Apom Peerapol Kijreunpiromsuk
Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

อะปอม-พีรพล กิจรื่นภิรมย์สุข ผู้กำกับละครโรงเล็กกับความตั้งใจไซส์บิ๊ก

รู้จักกับชายผู้ที่อยากเป็นคนทำละครไปตลอดชีวิต

เขียนโดย
Time Out Bangkok editors
การโฆษณา

ละครโรงเล็ก (black box theater) แทบจะไม่เคยเป็นศาสตร์การแสดงที่เฟื่องฟู โด่งดัง และได้รับความนิยมจากมหาชนในประเทศไทยเมื่อเทียบกับเธียร์เตอร์ประเภทอื่นๆ …แต่ก็น่าแปลก ที่มันไม่เคยหายไป ยังมุ่งมันสร้างความบันเทิงในรูปแบบเฉพาะตัวที่ดำเนินอยู่บนความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นระหว่าง "คนทำละคร" และ "คนดูละคร" ซึ่งส่งผ่านกันจากรุ่นสู่รุ่นมายาวนานตลอดหลายปี

อะปอม-พีรพล กิจรื่นภิรมย์สุข คือหนึ่งในคนทำละครรุ่นใหม่ที่หลายคนจับตามอง ถึงแม้จะหน้าตาไปวัดวาได้แบบที่ไปโผล่หน้าเป็นหนุ่มคลีโอ และพระเอกมิวสิควิดีโอ (แถมเป็นพระเอกหนัง Someone From Nowhere ของปราบดา หยุ่น คู่กับ แพท-ชญานิษฐ์ อีกต่างหาก) แต่การเป็น "คนทำละคร" เต็มตัวคือสิ่งที่ชายคนนี้ภูมิใจที่เป็น ...และจะเป็นต่อไปในอนาคต   

ทำไมถึงชอบละครโรงเล็ก

มันอาจจะเริ่มต้นมาจากที่เราเจ็บปวดจากระบบทุนนิยมอะไรบางอย่าง ที่ค่อนข้างทำให้คนกลายเป็นเครื่องจักร แล้วเรารู้สึกว่ามันไร้ชีวิตชีวามาก ซึ่งเธียเตอร์เป็นเหมือน "การละเล่น" อย่างหนึ่ง ผมรู้สึกว่าคนเราสามารถเรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างได้จากการเล่นเฉยๆ แค่เล่นเราก็สามารถเรียนรู้อะไรได้เยอะมาก ละครโรงเล็กคือช่องว่างหนึ่งในสังคมที่ยังมีพื้นที่ให้คนได้แสดงออกถึงศิลปะการแสดงอยู่ ลองคิดถึงเมืองที่ไม่มีงานศิลปะเลย หรือลองคิดว่างานศิลปะมีเพียงแค่แบบเดียว ผมรู้สึกไม่เห็นด้วย

คนกลุ่มไหนที่สนใจละครโรงเล็ก

ก็หลากหลายนะ วัยรุ่นก็ยังมี เราอายุ 29 คนที่อายุน้อยกว่าเราก็เยอะขึ้น แล้วคนที่โตกว่าก็มี บอกยาก บางรอบก็เป็นรอบที่คละกันไป หรืออย่าง The Retreat ที่เพิ่งเล่นจบไปที่ BACC ก็จะชัดเจนเลยว่าฝรั่งเดินมา "อะไรอะ อ๋อๆ ซื้อ! ดู!" เงินมา (หัวเราะ) เงินสดลงตรงหน้าเลย แต่ว่าถ้าเป็นคนไทยก็จะถามแล้วถามอีก นู่น นี่ นั่น คุ้มไหม บันเทิงไหม พองานเราแบบ... เรื่องนี้ไม่ได้เล่นเพื่อความบันเทิงนะครับ เขาก็ "อ๋อเหรอ บายๆ"

คิดว่าคนไทยเสพละครเวทีเพื่อความบันเทิงไหม

ผมว่าไม่ใช่แค่ละครเวทีนะ อย่างภาพยนตร์ทางเลือก ก็ "อุ๊ย งานอาร์ต ดูยาก" อะไรแบบงี้ นึกออกไหม แต่ในขณะเดียวกันคนสร้างเขาไม่ได้คิดถึงความบันเทิงอย่างเดียว เขาคิดถึง... จริงๆ ผมพูดแทนคนอื่นไม่ได้หรอก (หัวเราะ) ... คือเขาโฟกัสในงานที่เขาอยากทำ สิ่งที่เขาอยากจะพูด

