โม้ - ธัญญ์นิธิ ปภัสสุรีย์โชติ
โม้ - ธัญญ์นิธิ ปภัสสุรีย์โชติ

ธัญญ์นิธิ ปภัสสุรีย์โชติ: เยียวยาห้าพันเทียบไม่ได้กับสิ่งที่นักดนตรีต้องสูญเสีย

เปิดใจคนจัด ‘เปิดหมวก festival’ เทศกาลดนตรีออนไลน์เพื่อช่วยเหลือคนดนตรี

Suriyan Panomai
เขียนโดย
Suriyan Panomai
การโฆษณา

ไม่ใช่แค่เราที่คิดถึงบรรยากาศหน้าเวทีคอนเสิร์ตที่มีผู้คนนับร้อยนับพันมาดู มาเต้น มาร้อง และมาสนับสนุนศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบ แต่ตอนนี้คนดนตรี (ทั้งศิลปินและทีมงานเบื้องหลังทั้งหมด) เองก็คิดถึงเราใจจะขาดแล้วเหมือนกัน และยิ่งกว่านั้นพวกเขาคือกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากการ “ตกงาน” หนักที่สุดกลุ่มหนึ่ง เพราะนอกจากจะจัดคอนเสิร์ตไม่ได้แล้ว สถานบันเทิงซึ่งเป็นที่ทำงานของพวกเขาก็ยังถูกสั่งปิดบ่อยและปิดนานกว่าสถานที่อื่นๆ เสมอเมื่อโควิด-19ระบาด

เช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ เมื่อที่ทางทำมาหากินถูกสั่งปิด โลกออนไลน์ก็คือทางรอดเดียวที่ยังพอมีหวัง จึงเป็นที่มาของโปรเจ็กต์ ‘เปิดหมวก Festival’ เทศกาลดนตรีออนไลน์ครั้งประวัติศาสตร์ โดยชมรมคนดนตรีแห่งประเทศไทย ชมรมน้องใหม่ภายใต้สมาพันธ์ผู้ประกอบการธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง ที่ชวนศิลปินกว่า 800 วง แบบไม่จำกัดค่ายและแนวเพลงมาเล่นให้ดู (ผ่านหน้าจอ) กันสดๆ และสามารถโอนเงินสนุบสนุนพวกเขาโดยตรงได้ด้วย

เปิดหมวก festival
เปิดหมวก festival

 ที่มาที่ไปของ เปิดหมวก Festival ‘โม้ - ธัญญ์นิธิ ปภัสสุรีย์โชติ’ รักษาการหัวหน้าชมรมคนดนตรีแห่งประเทศไทย หนึ่งในเรี่ยวแรงสำคัญของเทศกาลดนตรีออนไลน์ครั้งนี้ เล่าให้เราฟังว่า เริ่มจากตอนที่โม้ ในนามสมาพันธ์ฯ ไปยื่นจดหมายถึงรัฐบาลครั้งที่ 4 แล้วพบกับโอม Cocktail โดยบังเอิญ ซึ่งตอนนั้นโอมเริ่มออกมาเคลื่อนไหวเรื่องหารือถึงเรื่องคนดนตรีจะกลับการหาทางออกในช่วงวิกฤตินี้พอดี พอได้มาคุยกันจริงๆ จังๆ ร่วมกับ ป๋าเต็ด - ยุทนา บุญอ้อม และสมาชิกสมาพันธ์ฯ กว่า 300 คน โปรเจ็กต์จึงเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

“ตอนนี้สิ่งที่เราต้องการมากที่สุดคือการแก้ปัญหาระยะสั้นเรื่องการขาดรายได้ เพราะว่าพอมีมาตรการล็อกดาวน์ขึ้นมาศิลปินบางส่วนที่ปรับตัวไปทำอาชีพอื่นก็ทำได้แป๊บเดียวเพราะเขาไม่ถนัด และการปรับตัวมันต้องมีเรื่องของต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งบางคนเขาก็ไปขายกีตาร์ ขายกลอง ขายไมค์เพื่อเอามาเป็นต้นทุนในการทำงาน เราก็เลยมองว่าถ้าอย่างนั้นเรื่องรายได้สำคัญที่สุด”

“ก็คือเป็นการเปิดหมวกนั่นแหละ เราไม่ได้สื่อสารว่าเป็นการบริจาคนะ แต่เป็นการที่เรามาเอนเตอร์เทนคนดู ถ้าคุณถูกใจคุณก็ให้ทิปเรา เหมือนเวลาเราไปงานเปิดหมวกตามสวนสาธารณะหรือว่างานอีเวนต์ต่างๆ” โม้อธิบาย

ศิลปินที่เข้าร่วมเริ่มเปิดหมวกออนไลน์มาตั้งแต่ 19 กรกฎาคม 2564 และตอนนี้ก็อยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายแล้ว (จัดถึง 1 สิงหาคม 2564) ซึ่งโม้เล่าให้เราฟังแบบไม่โม้ว่าได้รับฟีดแบ็กค่อนข้างดีทั้งจากคนดูและศิลปิน

