Sundry

  • Bars
  • บางรัก
  • 4 จาก 5 ดาว
  • แนะนำ
  1. Sundry
    Photograph: Tanisorn Vongsoontorn
  2. Sundry
    Photograph: Tanisorn Vongsoontorn
  3. Sundry
    Photograph: Tanisorn VongsoontornSamui (440 บาท)
  4. Sundry
    Photograph: Tanisorn VongsoontornSamui (440 บาท)
  5. Sundry
    Photograph: Tanisorn Vongsoontorn
  6. Sundry
    Photograph: Tanisorn VongsoontornM&M Old Fashion (420 บาท)
  7. Sundry
    Photograph: Tanisorn VongsoontornSoho Haus (390 บาท)
  8. Sundry
    Photograph: Tanisorn Vongsoontorn
  9. Sundry
    Photograph: Tanisorn Vongsoontorn
  10. Sundry
    Photograph: Tanisorn VongsoontornGin & Fin (460 บาท)
  11. Sundry
    Photograph: Tanisorn VongsoontornGypsy Cartel (420 บาท)
  12. Sundry
    Photograph: Tanisorn Vongsoontorn
การโฆษณา

Time Out พูดว่า

4 จาก 5 ดาว

จุดแฮงเอาต์ใหม่ริมถนนพระราม 4 ที่มีทั้งบาร์ ร้านอาหาร และอาร์ตสเปซ มาพร้อมโซนรูฟท็อปวิวสวนลุมพินี

Sundry คือร้านที่รวมทั้งเรื่องกิน ดื่ม ศิลปะ และแฟชั่นไว้ในที่เดียว ซึ่งทั้งหมดรวมตัวกันอยู่ในตึก 4 ชั้น สีส้มอิฐที่ตกแต่งด้วยสไตล์ Thai Contemporary จุดที่โดดเด่นที่สุดคือเสาซึ่งทำหน้าที่เป็นฟาซาด มีการนำสถาปัตยกรรมของเสาที่พบเห็นได้ตามวัดไทยมาลดทอนรายละเอียดเพื่อให้ดูร่วมสมัยมากขึ้น (และไม่ขัดใจผู้หลักผู้ใหญ่หัวใจถวายวัดแน่นอน) และอาคารทั้งหลังจะถูกตกแต่งทั้งภายนอกภายในด้วยอิฐไทยสีส้มอันเป็นเอกลักษณ์

ก่อนหน้านี้คุณ Shaun Ling (ชอร์น หลิง) หุ้นส่วนหลักของร้าน เคยเปิดร้านหมูแดดเดียว (sun-dried pork) ขายแก้เบื่อช่วงโควิด-19 พอมาเปิดร้านที่เป็นความชอบของตัวเองจริงๆ ก็เลยนำชื่อ Sundry มาใช้เป็นกิมมิกน่ารักๆ และถ้าสังเกตที่โลโก้ร้านจะเห็นว่าตัว U จะมีลักษณะเป็นครึ่งวงกลมและมีขีดอยู่ด้านล่าง ซึ่งคุณชอร์นบอกว่าเป็นสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์กับเนื้อหมู นอกจากนี้คำว่า Sundry ยังเป็นการเล่นคำกับคำว่า sundries ที่แปลว่า จิปาถะ เบ็ดเตล็ด ซึ่งสะท้อนความหลากหลายของไวบ์ในตึกนี้

แต่ละชั้นของ Sundry จะมีฟังก์ชั่นแตกต่างกัน รวมถึงไวบ์ที่ถูกออกแบบตามช่วงเวลาของดวงอาทิตย์ เริ่มตั้งแต่อาร์ตสเปซที่ชั้น 1 ใช้ชื่อว่า Sunrise Room พื้นที่สำหรับคนกลางวัน เป็นที่จัดแสดงศิลปะแบบหมุนเวียนและอีเวนต์ของร้านที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตอนนี้เปิดให้บริการแล้วพร้อมๆ กับบาร์ ส่วนชั้น 2 คือ Sunkiss Room เป็นพื้นที่ของร้านอาหารสไตล์ไทย-ทาปาสที่กำลังจะเปิดให้บริการเร็วๆ นี้

ตามเสียงเพลงขึ้นมาที่ชั้น 3 จะพบกับ Studio Bar ที่เปรียบเหมือนช่วงพลบค่ำซึ่งโทนสีของท้องฟ้าจะออกไปทางน้ำเงินอมแดงเข้มๆ ชั้นนี้คือพื้นที่ของบาร์ เน้นที่นั่งหน้าบาร์เป็นหลัก แต่ถ้ามากันเป็นกลุ่มอยากนั่งเป็นโต๊ะจะมีที่ชั้น 4 หรือ Soleil Lounge ห้องที่ตกแต่งโดยได้แรงบันดาลใจมาจากช่วงพระอาทิตย์ตก

ทำความรู้จักสเปซกันไปครบทุกชั้นแล้ว มาพลิกดูเมนูเครื่องดื่มกันหน่อยดีกว่า ค็อกเทลซิกเนเจอร์ของ Sundry ถูกออกแบบโดย ‘นนท์-วรากร มธุรันยานนท์’ ผู้จัดการบาร์ ต้องการสื่อสารความเป็นกรุงเทพฯ (และไทย) ในแง่มุมต่างๆ ที่มีความหยิกแกมหยอกแบบแสบๆ คันๆ โดยแบ่งเป็น 5 หมวด และเราลองชิมมาแล้วหมวดละ 1 แก้ว

