สี่วันในเดือนกันยา
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok

'สี่วันในเดือนกันยา' เล่าการเมือง ประวัติศาสตร์และอนาคต ผ่านการนัดเจอกันของกลุ่มเพื่อน 5 คน

ละครเรื่องนี้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร มีประเด็นไหนน่าสนใจบ้าง และการเดินทางแสดงในต่างประเทศเป็นอย่างไร เบสและอุ้ยจะเล่าให้ทุกคนฟังในบทสัมภาษณ์นี้

Suriyan Panomai
เขียนโดย
Suriyan Panomai
การโฆษณา

การเสียชีวิตของสืบ นาคะเสถียร ที่ห้วยขาแข้งเมื่อปี 2533 เหตุวินาศกรรม 911 ที่อเมริกาเมื่อปี 2544 รัฐประหาร 2549 และการชุมนุมใหญ่ที่สนามหลวง กรุงเทพฯ เมื่อปี 2563 ต่างเหตุการณ์ ต่างวัน ต่างปี แต่ทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นในช่วงเดือนกันยายน คนทั่วไปอาจจะมองว่าแต่ละเหตุการณ์ไม่มีความเกี่ยวข้องกันหรืออาจจะไม่ได้สนใจเลยด้วยซ้ำ แต่มีกลุ่มเพื่อนอยู่ห้าคนที่พวกเขาถือโอกาสสี่วันในเดือนกันยาฯ นั้นนัดเจอกันเพื่อฉลองวันเกิดคุณพัดลมเพดานสีทองที่คอยให้ความร่มเย็นแก่พวกเขามาเนิ่นนาน

สี่วันในเดือนกันยา
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok

นั่นคือพล็อตคร่าวๆ ของละครเวทีเรื่องล่าสุดจาก For What Theatre ซึ่งกำกับโดย ‘เบส-วิชย อาทมาท’ ซึ่งเขียนบทร่วมกับ ‘อุ้ย-รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค’ ด้วย โดยละครเรื่องนี้เปิดการแสดงรอบปฐมทัศน์ ณ เทศกาล Wiener Festwochen กรุงเวียนนา ออสเตรีย เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 และยังเดินทางไปแสดงต่อในเทศกาลหนังทั้งที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม และกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสในปีเดียวกัน ก่อนยกทีมงานชุดเดียวกันนั้นกลับมาแสดงในกรุงเทพฯ ที่ Bangkok CityCity Gallery

ละครเรื่องนี้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร มีประเด็นไหนน่าสนใจบ้าง และการเดินทางแสดงในต่างประเทศเป็นอย่างไร เบสและอุ้ยจะเล่าให้ทุกคนฟังในบทสัมภาษณ์นี้ พร้อมชวนไปดูละครละครเวทีซึ่งจะแสดงถึงแค่วันที่ 24 กรกฎาคมนี้เท่านั้น

สี่วันในเดือนกันยา
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok

ละครเรื่องนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร

เบส: เป็นเรื่องไม่เป็นเรื่องของคนกลุ่มหนึ่งที่มาสุขสันต์วันเกิดพัดลมเพดานตัวหนึ่ง สี่ครั้งในสี่วันในเดือนกันยา

สี่วันในเดือนกันยา
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok

จุดเริ่มต้นของละครเรื่องนี้

เบส: ละครเรื่องนี้พัฒนาช่วงปี 2020 ช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่มีความเคลื่อนไหว การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองต่างๆ มากมาย ในขณะที่เริ่มทำละครมันก็เป็นช่วงเดือนกันยาฯ ด้วย มันก็อยู่ในบรรยากาศช่วงนั้นเราก็เลยรับมาบันทึกไว้ในละคร

อุ้ย: ละครเหมือนฟองน้ำในช่วงยุคนั้นเหมือนกัน เพราะมันดูดซับอะไรที่อยู่ข้างนอกเข้ามาอยู่ในเนื้อหาของตัวเองด้วยนะความจริงก็เหมือนกับว่าถ้าเหตุการณ์ข้างนอกเป็นอีกทิศทางหนึ่งมันก็จะมีผลกับเนื้อหาประมาณหนึ่งเหมือนกันซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นเนื้อเรื่องอย่างที่เห็นอยู่

เรื่องนี้เกี่ยวโยงกับ ‘เพลงนี้พ่อเคยร้อง’ ซึ่งเป็นผลงานก่อนหน้านี้ของเบสไหม

เบส: เล่าคนละเรื่องกันครับ ถ้าจะเกี่ยวโยงกันก็คือการที่มันยังสนใจสำรวจวันที่ในประวัติศาสตร์หรือวันสำคัญต่างๆ อะไรอย่างนี้มากกว่า แต่เนื้อเรื่องไม่เกี่ยวกัน

