Gir

  • Bars
  • คลองเตย
  • 4 จาก 5 ดาว
  • แนะนำ
  1. Gir
    Photograph: Tanisorn Vongsoontorn
  2. Gir
    Photograph: Tanisorn Vongsoontorn
  3. Gir
    Photograph: Tanisorn Vongsoontorn
  4. Gir
    Photograph: Tanisorn Vongsoontorn
  5. Gir
    Photograph: Tanisorn Vongsoontorn
  6. Gir
    Photograph: Tanisorn Vongsoontorn
  7. Gir
    Photograph: Tanisorn Vongsoontorn
  8. Gir
    Photograph: Tanisorn Vongsoontorn
การโฆษณา

Time Out พูดว่า

4 จาก 5 ดาว

Gir บาร์วิวสวยบนชั้น 40 ตึก T-One ที่เชื่อมป่า คน และเมืองผ่านค็อกเทล

Gir (อ่านว่า เกอร์ หรือ เกียร์ ก็ได้) คืออีกหนึ่งบาร์จากทีม Paper Plane Project ที่จริงจังเรื่องค็อกเทลกว่า 2 ร้านแรกที่อยู่บนตึกเดียวกันอย่าง Tichuca และ Paper Plane Project โดยมาพร้อมคอนเซ็ปต์น่าสนใจที่ได้แรงบันดาลใจจากความอุดมสมบูรณ์ของป่าที่มีทั้งมนุษย์และธรรมชาติอยู่ร่วมกัน

ป่านั้นคือ  Gir National Park อุทยานแห่งชาติในรัฐคุชราต ทางภาคตะวันตกของประเทศอินเดีย ที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งที่อยู่สุดท้ายของสิงโตเอเชียและสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อีกหลายชนิด – เอาจริงๆ ป่าที่อุดมสมบูรณ์ในโลกนี้ก็มีหลายที่แหละ แต่เหตุผลที่ต้องเป็นที่นี่ก็เพราะ ‘เป้–ธรณ์ธัญย์ ศิริวิทยเจริญ’ Food and Beveragev Director ผู้อยู่เบื้องหลังบาร์ซึ่งชื่นชอบการท่องเที่ยวอุทยานเคยไปที่นี่และหลงใหลเสน่ห์ความเป็นเจ้าป่าของสิงโตที่เขารู้สึกว่ามีทั้งความดิบเถื่อนและความหรูหรานั่นเอง

เมื่อคอนเซ็ปต์มาทางป่าจริงจังขนาดนี้ การตกแต่งร้านจึงเน้นใช้วัสดุที่มีความเป็นธรรมชาติทั้งบาร์ โต๊ะ เก้าอี้เป็นไม้ทั้งหมด มีต้นไม้อยู่กลางร้านล้อมรอบด้วยกระจกใส ผนังร้านเป็นหินจำลอง มองขึ้นไปด้านบนจะเจอเพดานที่ทำจากวัสดุเงาปาดเป็นแนวโค้งมีพื้นผิวคล้ายผิวน้ำ ส่วนผนังด้านหลังบาร์เป็นไม้เลื้อยที่ปลูกไว้ก่อนร้านเปิดเป็นปีเพื่อให้เลื้อยเต็มผนัง เรียกว่าเป็นการนั่งดื่มท่ามกลางธรรมชาติที่อยู่กลางเมืองอีกที

คอนเซ็ปต์ดังกล่างถูกต่อยอดมาสู่ค็อกเทลที่แบ่งเป็น 3 หมวดหมู่ ได้แก่ หมวดธรรมชาติ (Wild) คือเครื่องดื่มที่สร้างสรรค์จากกระบวนการที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ใช้เทคนิคน้อย เน้นเข้าถึงง่าย ให้ความรู้สึกดิบๆ ป่าๆ หมวดเมือง (City) จะเสิร์ฟเครื่องดื่มที่ผ่านกรรมวิธีที่มนุษย์คิดค้นขึ้น เช่น การกลั่น การหมัก ใช้แก้ว highball เป็นหลัก ใช้วัตถุดิบแบบคนเมือง เน้นดื่มเพื่อเข้าสังคม และสุดท้ายคือหมวดที่ผสมผสานเทคนิคของทั้งฝั่งของมนุษย์และธรรมชาติเข้าด้วยกัน (Coexistance) 

