เพศนี้ใครกำหนด? ตามหาคำตอบกันได้ใน "ชาย หญิง สิ่งสมมุติ" นิทรรศการใหม่ล่าสุดของ Museum Siam

Saranyu Nokkaew
เขียนโดย
Saranyu Nokkaew
การโฆษณา

ชาย หญิง สิ่งสมมุติ: Gender Illumination คือนิทรรศการใหม่ล่าสุดจากมิวเซียมสยามที่ชวนสังคมให้หันมามองความหลากหลายทางเพศสภาวะและเพศวิถีผ่านหลักฐานการมีอยู่ของเพศอื่นๆ ที่มากกว่าหญิงและชายในประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงปัจจุบัน โดยให้ผู้ชมได้เดินผ่านเขาวงกตแห่งเพศที่สะท้อนค่านิยมเรื่องเพศในสังคมไทยออกมาตรงตัว จากนั้นจึงชวนมาตั้งคำถามว่าเราเข้าใจเพศในตัวของเราเองหรือไม่ ซึ่งคำตอบอาจไม่ได้มีหนึ่งเดียวเสมอไป

พาร์ทที่เจ็บจี๊ดของนิทรรศการครั้งนี้ คือการนิมนต์พระสงฆ์มาวิเคราะห์เรื่องเพศในแดนผ้าเหลือง พร้อมชวนตั้งคำถามเรื่องการแยกเพศห้องน้ำว่า หรือนี่จะเป็นจุดเริ่มเล็กๆ ที่ทำให้เรื่องการแบ่งเพศกลายเป็นความธรรมดาของสังคม

อีกไฮไลต์ของงานคือการนำสิ่งของที่สะท้อนปัญหาเรื่องเพศ รวมทั้งแรงบันดาลใจให้ก้าวข้ามปัญหาเรื่องเพศสู่ความสำเร็จมาจัดแสดงทั้งหมด 107 ชิ้น อาทิ พวงหรีด ใบปริญญา ของสะสม ภาพถ่าย ตุ๊กตา จดหมายโต้ตอบเรื่องการเลือกเพศกับครอบครัว รวมทั้งลิปสติกรูปอวัยวะเพศชาย ที่เป็นเหตุทำให้คุณเคท ครั้งพิบูลย์ เกือบจะไม่ได้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย โดยลิปสติกแท่งเดียวกันนี้ก็ทำให้เธอและทางมหาวิทยาลัยถึงกับต้องไปสู้กันในชั้นศาลเลยทีเดียว ซึ่งนี่คือเสียงเล็กๆ ที่จะกระทุ้งให้สังคมได้หันมาขบคิดว่า...เรื่องเพศเป็นสิ่งสมมุติจริงหรือ?

อย่างไรก็ตามเมื่อตั้งโจทย์ว่า “ชาย หญิง สิ่งสมมุติ” การแจก Your Gender Ticket เพื่อถามความสำนึกทางเพศและรสนิยมทางเพศของแต่ละคนตั้งแต่เริ่มเข้านิทรรศการจึงดูมีความย้อนแยงอยู่นิดๆ ส่วนตัวแล้วเราชอบเรื่องการนำเสนอว่าสังคมไทยไม่ได้มีแค่หญิงและชายมาตั้งแต่สมัยอยุธยา และการนำสิ่งของที่เกี่ยวกับการค้นพบตัวตนของแต่ละคนมาจัดแสดง ทว่าของเกือบร้อยชิ้นที่จัดแสดงต้องอาศัยการอ่านเพื่อเชื่อมโยงสู่ความเข้าใจ ดังนั้นจึงมีความเหนื่อยและความเนือยอยู่บ้างขณะชมนิทรรศการ  

 

ชาย หญิง สิ่งสมมุติ: Gender Illumination จัดที่พิพิธภัณฑ์ Museum Siam จนถึงวันที่ 30 กันยายนี้

 

Saranyu Nokkaew/Time Out Bangkok

Saranyu Nokkaew/Time Out Bangkok

Saranyu Nokkaew/Time Out Bangkok

Saranyu Nokkaew/Time Out Bangkok

Saranyu Nokkaew/Time Out Bangkok

แชร์เนื้อหา

บทความล่าสุด

    การโฆษณา