The Terrarium
Tanisorn Vongsoontorn

The Terrarium มองนิทรรศการให้ลึกกว่าต้นไม้ กระจก และภาพสะท้อน

การจะหาจุดสมดุลที่มองเห็นภาพสะท้อนเราเพียงคนเดียวได้ จุดนั้นคือจุดตรงกลางหรือ จุดสบายใจ ที่แต่ละคนมีไม่เหมือนกัน

Kenika Ruaytanapanich
เขียนโดย
Kenika Ruaytanapanich
การโฆษณา

นิทรรศการนี้เคยจัดครั้งแรกในงาน Bangkok Design Week 2020 ที่ย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ โดยมีกระจกหนึ่งบาน ในห้องหนึ่งห้อง และต้นไม้สีเขียวที่ห้อมล้อม ซึ่งเป็นความตั้งใจจำลองบรรยากาศ Terrarium หรือสวนขวดที่มีขนาดใหญ่ เพื่อให้เราสัมผัสได้ถึงความรู้สึก ‘ปลอดภัย’ ที่ธรรมชาติก็ต้องการไม่ต่างจากมนุษย์

นี่คือไอเดียแรกเริ่มที่ทำให้เกิดนิทรรศการ The Terrarium EP.2 ครั้งนี้ขึ้น ซึ่งแตกต่างจากครั้งก่อนตรงที่มีการเพิ่มองค์ประกอบบางอย่างขึ้นมา นั่นก็คือ กรวดสีแดง และ กระจกบานที่ 2 ซึ่งครั้งนี้ไม่เพียงทำหน้าที่สะท้อนเงา แต่ยังสร้างความไม่สมดุลให้ภาพสะท้อน และการจะหาจุดสมดุลที่มองเห็นตัวเราเพียงคนเดียวได้ จุดนั้นคือจุดตรงกลางหรือ จุดสบายใจ ที่แต่ละคนมีไม่เหมือนกัน 

The Terrarium
Tanisorn Vongsoontorn

"แต่ละคนที่มารับรู้ความหมายของนิทรรศการต่างกันไป โดยความตั้งใจหลักของเราคืออยากให้ทุกคนใส่ใจธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาคนก็โหยหาธรรมชาติมากกว่าปกติ อาจเพราะไม่สามารถออกไปข้างนอกได้เท่าเมื่อก่อน" คุณเคี้ยง - พลวัฒน์ ภูไท ดีไซเนอร์ผู้ออกแบบนิทรรศการ Terrarium ทั้งสองครั้ง เล่าถึงจุดประสงค์ของงานให้ฟัง

นิทรรศการครั้งนี้จัดขึ้นที่ The Shophouse 1527 ซึ่งเคยเป็นบ้านใช้อยู่อาศัยมาก่อน สิ่งที่งานต้องการสื่อจึงแตกต่างไปตามบริบทของสถานที่ จากครั้งแรกที่อยู่ในออฟฟิศและต้องการสลับสิ่งสำคัญที่อยู่ภายนอกให้เข้ามาภายใน ครั้งนี้จึงต้องการเล่าเพิ่มจากเดิมในมุมมอง ไร้สมดุล ระหว่างเรากับธรรมชาติ ที่ทั้งสองสิ่งล้วนต้องการความปลอดภัย แต่มีเพียงเราที่สามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยนั้นขึ้นมาได้

"นิทรรศการนี้ต้องการทำให้เห็นอีกว่า เราสามารถนำธรรมชาติสีเขียวเข้ามาอยู่ร่วมกับเราได้จริงๆ ทุกคนสามารถสร้าง terrarium ขึ้นในพื้นที่ของตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นในออฟฟิศหรือบ้าน เพียงแค่เราต้องหาตำแหน่งสมดุลให้กับสิ่งนั้นๆ"

การจัดวางต้นไม้ในนิทรรศการจึงมีการคำนึงถึงความต้องการของต้นไม้ด้วย อย่างเช่นพันธุ์ไหนต้องการแสงแดด ต้นนั้นจะถูกจัดวางในตำแหน่งที่แดดส่องถึง หรือต้นไหนต้องการแสงรำไรก็จะวางให้อยู่ในร่มเงา นิทรรศการ The Terrarium - Redressing the Im/balance ครั้งนี้ จึงไม่เพียงจำลองระบบนิเวศสวนขวดในที่พักอาศัย แต่ยังทำให้เราเข้าใจธรรมชาติได้มากขึ้นด้วย