Apom Peerapol Kijreunpiromsuk

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

Apom Peerapol Kijreunpiromsuk

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

คนดูละครโรงเล็กมีขนาดเล็กกว่าความตั้งใจในผลิตงานสักชิ้นไหม

คนดูเยอะไหม ผมเชื่อว่าคนดูก็มี แต่ว่าไม่ได้เยอะมาก คือตอนนี้ผมทำงานไม่ได้หวังค่าตั๋วนะ ถ้าคาดหวังค่าตั๋วจากสิ่งนี้ยังไงก็ไม่มีทางคุ้มทุน แล้วเธียเตอร์มันมีค่าใช้จ่ายต่อหนึ่งรอบการแสดงค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นเงินที่จะมาหล่อเลี้ยงได้จริงๆ มันมาได้จากหลายทาง ทั้งค่าบัตร ซึ่งก็ได้ประมาณนึง แต่เธียเตอร์ต้องการการซัพพอร์ท ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะเกิดจากรัฐถ้ารัฐเห็นความสำคัญของศิลปะการแสดง

        ยกตัวอย่างเช่นประเทศอินโดนีเซีย เขาเห็นว่าเธียเตอร์ไม่ใช่แค่เพื่อความบันเทิงเพียงอย่างเดียว แต่เขาเห็นว่ามันเป็น social movement เพราะมันคือความคิดของคนในชุมชนในสังคม ณ ขณะนั้นที่เกิดการบอกต่อกันไป มันก็เป็น social movement ละ นึกออกไหม หรือถ้าเป็นการซัพพอร์ทในแง่ทุนมันก็มีอีกหลายวิธี มันมีทางไปเหมือนกัน แต่ค่อนข้างยากครับ

จริงแล้วๆ สิ่งที่สำคัญที่สุดในกระบวนการผลิตละครโรงเล็กคืออะไร

process การทำงาน คือการวาง process มันไม่สามารถเสกงานที่ดีได้ออกมาหนึ่งงานตรงหน้าตรงนั้น มันต้องผ่าน process แล้ว process จะต้องถูกวางแผน ถูกคิดมา … process ที่ถูกวางไว้โดยที่ไม่ต้องมาตามอุดรอยรั่วเยอะๆ ใช้คำว่าอะไรดี (ครุ่นคิด) process ที่แข็งแรงละกัน คือละครโรงเล็กเองก็ปัญหามีหน้างานเยอะมาก process การทำงานต้องรัดกุมไหม มันก็ต้องรัดกุมในระดับหนึ่งแหละ ผมคิดว่า process ค่อนข้างจะเป็นหน้าที่ของโปรดิวเซอร์ แล้วก็พวก production manager อะไรทางนั้น จริงๆ การวาง process การทำงานมันก็คือการประชุมรวมกันนั่นแหละว่าผู้กำกับจะกำกับงานไปทิศทางไหน ส่วนตัวคิดว่า process การทำงานของผมยังต้องการคนช่วยเหลือสุดๆ ต้องการทั้งทีมต้องการทั้งโปรดิวเซอร์

ปฏิเสธไม่ได้อย่างนึงว่าละครโรงเล็กอยู่ได้ยากในทางธุรกิจ จริงๆ แล้วมันสามารถเลี้ยงตัวเองได้ไหม

เอาจริงๆ มันเลี้ยงได้ แต่ในเมืองไทย เราไม่มีวง ใช้คำว่าไรดี.. ต่างประเทศมันมีวงอุตสาหกรรม มีเทศกาล มีการพาทัวร์ มันมีการจองเล่นข้ามปีเลย แต่ในไทยมันค่อนข้างยาก เพราะเราไม่มีโปรดิวเซอร์ดีๆ โปรดิวเซอร์เก่งๆ ที่เข้าใจลักษณะของระบบนิเวศของวงการอุตสาหกรรมละครโรงเล็กที่มันไปได้ทั่วโลก คือส่วนมากในไทยเรามีศิลปินที่เก่งๆ [ที่ไปแสดงยังต่างประเทศ] แต่จะเป็นลักษณะโปรดิวเซอร์ [จากต่างประเทศ] มาหยิบมาเลือกไป ถ้าถามว่าอยู่ได้ไหม ผมเชื่อว่าอยู่ได้ แต่ว่าเราต้องพัฒนาอีกเยอะในวงของเราเองด้วย

ท้อไหม เพราะว่าฟังดูเหนื่อยเหลือเกิน

ท้อ ท้อทุกวันอะครับ (หัวเราะ)

