SOS, James Teeradon Supapunpinyo, Toni Rakkaen

เจมส์-ธีรดนย์ และโทนี่ รากแก่น พลิกบทบาทครั้งใหญ่ใน "SOS Skate ซึม ซ่าส์"

การเล่นสเก็ต โรคซึมเศร้า และการค้นพบตัวเอง ... ถกกันทุกเรื่องกับสองนักแสดงนำจากซีรีส์สุดฮิตในเวลานี้

เขียนโดย
Time Out Bangkok editors
การโฆษณา

เดินทางมาถึงครึ่งทางแล้ว สำหรับซีรีส์ SOS Skate ซึม ซ่าส์ ซีรีส์ตอนที่สามของ Project S The Series ที่จับคู่สองสิ่งที่ดูไม่เข้ากัน คือกีฬาสเก็ตบอร์ดและโรคซึมเศร้า เอามาเล่าเรื่องได้อย่างน่าสนใจ นอกจากเนื้อเรื่องแปลกใหม่ และมุมกล้องเท่ๆ อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือการพลิกบทบาทของสองนักแสดงหลัก เจมส์-ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ และโทนี่ รากแก่น ที่เปลี่ยนไปจนเราแทบจะจำบทบาทเขาในเรื่องเก่าๆแทบไม่ได้เลยทีเดียว

ตอนช่วงคัดเลือกนักแสดง ทางค่ายบอกแค่ว่าต้องเล่นสเก็ตบอร์ดเป็นเท่านั้น พอรู้ว่าต้องรับบทอะไรจริงๆ ตอนนั้นรู้สึกอย่างไรบ้าง

โทนี่ตอนแรกที่ GDH ติดต่อมาว่าเราเล่นสเก็ตบอรด์ได้หรือเปล่า ก็บอกว่าเคยเล่นตอนเด็ก แค่อยากให้เขารับรู้ว่าเราเล่นสเก็ตได้แค่นิดเดียวจริงๆ นะ แต่พัฒน์ (พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ผู้กำกับ) บอกว่าไม่เป็นไร เขาชอบสไตล์เรา แล้วก็ส่งตัวอย่างมาให้ดู ให้เราทำรีเสิร์ชเยอะๆ เกี่ยวกับโลกสเก็ตบอร์ด จนวันหนึ่งระหว่างซ้อมสเก็ตด้วยกัน พัฒน์ก็บอกว่า เออพี่  ผมอยากเห็นพี่เล่นเป็นคน extrovert นะซึ่งที่ผ่านมาบทส่วนมากที่เราได้รับคือบท introvert คือมีโลกส่วนตัว ซึ่งเคยมีคนที่ร่วมงานด้วยท่านหนึ่งบอกว่าเป็นบทที่เหมาะกับเรา ตอนนั้นเลยยิ่งไม่มั่นใจ เพราะเป็นอะไรที่ไกลจากธรรมชาติของเรา

เจมส์: ดีใจมาก เพราะสเกตบอร์ดเป็นกีฬาที่ผมอยากเล่นมานานมาก เคยคิดอยากจะเล่น แต่ว่าไม่มีโอกาสได้เล่นสักที แล้วก็รู้สึกว่า เฮ้ย...เรื่องนี้เป็นโอกาสดีที่เราจะได้เล่น ก็เลยเริ่มฝึกมาตั้งแต่ตอนนั้นเลย แล้วก็ดีใจที่ได้เล่นบทนี้มากๆ เพราะผมโหยหาบทที่พลิกคาแรคเตอร์ตัวเองสุดๆ คือว่ามันไม่ใช่แค่การพลิกคาแรคเตอร์ตัวเอง แต่ว่าเป็นความท้าทายทั้งในเรื่องการเล่นสเกตบอร์ด ท้าทายเรื่องการเปลี่ยนแปลงหุ่นตัวเองให้ผอมลง ท้าทายเรื่องบทที่มันห่างไกลตัวเรามากๆ

