ดวงฤทธิ์ บุนนาค พาชม Warehouse 30 ครีเอทีฟสเปซแห่งใหม่ใจกลางย่านเจริญกรุง

เขียนโดย
Time Out Bangkok editors
การโฆษณา

หลังจากปลุกปั้น The Jam Factory ย่านคลองสานให้ฮอตฮิตติดลมบน กลายเป็นศูนย์รวมชาวครีเอทีฟทั้งย่านฝั่งธนและฝั่งพระนคร แถมร้านอาหาร The Never Ending Summer และ Summer House Project ในบริเวณเดียวกันก็เป็นที่ชื่นชอบของนักชิมทั้งไทยและเทศ ล่าสุด พี่ด้วง-ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกชื่อดัง กลับมาพร้อมโปรเจคใหม่ล่าสุดที่ใกล้เพียงแค่นั่งเรือข้ามฝากจากท่าเรือคลองสานมาท่าเรือสี่พระยาก็ถึง นั่นคือการฟื้นคืนชีพโกดังเก่า 8 หลังในซอยเจริญกรุง 30 ให้กลายเป็นครีเอทีฟสเปซแห่งใหม่ล่าสุดของกรุงเทพฯ ที่ชื่อว่า Warehouse 30

"ผมคงชอบโกดังเก่ามังครับ" พี่ด้วง-ดวงฤทธิ์กล่าวเมื่อเราแซวว่า ข้ามแม่น้ำมาก็ยังเป็นโกดังเก่าเหมือนเดิมนะ สำหรับคนที่คุ้นเคยย่านเจริญกรุง โดนเฉพาะเคยเดินผ่านซอยเจริญกรุง 30 น่าจะคุ้นชินกับโกดังเก่าสีแดงติดกัน 8 หลังที่ซ่อนอยู่ใกล้กับสถานทูตโปรตุเกสและโรงแรมรอยัล ออคิด เขอราตัน และถ้าคุณอยู่ในแวดวงการออกแบบหรือสื่อมวลชน ก็จะได้ยินข่าวที่ว่า พี่ด้วง กำลังลังจะมอบชีวิตใหม่ให้กับโกดังคลาสสิคเหล่านี้ แต่รอแล้วรอเล่า ก็ยังไม่ได้เห็นข่าวสักที จนไม่นานมานี้ ในที่สุด Warehouse 30 ก็ได้ฤกษ์เผยโฉมแก่ชาวกรุงเทพฯ และแน่นอนว่า ชื่อดวงฤทธิ์ บุนนาค ย่อมไม่ทำให้เราผิดหวัง ในฐานะที่เราเคยย้ำเข้าไปในโกดังเหล่านั้น ยอมรับเลยว่าพี่ด้วงแปลงสภาพโกดังเก่าจนลืมความเก่า กรัง ไม่น่าดูของโกดังเหล่านั้นไปเลย แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงเอกลักษณ์ และเสน่ห์ของโครงสร้างไว้ครบถ้วน ผสานความดิบและความใหม่ได้อย่างลงตัว

เมื่อสบโอกาสเหมาะจึงขออนุญาตเชิญพี่ด้วง-ดวงฤทธิ์ มาคุยถึงลูกคนใหม่คนนี้สักหน่อย โดยสถาปนิกใหญ่เปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาตั้งแต่ต้นเลยว่า เขาเห็นความเป็นไปได้และอยากทำให้มันเป็นรูปเป็นร่าง แต่ที่ช้าเพราะ "ดิ้นรนหาเงินมาทำอยู่" และเขาใช้เวลาถึง 8 เดือนคุยกับธนาคารถึงจะได้รับอนุมัติ

  