ค็อกเทลแก้วแนะนำในหมวดธรรมชาติคือ Wildfire ดริงก์สไตล์ old fashioned ที่เปรียบเสมือนไฟป่าที่เผาทุกอย่างให้ราบเรียบจนเหลือเพียงความเป็นหนึ่งเดียว แต่เป็น old fashioned ที่มีกลิ่นของ brown butter และ smoked corn ที่นำไปแฟตวอชกับเบอร์เบินซึ่งทำจากข้าวโพด กลิ่นและรสชาติจึงไปด้วยกันได้ดี แก้วนี้เสิร์ฟคู่กับต้นอ่อนข้าวโพด

ถัดมาเป็นค็อกเทลจากหมวดเมืองอย่าง Hồ Chí Minh Pizza แรงบันดาลใจมาจากพิซซ่าร้านดังแห่งเมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ที่คุณเป้เคยกินตอนไป Guest Shift ที่โน่นและติดใจในรสชาติถึงกับบอกว่าที่ยุโรปก็สู้ไม่ได้ เป็นร้านพิซซ่าที่เปิดทั้งวัน ลูกค้าที่ไปกินจะสั่ง bloody mary มาจิบคู่เพราะเป็นค็อกเทลที่ดื่มได้ทั้งวัน แก้วนี้เลยทวิสต์มาจาก bloody mary โดยใช้วอดก้าที่มีกลิ่นและรสชาติของฮาวาเอียนพิซซ่าเป็นเบสกับน้ำมะเขือเทศแคลริฟาย เกลือ พริกไทย ตบท้ายด้วยความเผ็ดอ่อนๆ ของ tabasco

UPDATE

The City Series: Gir ปล่อยค็อกเทลซีรีส์ใหม่ถ่ายทอดวัฒนธรรมของ 'เมือง' รอบโลก

Gir ค็อกเทลบาร์บนชั้น 40 ของตึก T-One เครือเดียวกับ Tichuca และ Paper Plane Project ที่เปิดมาได้ปีกว่าๆ เพิ่งปล่อยค็อกเทลซีรีส์ใหม่ที่นำวัฒนธรรมของ 8 เมืองรอบโลกมาถ่ายทอดผ่านเครื่องดื่มสุดสร้างสรรค์ในชื่อ The City Series

ทวนความจำทุกคนอีกรอบว่า ช่วงเปิดร้านใหม่ๆ Gir เปิดตัวด้วยซิกเนเจอร์ค็อกเทล 3 หมวด ได้แก่ ‘Wild’ ตัวแทนของป่าและธรรมชาติ เสิร์ฟเครื่องดื่มที่สร้างสรรค์จากกระบวนการที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ใช้เทคนิคน้อย เน้นเข้าถึงง่าย ให้ความรู้สึกดิบๆ ป่าๆ ‘City’ ตัวแทนของเมือง จะเป็นเครื่องดื่มใที่ผ่านกรรมวิธีที่มนุษย์คิดค้นขึ้น เช่น การกลั่น การหมัก ใช้วัตถุดิบแบบคนเมือง เน้นดื่มเพื่อเข้าสังคม และ Coexistance หมวดที่ผสมผสานเทคนิคของทั้งฝั่งป่าและเมืองเข้าด้วยกัน