“โชคดีมากเพราะเราได้ศิลปินทั้งค่ายเล็ก ค่ายใหญ่ แล้วก็ศิลปินอิสระที่มีฐานแฟนเพลงอยู่แล้วมาร่วมกิจกรรมด้วย เป็นงานที่เรียกว่าทลายกำแพงของมายาคติที่คนมักจะมองว่าศิลปินในค่ายสบาย ศิลปินกลางคืนลำบาก ศิลปินมีค่ายก็ไม่ออก มาช่วยเหลือเลยอะไรอย่างนี้”

โม้ - ธัญญ์นิธิ ปภัสสุรีย์โชติ
โม้ - ธัญญ์นิธิ ปภัสสุรีย์โชติ

“ถ้าเรากลับไปดูย้อนหลังจะเห็นว่า หลายคอมเมนต์สังคมเห็นคุณค่าของคนกลางคืนมากขึ้น เพราะตอนไลฟ์ก็จะมีตัวแทนของชมรมแต่ละชมรมออกมาพูดถึงสิ่งที่เขาทำอยู่ในพื้นที่ของเขา ซึ่งบางทีสังคมอาจจะไม่เข้าใจว่าในฐานะผู้ประกอบการผับ บาร์ มันมีแรงบันดาลใจอะไรแล้วมันสร้างอะไรให้สังคมได้บ้าง เพื่อเป็นการล้มมายาคติว่ามันคือแหล่งอโคจร  ผับ บาร์มันก็คือออฟฟิศของนักดนตรีนี่แหละ เขาเข้าออฟฟิศมาก็เพื่อมาทำงานหาเงิน”

คนดูที่อยากช่วยสนับสนุนศิลปินที่ชอบโดยตรง ทำได้ด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีศิลปินในระหว่างการแสดงเท่านั้น หรือจะโอนเงินสนับสนุนเข้าบัญชีกลางเพื่อช่วยเหลือศิลปินคนอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19ก็ได้

“ตอนนี้ก็มีหลายวงที่ได้รับเงินสนับสนุนโดยตรงไป เรียกว่าเป็นทุนไม่มากแต่ก็สามารถต่อลมหายใจเข้าได้ในระยะหนึ่ง แล้วก็เราจะมีบัญชีกลางสำหรับศิลปินที่ไม่ประสงค์ให้โอนเงินเข้าไปโดยตรง ก็สามารถซัพพอร์ตในบัญชีกลางได้ ตอนนี้ยอดน่าจะอยู่ที่ประมาณ 2-3 ล้านบาทแล้ว ซึ่งเราอยากให้ได้มากเกิน 3 ล้าน เพราะถ้าเราเอามาหารเฉลี่ยให้กับวง เราอยากให้ได้มากกว่า 5,000 อย่างน้อยๆ เงินตรงนี้เราควรจะต้องได้มากกว่าที่รัฐเยียวยา เราเพราะเราช่วยกันเอง”

นักดนตรีหลายคนยึดอาชีพดนตรีเป็นอาชีพหลัก พอไม่มีงาน รายได้เป็นศูนย์แต่ค่าใช้จ่ายเท่าเดิมทุกวัน เพราะฉะนั้น ตอนนี้ถึงเยียวยา 5,000 แต่นักดนตรีมีหนี้เป็นหมื่นเป็นแสนแล้ว

พูดถึงมาตรการเยียวยาจากรัฐบาล เราจึงถามความคิดเห็นโม้ ในฐานะคนที่เห็นปัญหามากมายที่เกิดขึ้นและพยายามส่งเสียงขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลมาตลอด

“ถึงจะมีมาตรการเยียวยาให้เงิน 5000 บาทมา แต่สิ่งที่เรามองเห็นว่ามันไม่แฟร์คือมันเทียบไม่ได้กับสิ่งที่นักดนตรีต้องสูญเสียไปเพราะว่ารายได้เขาเป็นรายวัน เขาตกงานมาประมาณ 270 วันแล้ว นักดนตรีหลายคนยึดอาชีพดนตรีเป็นอาชีพหลัก พอไม่มีงาน รายได้เป็นศูนย์แต่ค่าใช้จ่ายเท่าเดิมทุกวัน เพราะฉะนั้น ตอนนี้ถึงเยียวยา 5,000 แต่นักดนตรีมีหนี้เป็นหมื่นเป็นแสนแล้ว ตอนนี้ต้องขายรถขายเครื่องทำมาหากินเพื่อเอาเงินมาใช้ชีวิต”

“เรามองว่ามันเป็นการช่วยเหลือที่ปลายเหตุมากๆ มันช่วยแค่ต่อลมหายใจ แต่ในแง่ของการแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างที่ตอนนี้ฐานมันอ่อนแอมากแล้ว รัฐเองควรจะเข้ามาช่วยแก้ไขอะไรตรงนี้ได้ไหม เพื่อทำให้โครงสร้างตรงนี้มันกลับมาแข็งแรงอีกครั้งหนึ่ง เพราะถ้าปล่อยไว้แบบนี้เชื่อว่ายังไงมันก็ล่มแน่นอน”

เรื่องเด่น
    เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ
      การโฆษณา