สะพานเขียว
UddC

‘สะพานเขียว’ กับ 5 การเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นเพื่อเชื่อมคน เมือง และธรรมชาติ

ของขวัญชิ้นใหญ่ของคนเมืองถัดจากสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา

Suriyan Panomai
การโฆษณา

อีก 10 ปี 6 เดือน 20 วัน ต่อจากนี้ ย่านเมืองเก่าทั่วกรุงเทพฯ จะน่าอยู่มากขึ้น ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมายของ โครงการกรุงเทพฯ 250 โครงการฟื้นฟูเมืองของกรุงเทพฯ ที่อยากเห็นย่านเมืองเก่าน่าอยู่ขึ้นภายในปี 2575 เพื่อเป็นของขวัญชิ้นใหญ่ให้คนเมือง ในวาระครบ 250 ปี ของการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ โดยเริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2558

ผ่านมาเกือบครึ่งทางของขวัญชิ้นแรกที่เห็นเป็นรูปเป็นร่างก็คือ สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา ที่เปิดให้บริการครบ 1 ปีในเดือนนี้พอดี และของขวัญชิ้นถัดไปถูกวางไว้ที่ “สะพานเขียว” ทางเดินและทางจักรยานยกระดับที่เชื่อมระหว่างสวนลุมพินีกับสวนเบญจกิติ ระยะทางประมาณ 1.3 กิโลเมตร ที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว 20 ปี

สะพานเขียว
UddC

โปรเจ็กต์ฟื้นฟูสะพานเขียว เริ่มมีการพูดคุยมาตั้งแต่ปี 2562 ผ่านกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม และชุมชน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC-CEUS), ภาคีเครือข่ายสถาปนิก และชาวชุมชนร่วมฤดีและชุมชนโปโล

ตลอดระยะเวลา 2 ปี ของการทำงานร่วมกัน นี่คือ “ภาพอนาคต” และแนวคิดการฟื้นฟูสะพานเขียวด้วย 5 องค์ประกอบที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ 

The New City Landmark

โดย ATOM Design

The new city landmark
UddC

จากแนวคิดหลัก “The new iconic urban space” นำมาสู่การสร้างแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ที่จะถูกจัดวางใน 3 จุดสำคัญของสะพานเขียว ประกอบด้วย สะพานลอยข้ามแยกวิทยุ-สารสิน, ทางลอยฟ้าเหนือทางพิเศษมหานคร และสะพานลอยถนนรัชดา บริเวณทางเข้าสวนเบญจกิติ แต่ละจุดจะถูกออกแบบให้กลมกลืนกับพื้นที่บนสะพานเขียว มีโครงเหนือหัวที่สามารถกันแดดกันฝนได้เป็นบางช่วงและเน้นวัสดุที่โปร่งเพื่อให้ความรู้สึกสบาย

The Sky Green Bridge

โดย Landscape Collaboration

The sky green bridge
UddC

เพิ่มพื้นที่สีเขียวบนสะพานด้วยพรรณไม้ที่เหมาะกับสภาพอากาศกรุงเทพฯ เน้นพืชที่บำรุงรักษาง่าย พร้อมเสริมความแข็งแกร่งของสะพานให้รับน้ำหนักได้มากยิ่งขึ้น เพิ่มทางลาดให้เหมาะกับกิจกรรมการเดิน-วิ่ง-ปั่นจักรยาน และมีแผนติดตั้งอัฒจันทร์สำหรับชมทัศนียภาพ 2 ข้างทาง

The Learning Wetland

โดย Studio TAILA

The Learning Wetland
UddC

สะพานเขียวโซนคลองไผ่สิงห์โต ใกล้สวนเบญจกิติและโรงงานยาสูบจะถูกออกแบบให้เป็นสวนลอยน้ำแห่งการเรียนรู้ที่อุดมไปด้วยพืชที่มีศักยภาพในการบำบัดน้ำเสีย พร้อมจัดวางทางเดินลอยน้ำที่ยืดหยุ่นไปตามระดับน้ำ

The New Common Space

โดย  UddC-CEUS

The New Common Space
UddC

พื้นที่มืดทึบและเข้าถึงยากใต้สะพานเขียว เหนือคลองไผ่สิงห์โต จะกลายเป็นพื้นที่พื้นที่ส่วนกลางแห่งใหม่ของชุมชนที่จะมีแสงสว่างใช้งานตลอดทั้งวันทั้งคืน พร้อมปรับปรุงคุณภาพน้ำใต้สะพานให้สะอาด

The Bridge of Light

โดย ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมแสงสว่าง (LRIC) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

The Bridge of Light

สร้างความปลอดภัยต่อการใช้งานในยามค่ำคืนด้วยศิลปะแสงไฟที่จะถูกจัดวางไว้ในพื้นที่สาธารณะ โดยออกแบบแสงให้กลมกลืนกับพื้นที่โดยรอบและไม่กระจายขึ้นสู่ท้องฟ้า

สะพานเขียว
UddC
เรื่องเด่น
    เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ
      การโฆษณา