หมวดแรกคือ BKK Itinerary ที่จะพาทุกคนไปเยือนสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ ไล่เรียงตามช่วงไพรม์ไทม์ของแต่ละสถานที่ ความสนุกของหมวดนี้คือทุกแก้วจะมีช่วงเวลาของตัวเอง ถ้าเลยเวลาแล้วหรือยังไม่ถึงเวลาจะไม่สามารถสั่งได้ แก้วที่เราลองคือ Gypsy Cartel (420 บาท) สั่งได้ช่วง 18.00 - 19.59 น. ได้แรงบันดาลใจมาจากย่านเยาวราชจึงมีกลิ่นที่ชวนทำให้นึกถึงความเป็นจีน เหมาะกับการดื่มเป็นแก้วเปิด ส่วนหมวดที่ 2 คือ Heat Index เป็นดริงก์ที่เน้นให้ความสดชื่น เปรี้ยวๆ ซ่าๆ เหมาะกับเมืองร้อนอย่างกรุงเทพฯ หมวดนี้เราลอง Gin & Fin (460 บาท) เป็นจินโทนิกที่มีรสชาติและกลิ่นของชมพู่ ใบแมงลัก และใบหูเสือ

ถัดมาคือหมวด Grade AAA รวมค็อกเทลดังๆ ของร้านอื่นที่ Sundry “ตั้งใจ” ลอกสูตรและนำมาพัฒนาต่อให้ดีขึ้นในรูปแบบของตัวเอง หมวดนี้เขาต้องการเสียดสี ประชดประชัน คนชอบลอก ด้วยการลอกให้ดูว่าลอกแล้วต้องทำให้ดีขึ้นด้วย เราลองสั่ง Soho Haus (390 บาท) นำสูตรค็อกเทลชื่อดังของ Soho House อย่าง Picante De La Casa ที่มีส่วนผสมเด่นๆ เป็นเตกีลากับ jalapeño หรือพริกเม็กซิกัน แต่ที่นี่เปลี่ยนมาใช้พริกไทย 5 ชนิดแทน ได้แก่ พริกจินดา พริกหยวก พริกชี้ฟ้า พริกกะเหรี่ยง พริกขี้หนู ทำให้มีอโรมาที่ซับซ้อนมากกว่าและเพิ่มความเปรี้ยวด้วยมะวาว ผลไม้ลูกผสมระหว่างแอปเปิ้ลกับแพร์ ให้รสเปรี้ยวที่มีมิติมากกว่ามะนาว

ต่อด้วยหมวดที่ 4 Traditionalist เสิร์ฟค็อกเทลคลาสสิกทวิสต์โดยเล่นกับวัตถุดิบไทย เราแนะนำเป็น M&M Old Fashion (420 บาท) M&M ในแก้วนี้ไม่ใช่ช็อกโกแลตเคลือบน้ำตาล แต่คือ Matcha กับ Mushroom สองวัตถุดิบที่ถูกใส่เข้ามาเพื่อทำให้โอลด์แฟชั่นแก้วนี้ดื่มง่ายขึ้น โดยนำเห็ด 3 ชนิด ได้แก่ เห็ดพ็อตโตเบลโล เห็ดแชมปิญองขาว เห็ดแชมปิญองสีน้ำตาลไปปั่นรวมกับมัตฉะ ปรุงรสนิดหน่อย และนำไปกรองให้ใส ส่วนกากที่เหลือก็นำไปผสมแป้งเติมน้ำตาลแล้วอบทำเป็นบิสกิตแผ่งบางๆ นำมาตกแต่งแก้วก่อนเสิร์ฟ

สุดท้ายคือหมวด Thai Beaches ที่จะพาทุกคนออกจากกรุงเทพฯ ผ่านรสชาติของค็อกเทลที่มีส่วนผสมของวัตถุดิบท้องถิ่นในจังหวัดที่ติดทะเล (ในอนาคตจะเปลี่ยนเป็นภูมิภาคอื่นๆ) หมวดนี้เราเลือกเป็น Samui (440 บาท) มีวัตถุดิบดาวเด่นเป็น “หมุยหอม” จากเกาะสมุย มีกลิ่นเฉพาะตัวที่ให้ความสดชื่น ถูกนำมาทำเป็นน้ำมันสำหรับหยด ส่วนตัวเครื่อวดื่มจะใช้อีสานรัมจากเกาะสมุยเป็นเบส ซึ่งทำจากอ้อยที่ปลูกบนเกาะสมุย จะมีกลิ่นแรงกว่าและรสชาติหนักแน่นกว่าอีสานรัมจากโรงกลั่นที่หนองคาย เพิ่มมิติและความกลมกล่อมด้วยเกรปฟรุ้ตสาเก เป็นติกิค็อกเทล เสิร์ฟมาในแก้วที่ทำจากกาบมะพร้าว

ความน่าสนใจอีกอย่างของที่นี่คือเขาใส่ใจเรื่องความยั่งยืนในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น วัสดุที่ใช้ในร้าน เช่น แก้วที่ทำจากกาบมะพร้าว (สำหรับติกิค็อกเทล) ที่รองแก้วดินเผาที่สั่งทำพิเศษจากเกาะเกร็ด การใช้วัตถุดิบให้คุ้มค่าที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ มีการแยกขยะอย่างจริงจังและส่งให้กับหน่วยงานที่นำไปรีไซเคิลจริงๆ และการนำของเสียจากที่ร้านไปทำปุ๋ยเพื่อแจกให้ลูกค้านำกลับไปใส่ต้นไม้

Suriyan Panomai
เขียนโดย
Suriyan Panomai

รายละเอียด

ที่อยู่
1018 8
ถนนพระราม 4 แขวงสีลม เขตบางรัก
กรุงเทพฯ
10500
ข้อมูลติดต่อ
ดูเว็บไซต์
082 465 9651
เปิดบริการ
ทุกวัน 18.00-02.00 น.
การโฆษณา
เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