อุ้ย: เบสชอบสนใจเรื่องวันสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยแล้วก็คิดงานละครจากตรงนั้น จริงๆ ถ้าพูดให้ละเอียดก็คือมันก็เกี่ยวในแง่ที่ว่า เพราะเรื่องนั้นเบสได้ทัวร์ festival ที่ยุโรปเยอะเป็นเรื่องแรก มันก็เลยทำให้ festival ในยุโรปสนใจโปรดิวซ์งานเบส ก็เลยได้เรื่องนี้ด้วย มันก็เลยเป็นการ support ต่อเนื่อ

สี่วันในเดือนกันยา
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok

ทำไมต้องเป็น 4 วันในเดือนกันยา

เบส: ปกติเบสจะใช้วันที่ในเชิงแค่หมุดวันในการแสดง อย่างเช่นเพลงนี้พ่อเคยร้อง มันจะมีวันที่ 17 19 22 (พฤษภาคม) แต่ไม่ได้พูดถึงตัววันที่หรือความสำคัญของวันนั้นๆ ในการแสดง แต่มีงานนี้แหละที่เลือกจะพูดถึงความสำคัญของวันที่หยิบมาใช้จริงๆ มากขึ้นกว่าที่เคยก็เลยไปเริ่มที่ 1 กันยาฯ 2533 คือวันเสียชีวิตของคุณสืบ นาคะเสถียร ซึ่งก็เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้วก็พูดถึงการหลั่งไหลของข้อมูล ที่ผ่านมาผ่านไปตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ แล้วก็ตั้งคำถามถึงอนาคตไปด้วย

มีวันอะไรอีกบ้าง

เบส: 11 กันยาฯ 2544 ก็คือเหตุการณ์ 911 แล้วก็ 19 กันยาฯ คือวันรัฐประหารปี 2549 และการชุมนุมใหญ่ในสนามหลวง ปี 2563 ปี และวันสุดท้ายคือ 21 กันยาฯ ในอนาคตปี 2032 ประมาณนั้น

สี่วันในเดือนกันยา
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok

แต่ละวันมีอะไรเป็นจุดร่วม

เบส: การหายไป

อุ้ย: การหายไปเป็น motive เหมือนกัน แต่ว่าไม่ได้เป็นจุดร่วมขนาดนั้น คือสำหรับเรา เราไม่ได้คิดเรื่องจุดรวมอะไรเลยเราชอบความกระจัดกระจาย เราไม่ชอบงานที่ถ้าคุณหากุญแจดอกนี้เจอแล้วไขประตูได้ทุกบาน เรารู้สึกว่ามันไม่มีเสน่ห์ เราไม่อยากจะมอบความรู้สึกที่คนดูต้องเข้าใจทุกสิ่งที่เกิดขึ้นบนจอหนังหรือว่าในละครเวที เราเลยสนใจความกระจัดกระจายมากกว่า เหมือนการดูเมฆ เราว่าสิ่งที่สนุกของการดูเมฆคือคนพยายามจะมองว่าเมฆเหมือนอะไร แต่ถ้าเกิดเมฆไม่เหมือนอะไรเลยมันไม่ใช่ความสนุกไง

เบส: เบสก็จะมีปัญหากับการที่คนดูพยายามตีความโดยเดาใจคนทำ คือเขามีสิทธิ์ที่จะคิดของเขาเอง ก็เลยจะรู้สึกตอบไม่ถูกเวลาคนพยายามถามหาคำตอบที่ถูกต้องสำหรับสิ่งต่างๆ อะไรอย่างนี้ เพราะเราเชื่อว่าคนคิดกันเองได้

แบ็กกราวน์ในเรื่องคือยุคไหนบ้าง

เบส: แบ็กกราวด์ในเรื่องก็มีตั้งแต่ช่วงยุคเก้าศูนย์แล้วก็ลากยาวมาหลาย 10 ปี ไม่ใช่สี่วันในเดือนกันยาที่ติดกัน

สี่วันในเดือนกันยา
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok

เขียนบทเรื่องนี้ต้องทำการบ้านอะไรเป็นพิเศษไหม

เบส: คือดราฟต์แรกเขียนโดยพี่อุ้ย แต่ว่าก่อนหน้านั้นเบสก็เอานักแสดงมานั่งคุยกันไปเรื่อยๆ คอยสังเกตเหตุการณ์บ้านเมืองในช่วงเดือนกันยาฯ 2020 ก็เป็นช่วงเดือนที่เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆได้เรียงรายเรื่อยๆ ตั้งแต่ต้นปี บางทีก็ไปม็อบกันมาแล้วก็มาซ้อม