ดวงฤทธิ์ หน้าโกดัง Warehouse 30
Sereechai Puttess/Time Out Bangkok

ทุกคนเข้าใจว่าดวงฤทธิ์ บุนนาครวยมาก?
ไม่เลยฮะ ถ้ารวยก็คงไม่มาทำอย่างนี้ คงไปขับเรือยอร์ช ขับเครื่องบิน จริงๆผมเป็นคนทำมาหากิน ผมก็ไม่ต่างอะไรกับพวกคุณ ก็ต้องทำงานเพื่อให้มีเงิน ก็หาเช้ากินค่ำเหมือนกัน เพียงแต่ว่า scale งานเราจะใหญ่กว่า ทุกวันนี้ผมทำงาน 7 โมงเช้าถึง 2-4 ทุ่มทุกวัน ถ้ามีสตางค์ก็คงไม่ทำแบบนี้ แต่ว่างานของผมก็จะเป็นอีกแบบนึง ซึ่งผมทำงานสถาปนิก งานออกแบบ ผมโชคดีตรงที่ส่วนมากงานที่ผมทำมันเป็นงานที่ต้องครีเอท เวลาที่เราต้องสร้างอะไรบางอย่างขึ้นมา เราสร้างมาแล้วมันออกมาเป็นก้อน มันมันส์ดีนะ มันมีความรู้สึกดี ผมว่ามันคล้ายๆกันกับเวลาคุณทำหนังสือ เวลามันออกมาเป็นรูปเล่ม คุณก็มีความสุข ผมว่าข้อดีของการทำงานประเภทสร้างสรรค์คือ ความสุขตอนเห็นผมงาน มันก็เลยเป็นแรงผลักดันให้เราทำได้ Warehouse 30 ก็เหมือนกัน คนที่ประโยชน์จากมันไม่ได้มีแค่เรา มีทั้งคนในชุมชน คนที่มา TCDC เขาก็จะมีชีวิตอีกแบบ มีสถานที่อีกแบบนึง มีอะไรให้ทำ ผมคิดว่าคนที่มาก็ต้องบอกว่าเขามีความสุข

Warehouse 30 ต่างกับ The Jam Factory อย่างไร
วิธีคิดไม่เหมือนกัน มันไม่ใช่ The Jam หมายเลข 2 ธรรมชาติของมันไม่เหมือนกัน business model ก็ไม่เหมือน วิธีบริหารก็ไม่เหมือนกัน พื้นฐานอันเดียวที่คล้ายกันคือโกดังเก่าแล้วมารีโนเวท แต่ในแง่ธุรกิจแล้วคนละเรื่องกันเลย The Jam Factory มันแบ่งเป็นห้องๆแล้วให้คนมาเช่า บริหารแค่แบบเป็นที่ให้คนเช่า เผอิญว่าคนที่มาเช่าเป็นเครือบริษัทผมทั้งหมด แค่ manage บริษัทย่อยให้ดีก็คือจบ ไม่ต้องบริหารองค์รวมเท่าไหร่ แต่ที่นี่ไม่เหมือนกัน ที่นี่เป็นเหมือน concept store เพราะฉะนั้นเราตั้งดูแลทุกอย่าง ดีไซน์เองเกือบทั้งหมด ส่วนสุดท้ายที่เราจะเปิดคือ co-working space ท่ามกลางกระแสที่บอกว่า co-working space ไม่น่าไปไม่รอด แต่ผมมองว่าหนึ่งคือสถานที่มันสวย คนมานั่งทำงานน่าจะแฮปปี้ เราอยากเปิดโอกาสให้คนได้มีที่ทำงานดีๆ พบปะคุยงานดีๆ โดยเฉพาะ Freelance ผมอยากสร้างสถานที่ทำให้คนเกิด opportunity ผมว่านี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด

แล้ว co-working space ของที่นี่แตกต่างจากที่อื่นยังไง
ผมตั้งใจจะสร้างให้แตกต่าง ให้เป็น creative working space คือต้องการสร้าง One Big House [ชื่อของ co-working space] ให้มันเป็น community จริงๆ โมเดลที่เอามาเป็นของ Neuehouse ที่นิวยอร์ก ซึ่งถือเป็น community based จริงๆ ไม่ใช่แค่เช่าที่ทำงาน แต่เราจะมีคนคอยดูแลจัดการ คอยเชื่อมโยงแต่ละคนเข้าหากัน อยากดูแลให้มันเป็นบ้านหลังใหญ่ตามชื่อ One Big House อยากให้มันรู้สึกเหมือนเป็นบ้านมากกว่าออฟฟิศ เป็นบ้านหลังใหญ่ที่คนนั่งทำงานกัน

ทุกอย่างจะเสร็จสมบูรณ์หลัง co-working space เปิดในเดือนตุลาคมหรือเปล่า
จริงๆแล้วทุกอย่างมันจะcomplete คือช่วงต้นปี ช่วงปีใหม่ อย่างข้างหน้าจะมีสปาของ Erb เซ็นต์สัญญากันเรียบร้อยแล้ว มีร้านอาหารฝรั่งเศสที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ส่วนร้านตรงกลางจะเป็นร้านของผมเอง เป็นร้านอาหารไทยง่ายๆ คล้ายๆ canteen ซึ่งทั้งหมดนี้น่าจะเปิดประมาณตุลาคม-พฤศจิกายน ซึ่งถ้าเปิดแบบ complete เลยคิดว่าน่าจะประมาณเดือนธันวาคม รับปีใหม่พอดี

One Big House co-working space ในโกดัง 1 ซึ่งจะเปิดให้บริการในเดินตุลาคม
Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

ณ ปัจจุบันมีร้านอะไรเปิดแล้วบ้าง
ตอนนี้มีร้านกาแฟต่างๆ โกดัง 6 จะเป็นแบรนด์ใหญ่ๆ ส่วนโกดัง 7 8 จะเป็นแบรนด์เล็กๆ เหมือนตลาด ร้านอาหารเก่าๆ กล้องเก่า และไปจบที่ Organic Supply ซึ่งแบรนด์พวกนี้ในส่วนของ market เราเปลี่ยนตลอดครับ เรา manage ตามความต้องการของลูกค้า ถ้าร้านไหนขายไม่ออก เราก็เปลี่ยนเอาร้านอื่นที่คาดว่าจะขายได้มากกว่าเข้ามาแทน แต่ถ้าออกไปแล้วก็สามารถกลับเข้ามาใหม่ได้ แต่โรงหนัง [โดย Documentary Club] ไม่เปลี่ยน ส่วนตัวโรงกลาง [โกดัง 6] นี่ไม่ได้เปลี่ยน

หลายร้านเราพอคุ้นตา แต่ไม่เคยทราบเลยว่าพี่ด้วยทำแบรนด์เสื้อ Lonely Two Legged Creature ด้วย
จริงๆทำแบรนด์เสื้อนี่ซุ่มทำมาปีกว่าละ และเป็นเรื่องที่ผมตั้งใจมากเลย ตอนผมไปเจอกับพราว ดีไซเนอร์ของผมเนี่ย เขาเป็นเด็กจังหวัดเลย เจอด้วยความบังเอิญ ด้วยความที่เขาหน้าตาดีผมเลยเรียกมาคุย (หัวเราะ) แต่พอได้คุยแล้วรู้สึกว่า “เฮ้ย น้องมันเก่งว่ะ” ผมเลยขอดูสเกตช์ของน้อง ปกติน้องมันออกแบบเสื้อผ้าขายประตูน้ำ แพลตตินัม  พอเห็นผลงานน้องเลยชวนมาทำแบรนด์ด้วยกัน คือน้องมีฝีมือ ดีไซน์เก่งแต่ทำแบรนด์ไม่เป็น ก็รวบรวมคนมาทำแบรนด์ด้วยกัน มันก็เลยเป็นแบรนด์ที่เรารักมาก เราตั้งใจทำเสื้อให้มันดีไซน์ดี ราคาไม่แพงจนเกินไป ให้มันคุ้ม เราศึกษางานมาปีกว่าจนตอนนี้เราพร้อมแล้วที่จะเปิดเป็นเรือธงแห่งแรกที่นี่ และเดือนหน้าเราก็จะไปเปิดที่ Gaysorn Village