มารอบนี้ City คือหมวดที่ได้เข้ารอบและถูกนำมาขยายเป็นซีรีส์ใหม่เพราะเป็นหมวดที่คนเข้าถึงง่ายที่สุด หรือจะพูดว่าสไตล์ของเครื่องดื่มในหมวดนี้ถูกจริตคนเมืองที่สุดก็ได้ The City Series ประกอบด้วยค็อกเทลที่คิดขึ้นมาใหม่ 6 แก้ว และค็อกเทลที่มีในหมวด City อยู่แล้วอีก 2 แก้ว (แก้วขายดีอย่าง Tokyo City ก็ยังอยู่นะ)

แต่ละเมืองที่ถูกเทลงแก้วในซีรีส์นี้มีทั้งเมืองที่บาร์เทนเดอร์ของ Gir เคยไปเป็น guest bartender แล้วรู้สึกชื่นชอบ อาจจะเป็นเรื่องของอาหาร บ้านเมือง ผู้คน หรือประสบการณ์ส่วนตัวในเมืองนั้นๆ และเมืองที่ ‘เป้–ธรณ์ธัญย์ ศิริวิทยเจริญ’ Food and Beverage Director ชื่นชอบในวัฒนธรรมหรือวัตถุดิบท้องถิ่น

อย่างแก้วที่ชื่อ Naver Map Only (380 บาท) ก็มาจากประสบการณ์ส่วนตัวตอนที่เป้ไปเป็น guest bartender ที่เกาหลี พอเมาและหลงทางก็ต้องเปิดแอปฯ Naver Map (เหมือน Google Map ของเกาหลี) เพื่อหาทางกลับ ค็อกเทลแก้วนี้ใช้วอดก้าเป็นเบสและมีกิมจิเป็นหนึ่งในส่วนผสมสำคัญเพื่อสื่อถึงเกาหลี เป็น savory cocktail สีใสๆ ที่เราอยากให้ทุกคนเปิดใจลองสั่งดู เพราะดื่มไม่ยากอย่างที่คิด

หรืออีกแก้วคือ Texas Flood (420 บาท) ที่ตั้งชื่อตามเพลงและอัลบั้มของนักดนตรีชาวเท็กซัสอย่าง Stevie Ray Vaughan ที่ปล่อยในปี ค.ศ. 1983 ส่วนแรงบันดาลใจของแก้วนี้มาจากวัฒนธรรมการดื่ม Cherry Heering หรือเหล้าหวานรสเชอร์รี่ของชาวเท็กซัสที่ต้องเทผ่านไขกระดูกวัว ส่วนผสมสำคัญคือบีฟเจอร์กี้จากเท็กซัสที่นำมากลั่นกับเหล้า ก่อนเติมรสชาติด้วย Cherry Heering และ Amaro Montenegro

และค็อกเทลที่ได้มีส่วนผสมของพืชท้องถิ่นของออสเตรเลียอย่าง Everything Aussie Fusion (420 บาท) พืชที่ว่าก็คือ Eucalyptus olida หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ Strawberry Gum เป็นพืชที่โดดเด่นเรื่องกลิ่นเฉพาะตัวที่ออกโทน minty ซึ่งอัดแน่นในทุกจิบของแก้วนี้ สำหรับเราคือชอบมาก เป็นกลิ่นแปลกใหม่แต่ดี

การหยิบองค์ประกอบของเมืองมาเป็นแรงบันดาลใจของเครื่องดื่ม อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ในบาร์กรุงเทพฯ แต่เราว่าการนำเสนอเมืองของ Gir ผ่าน The City Series ครั้งนี้ ทั้งสนุก เต็มไปด้วยมุมที่น่าสนใจและมีลูกเล่นใหม่ๆ ที่เซอร์ไพรส์เราได้แทบทุกแก้ว

Suriyan Panomai
เขียนโดย
Suriyan Panomai

รายละเอียด

ที่อยู่
T-One
Sukhumvit Road
Bangkok
ข้อมูลติดต่อ
ดูเว็บไซต์
เปิดบริการ
19.00 น. เป็นต้นไป
การโฆษณา
เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