มีวิธีเข้าถึงตัวละครของตัวเองได้อย่างไรบ้าง

โทนี่: วันแรกที่ได้อ่านบทคือชอบมาก พอได้ลองใส่อารมณ์ ใส่คาแรกเตอร์เข้าไป เราก็คิดเยอะมากว่าไซม่อนต้องเป็นคนแบบนี้ๆ พัฒน์ให้อิสระในการเลือกวิธีการแต่งตัวของไซม่อน เพราะเขาอยากได้กลิ่นอายความเป็นเราในตัวไซม่อน พัฒน์อยากให้ทำสีผมและเสนอสีส้ม เพราะเป็นสีซิกเนเจอร์ของร้าน Smile Club แต่เราบอกพัฒน์ว่าเฉดสีร้อนพวกนี้มัน play safe ไปนิดนึง คนคงเคยเห็นบ่อยๆ ส่วนเฉดสีฟ้าก็ดูซอฟต์ไปสำหรับไซม่อน ส่วนตัวเราชอบสีเขียว เป็นสีที่ G-Dragon กับ Joker ทำแล้วเราอยากทำ ซึ่งเป็นผมสีเขียวสะท้อนแสงคนละเฉดกัน เราก็เลยส่งรูปไปให้พัฒน์ดูว่าถ้าคนเอเชียทำจะออกมาหน้าตาประมาณนี้ พอได้อยู่นะ คือมองว่า GD เป็นไอคอนทำให้คน pickup ได้ง่าย แต่เรามองว่า GD อยู่บนเวทีนักร้อง ส่วนไซม่อนเป็นเด็กสเก็ต น่าจะเกิดความแปลกใหม่อะไรบางอย่าง แล้วก็สร้างเป็นซิกเนเจอร์ของไซม่อนเลย
          นอกจากนี้แล้วเราก็ต้องทำเวิร์กช็อปกับโปรสเก็ตสามคนที่มาเล่นเป็นเพื่อน เราก็เลยต้องตีสนิทด้วยการคุยถามข้อมูลโน่นนี่ แต่ผมได้สัมผัสความ nice ของพวกเขาที่แตกต่างกับไซม่อนมาก คือไซม่อนเป็นคนดิบ เถื่อน เห็นแก่ตัว และมีความดาร์ก แต่เด็กสเก็ตตัวจริงที่เราเจอคือจิตใจโคตรดี พร้อมจะสอน พร้อมให้ความรู้ เราเลยคิดว่าแบบ เฮ้ย...ไซม่อนกลายเป็นกาดำของเด็กสเก็ตเลย เราเลยมาให้แก่นว่าทำไมเด็กสเก็ตเลยเป็นแบบนี้ พอมาคลุกคลีจริงๆ เลยค้นพบว่า การจะเล่นสเก็ตให้เก่งไม่ได้แข่งขันกับใครเลยนอกจากตัวเอง เอาชนะกับความเจ็บปวด เพราะล้มแล้วก็ต้องลุกขึ้นมาใหม่ การทำอะไรซ้ำๆ ย้ำๆ ให้ร่างกายจำได้ เพราะฉะนั้นเขาไม่มีการแก่งแย่งชิงดีหรือว่าเอาเปรียบใคร เพราะเขาอยู่กับตัวเองตลอดเวลา เหมือนการไปปฏิบัติธรรม ต้องมีสติ สมาธิอยู่กับตัวเอง ไม่งั้นก็เตรียมเจ็บตัวได้เลย
          เราเลยคุยกับพัฒน์ว่า เราสัมผัสได้ถึงความเป็นเด็กสเก็ต แต่ต้องหาทางไม่ให้ไซม่อนกลายเป็นวายร้าย way เดียว ช่วงทำเวิร์กช็อปได้ไปเจอความสัมพันธ์ระหว่างไซม่อนกับบู แล้วพบว่าความดิบเถื่อนเกิดจากที่ไซม่อนเป็นคนนอกกรอบ ไม่อยากอยู่ในกฎระเบียบสังคม เอาชนะตัวเองบ่อยๆ จนเกิดความมั่นใจว่าตัวเองสามารถ control ทุกอย่างได้ แต่ก็เป็นคนขี้เบื่อ เจออะไรเก่าๆ ก็เบื่อ ก็เลิกทำสิ่งนั้นไป... เวลาไซม่อนแกล้งเด็กคนอื่น จะรู้ว่าเด็กคนนี้จะ react ยังไง แต่พอได้มาเจอบู (รับบทโดย เจมส์-ธีรดนย์) ซึ่งเราไม่รู้ว่าเป็นโรคซึมเศร้า บูไม่ได้ react แบบที่เราคิด คือบางทีก็สู้มากๆ บางทีก็หงอๆ ไซม่อนเลยรู้สึกตื่นเต้นและสนุกทุกครั้งที่ได้เข้าไปคุย เข้าไปแกล้ง เหมือนเป็นของเล่นชิ้นใหม่ คือไม่ได้ตั้งใจเข้าไปทำร้ายใคร แต่เป็นความหาความสุขให้ตัวเองมากกว่า