Apom Peerapol Kijreunpiromsuk

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

Apom Peerapol Kijreunpiromsuk

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

เป็นทั้งนักแสดงและผู้กำกับในคนเดียวกัน การทำทั้งสองบทบาทยากไหม และต่างกันอย่างไร

ยากนะ ต่างด้วย ผู้กำกับต้องคิดถึงภาพกว้าง มุมกว้างมากๆ เรากำกับงาน เราจะเป็นคนชั่ว เราจะแพลนให้คนรู้สึกอย่างนี้ๆ คิดเป็นระบบ วางแผนงาน วางโครงสร้างเรื่อง คิดหลายตลบมากๆ พอเป็นนักแสดงมันก็จะยากอีกแบบ คือความยากของนักแสดงจะขึ้นอยู่กับแต่ละงาน แต่ละคอนเซ็ปต์ของงานด้วยที่มันไม่ตายตัว เราต้องยึดติดยึดเกาะไปตามแต่ละคอนเซ็ปต์ แต่ละเรื่องอย่างนี้ครับ

ข้อดี-ข้อเสียของการเป็นทั้งนักแสดงและผู้กำกับในคนเดียวกัน

ข้อดีของการเป็นทั้งสองอย่างคือ เรารู้ว่าจะต้องทำอะไร ถ้าเป็นนักแสดงก็รู้ว่าการกำกับอย่างนี้จะต้องแสดงยังไง งานก็จะง่ายขึ้น เร็วขึ้น ชัดเจนขึ้น การเป็นผู้กำกับที่เป็นนักแสดงด้วยก็จะรู้ว่า ต้องสื่อสารอะไร ต้องทำอะไร ซึ่งบางทีก็ไม่ได้ง่ายเสมอไป เราต้องไปดีลกับนักแสดงที่เขาอาจจะมีความคิด มี process การทำงานที่ไม่เหมือนกัน และเราเองก็ต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกันด้วย ส่วนข้อเสียต้องมีอยู่แล้วแหละ อย่างนักแสดงจะโฟกัสที่ร่างกายก่อน เราต้องดูแลร่างกายดี ๆ และต้องรู้จักร่างกายตัวเองประมาณนึง แต่พอเราเป็นผู้กำกับแล้วความสนใจความทุ่มเทมันพุ่งตรงไปที่งานล้วนๆ เสียสุขภาพสัสๆ

การทำงานบทบาทไหนยากกว่ากัน

ผู้กำกับยากกว่าในแง่ทุ่มตัวเป็นลงไป เพราะว่านักแสดงมันยังมีเซ้นส์ความเป็นเครื่องมือ แต่พอเป็นผู้กำกับ เราต้องพูดในสิ่งที่ตัวเองอยากพูดด้วย แล้วต้องพูดออกมายังไงให้มันโอเค โอเคในที่นี้คือ ไม่โดนจับ (หัวเราะ) มันก็จะมีในเชิงศิลปะด้วย หยิบอะไรมาซ่อนยังไง โชว์ยังไง ทำให้คนรู้สึกยังไง ผู้กำกับมันยากกว่าในแง่ที่เราอาจจะกำกับมาแค่ไม่กี่งาน มันก็ยากตรงที่เรามีเซ้นส์ไปคิดแทนคนอื่น บางครั้งก็ได้ผล บางครั้งก็ไม่ได้ผล

ส่วนใหญ่ทำงานเป็นนักแสดง หรือผู้กำกับมากกว่ากัน

เป็นทั้งนักแสดงและผู้กำกับครับ แสดงด้วย กำกับงานด้วย งานที่เคยกำกับก็เป็นคอนเซ็ปต์เกี่ยวกับ homeless คนไร้บ้าน ชื่อ Plan B ครับ ในเรื่องก็จะมีความเป็นคนชายขอบแฝงอยู่ ซึ่งคนชายขอบคือคนที่ถูกปฏิเสธหรือถูกกดทับจากโครงสร้างหลัก ซึ่งก็คือคนรอบข้าง สภาพแวดล้อม และสังคมรอบๆ นั่นเอง โดยส่วนตัวแล้วมีความสนใจในประเด็นของคนชายขอบอยู่แล้ว

Apom Peerapol Kijreunpiromsuk

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

Apom Peerapol Kijreunpiromsuk

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

อะไรที่ทำให้สนใจในประเด็น "คนชายขอบ"