อุ้ย: แรกๆ แรกเบสแค่เอานักแสดงมาเจอกันที่ห้อง แล้วก็ให้เค้าคุยกันไปเรื่อยๆ เบสอาจจะโยนอะไรลงไปแล้วก็ให้เขาคุย มันไม่มีบทเราแค่นั่งอยู่ตรงนั้นแล้วก็ นั่งดูคาแร็กเตอร์อยู่เป็นเดือน แล้วเราก็กลับไปเขียน แล้วก็มาดูเค้าอ่านกันรอบหนึ่ง แล้วก็ไปแก้ ดูอะไรเข้าปากไม่เข้าปากอะไรหยิบออกไม่หยิบออก

เสียงวิจารณ์ตอนไปแสดงที่ยุโรปเป็นยังไง

เบส: หลากหลายครับมีตั้งแต่คนที่พยายามจะเข้าใจการเมืองที่อยู่ใต้ตัวบทหรือคนที่สนใจภาวะการอยู่กับสถานการณ์ที่ผ่านมาหรือคนที่ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องดูมีสิ่งแทนหรือสัญลักษณ์ต่างๆ มากมาย อะไรประมาณนี้ครับเท่าที่ได้ยินได้ฟังมา

สี่วันในเดือนกันยา
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok

เล่นที่ต่างประเทศกับเล่นที่นี่ความรู้สึกแตกต่างกันไหม

เบส: มันก็จะเป็นความคำนึงอีกแบบครับ เพราะว่าความเข้าใจของเขาก็จะมาจากคนที่ไม่ได้อยู่ในบริบทเดียวกัน ส่วนที่นี่มันก็จะเป็นความตื่นเต้นอีกแบบเพราะว่ามันไวมากอะไรที่ส่งกันไปมันเห็นผลทันที สำหรับคนไทยมันไวกว่าแล้วรู้สึกว่าน่าตื่นเต้น คนทำก็ตื่นเต้นกว่า เพราะผ่านอะไรมาด้วยกัน เราร่วมยุคสมัยร่วมสังคมกันอยู่

สี่วันในเดือนกันยา
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok

ใครควรมาดูละครเรื่องนี้และทำไมต้องมาดู

เบส: มันก็ชวนมองย้อนไปแหละมั้ง มองความเป็นมาความเป็นอยู่แล้วก็ตั้งคำถามถึงความเป็นไปว่ามาจากไหนกันอยู่กันยังไงแล้วจะไปไหนกันอะไรอย่างนี้ ก็อาจจะเป็นเรื่องที่มีแต่คำถามไม่มีคำตอบให้

อุ้ย: คนที่สนใจบ้านเมือง สนใจความเป็นไปเป็นมาแล้วก็คนที่สนใจศิลปะละคร เราสนใจทั้งประเด็นและสนใจทั้งฟอร์มด้วยคือถ้าเกิดว่าคุณทำประเด็นอย่างเดียวแล้วคุณไม่มีฟอร์มเลย หมายถึงไม่ได้มีการเขียนเรื่องโครงสร้างหรือลีลาหรือสุนทรีย์อย่างอื่นเลยมันก็ดูเป็นละครตรงไปตรงมา

อุ้ย: ละครเรื่องนี้พอเรารู้ว่ามันต้องไปเล่นที่ต่างประเทศด้วยมันจะมีเงื่อนไขว่าคนที่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับประเทศไทยเลย ประเทศเล็กๆ ในเซาธ์อีสเอเชีย ที่ดูไม่มีความสำคัญอะไรในบริบทโลก เขาจะได้ดูอะไร เราก็ตีความว่ามันต้องเป็นรสชาติอะไรบางอย่างที่ต่อให้เขาไม่รู้ว่าเขากินอะไรเข้าไปเขาก็อร่อยได้ คนที่สนใจเมืองไทย ใช่ ควรมาดู คนที่สนใจละครเวที ใช่ ควรมาดู

สี่วันในเดือนกันยา
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok

สี่วันในเดือนกันยายน ทําการแสดงสองรอบสุดท้ายวันที่ 23-24 กรกฎาคมนี้ เวลา 16.00 น. ที่ Bangkok CityCity Gallery (สาทรซอย 1, MRT ลุมพินี) บัตรราคา 700 บาท บัตรนักเรียน/นักศึกษา 450 บาท บัตรกลุ่ม (5 คนขึ้นไป) 650 บาท สามารถสอบถามและจองบัตรได้ทาง Inbox ของ For WhaT theatre หรือ http://m.me/theatreforwhat

เรื่องเด่น
    เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ
      การโฆษณา