"การจะเล่นสเก็ตให้เก่งไม่ได้แข่งขันกับใครเลยนอกจากตัวเอง เพราะล้มแล้วก็ต้องลุกขึ้นมาใหม่"

เจมส์: ตอนแรกผมหาตัวละครบูแบบที่ยังไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้าขึ้นมาก่อน ในชีวิตตั้งแต่เกิดเคยเจออะไรบ้างที่ทำให้เขาเป็นคนแบบนี้ มีการตอบสนองกับสิ่งที่เจอแบบนี้ คือแต่ละอย่างที่ทำจะไม่ใช่แบบ...เขาเป็นค้นเศร้าๆ เขาไม่ค่อยเข้าสังคมหรือเปล่า ผมว่ามันไม่ใช่ เพราะอย่างนั้นคือการหาแบบผิวเผินที่ใครก็หาได้ แต่เราต้องรู้ทั้งหมดว่า ที่บ้านเลี้ยงเขาแบบไหน เขาเป็นแบบนี้เพราะไปเจออะไรมา พอได้แก่นแล้ว เราก็เอากระบวนการความคิดของคนที่เป็นโรคซึมเศร้ามาใส่ และก็มีเรื่องสารเคมีในสมอง เอาความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า ไม่มีดีพอมาใส่ด้วย
          โรคซึมเศร้าไม่มี type ว่าทุกคนต้องเป็นแบบที่ผมสร้างบูขึ้นมา แต่อยู่ที่พื้นฐานความเป็นคนและบุคลิกภาพของคนๆ นั้นเองว่าเขาเป็นอย่างไร ผมได้พูดคุยกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้าซึ่งก็คือเพื่อนผมเอง รวมไปถึงจิตแพทย์ ได้ศึกษาข้อมูล ดูบทความตามอินเตอร์เน็ต ดูคลิปคนที่เป็นโรคซึมเศร้าออกมาพูดทางยูทูป แต่เรื่องท่าทางผมไม่ได้ก๊อปปี้ใคร เราก็ไม่ได้ดีไซน์ด้วยว่าต้องเล่นแบบไหน เพราะจะเป็นอะไรที่ปลอมมาก พออยู่กับความรู้สึก down มานานๆ อาการจะออกมาเอง อย่างการจีบนิ้วผมก็มาได้ตอนทำเวิร์กช็อป ถ้าถามว่าเป็นการดีไซน์ไหม ก็ไม่เชิง เอาจริงในบทไม่มีเขียนด้วยว่า “บูนั่งจิกมือ” แต่มันคืออารมณ์ตอนนั้น กล้องก็เลยถามตามมือ จนออกมาเป็นบูที่เราเห็น   