The Terrarium
Tanisorn Vongsoontorn
The Terrarium
Tanisorn Vongsoontorn

"ตั้งแต่ครั้งแรกที่เรานำต้นไม้เข้าไปไว้ในออฟฟิศ เหมือนเป็นการสลับพื้นที่ของคนกับธรรมชาติ โดยเราเลือกสื่อสารด้วยการจำลองระบบนิเวศ Terrarium ขึ้นมา แต่ทำให้มีขนาดใหญ่เพื่อให้มนุษย์สามารถเข้าไปสัมผัสได้ และมีวัตถุหนึ่ง (กระจก) ที่ช่วยให้คนมองเห็นสัดส่วนของตัวเองในพื้นที่นั้น แต่ครั้งนี้เราเพิ่มกระจกเป็น 2 บาน ซึ่งยังคงทำหน้าที่คล้ายเดิม แต่ในงานนี้คนจะเห็นภาพตัวเองซ้อนทับกันหลายๆ ภาพ และจะมีเพียงจุดเดียวเท่านั้นที่ทุกอย่างสมดุล ซ้อนทับกันพอดี ซึ่งแต่ละคนที่มาก็แปลความหมายของสิ่งนี้ต่างกันไป" คุณโจ - ดลพร ชนะชัย เจ้าของสเปซ The Shophouse 1527 และดีไซน์เนอร์ที่มีส่วนร่วมในการจัดงานครั้งนี้อธิบายเสริม

โดยต้นไม้ในนิทรรศการทั้งสองครั้งไม่ได้จัดหาหรือซื้อใหม่ เพราะทีมตั้งใจนำมาจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว ซึ่งหลังจบงานก็จะนำต้นไม้เหล่านี้กลับไปฟื้นฟูที่เนอสเซอรี่ ก่อนนำไปใช้ประโยชน์ตามที่ตั้งใจ และการนำต้นไม้มาจัดแสดง คุณเคี้ยงบอกอีกว่าทำให้คนเข้าถึงและเห็นคุณค่าของธรรมชาติมากขึ้น แถมมีบางต้นในนิทรรศการมีคนจับจองแล้วเช่นกัน

The Terrarium
Tanisorn Vongsoontorn

หากใครเคยแวะไปที่การจัดแสดงครั้งแรก จะสังเกตว่าครั้งนี้มีกรวดสีแดงบนทางเดินเพิ่มเข้ามา โดยคุณเคี้ยงต้องการสื่อถึงการสร้างเขตหวงห้ามที่มนุษย์ไม่ควรลุกล้ำ และปล่อยให้ธรรมชาติใน terrarium แห่งนี้อยู่ด้วยตัวของมันเอง

“เราไม่ได้สร้างขอบเขตอย่างชัดเจนเหมือนในพิพิธภัณฑ์ ที่ทุกคนรู้ว่าสิ่งไหนไม่ควรจับหรือเข้าใกล้ งานนี้จึงมีความย้อนแย้งบางอย่างซ่อนอยู่ ซึ่งทำให้เราได้เห็นพฤติกรรมของคนหลายๆ แบบ บางคนอาจเข้าใกล้ในสิ่งที่เราให้ความสำคัญ แต่บางคนก็เว้นระยะห่างไว้ การแสดงออกในนิทรรศการจึงขึ้นอยู่กับการให้ความสำคัญของแต่ละคน ว่าเลือกจะรับรู้และปฏิบัติต่อธรรมชาติในงานอย่างไร ซึ่งเรารับได้กับทุกพฤติกรรมที่เกิด” คุณโจเล่าถึงความหมายของการปูทางเดินด้วยหินกรวดสีแดง

The Terrarium
Tanisorn Vongsoontorn

นิทรรศการ The Terrarium - Redressing the Im/balance จัดอยู่ที่ The Shophouse 1527 โดยครั้งนี้มีการเพิ่มระยะเวลาเข้าชมจากครั้งแรก (3 นาที) เป็น 15 นาที และให้เข้าชมได้ครั้งละไม่เกิน 5 คนเท่านั้น ซึ่งข้อจำกัดนี้ก็ทำให้พฤติกรรมของผู้มาชมต่างจากครั้งแรกเหมือนกัน ซึ่งทั้งคุณเคี้ยงและคุณโจเชื่อว่า การจัดแสดงนี้เป็นการทดลองที่น่าสนใจ และสามารถทำให้เป็นนิทรรศการที่สร้างประโยชน์ให้กับทุกพื้นที่ที่นำ Terrarium ไปจัดวางได้

ผลงานนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่างบริษัท Kernel Design (คุณเคี้ยง) และ Cloud-floor (คุณโจ) โดยมีบริษัท Green Volunteer Company Limited เป็นผู้รับผิดชอบส่วนซอฟท์สเคป

เรื่องเด่น
    เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ
      การโฆษณา