สไตล์ของเสื้อคือ?
ถ้าของผู้หญิงจะมีจริตนิดหน่อย ไม่มากเกิน พอดีๆ ส่วนของผู้ชายจะเป็นแบบเรียบๆ เรียบมาก เป็นเสื้อผ้าที่คนใส่ไปทำงานได้ทุกวัน คือเราพูดถึงกลุ่ม young professionals เราอยากให้เขามีเสื้อผ้าที่ใส่ได้ทุกวันแบบที่ไม่ต้องแพงเกินไป และดีไซน์ที่ไม่น่าเบื่อ

ได้ชื่อแบรนด์ Lonely Two Legged Creature มาจากไหน.. ใครเหงา?
ผมเอง (หัวเราะ) ผมคิดว่ามนุษย์หรือคนในเมืองเหงาทุกคนแหละ คือมีความเหงาเป็นพื้นฐาน ผมเคยเขียนบทความเรื่องนี้ไว้ทีนึง บอกว่าจริงๆแล้วกลไกของ economics มันถูกขับเคลื่อนด้วยความเหงา เรามองว่าศูนย์การค้าเป็นที่มาซื้อของ มันไม่ใช่ เรามาเพื่อให้หายเหงา ร้านอาหารมาเพื่อให้หายเหงา ผมว่าทุกคนมีความเหงาหมด lonely two-legged creature ก็คือคนที่เหงา แต่ว่ามันพูดถึงคนในเมือง และเสื้อผ้าก็เป็นแนวที่เหมาะกับคนในเมืองใส่ ทั้งใส่ไปทำงานทุกวัน วันหยุดไปใช้ชีวิตซึ่งเป็นวิถีของคนเมือง เสื้อผ้าจึงออกแบบมาเพื่อให้เหมาะกับคนในเมือง 
     มันเป็นวิธีคิดของผมเกี่ยวกับสังคมมนุษย์ของคนเมือง ที่ว่าการจะอยู่กับความเหงาได้คือคุณต้องยอมรับว่าตัวเองเหงา แล้วความเหงามันจะหายไป และจริงๆแล้วมันก็เป็น Economic ด้วย

ดวงฤทธิ์ บุนนาค ใน flaship store ของ Lonely Two Legged Creature แบรนด์เสื้อผ้าของเขาเอง
Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

 ปีที่แล้วเราเคยคุยกันเรื่องการผลักดันให้เจริญกรุงเป็น creative district ผ่านมาแล้ว 1 ปีมีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง
ตอนนี้อยู่ระหว่างการจัดตั้งมูลนิธิ คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณ  1-2 เดือนข้างหน้า sponsor จากต่างประเทศก็พร้อมใจกันสนับสนุนมากมาย และหลังจากมูลนิธิก่อตั้งเสร็จก็จะมีกิจกรรมต่างๆมากมายซึ่งจะแจ้งอีกครั้งเมื่อก่อตั้งเสร็จสมบูรณ์