การสวมบทบาทตัวละครทำให้ชีวิตประจำวันแตกต่างไปจากเดิมอย่างไรบ้าง

โทนี่: การจะข้ามผ่านกำแพงศีลธรรมไปให้ได้เริ่มจากการเป็น Yes Man อย่างปกติเป็นคนชอบอยู่ติดบ้าน แล้วช่วงต้นปีเพิ่งไปปฏิบัติธรรม พอมาเป็นไซม่อนเลยเริ่มจากใครชวนไปไหนก็ไป ไปให้มันสุดทาง ใครยื่นอะไรมาตอนนั้นทำหมด ทิ้งตัวเองเข้าไปในโลกไซม่อน วันแรกที่ผมไปคืองานวันเกิดของ พิชญ์ กาไชย ตอนนั้นเริ่มถ่ายซีนแรกไปแล้ว ปกติถ้าเข้างานปาร์ตี้ใหญ่ๆ คนเยอะๆ เราจะเข้าหามุมทันที ไปหาเพื่อนที่รู้จัก แต่วันนั้นเราทักทายทุกคนที่เดินผ่าน ยิ่งคุย ยิ่งสนุก และเป็นคนแรกที่ไปตายในห้องน้ำเพราะไม่ได้กินเหล้ามานานแล้ว พอเช้าอีกวันแฮงก์มาก น้องที่ไปส่งบอกว่าเมื่อคืนสนุกดี แต่พี่เหวี่ยงผม โยนขวดน้ำใส่ เราก็แบบ aggressive ขนาดนั้นเลยหรอ มันแอบมี energy สนุกๆ ในตัวเรา จากนั้นก็เป็นแบบนั้นทุกคืน (หัวเราะ) เราไม่รู้ว่าเป็นอะไรไป เหมือนโดนไซม่อนเข้าสิง ชีวิตประจำวันเถื่อนมากขึ้น แต่ก็สนุกเหมือนมีพลังอะไรบางอย่าง
          มีซีนที่เราต้องเป็นคนจัดอีเว้นต์ ต้องชวนน้องๆ มา เรารู้สึกว่าถ้าอยู่บนเวทีแล้วไม่สามารถสร้างความสนุกให้ตัวประกอบได้ ถือว่าเราไม่ประสบความสำเร็จ เราอยากให้เขาสนุกจริงๆ ไม่ได้เกิดจากการบิ้วของทีมงาน เพราะฉะนั้นเราต้องมีพลังงานดึงดูด มีพลังที่สนุกสนาน นอกจากจากการเล่นสเก็ตก็เป็นการฝึกให้ตัวเองอนู่นอกกรอบ ได้สนุกกับมันจริงๆ ทุกวันนี้ไปอีเว้นต์ยังอายอยู่เลย แต่ถ้ามีบทมาให้เราเล่นได้ แต่ถ้าให้ขึ้นแบบไม่มีอะไรเลยจะ blank มาก แต่ช่วงเวลาที่เราเป็นไซม่อน เราทำได้ เป็นประสบการณ์ที่สนุก

เจมส์: เปลี่ยนจากที่เคยเห็นผมในลุคเพลย์บอย บ้านรวย เด็กสปอยล์ (ใน ฉลาด เกมส์ โกง) เพราะพอเป็นบู ผมจะอยู่กับความนิ่ง เหมือนหยินกับหยาง ตอนแรกผมเป็นหยินเพียวๆ เลย บทบูเป็นหยาง พอเราลงมาที่หยาง ก็เลยรู้ว่าในตัวเราก็มีความเป็นหยางนี่หว่า ในตัวเรามีความสงบ ซึ่งช่วงแรกตกใจ เพราะปกติผมไม่เป็นแบบนี้ ระหว่างถ่าย เราขอเบรกไปเที่ยวอังกฤษ ก็อินกับแสงสีเสียงในเมืองลอนดอนอยู่นะ แต่พอขึ้นไปสก็อตแลนด์ เจอธรรมชาติ เฮ้ย...อินหนักมาก นั่งปล่อยเวลาทิ้งไปกับธรรมชาติ เหมือนเจอตัวเองในอีกมุมหนึ่ง ซึ่งได้เรียนรู้อะไรเยอะมากในบู ทั้งเรื่องสมาธิในการแสดง เทคนิคการเข้าถึงอารมณ์ เข้าถึงตัวละคร ทุกอย่างที่ผมเรียนมาผมเอามาใส่กับตัวบูหมดเลย แล้วเรื่องนี้เป็นกองที่ไม่มีแอ็กติ้งโค้ชนะ ซึ่งผมรู้สึกดีเพราะเป็นจุดที่ทำให้เราพึ่งตัวเอง ผมออกกอง 19 คิว ร้องไห้ไป 19 คิว แล้วไม่ใช่การร้องไห้แบบหยอดน้ำตาเทียม หรือคิดว่า แง...แม่ตายอะไรอย่างนี้นะ การร้องไห้ไม่ใช่แบบคิดอะไรแล้วร้อง มันไม่ใช่แค่การจินตนาการเรื่องเศร้าแล้วร้อง มันต้องตามเรื่องได้ ต้องร้องไห้แบบมีเหตุผล บางอันเศร้าแล้วไม่ร้องไห้ก็มี มันทำให้เราต้องดึงตัวเองเข้าไป ได้เติบโตด้วยตัวเอง