ก็เป็นเหตุการณ์ทางการเมืองบ้านเรานี่แหละ คือเราก็ผ่านการชุมนุมทางการเมืองมาตั้งแต่สมัยเรียนเลย ตอนนั้นก็เคยมีชุดความคิดอีกแบบนึง พอโตเราเริ่มเห็นว่าอะไรเป็นอะไร เริ่มรู้ว่าจริงๆ แล้วมันเกิดอะไรขึ้นบ้าง เราก็มีชุดความคิดอีกแบบนึง แต่บางทีมันไม่ต้องเป็นเรื่องการเมืองที่ทำให้เราเห็นถึงคนชายขอบ เพราะคนชายขอบแทรกอยู่ในทุกๆ การใช้ชีวิตประจำวันของเรา ทั้งคนที่เป็นทอม ดี้ เลสเบี้ยน เกย์ ฯลฯ เขาก็มีความเป็นชายขอบแบบนึงแล้ว เพราะเราสอนกันแค่ว่าระบบที่ถูกต้องของมนุษย์คือ ผู้ชายและผู้หญิง พวกเกย์ก็เป็นชายขอบไป คือความเป็นชายขอบมันเหมือนกับเราใช้ชีวิตของเราเฉยๆ แต่เราถูกปฏิเสธได้เลย

คนชายขอบจะต้องทำอย่างไร พยายามไปตรงกลาง หรือยืนหยัดอยู่ในขอบของตนเอง

คนเราได้รับความสำคัญไม่เท่ากันจริงๆ เหมือนพวกโรฮิงญาที่เขาอาจจะคิดว่า ฉันก็เกิดของฉันมาดีๆ มีชีวิตในโลกใบนี้ดีๆ แล้วอยู่ดีๆ ก็ถูกปฏิเสธโดยที่ไม่ได้ทำอะไรเลย ถามว่าเขาต้องการกลับไปอยู่ตรงกลางไหม ก็ไม่ เขาแค่ต้องการความยุติธรรมอะไรบางอย่างในการมีชีวิตอยู่

เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนชายขอบไหม จัดการกับความรู้สึกนั้นยังไงบ้าง

เคย เคยมากๆ อย่างที่บอกว่ามันแทรกอยู่ในทุกการใช้ชีวิต … มันก็ต้องเศร้าแหละ เราเคยเศร้า ท้อแท้ ผิดหวัง สมมุติง่ายๆ ตอนทำงาน แล้วเราโดนปฏิเสธด้วยอะไรหลายๆ อย่าง เช่น มีคนพูดกับเราว่าอยากเป็นนักแสดงเหรอ แล้วทำไมไม่ไปเล่นกล้ามล่ะ เราก็คิดว่าอ้าว.. แล้ว value คืออะไร อยู่ที่การแสดง หรืออยู่ที่กล้าม เราก็จะมีความเป็นชายขอบเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้ตลอดทั้งชีวิตแหละ ถ้าถามว่าจัดการกับความรู้สึกยังไง ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราจะมีความฟูมฟายลึกๆ อยู่ข้างใน แต่พอมาสักพักเหมือนเราเปิดใจมั้ง เราเสียใจได้แต่ก็ต้องไปต่อ

เคยรู้สึกไม่ดีไหม ถ้าคนมองหน้าตาก่อนความสามารถ

ไม่ได้รู้สึกไม่ดี แต่เรารู้สึก awkward ประมาณนึง แบบแล้วไงต่อวะ มันเอิ่กอั่ก ไม่รู้จะรีแอคชั่นยังไง เราคิดว่ามันก็แค่หน้าตา เราไม่ได้หน้าตาดีขนาดนั้น 

นอกจากผู้กำกับ นักแสดง อนาคตอยากทำอะไร

เป็นเรื่องของอนาคตครับ (หัวเราะ) บางทีถ้ามีสตางค์ รวย ก็อาจจะคิดได้ง่ายกว่านี้ไงครับ เช่น สมมุติว่ามีสตางค์ก็คงเอาไปลงกับเธียเตอร์ หาที่ใหม่ สร้างที่ใหม่ ออกไปจากตรงนี้สักที (หัวเราะ)

ทุกวันนี้ อยากให้คนจำอะปอมในฐานะอะไร

กว้าง ๆ ได้ไหม เป็นศิลปินคนหนึ่งที่ทำเกี่ยวกับการแสดง คือถ้าเป็นเธียเตอร์ก็จะบอกว่าเป็น theater maker เราไม่สามารถใช้คำนั้น เราต้องทำหลายอย่างจริงๆ

เขียนโดย พัณณิตา คัทนศรี

Apom Peerapol Kijreunpiromsuk

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

Apom Peerapol Kijreunpiromsuk

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

อ่านเพิ่มเติม

เรื่องเด่น
    เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ
      การโฆษณา