ช่วงนี้เหมือนมีเรื่องที่ให้พี่บ่นเกี่ยวกับรัฐบาลออก social media เยอะ เหนื่อยที่ต้องสื่อสารไหม
ผมไม่ได้เกลียดรัฐบาลนะ จริงๆผมอยู่ข้างเดียวกับเขา แต่ผมแค่ไม่ได้เห็นด้วยในทุกอย่างที่เขาทำ ผมว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้บริหารที่จะได้รับ feedback จากลูกน้อง อย่างเราเป็น CEO ดูแลบริษัทกว่า 16 แห่ง ลูกน้องผมสามารถเดินมาบอกได้ตลอดเวลาว่าอะไรไม่เวิร์ค และผมก็คิดว่าคนที่บริหารบ้านเมืองเขาก็ต้องการ feedback แต่ในภาวะที่มันเป็นระบอบเผด็จการ จึงยากที่ใครจะกล้ามี feedback เพราะคนกลัวกันหมด และผมคิดว่าท่านนายกฯนี่ไม่ได้ตัดสินใจคนเดียว น่าจะมีผู้ช่วยระดับรองๆร่วมคิดด้วย ซึ่งบางครั้งก็อาจจะพลาดได้ หน้าที่เราคือแค่บอกจากมุมมองของเราว่ามันไม่ถูกไม่ดียังไง ซึ่งเราก็อาจจะผิดได้เช่นกัน... ผมว่าคนไทยควรพูดให้มากกว่านี้ แต่ไม่ใช่พูดแบบปากเปราะนะ ไม่ใช่พูดไปเอะอะด่าไปเรื่อย อย่างที่สังเกตคือผมไม่เคยด่าใครนะ ผมพูดตามหลักการว่าอันนี้เวิร์คยังไง ไม่เวิร์คยังไง และพยายามอธิบายให้เห็นจากมุมมองของเรา บางครั้งถ้อยคำมันอาจจะรุนแรงนิดหน่อยแต่มันไม่ได้มาจากเกลียดชัง ผมไม่ได้ปัญหาอะไรกับเขานะ ผมเพียงแค่แย้งไปตามหลักการ

คิดยังไงกับคนที่พูดว่า “ทำไมไม่ไปเป็นผู้ว่าเองเลยล่ะ?”
จริงๆถ้าเกิดทำอย่างนั้นเนี่ย ผมว่าคนทั้งประเทศก็ควรมาเป็นผู้ว่ากันหมด ไม่จำเป็นที่คนเสนอความเห็นแล้วต้องลงมือทำทุกคน ไม่อย่างนั้นก็จะไม่มีคนพูด คนเสนอความคิดเห็น การพูดแบบนั้นเหมือนเป็นการกดเรา ไม่ให้เราแสดงความคิดเห็น ถ้าให้ผมทำจริงๆผมว่าผมทำได้ และทำได้ดีกว่านายกตอนนี้ด้วย การบริหารประเทศมันไม่ได้ยากมันโคตรง่าย อันที่ยากสุดคือการเป็นเจ้าของบริษัทสถาปนิก (หัวเราะ) เป็นนายกฯมันไม่ได้ยุ่งยากอะไร มันเป็นเรื่องของการที่มันต้องมีทักษะในการบริหาร มีจิตวิทยา มีความเข้าใจอะไรบางอย่าง มันไม่ได้ยุ่งยาก ให้เป็นวันนี้ พรุ่งนี้ผมก็เป็นได้ไม่ได้ยากอะไร เพียงแต่ว่าเผอิญทำอย่างอื่นอยู่ไง ไม่ได้สนใจเรื่องนั้น ผมยังไม่ว่าง ผมทำ Warehouse30 อยู่ไง ผมเป็นนายกไม่ได้ (หัวเราะ)

ร้าน Lonely Two Legged Creature ในโกดังที่ 4
Sereechai Puttes/Time Out Bangkok
โกดัง 5 เป็นโซนคาเฟ่โดย The Library Cafe ด้านหลังคือ Summer Health Bar ที่จะเปิดบริการในภายหลัง
Sereechai Puttes/Time Out Bangkok
Market ในบริเวณโกดังที่ 7-8
Sereechai Puttes/Time Out Bangkok
ร้านดอกไม้ Oneday Wallflower ในโกดังที่ 6
Sereechai Puttes/Time Out Bangkok
บริเวณฉายภาพยนตร์ในโกดัง 7-8 โดยทีมงาน The Documentary Club
Sereechai Puttes/Time Out Bangkok
ร้านอุปกรณ์มอเตอร์ไซค์ 8080
Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

แชร์เนื้อหา

บทความล่าสุด

    การโฆษณา