พระโกศจันทน์และพระหีบจันทน์ งานไม้สุดวิจิตรสมพระเกียรติโดยสุดยอดช่างฝีมือแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

Top Koaysomboon
เขียนโดย
Top Koaysomboon
การโฆษณา

นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชสววรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ปีที่แล้ว กรมศิลปากรซึ่งเป็นหน่วยงานหลักทีเก็บรักษาและสืบทอดศิลปะทุกแขนงประเทศก็กลายเป็นหน่วยงานหลักที่ต้องรับผิดชอบโครงการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในนชีวิตข้าราชการกรมศิลปฯทุกคน นั่นคือการจัดสร้างพระเมรุมาศ องค์ประกอบ และรายละเอียดนับหมื่นรายการสำหรับงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ เพื่อให้งดงามศพพระเกียรติตามโบราณราชประเพณี

และหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่เป็นหน้าที่ของอาจารย์พิจิตร นิ่มงาม นายช่างศิลปกรรมอาวุโส และทีมงาน จากสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ก็คือการจัดสร้าง “พระโกศจันทน์” และ “พระหีบจันทน์” งานที่อาจารย์พิจิตร ผู้ซึ่งเพิ่งเกษียณอายุราชการในปีนี้ แต่ยังคงทำงานอยู่เพื่อในหลวงอันเป็นที่รักจนกว่างานพระราชพิธีฯ จะเสร็จสิ้น กล่าวกับเราว่า “ภูมิใจที่สุดที่ได้ทำถวาย... แต่ไม่มีความยินดีเลย”

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

   

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

พระโกศจันทน์ ปรากฏอยู่ในเอกสารจดหมายเหตุว่าเป็นส่วนหนึ่งของงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายชั้นสูงมาตั้งแต่โบราณกาล โดยตามโบราณราชประเพณี พระศพและพระบรมศพจะถูกบรรจุในพระโกศชั้นใน ครอบด้วยพระโกศอิสริยยศ ประดับตกแต่งด้วยวัตถุมีค่าอย่างสมพระเกียรติ โดยในขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่จะถวายพระเพลิงบนพระจิตกาธาน พระโกศอิสริยยศชั้นนี้จะถูกเปลื้องออกและเปลี่ยนครอบด้วยพระโกศจันทน์ ซึ่งสร้างจากไม้จันทน์หอมสลักตัดแต่งอย่างวิจิตรบรรจงตามจิตนาการของผู้ออกแบบในแต่ละยุคสมัยให้สมพระเกียรติ พระโกศไม้จันทน์นี้จะถูกเผาไปพร้อมกับพระโกศชั้นใน การใช้ไม้จันทน์หอมสำหรับพระโกศที่ต้องไหม้ไฟในชั้นสุดท้ายนี้ ก็เพื่อให้กลิ่นหอมตามธรรมชาติของไม้จันทน์กลบกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ในระหว่างการเผาไหม้ และเนื่องจากถูกเผาไหม้ไปพร้อมกับพระบรมศพ จึงไม่มีพระโกศจันทน์ในสมัยโบราณหลงเหลือถึงปัจจุบัน ต่างกับพระโกศทองใหญ่ พระโกศอิสริยยศที่ตกทอดกันมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

อย่างไรก็ดี เมื่อครั้งงานพระราชทานเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชีนีในรัชการที่ 7 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริว่าควรเก็บพระโกศจันทน์ไว้เพื่อเป็นตัวอย่างเชิงการศึกษาและประวัติศาสตร์แก่คนรุ่นหลัง ประกอบกับวิทยาศาสตร์ในการดูแลพระศพได้พัฒนาจนไม่ทำให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ขณะเผาไหม้ ไม่มีความจำเป็นต้องเผาไม้จันทน์เป็นจำนวนมากอีกต่อไป จึงมีการฉีดน้ำเลี้ยงพระโกศจันทน์ไว้เพื่อมิให้ไหม้ไฟ นับแต่นั้นจึงกลายเป็นคตินิยมในงานพระราชพิธีพระศพในกาลต่อมาที่จะเก็บพระโกศจันทน์ และพระหีบจันทน์ (ถ้ามี) ไว้ให้แก่ชนรุ่นหลัง

 

 

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

เมื่อครั้งงานพระบรมศพสมเด็จย่า สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อปี พ.ศ. 2538 มีการปรับเปลี่ยนพระราชนิยมการพระศพอย่างหนึ่งคือมีการจัดสร้างพระหีบเพื่อบรรจุพระบรมศพฯ ในขณะทีพระโกศยังคงมีอยู่เพื่อตั้งเป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศ จึงมีการจัดสร้างพระหีบจันทน์เพิ่มเติมครั้งงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิสาสราชนครินทร์ ที่มีการบรรจุพระศพลงในพระหีบแทนที่จะเป็นพระโกศ ก็มีการจัดสร้างพระหีบจันทน์ด้วยเช่นกัน 

สำหรับงานพระราชทานเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็ยังใช้ธรรมเนียมเช่นเดียวกับพระชนนีและพระเชษฐภคินี คือมีการจัดสร้างทั้งพระโกศจันทน์และพระหีบจันทน์ ซึ่งออกแบบโดยนายช่างศิลปกรรม สำนักช่างสิบหมู่ นายสมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร โดยนอกเหนือจากลวดลายดอกไม้มงคล ยังเป็นครั้งแรกที่มีการออกแบบให้พระโกศประดับด้วยเทพพนม 64 องค์เพื่อถวายความเคารพแก่พระบรมศพฯ และออกแบบให้พระหีบจันทน์ประดับด้วยครุฑ 132 ตน โดยตามคติความเชื่อโบราณ ครุฑคือพาหนะของพระนารายน์ จึงเปรียบเสมือนเป็นพาหนะนำพาพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งเปรียบเสมืออวตารของพระนารายณ์กลับสู่สรวงสวรรค์ ครั้งนี้ยังเป็นครั้งแรกที่มีการออกแบบเพิ่มการปิดทองลงบนรายละเอียดบางส่วน เพื่อเพิ่มความงดงามให้สมพระเกียรติมากยิ่งขึ้น (ในอดีตใช้เพียงไม้จันทน์เพราะพระโกศจันทน์ต้องออกแบบให้ไหม้ในกองเพลิงได้ง่าย)

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

อาจารย์พิจิตรและสองผู้ช่วยมือเอก ใช้ท้องพระโรงกรมศิลปากรเป็นที่ทำงานมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ใช้เวลากว่าแปดเดือนร่วมกับช่างฝีมือช่างสิบหมู่ และอาสาสมัครจากหลากหลายสาขาอาชีพกว่าร้อยคน กลั่นเอาความรักและความจงรักภักดีผ่านผลายนิ้วมือ ใบเลื่อย และอุปกรณ์งานช่าง แปรรูปท่อนไม้จันทน์ยืนต้นตายขนาดยักษ์จากอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้กลายเป็นแผ่นไม้ชิ้นเล็ก บางชิ้นบางเพียงแค่สองมิลลิเมตร กว่า 40,000 ชิ้น เพื่อประกอบรูปร่างขึ้นเป็นพระโกศจันทน์และพระหีบจันทน์ เครื่องประกอบอิสริยยศสุดท้ายตามโบราณราชประเพณีแห่งพระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

แชร์เนื้อหา

บทความล่าสุด

    การโฆษณา