บางกอกวิทยา
Automa

3 ไฮไลต์เทศกาล ‘บางกอกวิทยา’ งานวิทยาศาสตร์ที่เด็กและผู้ใหญ่ก็สนุกได้

ตลอดทั้งเดือนสิงหาคม

Suriyan Panomai
เขียนโดย
Suriyan Panomai
การโฆษณา
สนุกกันต่อกับนโยบาย 12 เทศกาลตลอดปีทั่วกรุงเทพฯ ของ กทม. ซึ่งเดือนนี้เป็นคิวของสายวิทย์ที่จะได้ออกจากบ้านไปหาอะไรสนุกๆ ทำในเทศกาล ‘บางกอกวิทยา’ ที่ กทม. ร่วมกับภาคีเครือข่าย 4 ราย ได้แก่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด (Techsauce) และสมาคมไทยสตาร์ทอัพ จัดขึ้นตลอดเดือนสิงหาคมนี้

ถ้าภาพในหัวคุณคือการจัดงานวันเด็ก 1 เดือนเต็ม เราขอให้ลืมภาพนั้นไปก่อน เพราะงานนี้จัดขึ้นเพื่อทำให้กรุงเทพฯ เป็นห้องเรียนวิทยาศาสตร์สำหรับคนทุกวัย – โอเค กิจกรรมส่วนหนึ่งเหมาะสำหรับเด็กจริงๆ แต่ก็มีกิจกรรมไฮไลต์สำหรับสายวิทย์รุ่นใหญ่เช่นกัน

ไฮไลต์ความสนุกที่กำลังจะเกิดขึ้นในสัปดาห์แรกก็คืองาน Tech & The City: Future of Space & Robotics on Earth ที่จัดขึ้นสำหรับผู้ประกอบการและคนทั่วไปที่สนใจเรื่องเทคโนโลยีอวกาศ โดยจะมี 2 วิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากอุตสาหกรรมอวกาศที่ดำเนินธุรกิจทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศมาอัปเดตความเคลื่อนไหวของวงการ ได้แก่ ‘วเรศ จันทร์เจริญ’ หัวหน้าทีม KEETA และอาจารย์ประจำวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และ ‘โพธิวัฒน์ งามขจรวิวัฒน์’ ผู้ร่วมก่อตั้ง Automa สตาร์ตอัปที่พัฒนาหุ่นยนต์สัตว์เลี้ยง Zoocial

งานจะจัดขึ้นในวันที่ 4 สิงหาคมนี้ เวลา 16.30 - 18.00 น.ที่ทรู ดิจิทัล พาร์ค Town Hall S โดยมีทั้งงานออฟไลน์และออนไลน์ ใครสนใจลงทะเบียนร่วมงานล่วงหน้าได้ที่ https://bit.ly/3ySqEmc

ในสัปดาห์เดียวกันก็ยังมี ‘สัปดาห์นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ 2022’ กิจกรรม Live Talk ที่ชวนนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ – คนที่เข้าใจวิทยาศาสตร์และยังสื่อสารให้คนทั่วไปฟังสนุก มาพูดคุยในหลากหลายประเด็น เช่น เพจวิทยาศาสตร์และการเมือง ที่จะมาในหัวข้อบทบาทนักวิทยาศาสตร์กับการเมืองการปกครอง หรือ ณภัทร เอมดี จากเพจนี่แหละชีวะ ที่หลงใหลกับศาสตร์ของชีววิทยาและศึกษาตั้งแต่หน่วยย่อยๆ อย่าง DNA ไปจนถึงระบบนิเวศของโลก จะมาย่อยเรื่องของชีววิทยาให้เข้าใจง่ายขึ้นผ่านภาพวาดน่ารักๆ ติดตามทั้งหมดได้ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ที่เพจ The Principia วันนี้ - 7 สิงหาคม

สุดท้ายคือกิจกรรมออนไลน์ที่คุณร่วมสนุกได้ทั้งเดือนด้วยการออกไปสำรวจธรรมชาติแล้วถ่ายรูปหรือบันทึกเสียงของสิ่งมีชีวิตและแชร์ผ่านแอปฯ iNaturalist ซึ่งพัฒนาโดย National Geography และ California Academy of Sciences แล้ว AI จะแนะนำว่าสิ่งมีชีวิตนั้นคืออะไรและจะมีเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญจากทั่วทุกมุมโลกมาช่วยจำแนกและยืนยันข้อมูลให้เรา ซึ่งข้อมูลที่เหล่านี้ก็จะเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพในระดับโลก (GBIF) ที่นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยสามารถนำไปใช้ในงานวิจัยต่อได้

แชร์เนื้อหา

บทความล่าสุด

    การโฆษณา