหละค่ะ 3 ปีแรกก็คงจะทำงานที่เราอยากทำก่อน เพราะช่วงก่อนหน้านี้จะเครียดๆ กับธีสิส ตอนนี้เลยขอทำอะไรตามใจตัวเองก่อน 2 ปีหลังจากนั้นก็จะเป็นช่วงแสดงงานแล้วก็มีทั้งไปร่วมงานกับบริษัทหรือแบรนด์ต่างๆ ด้วย หลังจากนั้นปีที่ 6 ก็จะเริ่มพักตัวเอง เพราะฉะนั้น 5 ปีนี้ก็คิดว่าเป็น 5 ปีที่ต้องพาตัวเองไปให้ไกลที่สุด ก็อยากรู้เหมือนกันว่าเราจะไปได้ไกลที่สุดแค่ไหน เพราะทุกคนก็คิดว่านี่แหละไกลที่สุดของเราแล้ว แต่ทุกวันนี้ก็จะมีโอกาสเข้ามาเรื่อยๆ เคยมีแกลเลอรีที่จีนมาซื้องานไปแสดง และถ้าไม่มีโควิด-19ก็คงมีโอกาสได้ไปหลายที่อยู่เหมือนกันทั้งอเมริกา เยอรมนี”

ปัณฑิตา มีบุญสบาย
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok

การทำงาน แรงบันดาลใจ และไอดอล

ก่อนจะจรดแปรงลงบนผืนผ้าใบแล้วบรรจงวาดให้ออกมาเป็นผลงานสวยๆ ได้สักชิ้น ศิลปินจำเป็นต้องมี ‘แรงบันดาลใจ’ เสมอ ซึ่งสำหรับโบว์มักจะใช้การเดินทางไปในที่ต่างๆ เพื่อนำเรื่องราวในแต่ละพื้นที่มาเป็นแรงในการสร้างสรรค์ผลงาน

“ก่อนโควิด-19ก็เป็นคนที่เดินทางค่อนข้างบ่อย ไปเที่ยว ไปดูนิทรรศการที่จัดแสดงในต่างประเทศ แล้วทุกครั้งที่เดินทางก็จะมีเรื่องเล่าที่เราเอามาเล่นกับผลงานได้ อีกหนึ่งวิธีคือในการทำงานของหนูคือการหาจุดบกพร่องในผลงานทุกชิ้นที่ทำเสร็จ ไม่มีผลงานชิ้นไหนเลยที่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ในสายตาของเรา เพราะถ้ามองว่ามันสมบูรณ์แล้วมันจะพัฒนาต่อไม่ได้ในผลงานชิ้นต่อๆ ไป”

โบว์มีศิลปินต้นแบบหรือ ‘ไอดอล’ ในใจอยู่ 2 คน คนหนึ่งคือ ‘ชัยยศ จินดากุล’ ศิลปินไทยผู้คืนชีวิตให้กับหุ่นกระบอกไทยและจีนด้วยลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์ สิ่งที่โบว์ชื่นชอบในตัวศิลปินคนนี้คือวิธีการสร้างสรรค์ผลงานและกระบวนการทำงาน ส่วนอีกคนที่โบว์ชื่นชอบในผลงานคือศิลปินยุโรป ‘เซอร์ ลอเรนซ์ อัลมา-ทาเดมา’ จิตรกรชาวอังกฤษผู้โด่งดังจากภาพวาดที่สื่อถึงความหรูหรา รุ่งเรือง รวมถึงความตกต่ำของอาณาจักรโรมัน

ในฐานะศิลปินรุ่นใหม่ โบว์มองว่า ปัจจุบันแวดวงศิลปะไทยมีโอกาสดีๆ มากมายให้เด็กรุ่นใหม่ได้แจ้งเกิดและเติบโต รวมถึงมีงานแสดงศิลปะดีๆ เข้ามา ทำให้คนเข้าถึงศิลปะได้ง่ายขึ้น ส่วนการทำงานศิลปะของโบว์ ณ ตอนนี้ คือการวาดในสิ่งที่อยากวาด อยากให้ผลงานทำหน้าที่จรรโลงใจผู้คนด้วยความแฟนตาซีมากกว่าที่จะใช้งานศิลปะเป็นกระบอกเสียงในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ

เรื่องเด่น
    เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ
      การโฆษณา