คิดว่าตอนนี้ตัวเองเปลี่ยนไปไหม

โทนี่: หลังจากถ่ายเสร็จได้ประมาณ 2-3 อาทิตย์ เรายังอยู่กับสภาวะที่เป็นไซม่อน คนใกล้ตัวอย่างพี่ซัน หุ้นส่วน Smile Club ก็เป็นห่วงว่าทำไมเราใช้ชีวิตเสี่ยงแบบนี้ เมื่อก่อนชีวิตเราก็ดีอยู่แล้ว ไปเปลี่ยนเพื่ออะไร คือเราไม่ได้อยากเปลี่ยน เราแอนตี้ไซม่อนในตัวเรา แต่เราก็สนุกไปด้วย จริงๆ อยากกลับมาเป็นตัวเองที่นั่งดูบ่อปลา จัดบ้าน ไม่ไปไหน เราถึงขั้นขาดสติ ซื้อรถ ซื้อของฟุ่มเฟือย ทำอะไรเกินกว่าเหตุ เราโทรหาไปแอ็กติ้งโค้ชปรึกษาว่าทำยังไงดีเพื่อถอดไซม่อนออก เขาพูดมาคำแรกว่า “ให้เราแผ่เมตตาให้โทนี่คนเก่า แล้วยอมรับว่าตอนนี้มันคือตัวเรา” ข้อดีคือ energy เยอะซึ่งเหมาะกับการเป็นนักแดง แต่ข้อเสียคือขาดสัมปชัญญะ ขาดการยับยั้งชั่งใจ เราฟังครั้งแรกแล้วรู้สึกว่าไมได้ช่วยอะไรเลย สุดท้ายแล้วเลยตัดสินใจไปปฏิบัติธรรมแล้วมันดีขึ้นจริงๆ เราได้เรียนรู้วิธีปล่อยวาง เราต้องหา balance ให้เจอ ทุกวันนี้ยังไม่เจอนะ ยังมีความเป็นไซม่อนอยู่แต่มีสติมากขึ้น ตอนนี้ต้องบอกว่าตัวเองเป็นทั้งไซม่อนและโทนี่อย่างละ 50/50
          ตอนนั้นเจอได้ไปเจอพี่ลูกกอล์ฟ (คณาธิป สุนทรรักษ์) และออม สุชาร์ (มานะยิ่ง) ที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน เขาก็บอกว่าจริงๆ แล้วทุกคนมี second personality เราก็เลยยอมรับมันมากขึ้น ในเชิงนักแสดงเราถือว่าไซม่อนเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี ผมว่าการมีพลังงานเป็นสิ่งสำคัญ ไซม่อนทำให้เรา open มากขึ้น ไม่ใช่ว่าเราขาดกำแพงของศีลธรรมนะ เราก็ยังมีสติพร้อมที่จะปฏิบัติตัวให้อยู่ในศีลธรรม แต่เราเป็นคนที่มีอิสระมากขึ้น อิสระที่จะพูด การนำเสนอ คิด หรืออิสระที่จะเป็นคนปกติ อะไรประมาณนี้

เจมส์: ช่วงใกล้ปิดกล้องติดความเป็นบูอยู่ช่วงหนึ่ง เป็นช่วงที่เรามีงานอื่นเข้ามาเลยเครียดๆ แต่ไม่ใช่โรคซึมเศร้านะ ตอนนั้นเลยไปหาจิตแพทย์ สุดท้ายก็กินยากลุ่มเดียวกับที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้านี่แหละ เหมือนเป็นช่วงจูนตัวละครออกด้วย พอใช้เวลาสักพักก็เริ่มดีขึ้น คือผมคุยกับพี่แพต (ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช) ตลอด คือในเรื่องพี่แพตเล่นเป็นหมอด้วยไง เลยมีเคมีความเป็นพี่สาว เลยโทรหาเขาบ่อย ... เราเติบโตจากบทที่ได้รับ รู้สึกว่าตัวเองโตขึ้น ทั้งด้านการพูด การควบคุมอารมณ์ ความนิ่ง สิ่งที่ผมได้มาหลักๆ คือสมาธิ เรื่องดีคือทัศนคติการทำงาน เปลี่ยนแบบตกใจตัวเองเหมือนกัน ถ้าผมไม่ได้เล่นบทบู ผมจะเสียใจมากเหมือนกัน

SOS Skate ซึม ซ่าส์ ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 21.45 น. ทางช่อง Line TV และ GMM25

เรื่องเด่น
    เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ
      การโฆษณา